'บิ๊กตู่' นั่ง ปธ. 'ครม.เศรษฐกิจ' ถ่วงดุลนโยบาย 'ปากท้อง'


เพิ่มเพื่อน    

      ในสมัยรัฐบาล​ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ​ (คสช.)​ งานด้านเศรษฐกิจ​อยู่ในการดูแลของ "สมคิด​ จาตุศรีพิทักษ์"​ รองนายกรัฐมนตรี แบบเบ็ดเสร็จ!!!

      ไม่ว่าจะการคิดนโยบาย​ การกำกับดูแล​ "บิ๊กตู่" มอบให้ "สมคิด" ดูแล​ โดยไม่เข้ามาก้าวก่ายหรือแทรกแซงใดๆ

      จะเรียกว่า​ "บิ๊กตู่" เชื่อมือหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ​ หรือถึงขั้นชื่นชมการทำงานก็ไม่แตกต่างกันนัก

      ขณะที่รองนายกรัฐมนตรี​ ในรัฐบาล​ พล.อ.ประยุทธ์​ 2/1​ มีจำนวน​ 5​ คน​ ได้แก่​ พล.อ.ประวิตร​ วงษ์สุวรรณ, สมคิด​ จาตุศรีพิทักษ์, วิษณุ​ เครืองาม, จุรินทร์​ ลักษณวิศิษฏ์​ และ อนุทิน​ ชาญวีรกูล

      โดยความเข้าใจกัน​ พล.อ.ประวิตร​ กำกับดูแลด้านความมั่นคง​ "สมคิด"​ กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ​ และ "วิษณุ"​ กำกับดูแลด้านกฎหมาย​ ซึ่งเป็นเนื้องานเดิมในยุค​ คสช.

      หากแต่ในทางปฏิบัติ​ กรณีของนายสมคิดอาจมีปัญหา​ เพราะปัจจุบันกระทรวงเศรษฐกิจไม่ได้อยู่ในการดูแลของพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด​ แต่กระจายอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยด้วย

      โดยกระทรวงพาณิชย์​ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์​ ขณะที่กระทรวงคมนาคม​ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา​ อยู่กับพรรคภูมิใจไทย

      กระทรวงเศรษฐกิจจริงๆ​ ที่ยังเหลืออยู่กับพรรคพลังประชารัฐ​ มีเพียงกระทรวงการคลัง​ กระทรวงพลังงาน​ กระทรวงอุตสาหกรรม​ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม​ (ดีอี)​

      การจะกำกับดูแลกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมดเฉกเช่นเดิม​ยังเป็นเรื่องยาก​ เพราะทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยต่างมีรองนายกรัฐมนตรีของตัวเอง

      โดยเฉพาะ "จุรินทร์"​ ที่นอกจากเป็นรองนายกรัฐมนตรี​ ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจอย่าง​ พาณิชย์อีกด้วย​ ดังนั้น​ จึงเป็นที่แน่นอนว่า​จะกำกับดูแลเอง​ ไม่ยอมอยู่ภายใต้นายสมคิด​ที่มีศักดิ์เท่ากัน

      เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ อีกหนึ่งกระทรวงของพรรคประชาธิปัตย์​ ที่ "จุรินทร์" จะกำกับเอง

      ที่สำคัญ​ แนวคิดของนายสมคิดกับแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์เรื่องนโยบายเป็นไปคนละทาง​ ชนิดตรงข้ามกัน​

      ไม่ต่างจากพรรคภูมิใจไทย​ แม้ "สมคิด" จะมีความสัมพันธ์อันดีมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์​ เพราะเคยร่วมงานกันสมัยรัฐบาลไทยรักไทย​ แต่​ขึ้นชื่อ​ "เนวิน​ ชิดชอบ" ผู้มากบารมีในพรรค​ ย่อมไม่ต้องการให้ "สมคิด" มาจุ้นจ้านกับงานของพรรค

      ดังนั้น​ กระทรวงคมนาคม​ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา​ จึงจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อนุทิน​ รองนายกรัฐมนตรี​และ รมว.สาธารณสุข

      การจะเรียกว่า​ "สมคิด" ​เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงอาจไม่ค่อยถูกนัก​ แม้แต่ "สมคิด" เองก็ยังไม่มั่นใจว่า​ตัวเองเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านนี้อยู่หรือไม่

      ซึ่งการไม่สามารถกำกับดูแลได้ทั้งหมด​ อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจ​ของพรรคพลังประชารัฐ​ ในส่วนงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของพรรคร่วมรัฐบาล

      การเสนอตั้ง​ "ครม.เศรษฐกิจ" ของ สมคิด​ ที่มีไปถึง  พล.อ.ประยุทธ์​ ซึ่งระบุว่า​ เพื่อต้องการให้รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่มาจากคนละพรรคให้เป็นเนื้อเดียวกัน​ จริงแล้วคือ​การแก้เกม​

       โดยเฉพาะการให้​ "บิ๊กตู่" เป็นประธาน​ ครม.เศรษฐกิจ​แทนที่ "สมคิด" จะเป็นเอง​ นั่นเพราะ "สมคิด" รู้ว่าสถานะตอนนี้ตัวเขาไม่สามารถขอความร่วมมือพรรคร่วมรัฐบาลได้

      แต่การให้​ "บิ๊กตู่" นั่งเป็นประธาน​ ครม.เศรษฐกิจนั้น​ ในฐานะผู้นำรัฐบาล​มีน้ำหนัก​และสามารถสั่งการได้แน่นอน​ โดยมีสมคิดเป็นมันสมอง​ เวลาคิดหรือจะดำเนินการอะไรเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ

      นายกฯ​ จะเป็น​ดัง "ข้อต่อ" ให้นโยบายเศรษฐกิจ​ยังอยู่ในการคอนโทรลของแกนนำรัฐบาล​

      ซึ่ง​ "บิ๊กตู่" เองน่าจะรับข้อเสนอนี้​

      ถือเป็นการปัดฝุ่น​ "ครม.เศรษฐกิจ" ที่หายไปนานในยุคของ​ คสช.​ ที่ไม่จำเป็นต้องมี​ เพราะอยู่ในการควบคุมของนายสมคิดทั้งหมด​ แต่ครั้งนี้ต้องทำ​

      เพราะสำหรับ​ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงเชื่อมือ​ "สมคิด" ที่ช่วยกันปลุกปั้นงานด้านนโยบายเศรษฐกิจมาตลอด​ 5​ ปี.

 

       "การให้​บิ๊กตู่เป็นประธาน​ ครม.เศรษฐกิจ​แทนที่สมคิดจะเป็นเอง​ นั่นเพราะสมคิดรู้ว่าสถานะตอนนี้ตัวเขาไม่สามารถขอความร่วมมือพรรคร่วมรัฐบาลได้ แต่การให้​บิ๊กตู่นั่งเป็นประธาน​ ครม.เศรษฐกิจนั้น​ ในฐานะผู้นำรัฐบาล​มีน้ำหนัก​และสามารถสั่งการได้แน่นอน​ โดยมีสมคิดเป็นมันสมอง​ เวลาคิดหรือจะดำเนินการอะไรเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ นายกฯ​ จะเป็น​ดังข้อต่อให้นโยบายเศรษฐกิจ​ยังอยู่ในการคอนโทรลของแกนนำรัฐบาล​"


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"