เขียนเสือให้วัวกลัว วิษณุหยันฝ่ายค้าน-เตือนชี้นำศาลแตะคุณสมบัติ‘ประยุทธ์’


เพิ่มเพื่อน    

  “ชวน” ย้ำสูตรเดิม 28 ชั่วโมง 30 นาทีชำแหละนโยบายรัฐบาล ดัดหลังขาประท้วงจะตัดเวลาที่ได้รับ “วิษณุ” เตือนวิพากษ์คุณสมบัตินายกฯ อาจเข้าข่ายชี้นำศาล “เพื่อไทย” โอ่ไม่กลัว 20 องครักษ์ ประเมินมีแค่ 2 รายที่เขี้ยวลากดิน ส่วนที่เหลือแค่ไก่อ่อน พร้อมเปิดรายชื่อมือเชือดมีทั้ง “เสรีพิศุทธ์-ลุงมิ่ง” อนาคตใหม่ลั่นวางตัวครบทุกด้าน มาแปลกไม่แตะคุณสมบัติ อ้างรอกฐินไม่ไว้วางใจคราวเดียว

เมื่อวันอังคาร นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เรียกประชุมตัวแทนคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล, ฝ่ายค้าน และ ฝ่าย ส.ว. หารือเพื่อตกลงถึงกรอบเวลาอภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา วันที่ 25-26 ก.ค.
โดยหลังหารือ นายชวนให้สัมภาษณ์ว่า เวลาที่ใช้อภิปรายนโยบายรัฐบาลยังเป็นไปตามข้อตกลงเดิม คือ เวลารวม 28 ชั่วโมง 30 นาที โดยเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 13 ชั่วโมง 30 นาที, พรรคร่วมรัฐบาล 5 ชั่วโมง, คณะรัฐมนตรี 5 ชั่วโมง และ ส.ว. 5 ชั่วโมง ขณะที่เวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม นำเสนอนโยบายจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาทีนั้น ซึ่งไม่นับรวมกับ 28 ชั่วโมง 30 นาที
 “จะดูแลให้การประชุมเรียบร้อยและจบในตอนกลางคืน ซึ่งเราจะเริ่มประชุมตั้งแต่ 09.30 น. และจบที่เวลาประมาณ 24.00-01.00 น. หากฝ่ายใดลุกขึ้นประท้วงก็จะคิดเวลาของฝ่ายนั้นไป ใครที่เกเรยุคสมัยนี้ชาวบ้านก็จะเป็นผู้ตรวจสอบ” นายชวนกล่าว
ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า  พอใจเวลาที่ได้รับการอภิปราย 13 ชั่วโมงครึ่ง หลังจากนี้จะไปจัดสรรแบ่งเวลากับ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ขณะนี้มีชื่อผู้ขออภิปรายนโยบายรัฐบาลกว่า 80 คนแล้ว ส่วนที่ฝ่ายรัฐบาลตั้งทีม 20 ส.ส. คอยตัดเกมหาก ส.ส.ฝ่ายค้านอภิปรายนอกประเด็นนั้น ไม่ห่วง เพราะดูชื่อชั้นมีคนเป็นมวยเพียงแค่ 2 คน คือนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ กับนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เท่านั้น ส่วนคนที่เหลือไม่น่าเกรงขาม จึงมั่นใจว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายเนื้อหาสาระเอาไว้ได้ และจะพยายามหลีกเลี่ยงการตัดเกม 
“สิ่งที่กังวลคือ ส.ว.ที่บางคนลืมสถานภาพของตนเอง เตรียมทีมประท้วงแทนรัฐบาล สวมบทบาทปกป้องรัฐบาล ถ้าเป็นเช่นนี้ฝ่ายค้านก็ต้องท้วงติง อาจเกิดวิวาทะ แต่ถ้าไม่ประท้วง ส.ว.ก็จะไม่กลับไปสู่บทบาทถูกต้อง” นายสุทินระบุ 
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ส.ว.ได้เวลาอภิปรายตามเดิมคือ 5 ชั่วโมง แม้พยายามขอเพิ่มแล้ว แต่ว่าไม่ได้ หลังจากนี้จะนำเวลาที่ได้ไปจัดสรรเวลาให้ ส.ว.ที่เข้าชื่อขออภิปราย 55 คน ซึ่งเฉลี่ยแล้วคงได้เวลาเพียงคนละ 4 นาทีเท่านั้น จากเดิมที่คิดว่าจะใช้เวลาอภิปรายคนละ 8 นาที 
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงบรรยากาศการแถลงนโยบายที่ดูเหมือนจะดุเดือดว่าบรรยากาศดูประหนึ่งว่าน่าสะพรึงกลัว แต่เคยร่วมการแถลงนโยบายรัฐบาลมาแล้ว 12 ครั้ง ตอนแรกก็อึกทึกครึกโครมดูน่ากลัว แต่ไม่มีอะไรผ่านไปได้ เพราะมีกรอบอยู่ ตอนนี้เป็นการทำให้ประหนึ่งว่าน่าสะพรึงกลัวเข้าไว้ เรียกว่าข่มขวัญ ตัดไม้ข่มนาม เขียนเสือให้วัวกลัว ไม่ได้บอกว่าไม่กลัว แต่ก็ไม่ประมาท ต้องระมัดระวังไว้
นายวิษณุกล่าวอีกว่า รัฐบาลมีหน้าที่ชี้แจงนโยบาย นายกฯ คงอ่านคำแถลงนโยบาย จากนั้นใครซักถามก็ถาม เราจะไปเตรียมการอะไรได้ แต่บางคนอาจเดาข้อสอบว่าจะถูกพาดพิงคุณสมบัติหรือตัวบุคคล ก็อาจต้องเตรียมตัว แต่ภาพรวมนโยบายก็เห็นกันมาด้วยกัน จึงไม่ต้องเตรียมอะไรมาก แต่ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา จะมีการจัดห้องให้เจ้าหน้าที่แต่ละหน่วยงานเตรียมให้ข้อมูล เพราะรัฐมนตรีมาใหม่อาจยังไม่เข้าใจอะไรที่เป็นงานเฉพาะบางส่วน ทำไปแล้วติดขัดอะไรหรือไม่ เจ้าหน้าที่จึงต้องเตรียมให้ข้อมูล แต่ไม่ทราบว่าที่ทีโอทีจะมีการจัดห้องไว้ให้หรือไม่
เตือนระวังชี้นำศาล
เมื่อถามถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัยคุณสมบัตินายกฯ ฝ่ายค้านต้องระมัดระวังการอภิปรายในเรื่องนี้หรือไม่ นายวิษณุระบุว่า อภิปรายได้ แต่ต้องระมัดระวังการใช้ถ้อยคำ เพราะอาจกลายเป็นการชี้นำ ซึ่งฝ่ายค้านคงทราบแล้ว และเมื่อคดีอยู่ในศาล เรื่องควร-ไม่ควรก็คงต้องรู้ แม้แต่รัฐบาลจะตอบอะไรก็ต้องระมัดระวัง แต่อะไรที่เป็นประเด็นซึ่งผิดเท็จ ก็ต้องชี้แจง ไม่ใช่ชี้นำศาล เพราะจะนั่งเฉยๆ ไม่พูดอะไรเลยก็คงไม่ได้ เนื่องจากได้ยินกันไปทั่วประเทศ
ถามอีกว่า ถูกวางตัวให้เป็นผู้ชี้แจงประเด็นอะไรในการแถลงนโยบายหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน ครม. มีอะไรที่พูดเพื่อทำความเข้าใจได้ก็พูดได้ เพราะเราถือหลักเป็นการอภิปรายนโยบายที่ ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน แม้แต่การอภิปรายคุณสมบัตินายกฯ ก็กระทบรัฐมนตรีทั้งหมด เพราะถ้านายกฯ พ้น ครม.ก็พ้นทั้งหมด ถือว่ามีส่วนได้เสียร่วมกัน ซึ่งจะลุกขึ้นชี้แจงในส่วนไหนนั้น ขอดูกาลเทศะ จังหวะเวลา และดูที่เนื้อหาสาระด้วย หากมีการอภิปรายที่ผิดและทำให้คนเข้าใจผิด ติดหูติดตา คนอาจจำ และลบออกยาก ก็ต้องรีบแก้ไข ทั้งนี้ นายกฯ เคยเปรยในที่ประชุม ครม.ให้รัฐมนตรีทุกคนทำการบ้าน หากมีการถามเรื่องของรัฐบาลก่อน แล้วมีอดีตรัฐมนตรีบางคนที่เป็น ส.ว.อยู่ก็ลุกขึ้นชี้แจงได้
     นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ มองเรื่องอภิปรายว่า เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วของการบริหารงานในระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ดี หากไม่เข้าใจสามารถสอบถามได้ หรือมีอะไรแนะนำก็แนะนำได้ ประเทศชาติจึงจะเดินไปข้างหน้าได้ อย่าไปมองว่าเป็นการที่จะต้องมาอย่างนั้นอย่างนี้ รัฐมนตรีแต่ละท่านเตรียมตัวที่จะตอบในสิ่งที่เกี่ยวข้องและคิดจะทำ       นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธาน ส.ส. กล่าวว่า พรรคได้เวลา 63 นาที ซึ่งต้องจัดสรรเวลาให้สมาชิกที่ต้องการอภิปรายอย่างเหมาะสม ซึ่งณะนี้มีผู้แสดงความจำนงอภิปรายกว่า 30 คน ซึ่งอาจไม่ได้อภิปรายครบทุกคน ส่วนที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายคุณสมบัติของรัฐมนตรีนั้น เชื่อว่ารัฐมนตรีในส่วนของพรรคจะชี้แจงได้ โดยที่สมาชิกไม่จำเป็นต้องคอยช่วยเหลือ รวมถึงนายกฯ ด้วย เพราะจนถึงขณะนี้พรรคไม่ได้รับการประสานว่าต้องลุกขึ้นช่วยนายกฯ
ด้าน น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า ได้กำชับ ส.ส.ทั้ง 10 คนของพรรคให้นั่งติดเก้าอี้ ตั้งอกตั้งใจ อย่าไปไหน ตลอดการแถลงนโยบายทั้ง 2 วัน โดยไม่ต้องถึงขั้นที่ต้องไปนั่งที่หอประชุมทีโอทีคอยคุม ส.ส.
“รัฐบาลได้จัดสรรเวลาให้พรรค 12 นาที ถือว่าเพียงพอ เขาให้มาเท่าไหร่ก็ต้องบริหารจัดการ เรามี ส.ส. 10 คน ก็ถือว่าสมน้ำสมเนื้อ” น.ส.กัญจนากล่าว
นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่กล่าวว่า หวังว่าทุกฝ่ายจะใช้กลไกรัฐสภาอย่างสร้างสรรค์ ไม่แบ่งแยกว่าเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล เพราะ ส.ส.ถือเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย หากทุกคนทำหน้าที่โดยยึดประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง เราจะได้เห็นภาพ ส.ส.ทำงานแบบไม่มีฝ่าย ซึ่งจะช่วยกู้วิกฤติศรัทธาที่ประชาชนมีต่อนักการเมืองกลับคืนมาด้วย โดยขอเสนอให้ฝ่ายค้านอภิปรายในลักษณะ 3 ต. คือ ต.ตัดอภิปรายเฉพาะประเด็นสำคัญ ต.ตัวที่สองคือ ต่อเติมในประเด็นที่เห็นว่านโยบายรัฐบาลยังไม่ครบถ้วน และ ต.ตัวที่สามคือติดตาม ชี้ให้ประชาชนเห็นถึงพันธสัญญาที่เคยหาเสียงไว้และรัฐบาลควรนำมาบรรจุไว้ในนโยบาย 
ด้านความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้านนั้น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ว่าที่หัวหน้าพรรค พท. กล่าวว่า พรรคได้กำหนดคนอภิปรายที่เป็นดาบ 1-2-3-4 ดาบหนึ่งอาจตกหล่น จะให้ดาบสอง ดาบสาม คอยตามต่อไป ส่วนประเด็นที่คนกังวลอยากให้นายกฯ ควบคุมอารมณ์ให้ได้นั้น เราคงไม่ไปบอกท่าน เพราะนายกฯ เกิดมาเป็นอย่างไร คงเป็นอย่างนั้น คงไม่กล้าบอกให้ท่านควบคุมอารมณ์ บอกได้เพียงว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด มีความจำเป็นที่จะมุ่งอภิปรายทั้งนายกฯ และรัฐมนตรีคนอื่นๆ รวมถึงเรื่องนโยบายรัฐบาล โดยดูจากสิ่งที่ 5 ปีที่ทำไม่ได้ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพรรคไม่หนักใจที่พรรค พปชร.เตรียมองครักษ์มา เพราะคงไม่สามารถประท้วง พาดพิง ผู้อภิปรายได้เท่าไหร่ หากประท้วงมาก เวลาจะยิ่งยืดออกไปมาก
เปิดรายชื่อมือชำแหละ
นอ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ว่าที่เลขาธิการพรรค พท.กล่าวว่า เราจะอภิปรายเนื้อหาสาระของนโยบาย ส่วนเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรีนั้น ขอให้ฝ่ายรัฐบาลอย่าประท้วง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติคนที่จะมาเป็นนายกฯ และรัฐมนตรีไว้ชัดเจน ถ้าคิดว่ามาดีแล้วก็อย่ากังวล รัฐมนตรีที่ถูกสงสัยต้องชี้แจง การที่ท่านจะไปทำหน้าที่ท่ามกลางความสงสัย คงไม่สง่างาม
ส่วนนายสุทินกล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลพบว่าเนื้อหาบางส่วนขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนจะขัดอย่างไร จะไปบอกในวันอภิปราย บางเรื่องควรบรรจุไว้กลับไม่เขียนไว้ นโยบายที่เป็นโบรชัวร์ดูแล้วเป็นเรื่องเลื่อนลอยพอสมควร สำหรับการจับคู่อภิปราย พรรคร่วมฝ่ายค้านเดินทางมาได้กว่า 80% โดยกลุ่มที่จะตรวจสอบคุณสมบัติ กลุ่มทุจริต นำโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน, นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ มีทั้งนายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรค พท., นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรค พท., นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และ น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรค พท. เรื่องการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ นำโดยนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรค พท. เรื่องการกระจายอำนาจ นำโดยนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรค พท. นโยบายการเมือง ปฏิรูปประเทศ แก้ไขรัฐธรรมนูญ มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่จะอภิปรายในลำดับต้นๆ ต่อจากนายสมพงษ์
“ผมรู้มาว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจมาฟังแค่นายสมพงษ์พูดจบ ตอนนี้กำลังหาภารกิจบางอย่างที่จะไปทำต่อหลังจากนายสมพงษ์พูดจบ ขณะที่ ส.ว.หลายคนกำลังทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์รัฐบาล ก็ขอฝากเตือนท่านอาจทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ตัวเอง” นายสุทินเผย  
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ว่าที่โฆษกพรรค พท.กล่าวว่า เท่าที่ได้ดูนโยบายรัฐบาลที่เตรียมแถลงต่อสภา ไม่แน่ใจว่าเป็นเอกสารแถลงนโยบายจริงหรือไม่ ดูแล้วเหมือนเป็นโบรชัวร์ นโยบายเลือกตั้งแล้วมาแม็กเย็บติดรวมกัน หลายเรื่องเป็นนโยบายที่ย้อนแย้งสับสน 
ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค. กล่าวว่า พรรคได้รับเวลาในการอภิปรายประมาณ 260 นาที โดยพรรคเตรียมผู้อภิปรายไว้ 18 คน โดยตนเองจะเป็นคนเริ่มอภิปราย ในเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การกระจายอำนาจ จากนั้นจึงเป็นคิวของ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายเรื่องนโยบายเศรษฐกิจทั้งหมด, นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เรื่องนโยบายการเกษตร ปัญหาที่ดินทำกิน และปัญหาหนี้สินเกษตรกร, พล.ท.พงศธร รอดชมภู เรื่องความมั่นคง และปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และนางวรรณวิภา ไม้สน พูดเรื่องประเด็นแรงงาน บัตรสวัดิการแห่งรัฐ โครงการมารดาประชารัฐ นอกจากนี้ยังมีเรื่องสิ่งแวดล้อม พลังงาน เศรษฐกิจดิจิทัล ที่เราได้เตรียมคนอภิปรายไว้อย่างสร้างสรรค์ ครบทุกมิติ
อนค.ไม่แตะคุณสมบัติ
เมื่อถามถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลได้บรรจุไว้เป็นวาระเร่งด่วนนั้น นายปิยบุตรกล่าวว่า มีการกำหนดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเพียง 2 บรรทัด และไม่ได้ผูกมัดตัวเองเท่าไร บอกเพียงให้ศึกษา ทำความเข้าใจในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยจะอภิปรายถึงความจำเป็นในการแก้รัฐธรรมนูญ และพยายามผลักดันให้ประเด็นดังกล่าวเข้มข้นมากกว่านี้ ซึ่งตอนนี้พรรคมี ส.ส. 81 คน ไม่พอจะเสนอญัตติดังกล่าว แต่เราพยายามพูดคุยกับ ส.ส.พรรคอื่นๆ ให้ร่วมลงชื่อกัน ซึ่งทุกคนทราบดีว่าการแก้รัฐธรรมนูญยากมาก หรือเกือบเป็นไปไม่ได้ เพราะช่วงรับหลักการวาระที่ 1 ต้องมี ส.ว.ลงชื่อร่วมด้วย 84 คน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่หากเราเสนอญัตติการแก้รัฐธรรมนูญเฉพาะเรื่อง ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล และแสดงให้ประชาชนเห็นว่า หากพวกเขาอยากแก้เรื่องนี้ โดยมี ส.ส.กลุ่มหนึ่งที่พยายามทำให้มีการแก้ แต่มี ส.ว.มาขวางก็ให้ประชาชนเห็นไปเลยว่าใครเป็นคนขวาง หรือใครเป็นผู้เสียประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้จะผ่านหรือไม่ ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยก็ต้องทำให้เห็นว่ามติของมหาชนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ได้เข้าไปพูดในสภา
สำหรับการอภิปรายคุณสมบัติของรัฐมนตรี นายปิยบุตรกล่าวว่า เราจะไม่เน้น แต่จะเน้นที่ตัวนโยบายในแต่ละด้านมากกว่า เพราะร่างนโยบายดูเหมือนว่าจะพูดถึงแง่ดีทั้งหมด และไม่ได้ลงรายละเอียดใดๆ เหมือนเอานโยบายของหลายๆ พรรคมาปะรวมกัน พรรคจึงจะเน้นในเรื่องการนำนโยบายเหล่านี้มาปฏิบัติว่าทำได้จริงหรือไม่ อย่างเรื่องการต่อต้านทุนผูกขาด การแข่งขันอย่างเป็นธรรม หรือเรื่องการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม ที่ดินทำกิน เป็นต้น  
มีรายงานว่า นายปิยบุตรได้กำชับ ส.ส.ของพรรคขอให้เน้นที่การวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาสาระของร่างนโยบายเป็นหลัก โดยไม่วิจารณ์คุณสมบัติของรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เนื่องจากพรรคร่วมฝ่ายค้านเองนั้นได้เตรียมความพร้อมพูดเรื่องนี้ในสภาอยู่แล้ว และพรรคจะพูดเรื่องนี้อีกครั้งในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อไป.  
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"