“อุตตม” แจงดูแลวินัยการคลังเข้มข้นปลื้มมูดี้ส์ขยับความน่าเชื่อถือ


เพิ่มเพื่อน    


26 ก.ค. 2562 นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค “ดร.อุตตม สาวนายน” เกี่ยวกับ การเงินการคลังที่เข้มแข็ง จะตอบโจทย์การช่วยเหลือประชาชน โดยระบุว่า เรื่องของการเงินการคลังของประเทศ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเป็นพื้นฐานดูแลความเข้มแข็งเศรษฐกิจของประเทศ การขับเคลื่อนนโยบายของประเทศในทุกด้านให้ได้ผลสัมฤทธิ์ ประการแรก การตั้งงบกลางฉุกเฉิน 400,000 ล้านบาท จำแนกเป็นรายการได้ 11 รายการ อาทิ บำเหน็จบำนาญ สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล ที่เรียกว่างบฉุกเฉิน มีประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดในงบดังกล่าว ประการที่ 2 เรื่องของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ซึ่งมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2502 โดยเฉพาะในมาตรา 45 พูดถึงงบประมาณจำนวน 50,000 ล้านบาท เรียกว่า “เงินทุนสำรองจ่าย” มีวัตถุประสงค์สำหรับการใช้จ่ายในกรณีที่เรียกว่า “เหตุจำเป็นฉุกเฉิน” จะใช้ได้ในกรณีเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน แล้วไม่สามารถนำเงินจากแหล่งเงินอื่นมาใช้ได้อีกแล้ว โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเมื่อมีการนำมาใช้แล้วจะต้องมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดเชยทันทีในโอกาสแรกที่จะทำได้ จึงไม่ใช่ว่าจะสามารถนำไปใช้เมื่อไหร่ก็ได้ และที่ผ่านมายังไม่เคยมีการใช้

ประการที่3 การตั้งงบประมาณขาดดุล รัฐบาลจะต้องพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้นว่ามีความจำเป็นหรือไม่ และจะต้องสอดรับกับนโยบายยุทธศาสตร์และการพัฒนา เช่น ในปี 2557-2558 ซึ่งเศรษฐกิจไทยประสบภาวะชะลอตัว รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณขาดดุลขึ้นมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมาลงทุน ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ โดยจากปี 2557 ที่เศรษฐกิจขยายตัว 1% เป็น 3%ในปี 2560 และต่อเนื่องเป็น 4% ในปี 2561 ซึ่งนโยบายการตั้งงบประมาณขาดดุลอยู่ภายใต้วินัยการเงินการคลัง ไม่สามารถตั้งขึ้นเองได้ โดย พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องมีทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 และ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอยู่เสมอ และระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีได้ลดลง จากประมาณ43.3%เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2557-2558 เป็น 42% ในปัจจุบัน โดยยังอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้60% ของจีดีพี ขณะเดียวกันการดำเนินการในระยะกลางและระยะยาว การจัดทำงบประมาณ กระทรวงการคลัง ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง จะต้องมีการจัดทำแผนระยะกลางเป็นการวางแผนระยะ 3-5 ปี ต่อจากนี้ เพื่อเป็นกรอบทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลัง อาทิ เราจะต้องวางแผนดังกล่าว เพื่อกำหนดระยะเวลากลับเข้าสู่งบประมาณที่สมดุลได้เมื่อไหร่ แม้ว่าปัจจุบันมีความเหมาะสมจำเป็นที่จะใช้งบประมาณขาดดุลก็ตาม

ด้านการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้มีรายได้น้อย เรื่องนี้รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยใช้กลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)เน้นการอำนวยสินเชื่อเงินทุนให้กับผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งอาจจะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนธนาคารพาณิชย์ปกติ โดยมีการให้กู้ยืมไปแล้วกว่า 3.8 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 41%ของสินเชื่อภาคธนาคารทั้งหมดสำหรับครัวเรือน

นอกจากนั้นรัฐบาลกำลังพัฒนาแหล่งเงินทุนทางเลือกอื่น เช่น นาโนไฟแนนช์ ที่เน้นการให้สินเชื่อเพื่อการเข้าถึงของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ รวมทั้งการจัดการด้านเทคโนโลยี พัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Big Dataเพื่อให้เข้าถึงผู้ที่มีความต้องการแหล่งเงินทุน

ในเรื่องการส่งเสริมการออมภาคเอกชน ผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)โดยขณะนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 3.9 แสนคนในปี 2558 เป็น 1.57 ล้านคนในปัจจุบัน ประการต่อมา คือเรื่องหนี้ครัวเรือน มีการเติบโตตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยมีหัวใจสำคัญความจำเป็นในการนำไปใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่นำไปสร้างรายได้ เรื่องของที่อยู่อาศัย ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ เป็นสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยกระทรวงการคลังจะร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลการก่อหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจร คือดูแลให้ข้อมูล ให้ทักษะเกี่ยวกับการก่อหนี้ครัวเรือน เช่น กลุ่มอาชีวะ กลุ่มที่กำลังเข้าสู่วัยการทำงาน เพื่อการก่อหนี้ที่เหมาะสม มีสัดส่วน โดยหากเกิดปัญหาจะต้องได้รับการดูแลจากหน่วยงาน หรือองค์กรกลาง ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้ครัวเรือน ในแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นการดูแลที่ครบวงจร

“เรื่องวินัยการเงินคลัง เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะทำให้ศักยภาพของการเงินการคลังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ข้อมูลล่าสุดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่เรียกว่า มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส(Moody’s Investor Service)ได้มีการปรับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จากเดิมคือแนวโน้ม “มีเสถียรภาพ” เป็นแนวโน้ม “เชิงบวก” เช่นเดียวกับ สถาบันฟิชส์ เรตติ้ง ไทยแลนด์ (Fitch Ratings (Thailand) Ltd.) ซึ่งได้ปรับการจัดอันดับ สะท้อนให้เห็นว่าความน่าเชื่อใจในเรื่องวินัยการเงินการคลังของไทยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ” นายอุตตม ระบุ

อย่างไรก็ตามเราไม่ได้นิ่งนอนใจ ไว้วางใจเด็ดขาด โดยเราจะดูแลวินัยด้านการเงินการคลังอย่างเข้มข้นเสมอ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ที่ประเทศจะต้องมีการเงินการคลังที่เข้มแข็ง

นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยถึงผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ว่า มูดี้ส์ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจากระดับ “มีเสถียรภาพ” เป็น “เชิงบวก” และคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Credit Rating) ที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ ซึ่งมูดี้ส์ได้ชี้แจงเหตุผลและปัจจัยที่สำคัญ คือ1. การปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเกิดจากการมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนของภาครัฐและการพัฒนาทุนมนุษย์ที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทยได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาลมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) วงเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 10% ของจีดีพี ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยผ่านการดึงดูดและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการ EEC มีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) สะท้อนได้จากยอดสุทธิการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่าตัวจากปี 2559 รวมถึงการที่รัฐบาลมีแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งเพื่อขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ วงเงิน 2.76 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18% ของจีดีพี

2. การดำเนินงานนโยบายทางการคลังและการเงินของรัฐบาลที่มีความโปร่งใสและคาดการณ์ได้ส่งผลให้หนี้รัฐบาลและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และระบบการเงินมีเสถียรภาพ โดยมูดี้ส์ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริงอยู่ในช่วง 3.0 – 3.5% ในปี 2562 – 2563 ดังนั้น เศรษฐกิจที่มีความมั่นคง การลงทุนภายในประเทศและการพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยลดปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยอีกด้วย3. ความแข็งแกร่งทางการเงินภาคต่างประเทศ และภาคการคลังสาธารณะเป็นผลจากการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาคที่มีประสิทธิภาพ โดยมูดี้ส์ประมาณการสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อจีดีพี อยู่ที่35 – 40% ในปี 2562 – 2563 ซึ่งการมีหนี้รัฐบาลในระดับต่ำนั้นจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงรองรับวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่คาดคิด นอกจากนี้ การบริหารหนี้สาธารณะในเชิงรุกและการมีสัดส่วนหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศในระดับต่ำจะเป็นเกราะป้องกันความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ

“มูดี้ส์ให้ความเห็นว่าการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะจะส่งผลต่อความสามารถในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้บรรจุแผนการลงทุนด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนงานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงการทำงานร่วมกับสหประชาชาติในการส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม พร้อมทั้งการจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งจะช่วยยกระดับผลิตภาพและทักษะแรงงานในระยะต่อไป” นายภูมิศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ มูดี้ส์คาดว่า ความเข้มแข็งทางการเงินภาคต่างประเทศจะช่วยปรับสมดุลจากการไหลเข้าออกของเงินทุน โดยประมาณการว่าสัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีของไทยจะเกินดุลอยู่ที่ 3 – 5% ในปี 2562 – 2563 เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกชะลอตัวลงและมีการเบิกจ่ายตามโครงการโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่การเกินดุลต่างประเทศมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 215,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 40%ต่อจีดีพี ณ เดือน มิ.ย. 2562

อย่างไรก็ตาม มูดี้ส์จะติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงการแก้ไขปัญหาทักษะแรงงานและปัญหาสังคมผู้สูงอายุซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือในอนาคต


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"