'เฮลโหล โซ่พิสัย' ชุมนุมนักเขียนมือฉมัง ให้มุมมองพัฒนาชุมชน 'บึงกาฬ'


เพิ่มเพื่อน    

คณะทำงานหนังสือ "เฮลโหล โซ่พิสัย" ลงพื้นที่และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ

 

     หนังสือไม่ได้ให้แค่ความรื่นรมย์เท่านั้น ยังมีอิทธิพลต่อสังคมและนักอ่าน ส่งผลต่อความคิด บางครั้งก่อให้เกิดพลังใจสร้างสรรค์ตนเอง ชุมชน และสังคม ช่วยเปิดโลกทัศน์ เหตุนี้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จึงสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือ เฮลโหล โซ่พิสัย (Hello  Sopisai) เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของชาวโซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ผ่านการบอกเล่าภาพวิถีชีวิตชุมชน ความเชื่อทางจิตวิญญาณ ตำนานพญานาค และนำเสนอเรื่องราวการขับเคลื่อนพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตด้วยรูปแบบผลงานเขียน ภาพวาดประกอบ และภาพถ่าย ภายใต้เนื้อหากว่า 80 หน้า เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนยั่งยืนให้แก่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป

 

นักเขียนมือฉมังร่วมสร้างผลงานสะท้อนตัวตนชุมชน

 

      กองบรรณาธิการหนังสือประกอบด้วยนักเขียนมือฉมัง ได้แก่ คำหอม ศรีนอก, ธนาพร ตั้งเจริญมั่นคง และพัทยุทธ์ หิรัญพฤกษ์ นอกจากนี้ มีนักเขียนรับเชิญมากฝีมือจำนวน 4 คน ได้แก่  อนุสรณ์ ติปยานนท์, พัลลภ เอมศรีกุล, ต้องการ และวิทยากร โสวัตร คณะทำงานหนังสือเฮลโหล โซ่พิสัยได้ลงพื้นที่พูดคุยกับคนในชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ ซึมซับวิถีท้องถิ่นและถ่ายภาพเพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญรังสรรค์ผลงานช่วงวันที่ 20-26 ก.ค.62 กำหนดเดือนสิงหาคมจัดทำต้นฉบับ อาร์ตเวิร์ก และจัดพิมพ์แล้วเสร็จ โดยจะจัดพิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม กิจกรรมนี้อยู่ภายใต้โครงการบริการวิชาการเชิงบูรณาการสู่ชุมชน : พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ 

 

วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผอ.สศร.ร่วมลงพื้นที่สนับสนุนจัดทำหนังสือ

 

      วิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กล่าวว่า การจัดทำหนังสือเฮลโหล โซ่พิสัย เกิดจากความต้องการของชุมชนและสุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ ที่ต้องการพัฒนากิจกรรมให้ชุมชนได้แสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม รวมถึงหาแนวทางชูจุดแข็งของชุมชนนำมาเผยแพร่ให้คนข้างนอกได้รับรู้ และเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ โดย สศร.เห็นว่างานเขียนช่วยให้คนข้างนอกเข้าใจ คนข้างในภาคภูมิใจ นำมาสู่การจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เรานำนักเขียนลงพื้นที่เจาะลึกเพื่อสร้างผลงานสะท้อนตัวตนของชุมชน แบ่งโครงเรื่องให้ครบทุกมิติ ชีวิต วัฒนธรรม  อาหาร ความเชื่อ 

      " งานวรรณกรรมเป็นสื่อประเภทหนึ่งนอกจากได้อรรถรส ยังทำให้คนอ่านเข้าใจชาวโซ่พิสัยมากขึ้น  เกิดความสนใจอยากเดินทางมาท่องเที่ยว ซึ่งในพื้นที่มีกิจกรรมท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเข้มแข็งจากแนวคิดระเบิดจากข้างใน นอกจากนี้การนำนักเขียนลงชุมชนจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนสนใจงานวรรณศิลป์ เกิดนักเขียนนักอ่านรุ่นใหม่อีกด้วย โครงการจัดทำหนังสือจะขยายผลที่ จ.นครราชสีมา  และจังหวัดอื่นๆ ต่อไป" วิมลลักษณ์ย้ำถึงพลังวรรณกรรมพัฒนาชุมชน 

คำหอม ศรีนอก กองบรรณาธิการ 

 

      คำหอม ศรีนอก ทายาทของคำสิงห์ ศรีนอก ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของนามปากกา "ลาว คำหอม"  ในฐานะบรรณาธิการหนังสือ บอกว่าหนังสือเฮลโหล โซ่พิสัย เป็นการทักทายกับคนอ่านเพื่อแนะนำทำความรู้จักกับบ้านขี้เหล็กใหญ่ อ.โซ่พิสัย เนื้อหาจะเล่าถึงชุมชน เล่าที่มาที่ไปการปรับปรุงบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ถือเป็นการถอดบทเรียนการทำพิพิธภัณฑ์ เรื่องราวชุมชนโดยรอบที่เต็มไปด้วยความดีความงาม นำเสนอให้อ่านง่ายอ่านสนุกแนวไลฟ์สไตล์ เชิญนักเขียนมาร่วมทำงาน ทั้ง 4 คนได้รับโจทย์ต่างกันเพื่อให้การนำเสนอเรื่องไม่ซ้ำ

 

 ต้องการ นักวาดภาพสีน้ำจากดอกไม้ร่วมทำหนังสือ 

 

      สำหรับ อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียน นักแปล ที่มีผลงานมีชื่อเสียง จะสะท้อนความเป็นอยู่ของชุมชนผ่านเรื่องราวของอาหาร, พัลลภ  เอมศรีกุล สถาปนิกผู้รักการเขียนนำเล่าเรื่องสถาปัตยกรรมอีสานเหนือ สื่อถึงการเปลี่ยนบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ขณะที่ ต้องการ นักวาดภาพสีน้ำจากดอกไม้ฝีมือดี  มีผลงานในนิตยสาร a day เตรียมวาดรูปลงรายละเอียดเรื่องราวของศิลปะและวิถีชุมชน อย่างการทำหมากเบ็งใช้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บูชาพระ แล้วยังมีนักเขียนอีสาน วิทยากร โสวัตร ที่เข้าใจรากความคิดความเชื่อพญานาค จะมาเล่าเรื่องตำนานพญานาค 

      " เฮลโหล โซ่พิสัย จะเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาแข็งแรง กระชับ รูปเล่มสวยงาม มีภาพประกอบ อ่านได้ทุกเพศทุกวัย ทุกคนช่วยกันปรุงให้พอดี ผลงานแต่ละเรื่องจะผูกโยงในเล่ม ตั้งใจให้หนังสือเป็นเครื่องมือพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน หยิบขึ้นมาเปิดอ่านทีละหน้าแล้วนำแนวความคิดกลับไปพัฒนาบ้านเมืองของตัวเอง รู้สึกประทับใจชาวบ้านคุณลุงคุณป้าที่ไปสัมภาษณ์ ทุกคนภาคภูมิใจในตัวเอง ตระหนักคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น" คำหอมกล่าว

 

วิทยากร โสวัตร นักเขียนเลือดอีสาน

 

      นักเขียนชื่อดัง อนุสรณ์ ติปยานนท์ พูดคุยแนวทางรังสรรค์ผลงานหลังเที่ยวชมชุมชน อ.โซ่พิสัยว่า แม้จะได้โจทย์สื่อวิถีชุมชนผ่านอาหาร แต่ตนไม่ได้มองแบบแยกส่วน หากกางแผนที่อุษาคเนย์ จ.บึงกาฬ แยกออกมาจาก จ.หนองคาย ฝั่งตรงข้ามเป็นปากซันเมืองใหญ่ สปป.ลาว อดีตคือเมืองท่า คนสองฝั่งโขงข้ามไปมาหาสู่กัน พื้นฐานชาวโซ่พิสัยมาจากลาว ตนสนใจวัฒนธรรมอาหารปากซันสู่บึงกาฬที่ผูกพันแม่น้ำโขง แล้วยังมีวัฒนธรรมอาหารของชาวไทโส้ นี่เป็นวัตถุดิบชั้นดี และเป็นธงที่ตนจะมุ่งไปจนเกิดผลงาน ระหว่างนี้จะเก็บข้อมูลเพิ่ม สัมภาษณ์ชาวไทโส้ในพื้นที่ เป็นความเรียงประกอบความคิดเห็นของนักเขียน

 

อนุสรณ์ ติปยานนท์ นักเขียนชื่อดัง

 

      "งานเขียนของผมจะเขียนให้คนในชุมชนอยู่ในระบบเปิด ไม่ใช่ชุมชนระบบปิด แสดงถึงคนโซ่มีวัฒนธรรมแข็งแรง พร้อมที่จะทำให้สิ่งแชร์กันได้ มีของดีต้องแบ่งปัน บอกต่อ อาหารของชุมชนผ่านหนังสืออาจนำมาสู่การชักชวนเชฟที่มีชื่อเสียงใช้วัตถุดิบในพื้นที่" อนุสรณ์แสดงทัศนะ และฝากในท้ายหนังสือเฮลโหล โซ่พิสัย จะช่วยสร้างบทสนทนาในชุมชน เปิดชุมชนให้ผู้คนเดินทางมาเรียนรู้ ทำให้ชุมชนมีกำลังใจในการพัฒนาสร้างบ้านแปงเมืองมากขึ้น

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"