เคาะ6มาตรการ แก้วิกฤติภัยแล้ง เสี่ยต่อลุยอีสาน


เพิ่มเพื่อน    

  ครม.ไฟเขียวเปิดศูนย์น้ำเฉพาะกิจ บูรณาการ 4 กระทรวงหลักแก้ภัยแล้ง คลอด 6มาตรการเร่งด่วน พร้อมระยะสั้น 4 เรื่อง-ระยะยาวอีก 3 "เฉลิมชัย" หอบบิ๊ก ขรก.ลงพื้นที่อีสานตอนบน  เยียวยาเกษตรกรทุ่งกุลาร้องไห้

    เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงฤดูฝนและมาตรการแก้ไข ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ โดยเห็นชอบเปิดศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ เพื่อทำหน้าที่ติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ ซึ่งเป็นการบูรณาการข้อมูลร่วมกับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยใน 4 กระทรวง คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาและการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมเสนอมาตรการแก้ไขสถานการณ์ต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมกันนี้ได้อนุมัติมาตรการป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน 6 เรื่อง ระยะสั้น 4 เรื่อง และระยะยาว 3 เรื่อง
    สำหรับ 6 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเหนืออ่างเก็บน้ำ และพื้นที่เกษตร 2.กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งสำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำ พร้อมสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ 3.กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ปรับแผนการระบายน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% 4.กรมชลประทาน และ กฟผ. ปรับลดแผนระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยาแบบขั้นบันได และกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย เตรียมมาตรการรองรับ 5.การประปานครหลวงวางแผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ร่วมกับ กฟผ.และกรมชลประทาน 6.หน่วยงานระดับกรมและจังหวัด เร่งสร้างความเข้าใจสถานการณ์น้ำและแนวทางแก้ไข ให้ ส.ส.ในพื้นที่รับทราบภาพรวม
    ส่วน 4 มาตรการระยะสั้น ได้แก่ 1.เร่งรัดหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณงบกลาง รายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ปี 2562 ก่อสร้างซ่อมแซมฝายชะลอน้ำให้ทันต่อการรับน้ำในฤดูฝน ปี 2562 และงานขุดลอกเพิ่มความจุแหล่งน้ำ 2.กองทัพบกปรับแผนการขุดเจาะบ่อบาดาลและซ่อมแซมล้างบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ฝนตกน้อยกว่าปกติ 3.กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงเกษตรฯ จัดทำแผนงานโครงการเพื่อของบประมาณ ตามความสำคัญเร่งด่วน เน้นน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ขณะเดียวกันต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะพื้นที่ปริมาณฝนตกน้อยกว่า 60 มิลลิเมตรต่อเดือน และ 4.บูรณาการ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงการคลัง กำหนดนโยบายช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น สินเชื่อเงินด่วนหรือฉุกเฉินเพื่อสร้างอาชีพ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตฯ พักชำระหนี้เงินต้น สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ชดเชยเยียวยา การสร้างอาชีพเสริม ฯลฯ 
    ขณะที่ 3 มาตรการระยะยาว คือ 1.ให้หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณบูรณาการ เร่งรัดการปฏิบัติงานโครงการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ และโครงการแหล่งน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้เป็นไปตามแผน 2.สทนช. บูรณาการจัดทำทะเบียนแหล่งน้ำ ทะเบียนผู้ใช้น้ำ แผนที่แสดงพื้นที่ชลประทาน และพื้นที่รับประโยชน์จากแหล่งน้ำ 3.กระทรวงเกษตรฯ บูรณาการปรับแผนการเพาะปลูกพืช และปฏิทินการเพาะปลูกเป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะในฤดูแล้งปี 2562/63 ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ
    ทางด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า วันที่ 31 ก.ค. ตนพร้อมผู้บริหารระดับสูงและอธิบดีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาภัยแล้งจะเดินทางตรวจปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อีสานตอนบนที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิ ในทุ่งกุลาร้องไห้ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากฝนทิ้งช่วง ทำให้นาข้าวได้รับความเสียหายจำนวนมาก ทั้งนี้ จะดูสถานการณ์น้ำภาพรวมของภาคอีสานตอนบน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจากปัญหาภัยแล้ง เร่งจัดหาพืชอื่น ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทำปศุสัตว์ เพื่อทดแทนการทำนา 
    รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทำงานเชิงรุกรับมือปัญหาภัยแล้งทุกพื้นที่ โดยกรมชลประทานจัดหาแหล่งน้ำ และเน้นย้ำการปฏิบัติการฝนหลวง พร้อมกันนี้จะได้ปล่อยรถบรรทุกน้ำเพื่อช่วยเหลือปัญหาน้ำด้านอุปโภคบริโภคให้ประชาชน พร้อมกับสั่งการให้หน่วยงานลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน อาทิ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ สปก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่้เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ต้องลงไปร่วมรับฟังและเน้นย้ำแนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างเร่งด่วน ทั้งปัญหาน้ำไม่มีพอเพียงและการช่วยเหลือทางด้านผลผลิตทางการเกษตร  สนับสนุนปัจจัยการผลิตในรอบเพาะปลูกถัดไปอย่างทันเหตุการณ์
     สำหรับสถานการณ์ภาพรวมการทำฝนหลวงในภาคอีสานที่ผ่านมา ได้ขึ้นปฏิบัติการแล้วทั้งหมด 17 จังหวัด มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำรับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 19 แห่ง สำหรับจังหวัดที่มีรายงานฝนตกแล้วได้แก่ จังหวัดขอนแก่น, กาฬสินธุ์, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, มหาสารคาม และยโสธร นอกจากนี้ มีเขื่อนรวมถึงอ่างเก็บน้ำที่สามารถรับน้ำฝนจากการปฏิบัติของฝนหลวง อาทิ เขื่อนอุบลรัตน์, เขื่อนห้วยหลวง, เขื่อนลำนางรอง, เขื่อนลำแซะ เป็นต้น ยังพบว่าปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นหลังจากทำปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน? 2 แห่งคือเขื่อนลำน้ำพุงและเขื่อนจุฬาภรณ์.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"