สิทธิเสรีภาพในการเดินทาง


เพิ่มเพื่อน    

 

         อาศัยของเก่าเก็บเรื่องลากเรือดำน้ำโซเวียตยุคสงครามเย็นมาขัดตาทัพไปได้เดือนกว่าๆ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็ตัดสินใจซื้อตั๋วออกเดินทางเวียดนามตอนกลาง ได้แก่ ดานัง ฮอยอัน และเว้ คือจุดหมาย จากนั้นตั้งใจจะนั่งรถบัสจากดงฮา อดีตเขตปลอดทหารในสงครามเวียดนาม เมืองทางทิศเหนือของเว้เข้าสู่ลาว เที่ยวสะหวันนะเขต ปากเซ จำปาสัก แล้วค่อยกลับเข้าไทยที่จังหวัดอุบลราชธานี

        แต่เมื่อไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิในตอนเช้าโดยที่ยังไม่ได้นอน ขณะเช็กอินที่เคาน์เตอร์ของสายการบินเวียตเจ็ตแอร์ เจ้าหน้าที่สาวขอดูตั๋วเครื่องบินกลับออกจากเวียดนาม ผมตอบว่ายังไม่ได้ซื้อ เพราะตั้งใจจะกลับทางบก เธอบอกให้ใช้เวลาที่เหลือไปหาจองรถบัสออกจากเวียดนามเสียให้เรียบร้อย ไม่เช่นนั้นทางสายการบินจะไม่ออกบอร์ดดิ้งพาสให้ขึ้นเครื่อง (นอกจากว่าผู้เดินทางมีวีซ่าอยู่แล้ว)

         ผมทั้งง่วงและงง ก่อนหน้านี้เคยไปเวียดนามมา 2 ครั้ง ครั้งแรกนั่งรถบัสข้ามคืนจากกรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาวไปยังเมืองวินห์ของเวียดนาม เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไม่ดูตั๋วกลับ อีกครั้งบินจากกรุงเทพฯ ไปกรุงฮานอย ซื้อตั๋วไป-กลับไปตั้งแต่แรก ก็เลยไม่มีปัญหา

                ถามเธอว่ากฎนี้ออกมาเมื่อไหร่ เธอตอบว่านานแล้ว ผมแกล้งพูดความจริงครึ่งหนึ่งว่าเคยบินเข้าเวียดนาม แต่ไม่เห็นว่าต้องซื้อตั๋วกลับไว้ก่อน เธอชี้แจงว่ากฎนี้ใช้เฉพาะกับสายการบินโลว์คอสต์ ผมกำลังจะพูดว่าก่อนนี้ก็บินกับสายการบินโลว์คอสต์ เธอชิงอธิบายว่าสายการบินโลว์คอสต์อีกแห่งผู้โดยสารเขาเยอะ เขาเลยไม่มีเวลาขอดูตั๋วกลับ

 


ร้านกาแฟและร้านเค้กในย่านที่นักท่องเที่ยวไม่พลุกพล่าน เมืองดานัง

                ผมรู้สึกได้ถึงความไร้ตรรกะเหตุผล แต่ไม่ได้พูดออกไปเพราะง่วงเต็มที เธอย้ำให้ไปหาตั๋วออกจากเวียดนามมาแสดงก่อนเวลาเคาน์เตอร์เช็กอินปิด ผมก็แบกกระเป๋าเดินคอตกออกไปนั่งคิดใคร่ครวญที่เก้าอี้ว่างข้างๆ ฝรั่งสาม-สี่คนที่ใช้แถวของเก้าอี้เหล่านี้เป็นที่หลับนอน ประหยัดค่าโรงแรมไปได้ 1 คืน

                เมืองดงฮา ในภาษาเวียดนามเขียน Dong Ha พวกบล็อกเกอร์และเว็บไซต์ต่างๆ เขียนเป็นภาษาไทยว่า “ดงห่า” การจะจองตั๋วรถบัสทางอินเทอร์เน็ตเดินทางจากเมืองนี้เข้าลาวนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทั้งผมไม่รู้จักเว็บไซต์ขายตั๋วที่น่าเชื่อถือ การจ่ายเงินที่เข้าใจว่าต้องใช้บัตรเครดิตเป็นหลักผมก็ไม่มี บวกกับอาการง่วงนอน สัมปชัญญะไม่เต็มร้อย ลองไป 3 เว็บไซต์ก็ไม่สำเร็จ เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าทิ้งตั๋วเครื่องบินเที่ยวนี้แล้วกลับบ้านไปนอนจะดีกว่าไหม แต่เมื่อคิดว่าแล้วจะหาเรื่องอะไรมาเล่าท่านผู้อ่านหลังจบเรื่องเรือดำน้ำ ก็เลยต้องหาตั๋วเครื่องบิน เข้าไปในเว็บไซต์ของสายการบินโลว์คอสต์ผู้โดยสารเยอะ (สายการบินเดียวกับที่เจ้าหน้าที่สาวพูดถึง) วันกลับที่เป็นใจและราคาเป็นมิตรคือประมาณ 1 สัปดาห์ถัดไป กดจ่ายเงินแล้วนำตั๋วอิเล็กทรอนิกส์จากโทรศัพท์มือถือไปโชว์เจ้าหน้าที่

                เธอคนเดิมไม่อยู่ที่เคาน์เตอร์แล้ว เธอคนใหม่ออกบอร์ดดิ้งพาสให้ ผมยังข้องใจถามว่ากฎนี้ใช้เฉพาะประเทศเวียดนามหรืออย่างไร เธอตอบว่าใช้กับทุกประเทศในอาเซียน มานึกดูประเทศในอาเซียนที่ผมเคยไปเที่ยวด้วยเครื่องบินก็มีแค่เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ล้วนซื้อตั๋วกลับไว้ก่อนทั้งสิ้น จึงเถียงไม่ออก

                ถ้าหากข้อมูลเป็นจริงดังที่เจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์เช็กอินของสายการบินเวียตเจ็ตแอร์ทั้ง 2 ท่านให้ข้อมูล ก็สรุปได้ว่าหากชาวอาเซียนจะบินด้วยสารการบินโลว์คอสต์ (ยกเว้นสายการบินโลว์คอสต์ที่มีผู้โดยสารเยอะ) ไปยังประเทศอาเซียนด้วยกันโดยไม่มีตั๋วหรือหลักฐานแสดงว่าเราจะเดินทางออกจากประเทศนั้นๆ ก็จะไม่ออกบอร์ดดิ้งให้ขึ้นเครื่อง แต่ปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นหากชาวอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้รับวีซ่ามาก่อนแล้ว หรือบินด้วยสายการบินที่ไม่ใช่โลว์คอสต์แอร์ไลน์ หรือเดินทางข้ามแดนทางบก (หรืออาจรวมทางน้ำด้วย) ผมมองว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่เมคเซนส์ ไร้เหตุไร้ผลอย่างสิ้นเชิง

 


ร้าน Thailand แฟชั่นจากเมืองไทยขายได้ในเวียดนาม

                เพื่อนนักเดินทางของผมที่มีทั้งชาวตะวันตกและตะวันออกหลายคน บินมาเมืองไทยโดยไม่มีวีซ่าและไม่มีตั๋วออกจากเมืองไทย พอกำหนดการอนุญาตให้พำนักชั่วคราวใกล้หมดก็จัดการข้ามแดนทางอากาศและทางบกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สักพักก็กลับมาใหม่ หรือไปประเทศอื่นต่อ สร้างความอิจฉาให้ผมเป็นอย่างยิ่งที่พวกเขาเดินทางได้ด้วยสปิริตจิตวิญญาณของการเดินทางท่องเที่ยวอย่างแท้จริง “ไม่มีแผนการคือแผนการที่ดีที่สุด” พวกเขาเดินทางล่องไหลไปได้เรื่อยๆ ตามอารมณ์ความรู้สึกและเสียงเรียกร้องจากข้างใน ตกหลุมรักเมืองไหนก็อยู่ยาวหน่อย บางเมืองมีแต่คนหลอกลวง ล้วงกระเป๋า ก็รีบเผ่น แค่ผมบอกเขาว่าตอนขอวีซ่าไปยุโรปเราต้องยื่นแบงก์สเตทเมนต์ด้วย พวกเขาก็อ้าปากค้าง ก่อนพูดกลับมาว่าเรื่องส่วนบุคคลขนาดนี้พวกเขาจะยอมให้ละเมิดไม่ได้

                ความหวังเดียวที่เราชาวไทยจะมีสิทธิเสรีภาพในการเดินทางแบบที่ได้กล่าวไปก็คือ ตอนเรามีประชาคมอาเซียน คือเดินทางแบบไร้ข้อจำกัดในพื้นที่จำกัด 10 ประเทศ ส่วนในระดับโลกนั้นไม่ต้องไปหวัง เนื่องจากว่าทุกประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ที่เราเดินทางไป กว่าจะได้วีซ่าต้องมีตั๋วกลับไปยืนยันทั้งสิ้น แต่สุดท้ายแล้วแม้การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอาเซียนด้วยกันเองเราก็ยังมาถูกกำหนดวิธีการเดินทางเสียอีกว่าห้ามบินด้วยโลว์คอสต์แอร์ไลน์หากไม่มีตั๋วกลับ 

                อีกเรื่องที่เราส่วนมากไม่ตระหนัก แต่กลับเคลิบเคลิ้มจากการถูกหน่วยงานในไทยด้วยกันเองเป่าหูว่าเรานั้นมีบุญวาสนา ได้เที่ยวประเทศต่างๆ โดยไม่ต้องขอวีซ่าถึงสามสิบกว่าประเทศ (และเขตปกครองพิเศษ) โดยในสามสิบกว่าดินแดนนี้มีประเทศอาเซียนรวมอยู่ด้วย 9 ประเทศ (ไม่นับไทย) ชาติในอเมริกาใต้ไกลแสนอีก 5 ประเทศ ที่เหลือดูแล้วก็จะมีแค่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เท่านั้นที่คนไทยนิยมเที่ยว ลืมที่จะตั้งคำถามว่าเราควรได้รับสิทธิ์ที่ดีกว่านี้หรือไม่

                ข้อมูลจาก Henley Passport Index ที่รายงานอันดับ “สิทธิ์และศักดิ์แห่งพาสปอร์ต” โดยได้ร่วมมือด้านข้อมูลกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ใช้จำนวนจุดหมายปลายทางที่ผู้ถือพาสปอร์ตของแต่ละประเทศสามารถเดินทางไปในดินแดนต่างๆ โดยไม่ต้องใช้วีซ่า (Visa Free) และวีซ่า ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) เป็นเกณฑ์

                จาก 199 ชาติ อันดับในปีนี้มีทั้งสิ้น 104 อันดับ (เนื่องจากบางอันดับมีมากกว่า 1 ชาติได้คะแนนเท่ากัน) ประเทศไทยของเราอยู่ที่ 66 ครองตำแหน่งร่วมกับนามิเบีย ต่ำกว่าประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างสิงคโปร์ (อันดับ 1 ร่วมกับญี่ปุ่น), มาเลเซีย (อันดับ 13), บรูไน (อันดับ 22) และติมอร์เลสเต (อันดับ 52) นอกจากนี้เรายังเป็นรองตูวาลู ตองกา คิริบาตี ปาเลา ซามัว เบลิซ ไมโครนีเซีย นาอูรุ วานูอาตู กายอานา ซูรินาม บอตสวานา และเวเนซุเอลา

                มีข้อมูลที่น่าสนใจว่าไทยนั้นเป็นประเทศที่มีแสนยานุภาพทางทหารเป็นอันดับที่ 26 ของโลก มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นอันดับที่ 12 ของโลก มีจีดีพีอันดับที่ 25 ของโลก มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเป็นอันดับ 9 ของโลก สามารถทำเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอันดับ 4 ของโลก ติดท็อป 10 จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก อาหารไทยก็ไม่หลุดท็อป 10 แต่น่าเศร้าที่เราเอาสิ่งเหล่านี้ไปแลกสิทธิเสรีภาพในการเดินทางของพลเมืองไทยไม่ได้เลย บางทีกระทรวงการต่างประเทศอาจไม่รู้สึกอะไรเพราะพวกท่านถือหนังสือเดินทางทูต ผมจึงได้แต่หอบความน้อยเนื้อต่ำใจแบบเด็กๆ ขึ้นเครื่องบิน 

 


โรงแรม Fivitel Boutique Da Nang สีเหลืองล้วนสูงเด่น

                อยู่บนฟ้าไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็ถึงสนามบินนานาชาติดานังในเวลาเที่ยงครึ่ง (เวลาเดียวกับไทย) ด่านตรวจคนเข้าเมืองปัมตราอนุญาตลงไป เขียนกำกับวันสุดท้ายที่ต้องออกจากเวียดนาม ผมมานับดู อยู่ได้ 26 วัน ไม่ใช่ 30 วันตามที่รับทราบมา

                ก่อนออกจากอาคารผู้โดยสารมีเคาน์เตอร์ขายซิมโทรศัพท์ 7 กิกะไบต์ ราคา 8 ดอลลาร์สหรัฐ โชว์ป้ายภาษาไทยหรา พนักงานสาวถึงขั้นยกมือไหว้ ผมตะเบ๊ะกลับไปเพราะมือว่างอยู่ข้างเดียว ออกจากอาคารแล้วก็เดินไปที่จุดขึ้นแท็กซี่ โดนเรียก 300,000 ดอง คิดเป็นเงินไทย 400 บาท ผมจึงถอยออกมา เพราะระยะทางไปที่พักริมแม่น้ำฮานไม่ถึง 4 กิโลเมตรด้วยซ้ำ

                มีชายคนหนึ่งอ้างว่าขับ Grab Taxi เข้ามาเสนอราคา เขาเริ่มต้นที่ 600,000 ดอง ก่อนจะค่อยๆ ลดลงมาเหลือ 280,000 ดอง ผมบอกว่าไม่ไหว ตัวเขาเองก็มีคนมาเรียกไปอบรม คงเพราะไม่ใช่พื้นที่หากินของแท็กซี่ที่ไม่ได้รับอนุญาต

                 ตัดสินใจเดินไปยังอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 200 เมตรเพื่อจะหารถบัสเข้าเมือง แต่หาไม่เจอ ถามใครก็ให้คำตอบไม่ได้ เกิดอาการท้อแท้ คิดจะเดินไปหาแท็กซี่บนถนนด้านนอก แต่ก็ไม่ชัวร์เรื่องทิศทาง

                ด้านหน้าของอาคารผู้โดยสารขาเข้า มีห้องหนึ่งเขียนไว้ว่า Currency Exchange – Information ผมเปิดประตูเดินเข้าไป พนักงานสาว 2 คนกล่าวต้อนรับ เห็นมีซิมการ์ดโทรศัพท์ขายจึงซื้อมาเพื่อจะใช้อินเทอร์เน็ตดูแผนที่ว่าเดินออกไปสู่ถนนใหญ่ได้อย่างไร ซิมการ์ดราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือหากจ่ายในเงินสกุลท้องถิ่นก็เท่ากับ 110,000 ดอง มีอินเทอร์เน็ตให้ใช้ 3 กิกะไบต์ ระยะเวลา 21 วัน โทร.ออกไม่ได้ ผมแลกเงินมาจากเมืองไทยแล้ว ทั้งดอลลาร์และดอง เพราะทราบดีว่าร้านแลกเงินในสนามบินทั้งโลกนั้นโหดเหี้ยมขนาดไหน  

                ผมจ่ายด้วยเงินดองแล้วถามพนักงานสาวคนที่ใส่ซิมให้ถึงราคาแท็กซี่โดยเฉลี่ยเพื่อไปยังที่พักบนถนน Bach Dang ริมแม่น้ำฮาน เธอตอบว่าประมาณ 60,000 ดอง แต่ถ้าเรียก Grab ผ่านแอป ก็จะถูกลงไปอีก (75,000 ดอง เท่ากับ 100 บาท) ผมอัพเดตแอป Grab Taxi แล้วกดเรียกโดยใส่ชื่อที่พักลงไปเป็นปลายทาง ราคาขึ้นมาแค่ 43,000 ดองเท่านั้น

 


เชิญชวนเที่ยวบานาฮิลล์ ไม่ไกลจากตัวเมืองเมืองดานัง 

                คนขับหาผมไม่เจอ เขาก็เลยกดยกเลิกไป ผมกดใหม่ก็เหมือนเดิม ถูกยกเลิกอีกคน แม้ว่าจะมีช่องทางให้พิมพ์สนทนา แต่ไม่สามารถเข้าใจกันได้ แอประบุว่าโชเฟอร์ไปถึงจุดนัดแล้ว แต่ผมไม่ยอมโผล่ไป ตัดสินใจเดินกลับไปหาที่พึ่งเดียวที่มีอยู่ ถามสาวขายซิมคนเดิมว่าตรงหน้าอาคารนี้ Grab Taxi มารับได้หรือไม่ เธอยืนยันว่าได้ ผมก็กลับออกไปใหม่ คิดว่าจะเป็นการพยายามครั้งสุดท้าย ถ้าล้มเหลวก็จะเดิน

                คราวนี้ภาษาอังกฤษที่ผมสื่อสารไปฝ่ายรับสารเข้าใจเป็นอย่างดี ผมระบุสีเสื้อ จุดที่ยืนรอ (เข้าใจว่าหากเราส่งสารไปเป็นภาษาอังกฤษ แอปก็จะแปลเป็นภาษาท้องถิ่นได้) โชเฟอร์เดินเข้ามาหาผม ยืนยันข้อมูลตรงกันว่าเราคือคนที่ใช่ของทั้ง 2 ฝ่าย เขาเดินนำผมไปขึ้นรถที่จอดอยู่ในลานจอดตรงข้ามอาคารผู้โดยสาร เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ขับมารับลูกค้าหน้าอาคาร ความจริงแล้วก็ใกล้กันนิดเดียว แต่จีพีเอสทำให้สับสน

                คนขับชื่อ “เซิน” ช่างพูดช่างจา ภาษาอังกฤษก็ใช้ได้ ถามว่า “สนใจผู้หญิงเวียดนามไหม เวรี่ ชีป เซอร์” เขาพูดต่อว่าเคยไปเมืองไทยมาแล้ว “ที่พัทยา ห้าพันบาทแน่ะ” แต่ก็บอกว่าโดยรวมแล้วยังชื่นชอบประเทศไทยอยู่มาก

                ถึงที่พักบนถนน Bach Dang ใกล้ๆ สะพานมังกร เซินให้ไลน์ผมไว้ บอกว่าติดต่อเขาได้ทุกเวลา อยากไปไหนเขาจะไปส่ง สำหรับค่าโดยสาร 43,000 ดอง บวกค่าผ่านประตูเข้าเขตสนามบิน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าผู้โดยสารเป็นฝ่ายจ่ายอีก 10,000 ดอง เท่ากับ 53,000 ดอง เซินลดให้เหลือ 50,000 ดอง ผมคิดในใจว่าถึงไม่ชอบนั่งแท็กซี่ แต่ก็จะเรียกใช้บริการหนุ่มคนนี้อีก

                วันต่อมาตอนที่ผมออกจาก “พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมชนชาติจาม” ไม่ห่างจากที่พักเพื่อจะไปเที่ยวต่อที่หาดหมีเค (My Khe) ก็ตัดสินใจส่งข้อความหาเซิน เขาตอบกลับมาว่ากำลังไปส่งลูกค้าที่ฮอยอัน ให้ผมเรียก Grab จะดีกว่า “แกร็บ อีส เวรี่ ชีป เซอร์”

                เซินส่งข้อความมาหาผมอีกสอง-สามครั้งหลังจากนั้น เขาไม่ได้คะยั้นคะยอให้ใช้บริการ แต่เป็นไปในเชิงถามไถ่ ผมเองก็ส่งไปหาเขาเพื่อหยั่งเชิงชวนมาดื่ม แล้วบอกให้เขาเลิกเรียกผมว่า “เซอร์” เขาตอบว่า “เลิกงานตี 1 เสร็จแล้วก็เข้าบ้านนอนเลย มายเฟรนด์” ก่อนจะกลับเมืองไทยเขายังส่งข้อความมาลา ผมกลับถึงเมืองไทยก็ส่งข้อความไปบอกเขา

                จากคนที่เคยถูกแท็กซี่เวียดนามโกงมาอย่างน่าเกลียด 2 ครั้ง 2 ครา (ที่ฮานอย) และเหตุการณ์นั่งสายการบินโลว์คอสต์ต้องมีตั๋วกลับเมื่อเช้านี้

                คนซื่อชื่อเซินทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นมากทีเดียว. 

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"