พิพิธภัณฑ์มีชีวิตบึงกาฬ สร้าง 100 ผลงานกราฟฟิตี้ ”พญานาค”


เพิ่มเพื่อน    

 

ปั่นจักรยานชมกราฟฟิตี้พญานาคตามผนังบ้านรอบหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ 

 

 

     พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ แม้เปิดไม่ถึงหนึ่งปี แต่เป็นพิพิธภัณฑ์น้องใหม่มาแรงสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอีสานที่ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงนักอนุรักษ์ ด้วยแนวคิดของ สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดังเลือดอีสาน ที่ตั้งใจพัฒนาบ้านเกิดและชุมชนที่ตนเองผูกพัน อนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นที่มีแนวโน้มจะสูญหายไปให้คืนกลับมา และเปิดพื้นที่ให้คนนอกเข้าไปรู้จักมรดกวัฒนธรรมที่งดงามมีคุณค่า

      สุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ตนได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาด้านเกษตรชุมชนและท่องเที่ยวของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ และปรับปรุงบ้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ เพื่อแสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

      “ บึงกาฬ จังหวัดที่ 77 ของไทย ห่างไกลจากกรุงเทพฯ กว่า 800 กิโลเมตร หากจะเปิดพื้นที่และทำให้เรื่องราวของชุมชนชาวโซ่พิสัยเป็นที่รับรู้จะต้องสร้างปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่น่าสนใจ ผมใช้วิถีถิ่นกับวิถีเท่ผสมผสานกันเพื่อสร้างจุดขาย สร้างแลนมาร์คให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวสร้างสรรค์ ปรับบ้านเรือนไม้ของตนเองซึ่งเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมอีสานเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต นำเรื่องดีไซน์ศิลปะและวิถีชุมชนมาสื่อสารในแต่ละห้อง แต่ละมุม ทั้งยังใช้ทรัพยากรจากท้องถิ่น       สร้างความร่วมมือกับชาวบ้าน ทำให้เกิดการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชุมชน” สุทธิพงษ์ กล่าว

 

สานกระเป๋าเก๋ไก๋-สานกระติ๊บข้าวเหนียว สินค้าชุมชนขึ้นชื่อ  

 

      ความคิดความเชื่อเรื่องพญานาคของชาวอีสานไม่ได้หยุดแค่ตำนาน แต่สุทธิพงษ์นำอัตลักษณ์นี้มาต่อยอดรังสรรค์ศิลปะร่วมสมัย ภาพวาดกราฟฟิตี้บนผนังบ้าน วัด ร้านค้า และจุดต่างๆ ในชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ ถือเป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญมากเกี่ยวพันการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน โดยนักอนุรักษ์ผู้นี้ปักธงให้เป็นที่ที่มีกราฟฟิตี้พญานาคมากที่สุดในโลก

      สุทธิพงษ์ ลูกอีสานที่มุ่งมั่นพัฒนาบ้านเกิด เล่าที่มากราฟฟิตี้พญานาคว่า นำเรื่องงานป๊อปอาร์ตร่วมสมัยมาสร้างจุดเด่น ก่อนทำได้เดินทางไปดูต้นแบบภาพวาดสตรีทอาร์ตที่เมืองจอร์จทาวน์ ปีนัง รวมถึงสตรีทอาร์ตที่มาเก๊า มีภาพวาดซุกซ่อนตามกำแพงและผนัง ใครไปก็จะไม่พลาดไปถ่ายรูปสวยๆ ได้ซึมซับและใช้เป็นแนวทางพัฒนาชุมชน ขณะนี้มีภาพวาดพญานาค 80 ภาพกระจายรอบหมู่บ้าน อยู่ที่ฝาบ้านด้านหน้าบ้าง ด้านข้างบ้าง แล้วยังมีป้ายริมรั้ว มีเหล่าจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศไทยมาช่วยวาด ตั้งเป้าจะครบ 100 ภาพวันออกพรรษานี้ให้ได้

      “ ภาพกราฟฟิตี้พญานาค 100 ภาพรอบหมู่บ้านจะแบ่งเป็น 50 ภาพแรก สื่อเรื่องราวพญานาคกับปัจจัยสี่ ทั้งอาหารท้องถิ่น อาชีพ ความเชื่อ สินค้าขึ้นชื่อของชุมชน อย่างปลาร้าบอง กระติ๊บข้าวเหนียว ยาหม่อง ตะไคร้หอม ลูกประคบ ส่วน 50 ภาพที่เหลือแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ เป็นพญานาคที่มีความงาม มีรสนิยม นี่เป็นอีกอัตลักษณ์ของชุมชน มีหนึ่งเดียวที่บึงกาฬ ซึ่งนักท่องเที่ยวสนใจมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มาเดินเที่ยวถ่ายภาพสวยๆ โพสต์และแชร์ลงโซเชียล สร้างการรับรู้และบอกต่อกัน แล้วยังมีกลุ่มคนขับรถคลาสสิก กลุ่มนักปั่นจักรยานเข้ามา เทรนด์การท่องเที่ยวคนโหยหาวิถีถิ่นที่เท่ๆ ถ้ามาวันเสาร์-อาทิตย์จะมีมัคคุเทศก์น้อยพาชมสตรีทอาร์ตพญานาคด้วย” สุทธิพงษ์กล่าว

 

สตรีทอาร์ตเท่ๆ จุดดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเช็กอิน

 

      การเติมเต็มกราฟฟิตี้ แสดงเอกลักษณ์และศิลปะอันงดงามอีก 20 ผลงานที่เหลือ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) มอบงบประมาณสนับสนุนให้พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้พัฒนาชุมชนผ่านโครงการบริการวิชาการเชิงบูรณาการสู่ชุมชน: พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ หรือเรียกสั้นๆ โครงการ “วาดบ้านแปลงเมือง” โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคมต่อเนื่องสิงหาคมนี้จะมีอาจารย์ที่มีความรู้ด้านศิลปะศึกษา เข้ามาวาดภาพพญานาคบนผนังอาคารและจุดต่างๆ ในชุมชน เพื่อสร้างจุดแข็งให้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นอกจากนี้แว่วว่า อาจารย์ขาบ สุทธิพงษ์ เล็งจะทาบทามศิลปินกราฟฟิตี้ไทยชื่อดังมาร่วมสร้างผลงานพญานาคขนาดยักษ์สุดปังในพื้นที่เพื่อเป็นแลนด์มาร์คด้วย ต้องติดตามกันต่อไป

 

ถ่ายภาพสวยๆ กับสตรีทอาร์ตบ้านขี้เหล็กใหญ่

 

      นอกจากพิพิธภัณฑ์มีชีวิตกราฟฟิตี้พญานาคแล้ว รอบพิพิธัณฑ์เป็นธรรมชาติที่ไร้การปรุงแต่ง เป็นชุมชนอีสานที่เรียบง่าย มีทั้งหมด 45 หลังคาเรือน ตามบ้านเรือนยังสานกระติ๊บข้าวเหนียว ทำอาหารถิ่น ทำหมากเบ็งใช้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บูชาพระจากดอกพุดที่ปลูกหน้าบ้าน ด้านหลังพิพิธภัณฑ์คือทุ่งนาและสวนยางพาราเขียวขจี

     สุทธิพงษ์กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนต่อไปว่า จะเพิ่มมิติการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชวนคนมาเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเกษตรนวัตกรรมและเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตการเกษตรของชุมชน รวมถึงฟื้นฟูพืชพรรณที่หายไปให้กลับคืนมา นอกจากนี้มีแนวคิดจะทำหอศิลป์อีสาน เชื้อเชิญศิลปินไทยและลาวมาใช้พื้นที่ ทั้งวาดภาพ ปั้น และศิลปะการแสดง อยากให้พื้นที่นี้มีวัฒนธรรมคงอยู่ในรูปแบบที่ร่วมสมัย ทุกสิ่งที่ทำตนรู้สึกมีความสุข ทำให้คนในชุมชนและคนนอกเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม

 

สุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ 

 

      พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬแห่งนี้ถือเป็นศูนย์กลางสร้างความสมานสามัคคี สร้างรอยยิ้มให้คนในชุมชน และส่งมอบความสุขให้นักท่องเที่ยว ใครไปเยือนบึงกาฬต้องปักหมุดมาเยี่ยมชม

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"