ปลุกพลังผู้ทำงานด้านสังคม ช่วยเพิ่มเสียง ”คนไร้ตัวตน”


เพิ่มเพื่อน    

หากพูดถึง “ประชากรกลุ่มเฉพาะ” คนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจว่าคือคนกลุ่มใดมีความเฉพาะอย่างไร แล้วอะไรที่ทำให้พวกเขาต้องกลายไปเป็นกลุ่มเฉพาะของสังคม

 

ประชากรกลุ่มเฉพาะคือกลุ่มคนที่ไร้ตัวตนในสังคม ถูกมองข้าม ละเลย เข้าไม่ถึงทรัพยากร ถูกผลักภาระให้รับผิดชอบชีวิตและชะตากรรมด้วยตนเอง จึงมีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะความเสี่ยงด้านสุขภาพ ขาดอำนาจในการต่อรองทำให้ต้องยอมจำนนให้กับความไม่เที่ยงธรรม

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีแผนขับเคลื่อนงานด้านนี้โดยตรงภายใต้สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ที่นิยามความหมายของคนกลุ่มนี้ไว้ว่า “คือประชากรบางกลุ่มที่มีทั้งความเปราะบาง ความเสี่ยง หรือต้องการกระบวนการพิเศษในการเข้าถึงการสร้างเสริมสุขภาวะ ซึ่งปัจจัยทางสังคมมีส่วนกำหนดปัจจัยทางสุขภาพ ทำให้เข้าไม่ถึงบริการและไม่ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมสุขภาพตามนโยบายในภาพรวม”

 

การจัดงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน: ประชากรกลุ่มเฉพาะ "Voice of the voiceless: The vulnerable populations" ถือเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของคนทำงานด้านสังคมครั้งแรก เพื่อร่วมด้วยช่วยกันลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้ประชากรกลุ่มเฉพาะ จะได้เข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐาน ตลอดจนเปิดพื้นที่ เปิดใจ สร้างโอกาส สร้างการยอมรับ และปรับทัศนคติมุมมองความคิดเพื่อการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างอย่างเข้าใจ โดยมีภาคีเครือข่ายและกลุ่มคนทำงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับร่วมงาน

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวให้กำลังใจกลุ่มคนทำงานบนเวทีเสวนา “เติบโตกับงาน เบิกบานกับชีวิต” ว่า การทำงานช่วยเหลือประชากรกลุ่มเฉพาะถือเป็นสิ่งที่ยาก เนื่องจากมีปัญหาในเชิงโครงสร้างและระบบซึ่งถูกสังคมลืมไว้ข้างหลัง มีพยาบาลทำงานดูแลผู้พิการที่มีอาการทางจิตที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า มีผู้ป่วยฐานะยากจน ไม่มีที่นาทำกิน เมื่อมาทำงานรับจ้างกลับถูกเจ้านายเอายาบ้าผสมน้ำให้ดื่มเพื่อให้ไม่เหนื่อยและมีแรงทำงานได้เยอะ ทำเป็นระยะเวลานานหลายปีจนมีอาการทางจิต และเข้าไม่ถึงยารักษา แม้กลับมาอยู่ที่บ้านเจ้าหน้าที่ช่วยกันจัดยาให้สม่ำเสมอจนหายเป็นปกติแล้ว แต่ยังไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เพราะโดนคนในชุมชนตีตราซ้ำเติมว่าเป็นผีบ้า สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนไม่พร้อม และไม่ยอมรับให้เขากลับคืนสู่สังคม ดังนั้นกลุ่มคนที่จะต้องรับไม้ดูแลต่อคือกลุ่มคนทำงานด้านนี้ที่ต้องมีแรงบันดาลใจในการทำงาน มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่เข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา เพราะหากคนทำงานอย่างเราท้อ พวกเขาจะย่ำแย่และไม่อาจหลุดพ้นจากอคติและความเหลื่อมล้ำ

 

“หลายคนอาจไม่รู้ว่างานที่ทุกคนทำเพื่อกลุ่มคนเปราะบางเกิดประโยชน์ 2 อย่าง คือ 1. Empathic Imagination เราจะสามารถจินตนาการเข้าใจหรือร่วมรู้สึกไปกับชะตากรรมและความทุกข์ของผู้อื่นได้แม้จะไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น แม้ไม่เคยมีลูกก็เข้าใจความสูญเสียของคนเป็นแม่ที่ต้องดูแลลูกพิการจากอุบัติเหตุทางถนน และ 2. Reflexive Imagination สามารถสะท้อนย้อนความคิดกลับตัวเองแล้วทำให้ตัวเองเป็นคนที่ดีขึ้น เรียกได้ว่างานนี้เป็นเส้นทางของการเรียนรู้เพื่อเติบโตสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และพร้อมจะเห็นอกเห็นใจคนอื่นในการทำงาน เมื่อเจอภาวะท้อแท้ให้นึกถึงคาถา 3 ข้อ คือ 1.จะได้ยกระดับความสามารถของตนเอง 2.เรามีอำนาจเลือกในสิ่งที่ตนเองอยากจะทำ และ 3.การมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ถ้ามีเป้าหมายยิ่งใหญ่อุปสรรคจะกลายเป็นเรื่องเล็ก เพราะการทำงานนี้ไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร แต่เป็นการวิ่งมาราธอนที่ต้องใช้เวลาและความอดทนเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับคำกล่าวของมีไฮ ซิกส์เซนต์มีไฮยี นักจิตวิทยาชาวฮังกาเรียนที่ว่า ห้วงเวลาที่ดีที่สุดของชีวิตเรานั้นไม่ใช่เวลาที่อยู่เฉยๆ แต่เป็นห้วงขณะที่ร่างกายและจิตใจถูกใช้งานเต็มขีดความสามารถเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ยากลำบากแต่มีคุณค่ามหาศาล” นพ.โกมาตรกล่าว

ส่วน นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และอดีตประธานกรรมการคณะ 2 สสส. กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพมานาน ทั้งผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพ ต่อสู้สิทธิการรักษา การรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ รณรงค์ป้องกันเชื้อ HIV โดยที่ผ่านมาใช้หลักอิทธิบาท 4 กับสังคหวัตถุ 4 เพื่อเป็นหลักในการทำงาน เมื่อไม่นานมานี้ได้อ่านหนังสือ “อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่” แล้วสามารถคิดเชื่อมโยงกับการสร้างแรงบันดาลใจการทำงานกับประชากรกลุ่มเฉพาะเพราะ อิคิไก คือเหตุผลของการมีชีวิตการอยู่อย่างมีคุณค่ามีประโยชน์ต่อโลกเป็นชีวิตที่สมถะเรียบง่ายและมีความสุข แต่มีความหมายว่า สิ่งที่ทำนั้นทำไปเพื่ออะไร เพราะอะไร ไม่ใช่ความร่ำรวยเงินทอง อิคิไกจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากการทำสิ่งเล็กๆ ง่ายๆ ใกล้ตัว เห็นคุณค่าของงานที่มีคุณภาพ ทำงานอย่างสอดคล้องมุ่งสู่ความยั่งยืน มีสติอยู่ตรงนี้ตอนนี้เพื่อมุ่งทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดคุณภาพและความหมายอย่างแท้จริง

           

เห็นได้ว่า การสร้างเสริมสุขภาพให้ประชากรกลุ่มเฉพาะไม่ใช่เพียงการสนับสนุนให้เข้าถึงระบบสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือหลักประกันทางสุขภาพเบื้องต้น แต่ยังต้องทำงานกับมายาคติความเชื่อของสังคมชุมชนที่ตีตราต่อคนเหล่านั้น ให้สามารถยืนหยัดในศักดิ์ศรีและความเป็นคนอย่างเท่าเทียม ถือเป็นความท้าทายในการส่งเสียงให้กับกลุ่มคนไร้สิทธิไร้เสียง หรือมีเสียงแผ่วเบาที่สุดในสังคมอยู่ไม่น้อย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"