อย.ยันเสียงแข็งปลาฟุกุชิมะปลอดรังสี ไม่รู้ไทยประเทศแรกนำเข้า


เพิ่มเพื่อน    

      
อย. จับมือกรมประมง ยันปลานำเข้าจากฟูกุชิมะไม่ใช่ล๊อตแรก ไม่มีการปนเปื้อนกัมมันตรังสี  เพราะญี่ปุ่นตรวจสอบให้แล้ว   เผยไม่รู้ว่าไทยเป็นประเทศแรกที่นำเข้าปลาเมืองนิวเคลียร์รั่ว  ด้าน"มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" จี้อย.ต้องตรวจสอบการปนเปื้อนซ้ำ พร้อมเปิดเผยใบรับรองจากญี่ปุ่น รวมทั้งเปิดเผยรายชื่อ12ร้านที่นำเข้าปลาตาเดียวมาจำหน่าย  เตือนหากไม่มีการตรวจสอบซ้ำ จะฟ้องศาลปกครองให้ล้มเลิกประกาศ การถ่ายโอนอำนาจตรวจสอบของอย.มาให้กรมประมง  

    วันที่  6 มี.ค. -ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง ร่วมกันแถลงข่าวกรณีไทยเป็นประเทศแรกที่นำเข้าปลาจากเมืองฟูกุชิมะ ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มเมื่อปี 2554 จนทำให้มีดกัมมันตรังสีรั่วไหลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
    นพ.วันชัย กล่าวว่า ทางอย. ขอชี้แจงว่าหลังเกิดปัญหาโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์รั่วไหล เมื่อปี 2554  ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้มีมาตรการคุมเข้ม ไม่ให้มีการนำเข้าปลาจากที่ประเทศญี่ปุ่น โดยให้มีการสำแดงใบยืนยันการนำเข้า สำแดงผลตรวจกัมมันตภาพรังสี  ซึ่งสถานฑูตญี่ปุ่นได้แจ้งให้ทราบว่าประเทศญี่ปุ่นมีมาตราการ การจัดการกับสินค้าที่มีการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีอย่างเข้มงวด หากพบมีการปนเปื้อนเกินมาตรฐานก็จะไม่ให้กระจายสู่ตลาด  และจะถูกควบคุม รวมทั้งทำลายโดยทันที ทั้งในและนอกประเทศ โดยมาตราการควบคุมอาหารที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีของไทยมี 2 มาตรการได้แก่ 1.การกำหนดปริมาณการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี โดยมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรฐานอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีกำหนดให้ปนเปื้อนได้โดย ไอโอดีน – 131 ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม หรือเบคเคอเรลต่อลิตร , ซีเซียม – 134 และซีเซียม – 137 รวมกันไม่เกิน 500เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม หรือเบคเคอเรลต่อลิตร 2.การกำหนดชนิดอาหารและพื้นที่เสี่ยงในการนำเข้าจะต้องมีหลักฐานในการระบุประเภทปริมาณอาหารจากประเทศต้นทางแสดงที่ด่านนำเข้าทุกครั้ง

    เลขาอย.กล่าวต่อว่า จากการสุ่มตรวจมาตลอดตั้งแต่ปี 2554 นั้น ไม่พบอาหารที่นำเข้าจากเมืองฟุกุชิมะมีการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเกินค่ามาตรฐาน มีบ้างที่พบแบคทีเรีย  ซึ่งก็จะไม่อนุญาตให้นำเข้าในล็อตที่ตรวจพบ  โดยจากการตรวจตั้งแต่เดือนมีนาคม - เมษายน ปี 2559 ไม่พบการปนเปื้อนในปลาใน ประเทศไทย รวมไปถึงประเทศอื่นๆอาทิ แคนาดา มาเลเซีย นิวซีแลนด์ จึงได้ให้นำเข้าได้อย่างปกติ แต่ยังคงมีการสุ่มตรวจโดยทั่วไปอยู่ ทั้งนี้อย.ได้ตรวจสอบผลการเฝ้าระวังในปี 2560 ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นมีการเก็บตัวอย่างปลาแล้วผลิตภัณฑ์ประมงจากเมืองฟูกุชิมะจำนวน 7,408 ตัวอย่าง พบการเปื้อนเกินเกณฑ์ 8 ตัวอย่างเป็นปลา Whitespotted char 4 ตัวอย่าง และ Cherry salmon 4 ตัวอย่าง ส่วนปลาตาเดียวที่มีข่าวการนำเข้าในครั้งนี้ไม่ใช่ปลาที่มีปัญหาดังกล่าว แต่ไม่ทราบว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีการนำเข้าหลังจากเกิดการรั่วไหลหรือไม่ เพราะประเทศอื่นๆก็มีการยกเลิกให้สำแดงใบนำเข้าเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องไปสุ่มตรวจร้านอาหารทั้ง 12 ร้าน ที่เป็นข่าวนำเข้าปลาดังกล่าว ก่อนหน้านี้

    นางอุมาพร กล่าวเสริมว่า หลังจากที่อย.ได้ยกเลิกให้สำแดงใบยืนยันนำเข้า ก็มีการนำเข้าปลาชนิดต่างๆในประเทศญี่ปุ่นและเมืองฟูกุชิมะเป็นปกติ รวมถึงปลาตาเดียวที่เป็นประเด็นอยู่ในขนาดนี้ด้วย และไม่พบการนำเข้าหรือปัญหาอะไร แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงเพิ่งมาเป็นข่าวในการนำเข้าล๊อตล่าสุดนี้ ซึ่งมีปลาชนิดอื่นๆนำเข้ามาพร้อมกันด้วยอาทิ ปลาซาดีน หอยนางรม แต่ปกติแล้วการนำเข้าจะมีใบแสดงว่านำเข้าจากประเทศอะไรแต่ไม่แสดงว่ามาจากเมืองอะไร

    ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว ถึงการแถลงข่าวของอย.และกรมประมงว่า ไม่เชื่อถือการแถลงข่าวของทั้งสองหน่วยงาน  เนื่องจากกรมประมงยอมรับเองว่า ไม่มีการตรวจซ้ำที่ด่าน เป็นการเชื่อข้อมูลใบรับรองจากผู้นำเข้าเท่านั้น ดังนั้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้มีการตรวจซ้ำเพื่อยืนยันความปลอดภัยที่จะมีต่อผู้บริโภคในล็อตที่เพิ่งนำเข้า และขอให้เปิดเผยชื่อร้านอาหารทั้ง 12 ร้าน ชะลอการจำหน่ายปลาจนกว่าจะมีการตรวจซ้ำจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองจากทางการไทย 

    “ขอเรียกร้องให้ทางอย.  และกระทรวงเกษตรเปิดเผยใบรับรองการนำเข้าปลาตาเดียว พร้อมทั้งให้เปิดเผยรายชื่อร้านอาหาร 12 นำเข้าปลาจากฟุกุชิมะเพื่อจำหน่าย เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค และเรียกร้องให้ร้านอาหารทั้งหมดชะลอการใช้ปลาที่นำข้าวจนกว่าจะมีการตรวจสอบความปลอดภัยซ้ำจากหน่วยงานในประเทศไทย และให้หยุดการนำเข้าล็อตอื่นๆ” 

    เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนถึงปัญหาที่องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคย้ำมาตลอดคือ การที่ อย.ถ่ายโอนอำนาจหน้าที่การตรวจอาหารนำเข้า 7 พิกัด ไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นอำนาจการต่อรองทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 59 จากแรงผลักดันของธุรกิจอาหารส่งออก ทำให้เกิดปัญหา  โดยหลังอย.ถ่ายโอนการตรวจสอบอาหารนำเข้ามาให้กรมประมง แต่กรมประมงกลับอ้างว่า ไม่มีหน้าที่กัก หรือตรวจสอบซ้ำ  และให้ อย.ไปสุ่มตรวจหลังเข้าสู่ตลาดแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ผ่านมาเกือบ 2 ปี อย.ไม่เคยมีการประเมินการถ่ายโอนภารกิจครั้งนี้ว่าดีหรือเลวลงอย่างไร ซึ่งสะท้อนอย่างชัดเจนจากการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะครั้งนี้ 

    นางสาวสารี กล่าวอีกว่า หากไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายผู้บริโภคจะพิจารณาฟ้องให้เพิกถอนประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องการถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบการนำเข้าสินค้า ฉบับวันที่ 15 พ.ค.2559 
    -----------------------------------------
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"