ว่าด้วยความ “สมดุล” ทางเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    

                                                           (1)
    กว่าจะ เข้าถึง-เข้าใจ ต่อวาทะ คำพูด ที่ไม่รู้ว่าใคร หรือกะเหรี่ยงที่ไหน บัญญัติไว้ นั่นก็คือคำพูดที่ว่า การไม่มีหนี้เป็น...ลาภอันประเสริฐ ก็ต้องใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิต ถึงจะซาบซึ้ง ดื่มด่ำ ลึกลงไปในความรู้สึกต่อคำพูดประโยคนี้ ไม่งั้น...ขณะยังอยู่ในวัยหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ วัย ฉะ-กัน (ฉกรรจ์) สิ่งที่เรียกว่า หนี้ นี่แหละ ที่ต้องถือเป็นแรงกระตุ้น แรงอัดฉีด ในการก่อให้เกิด ผลผลิต ได้ไม่น้อยไปกว่าการกระตุก การกระตุ้น ของรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจในช่วงนี้...
                                                       (2)    
    การถอยรถป้ายแดงออกมาซักคัน แล้วหันไปใช้ช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ระดับเป็นสิบปี หาเงินมาผ่อนรถในแต่ละงวดจนกว่าจะหมด ถอยบ้านออกมาซักหลัง แล้วใช้ชีวิตอาจตลอดทั้งชีวิตเอาเลยก็ไม่แน่ เพื่อผ่อนบ้านให้หมด ถอยตู้เย็น ถอยวิดีโอเอาไว้ดูหนังโป๊ ฯลฯ หรืออะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่ ย่อมก่อให้เกิดกระบวนการผลิตสืบเนื่อง ต่อเนื่อง อย่างชนิดเป็น ลูกโซ่ และนั่นเองที่เป็นตัวส่งผลให้ ระบบเศรษฐกิจ ของประเทศใด สังคมใด โตแล้วโตเล่า แบบ โตโยต้า เอาเลยก็ว่าได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า...เบื้องหลังความเติบโตทางเศรษฐกิจเกือบทุกชนิด มันมักหนีไม่พ้นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อน แรงปรารถนา ที่ไม่ต่างอะไรไปจาก กิเลส ธรรมดาๆ เราดีๆ นี่เอง...
                                                     (3)
    ด้วยเหตุนี้...จึงถือเป็นเรื่องไม่แปลก ที่รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ อย่าง ป๋าดัน-สมคิด ท่านจึงต้องงัดเอามาตรการแปลกๆ ออกมาส่งเสริมกิเลส หรือออกมา ดัน กันอุตลุด ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมันไม่ค่อยเอื้ออำนวยให้กับเศรษฐกิจประเทศไทยยิ่งเข้าไปทุกที ไม่ว่า แจกเงินเด็ก ให้ไปเที่ยวโน่น เที่ยวนี่ กินแหลก-ใช้แหลกตั้งแต่เด็กๆ แทนที่จะเฝ้าบ้าน เฝ้าช่อง อ่านหนังสือ อ่านตำรับ ตำรา ไปตามมี-ตามเกิด หรือกะจะเปิดผับ เปิดคาเฟ่ ให้คนมาร่ำสุรา สนุกสนานเฮฮา กันไปถึงตีสาม ตีสี่ ยิ่งถ้าหากเปิดได้ตลอด 24 ชั่วโมง แบบ เซเว่น อีเลฟเว่น ก็ยิ่งอาจช่วยชาติ ช่วยเศรษฐกิจไทย ได้ยิ่งขึ้นไปใหญ่...
                                                      (4)
    เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่คนไทยดัน หมดกิเลส เอาดื้อๆ ไม่คิดจะไปไหน เที่ยวไหน หันมาประหยัด อดออม กินแค่วันละมื้อเดียว แบบท่าน มหาจำลอง เลิกคิดที่จะเป็นหนี้ใดๆ ก็แล้วแต่ หรือหันไปเป็นฤาษี ชีไพร กันทั้งประเทศ แม้ว่าคนไทยอาจบรรลุ นิพพาน กันเป็นจำนวนไม่น้อย แต่โอกาสที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพีประเทศไทย อาจต้องโตกันในแบบ อัตราการเติบโตเท่ากับศูนย์ ย่อมเป็นไปได้อยู่แล้วแน่ๆ และนั่นก็คงทำให้ ป๋าดัน-สมคิด หมดสภาพความเป็นมือวางทางเศรษฐกิจ กลายเป็นแค่ เฮียกวง ธรรมดาๆ ที่อาจนั่งขายกาแฟ ขายหมู อยู่แถวๆ เยาวราชกันไปแทนที่...
                                                   (5)
    แต่การที่ประเทศไทย หรือประเทศอื่นๆ สังคมอื่นๆ...มันไม่ถึงกับมีอะไร สุดโต่ง ไปในแต่ละด้าน คือยังไม่ถึงขั้นที่ใครต่อใครจะหันไปเป็นฤาษี ชีไพร กันทั้งประเทศ และก็ยังไม่ถึงขั้นที่ใครต่อใครอยากจะจมอยู่กับกิเลส มัวเมาอยู่กับกิเลสในทุกรูป ทุกแบบ เพื่อก่อให้เกิดแรงกระตุ้นในกระบวนการสร้างผลผลิตอย่างชนิดไม่ขาดสาย การรักษา สมดุล ในแต่ละด้าน เพื่อให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันออกไปในทาง กลางๆ เข้าไว้ จึงถือเป็นศิลปะ เป็นศาสตร์ ที่มีความประณีต ละเอียด และซับซ้อน ซ่อนเงื่อน เอามากๆ จนส่งผลให้เกิดผู้ที่ถูกเรียก หรือผู้ที่เรียกตัวเองว่า บรรดา นักเศรษฐศาสตร์ ทั้งหลายนั่นเอง...
                                                    (6)
    ซึ่งแต่ละราย แต่ละค่าย แต่ละสำนัก...ก็อาจติดกลิ่นอายแห่ง ความสุดโต่ง ไปในแต่ละด้าน โดยอาจรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตาม มันเลยถึงได้ย่อยแยก แตกกระจาย ออกเป็นไม่รู้กี่ต่อกี่สำนัก มีทั้งเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก หรือทุนนิยมกระแสหลัก ทุนนิยมแบบมีจิตวิญญาณ ไปจนถึงทุนนิยมสิ่งแวดล้อม ฯลฯ มีทั้งสังคมนิยมโบราณ สังคมนิยมซาฟารี สังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะ หรือทุนนิยมเผด็จการแบบจีนๆ นั่นเอง ฯลฯ มีทั้งเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เศรษศาสตร์สีเขียว ไปจนถึงเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ ปัญหาก็จึงขึ้นอยู่กับว่า สำนักไหน ค่ายไหน ที่จะสามารถสร้าง สมดุล ให้กับแต่ละสังคม แต่ละประเทศ ในแต่ละห้วงเวลา ที่ผิดแผก แตกต่างกันออกไป...
                                                       (7)
    อย่างเช่นในช่วงที่ ภาวะเศรษฐกิจโลก มันไม่ค่อยรู้เห็น เป็นใจ ให้กับโลกทั้งโลก รวมประเทศไทยมากมายซักเท่าไหร่ หรือช่วงที่เกิดภาวะที่เรียกๆ กันว่า การถดถอยครั้งใหญ่ หรือ Great Depression เมื่อช่วงปี ค.ศ.1929 โดยแต่ละประเทศที่พยายามดิ้นรนเอาตัวรอดจากภาวะดังกล่าว ต้องหันมา ลดค่าเงิน ของตัวเอง เพื่อให้ ส่งออก ได้มากๆ เข้าไว้ จนเกิด สงครามการเงิน ตามมาในปี ค.ศ.1930 ก่อนที่จะกลายไปเป็น สงครามเลือด หรือ สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1939 ขึ้นมาจนได้ เผอิญว่าในช่วงนั้น...อาจไม่ถึงกับมี นักเศรษฐศาสตร์ ยั้วเยี้ยไปทั่วประเทศไทยเหมือนกับยุคนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย จึงมีส่วนนำมาซึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่ นั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในช่วงปี ค.ศ.1932 หรือช่วงปีพุทธศักราช 2475 นั่นเอง ส่วนครั้งนี้...มันจะนำไปสู่ฉากเหตุการณ์แบบไหน??? อันนี้...ก็คงต้องขึ้นอยู่กับบรรดา นักเศรษฐศาสตร์ ทั้งหลายนั่นแหละ ที่คงต้องมองหา สมดุล เอาไว้ให้ดี...
                                 --------------------------------------------------------
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"