'ชวน'เสนอ 4 บทเรียนให้อาเซียนย้ำใช้หลักนิติธรรมแก้ปัญหาคอรัปชั่น


เพิ่มเพื่อน    

26 ส.ค.62- นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานไอป้า กล่าวเปิดการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ครั้งที่ 40 ว่า ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมไอป้าเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตลอดระยะเวลามีปัญหาใหม่เกิดขึ้น และมีปัญหาเก่าที่เข้ามาท้าทายทุกประเทศในอาเซียน ซึ่งหลายปัญหาในประเทศล้วนสร้างผลกระทบระหว่างกัน เช่น ปัญหายาเสพติดที่มีการส่งต่อจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง ขยะทะเลที่ทิ้งจากประเทศหนึ่ง ซากขยะดังกล่าวก็ไปขึ้นฝั่งอีกประเทศหนึ่ง เพราะเราต่างอยู่ในทะเลเดียวกัน ดังนั้น หลายเรื่องต้องใช้กระบวนการทางกฏหมายและกระบวนการตามนิติบัญญัติ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในทางกฏหมาย  

นอกจากนี้ นายชวน ยังได้ขออนุญาตนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อสมาชิกอาเซียนเป็นภาษาอังกฤษ ว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับทุกท่านสู่ประเทศไทยในการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ครั้งที่ 40 ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียนครั้งสุดท้าย เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และในครั้งนี้ เราปลาบปลื้มที่ได้ต้อนรับครอบครัวอาเซียนของเราอีกครั้ง เป็นเวลา 42 ปี ที่ไอป้าได้ทำหน้าที่เป็นเวทีที่จะส่งเสริมความร่วมมือในหมู่สมาชิกรัฐสภาอาเซียน จากการเริ่มต้นแบบเรียบง่าย เราได้เติบโตขึ้นจนแวดล้อมไปด้วยสมาชิกรัฐสภา 10 ประเทศ รวมทั้ง 12 รัฐสภาสังเกตการณ์จากทั่วโลก นี่คือความสำเร็จที่โดดเด่น เพราะสำหรับภูมิภาคที่กว้างใหญ่และหลากหลายเช่นของเรา การยืนอยู่ใต้ธงผืนเดียวกันมาได้ตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ คือ บทพิสูจน์ถึงความใฝ่ฝันที่เรามีเหมือนกัน ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าเราแข็งแกร่งขึ้นอย่างมากเมื่ออยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคงของเราเศรษฐกิจของเรา หรือความเท่าเทียมทางสังคมของเรา 

ประธานไอป้า กล่าวอีกว่า แต่ประวัติศาสตร์ยังคงถูกเขียนขึ้นอยู่ตลอดเวลา และเราต้องระมัดระวัง ด้วยเกรงว่าเราจะถูกกลืนหายไปในกระแสของการเปลี่ยนแปลง การเกิดขึ้นของลัทธิหัวรุนแรง ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ภัยพิบัติจากการอพยพ และสภาวะเสื่อมโทรมจากการคอรัปชั่น ได้เตือนพวกเราว่าโลกยังไม่หยุดหมุน และถึงแม้เราจะดิ้นรนที่จะอยู่รอด ความท้าทายใหม่ก็คุกคามที่จะบั่นทอนความสำเร็จของเรา ในช่วงเวลาที่สับสนวุ่นวายนี้ ก็จะเกิดความอยากที่จะใช้การแก้ไขปัญหาแบบเร่งด่วน แต่ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ โดยการทำเช่นนั้น เราจะไม่ประสบความสำเร็จใดๆ นอกจากทำให้สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ยิ่งล่าช้า ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น ก็จะทับถมในระดับสูงสุดบนความยากจนที่สุด ความอ่อนแอที่สุด และความเสี่ยงที่สุดของเรา 

นายชวน กล่าวว่า นั่นคือหัวข้อของการประชุมใหญ่ฯ ในปีนี้ คือ นิติบัญญัติร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล เพื่อประชาคมที่ยั่งยืน ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติของอาเซียน เราเป็นหน่วยงานการปกครองที่ใกล้ชิดกับประชาชนของเรามากที่สุด และอยู่ในตำแหน่งเฉพาะตัวที่จะเห็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดกับประชาชนเหล่านั้น ด้วยการฟังเสียงของประชาชนบอกเล่า เราสามารถจะจัดการกับต้นเหตุที่แท้จริงและทำให้ประชาชนมั่นใจถึงความยั่งยืนของการกินดีอยู่ดี ผมเชื่อว่ามีสี่บทเรียนที่สำคัญที่ต้องระลึกไว้ 

"บทเรียนแรก คือ เราต้องจัดลำดับความสำคัญ มักจะมีอะไรให้เราทำเกินกว่าที่ความสามารถของเราจะทำได้เสมอ ในฐานะนักนิติบัญญัติ ก็ขึ้นอยู่กับเราที่จะตัดสินใจว่าปัญหาไหนของประชาชนต้องอยู่ในลำดับต้น ๆ ดังนั้น เราต้องแน่ใจว่า ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของเราจะเกิดประโยชน์มากที่สุดสำหรับมวลชน บทเรียนที่สอง เราต้องทำงานด้วยกัน ทั้งที่อยู่ในกลุ่มประเทศของเราหรือกับเพื่อนร่วมงานของเรา เช่นเลขาธิการอาเซียน การร่วมมือเป็นสิ่งจำเป็นหากเราต้องการประสบความสำเร็จในอนาคตระยะยาว ในช่วงก่อนหน้า ในการประชุมหารือระหว่างคณะผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียนกับผู้นำอาเซียน เราได้เสนอให้มีเวทีการประชุมเพื่อให้มีการประสานงานกิจกรรมต่าง ๆ ของอาเซียนกับเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียนขึ้น ซึ่งประธานอาเซียนได้รับข้อเสนอดังกล่าว ดังนั้น เรามาร่วมกันเริ่มต้นมุ่งไปสู่การร่วมมือนั้น บทเรียนข้อที่สาม เราต้องให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนสิ่งอื่นใด ไม่ว่าเราจะมองไปยังคนในประเทศของเรา หรือผู้อยู่อาศัย 647 ล้านคนของอาเซียน หรือมากไปกว่านั้นที่พลเมืองของโลก มันสำคัญที่เราจะวัดความสำเร็จของเราจากความเป็นอยู่ของพวกเขา ถ้าเราเพิ่มขีดความสามารถให้พวกเขาสามารถยืนด้วยตนเองได้โดยการให้โอกาสและความมั่นคง ประชาคมจะเติบโตและคงทนได้ตามธรรมชาติ บทเรียนที่สี่ เราจำเป็นต้องเคารพหลักนิติธรรม ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติ กฎหมายเป็นแก่นแท้ของเรา เรารักษาระเบียบของสังคมผ่านกฎหมาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง กฎหมายคือวิธีที่สังคมดูแลประชาชน" 

นายชวน กล่าวว่า ไม่มีประเทศใดสามารถหยิบยื่นให้พลเมืองของเขามีความมั่งคั่งเท่ากันได้ แต่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครควรจะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย ขอให้ตนได้เล่าถึงช่วงเวลาที่ประเทศไทย ซึ่งแม้จะอยู่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ได้ประสบกับความทุกข์จากปัญหาความไม่ยุติธรรมอย่างชัดเจน เมื่อฝ่ายบริหารได้เลือกปฏิบัติ ในทางต่อต้านต่อกลุ่มคนที่มีทรรศนะทางการเมืองแตกต่างจากพวกเขา แต่ก็ยังคงมีความหวัง เมื่อสภานิติบัญญัติสามารถปกป้องการเลือกปฏิบัติของฝ่ายบริหารได้ และรักษาไว้ซึ่งความเท่าเทียมทางกฎหมาย ตนได้รับเกียรติในการทำหน้าที่ทั้งการเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ หากขาดการถ่วงดุลอำนาจ สินบนและฉ้อราษฎร์บังหลวงจะกัดกร่อนสังคมจากภายใน ประชาคมที่ไม่รักษาหลักนิติธรรมจะไม่สามารถมีความเท่าเทียมกันได้อย่างแท้จริง 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"