ต่ออายุ'บ่อแก้ว'ชุมชน- รัฐ ใครมาก่อน ชี้บทพิสูจน์ฝีมือ'ตระกูลศิลปอาชา'เลือกน้ำตาหรือชัยชนะให้ชาวบ้าน!


เพิ่มเพื่อน    

26 ส.ค.62-  ที่ชุมชนบ่อแก้ว อ.คอนสาร  จ.ชัยภูมิ คณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรรมชาติและสิงแวดล้อมนำโดยน.ส.กัญจนา ศิลปอาชา  ที่ปรึกษาคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอำนาจหน้าที่ในการประสานงานในหน่วยงานองค์กรต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูล ผลการศึกษา พิจารณาวิเคราะห์กลั่นกรองงาน รวมทั้ง เสนอความคิดเห็น ให้คำปรึกษาแนะนำ และปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบหมาย ได้ลงพื้นที่มาพบเจอชาวบ้านหมู่บ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ก่อนที่ชาวบ้านจะถูกหมายบังคับคดีจากการฟ้องร้องขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้  (อ.อ.ป.)ในวันพรุ่งนี้ 27ส.ค.62

ภายหลังจากที่ น.สกัญจนาเดินทางมาถึง นายนิด ต่อทุน ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนบ่อแก้วที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือให้หลายหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาให้ ได้บอกเล่าถึงปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านให้กัญจนาทราบโดยระบุว่า พื้นชุมชนบ่อแก้วนั้นเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านได้อยู่ทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 จนกระทั่ง ปีพ.ศ.2516 รัฐบาลได้ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภูซำผักหนามทับที่ทำกินของชาวบ้าน และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ อ.อ.ป.ก็ได้ เข้ามาดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร เนื้อที่ 4,401 ไร่ โดยได้นำไม้ยูคาลิปตัสมาปลูกเป็นแปลงป่าและฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ทำกินของตนเอง โดยขณะนี้มีชาวบ้านซึ่งเป็นผู้เดือดร้อนกว่า 103 ราย ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้ถือครองที่ดินทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ขณะที่นายปุ่น พงษ์สุวรรณ ตัวแทนชาวบ้านกล่าวกับน.ส.กัญจนา ว่า ตนเองสู้เรื่องนี้มายาวนาน เดินทางไปกรุงเทพบ่อยครั้งมาก จนตอนนี้จะสู้ไม่ไหวแล้ว เรามีมติแล้วว่าให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร ที่ทับที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งทุกคนทุกรัฐบาลก็เห็นเหมือนกัน แต่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หรือ อ.อ.ป.ก็ไม่ยอม แล้วยังสั่งฟ้องบังคับคดีพวกตนด้วย ทำให้พวกตนไม่ได้ทำมาหากินอะไรเลย มีแต่สู้อย่างเดียว และลูกหลาน ก็อดๆอยากๆ การทำงานของเราก็ไม่เป็นปกติ ทุกข์ทรมานมาก จนไม่มีอะไรที่ทุกข์ทรมานไปมากกว่านี้แล้ว จึงอยากให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาพวกเราให้จบสิ้นโดยเร็ว อย่าให้พวกตนไปติดคุกติดตาราง เพราะข้อเท็จจริงทุกอย่างชัดเจนแล้ว

นอกจากนี้แล้วยังมีชาวบ้านจำนวนมากที่เป็นผู้เดือนร้อนได้นำเอกสารหลักฐานการสิทธิทำกินมาให้น.ส.กัญจนาได้รับทราบด้วย หลังจากรับฟังคำบอกเล่าจากชาวบ้านแล้ว น.ส.กัญจนา ได้ตอบกลับชาวบ้านว่า เป้าหมายที่มาในครั้งนี้ อยากให้ชาวบ้านทุกคน อยู่กับป่าได้อย่างมีความสุข ภาครัฐเคยสัญญาอะไรไว้ก็ให้ว่าเป็นแบบนั้น ถ้าเราเคยอยู่มาก่อน แล้วมีการประกาศป่าสงวนทับที่ดินทำกินของเรา ถ้าจะมีการไล่เราอย่างไม่เป็นธรรม ถือว่าไม่ถูกต้อง ส่วนตัวเคยพูดเสมอว่า รัฐบาลที่ดีต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชน ไม่นำความดือดร้อนมาให้ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย จะให้เราออกไปอย่างไม่เป็นธรรม เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งนายวราวุธ ศิลปะอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ที่เป็นน้องชาย ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง   เมื่อเดือนที่ผ่านมา เป้าหมายแรกที่ต้องการทำคือการดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนที่ยากจน และชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และในขณะเดียวกันต้องรักษาผืนป่าไปด้วย ซึ่งเราได้ตั้งคณะทำงาน ของรัฐมนตรีขึ้นมา ซึ่งจะเป็นผู้ทำงานลงลึกในแต่ละด้าน รวมทั้งดูแลปัญหาที่ดินทำกินของประชชาชนด้วย ซึ่งจะมีการประชุมครั้งแรกวันที่  30ส.ค. นี้ ปัญหาชาวบ้าน คอนสาร ก็จะนำเข้าที่ประชุมด้วย และจะมีคณะย่อยลงมาพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน  เบื้องต้นยืดเวลาออกไปอีก 1 เดือน ระหว่างนี้ก็จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านไปด้วย นี่คือเป้าหมายและเจตนารมณ์ที่มาในวันนี้

ในระหว่างนี้ตัวแทนชาวบ้านหลายคน พยายามบอกน.ส.กัญจนาว่า กลัวจะเป็นเหมือนเดิม เพราะทุกรัฐบาล ก็ให้คำมั่นสัญญา แต่ไม่ทำตามที่สัญญาที่ให้ไว้ สุดท้ายก็ต้องมีการต่อสู้ เพื่อทวงสิทธิที่ดินทำกิน จนเกิดความยืดเยื้อ ซึ่ง น.ส. กัญจนา ตอบว่า ให้ดูเรื่องการกระทำเป็นหลัก อย่าไปเชื่อคำพูดใครอีก เพราะทราบว่าชาวบ้านก็ได้รับฟังคำพูดคนอื่นมาเยอะแล้ว จึงอยากให้ดูที่การกระทำไม่ต้องเชื่อตน

ภายหลังจากที่พูดคุยกับชาวบ้านบ่อแก้วเสร็จตัวแทนจาก อ.อ.ป.ที่เป็นโจทก์ได้ยื่นฟ้องชาวบ้านได้เดินทางเข้ามาร่วมรับฟังการพูดคุยของชาวบ้านและน.ส.กัญจนาด้วย โดย นายปราโมทย์ ผลภิญโญ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานได้สอบถามกับทางอ.อ.ป. ว่า  ที่ผ่านมาเวลามีคำถามไปที่อ.อ.ป. ถึงการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ อ.อ.ป.จะให้คำตอบว่าอำนาจตัดสินใจของทางอ.อ.ป.ก็แล้วแต่ทางนโยบายจะทำอย่างไร ถ้านโยบายบอกอย่างไรก็ทำแบบนั้น ถ้าให้ยกเลิกก็จะยกเลิก  พร้อมเผยว่า สมัยที่รองผู้อำนวยการ อ.อ.ป. พูดเมื่อ ปี พ.ศ.2552 บอกว่าอ.อ.ป.ไม่มีปัญหา สุดแล้วแต่ทางนโยบาย ซึ่งเป็นรัฐบาลสมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดย มอบหมายให้ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ลงมาที่พื้นที่ และมีความเห็นพ้องร่วมกัน ว่าจะนำพื้นที่ 1,500 ไร่ มาดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วย เรื่องการจัดฉโนดที่ดินชุมชน กระทั้งปี พ.ศ. 2554 มีเอ็มโอยูหรือข้อตกลงร่วมกัน ระหว่าง อ.อ.ป.กับชาวบ้าน วันที่ 2 มีนาคม 2554 เรื่องการไม่เร่งรัดบังคับคดี ที่ดินจำนวน 1,500  ไร่ และเรื่องการจัดโฉนดชุมชน โดยให้ทุกฝ่ายลงมาพื้นที่ร่วมกัน จนดูพื้นที่ได้ 4แปลง เป็นพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ จากนั้นก็มีการยุติลง จนล่าสุดชาวบ้านและเครือข่ายกว่า 31 คนก็ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและจะถูกหมายบังคับคดีให้ออกจากพื้นที่ในวันพรุ่งนี้ คือ วันที่ 27 ส.ค.

พร้อมกันนี้นายปราโมทย์และตัวแทนชาวบ้าน ได้นำเอกสาร การเสียภาษีที่ดิน ตั้งแต่ปี 2496 มาให้น.ส.กัญจนา ดู โดย น.ส.กัญจนา ได้พิจารณา พร้อมระบุว่า ชาวบ้านก็มีการเสียภาษีที่ดินถูกต้องตามเอกสาร ทำไมถึงมีการไล่ที่ชาวบ้านอีก   จึงหันไปถามตัวแทนอ.อ.ป.โดยตัวแทนอ.อ.ป.ชี้แจงว่า เรื่องนี้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น โดยผ่านกระบวนการทางศาล  เราจึงจัดกำลังมาที่พื้นที่ ตั้งแต่ปี 2552 และเราพยายามเจรจา แต่ก็ถูกต่อต้าน จนศาล ตัดสินเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ปี 2553 ให้รื้อสิ่งปลูกสร้างออกทั้งหมด ซึ่งเราทำตามคำสั่งศาล ซึ่ง น.ส.กัญจนา แย้งว่า เรื่องนี้ทราบว่า ก่อนหน้านี้ อ.อ.ป.ได้เคยออกกสำรวจพื้นที่ทำกินของชาวบ้านแล้ว และก็ มีหลักฐานชัดเจนว่าชาวบ้านอยู่มาก่อน แล้วทำไมยังไปฟ้องร้องชาวบ้าอีก  แบบนี้คืออะไร ซึ่งอ.อ.ป.ชี้แจงว่า มีการพบชาวบ้านบางส่วนเป็นครอบครัวขยายและทำการรุกล้ำที่ดิน  จึงต้องมีการไล่ที่เรียกคืน ตรงนี้ ทำให้ชาวบ้าน ลุกขึ้นแย้งว่า อ.อ.ป.ไม่ได้พูดจากข้อเท็จจริง ชาวบ้านที่นี่ อยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม ตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่ใช่ครอบครัวขยายตามที่กล่าวอ้าง สิ่งที่จะถาม ที่ผ่านมีมติจากคณะทำงานในหลายชุด มีคำสั่งยกเลิก สวนป่าคอนสาร  แต่ทำไมอ.อ.ป.ไม่ปฏิบัติตาม ที่ต้องจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้าน  

จากนั้น น.ส.กัญจนา ย้ำถามกับอ.อ.ป.ในประเด็นที่ชาวบ้านถาม อ.อ.ป.ตอบว่า ตนเองไม่ทราบว่ามติคณะทำงานในชุดนั้น ไม่ทราบว่ามีมติออกมาแบบนี้ ซึ่งขณะนั้น ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม จึงขอสงวนความเห็น ท้ายสุดน.ส.กัญจนา ได้กล่าวว่าแต่มันเป็นมติในที่ประชุมว่า แต่ทุกฝ่ายมีความเห็นเป็นของตัวเอง ถ้าเถียงกันไปมาเรื่องก็ไม่จบ

เมื่อมาถึงตรงนี้ ชาวบ้านก็ลุกขึ้นมาพูดด้วยความกังวล ว่าในวันที่ 27 ส.ค.นี้ ทางอ.อ.ป.จะมาไล่ที่ จึงอยากขอความชัดเจน และเรียกร้องให้ ทางอ.อ.ป.ประสานไปยัง กรมบังคับคดี ยุติการไล่ที่ชาวบ้านในวันที่ 27 ส.ค.นี้ เมื่อถึงตรงนี้ น.ส.กัญจนา ได้ต่อสายตรงไปยัง ผู้อำนวยการอ.อ.ป.ให้เร่งประสานไปยังกรมบังคับคดี ซึ่งทางผู้อำนวยการ อ.อ.ป.ก็รับปาก จากนั้นน.ส.กัญจนา  ก็ให้การยืนยันกับชาวบ้านว่า เมื่อมีการเร่งประสานให้แล้ว จึงขอให้ใช้ชื่อของตัวเองเป็นประกันได้ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็กังวลว่า เมื่อมีการประสานไปยังกรมบังคับคดีแล้ว อยากให้ส่งกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร มาให้ชาวบ้านเพื่อความอุ่นใจ โดยน.ส.กัญจนาก็รับปาก จากนั้น น.ส.กัญจนา กล่าวว่า  ในวันที่  30 ส.ค.จะมีการประชุมคณะทำงาน ที่คณะรัฐมนตรีตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาป่าคอนสารและป่าไทรทอง โดยระหว่างนี้ขอให้มีการยืดเวลาบังคับคดีชาวบ้านออกไป 30 วัน

“วันที่ 27 สิงหาคมนี้ห้ามมีการขับไล่ชาวบ้านเพราะอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา ถ้ากฎหมายมันบีบราษฎรก็ไม่ควรใช้กฎหมายนั้นแต่เราควรทำภายใต้การปกครองที่อยู่กันอย่างมีความสุขเรื่องนี้มันเกิดขี้นมานานแล้วแต่แก้ไขอย่างไรก็ไม่จบ”

น.ส.กัญจนา ระบุด้วยว่า การประชุมคณะทำงานยุทธศาสตร์ฯในวันที่ 30 ส.ค.นี้จะมีการพิจารณาดูว่าพื้นที่ 830 ไร่ที่มีการขอกันพื้นที่ออกมาทำกิน จะสามารถให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินได้เลยหรือไม่ ขณะที่นายสมศักดิ์กล่าวยืนยันว่า วันที่ 27 ส.ค. นี้จะไม่ดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีชาวบ้านแต่จะเลื่อนออกไป  30 วัน ตามที่คณะกรรมการยุทธศาตร์ร้องขอ ขอให้ชาวบ้านสบายใจได้

ด้าน น.ส.ปราณม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์ Protection Internationnal ทีทำงานด้านการปกป้องและคุ้มครองนักปกป้องเสิทธิมนุษยชนกล่าวภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นว่า ถึงแม้ที่ปรึกษาคณะทำงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  จะแจ้งให้ทราบว่า มีการชะลอการบังคับคดีออกไป แต่การบังคับคดี ยังอยู่ที่สำนักงานบังคับคดี  ซึ่งต้องมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร จากโจทย์ที่ยื่นฟ้องก็คือ อ.อ.ป. ล่าสุด อ.อ.ป. ยังไม่มีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ไปยัง กรมบังคับคดี ตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่ออย่างใด   ดังนั้น ชีวิตชาวบ้านบ่อแก้ว จึงยังมีความไม่แน่นอน

ขณะที่นายปราโมทย์ ผลภิญโญ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า หลังจากนี้ เราจะดำเนินการ 2 ส่วน โดยวันพรุ่งนี้เราจะจัดกำลังเฝ้าระวังจนกว่าจะมีความมั่นใจ ว่าอ.อ.ป.ประสานไปยังกรมบังคับคดี ที่มีลายลักษณ์อักษรชัดเจน และภายใน 1 เดือนนี้ ที่น.ส.กัญจนา ให้คำมั่นกับชาวบ้านว่า จะมีการเลื่อนบังคับคดี พร้อมทั้งตั้งชุดทำงานมาศึกษาเรื่องนี้ เราก็จะนำแผนการจัดการที่ดินชุมชน 830 ไร่ ที่เราเคยแสนอมาก่อนหน้านี้แล้ว เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาตัดสินใจ ซึ่งชาวบ้านที่เดือดร้อน จะติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่องต่อไป และอยากเชิญชวนทุกท่านมาให้กำลังใจชาวบ้านในวันพรุ่งนี้ที่จะยังปักหลักเฝ้าระวังในชุมชนต่อไปด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"