13 ศิลปินกับปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก”


เพิ่มเพื่อน    

 

13 ศิลปินร่วมสมัย

    หากพูดถึง “ศิลปะร่วมสมัย” หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าแท้จริงแล้วความหมายของศิลปะร่วมสมัยคืออะไร ต่างจากศิลปะเดิมๆ อย่างไร และเกิดขึ้นเมื่อใด ขณะที่หลายคนก็เข้าใจว่าศิลปะร่วมสมัยก็คือศิลปะที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับชีวิตประจำวันของเรา หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายก็คืองานศิลปะสมัยใหม่ ที่มีรูปแบบการนำเสนอแตกต่างไปจากเดิมๆ เช่น เทคนิคการสร้างสรรค์งานที่มีความซับซ้อนขึ้น หรืองานที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริม เป็นต้น


     ในนิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” ที่กำลังจัดแสดงบริเวณชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังพยายามจะเล่าถึงศิลปะร่วมสมัย ผ่านเหตุการณ์สภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแวดวงศิลปะไทย เป็นการปฏิบัติการของศิลปะร่วมสมัยตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980-2000 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มักจะถูกกล่าวถึงในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะร่วมสมัย และเป็นที่กล่าวขานว่าเป็นยุคที่ศิลปะสมัยนั้นความนิยมพุ่งสูงมาก ทั้งด้วยการสร้างพื้นที่ศิลปะอิสระ การเชื่อมต่อกับเครือข่ายศิลปะข้ามชาติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างสรรค์ผลงานแหวกขนบจากศิลปินหัวก้าวหน้าในขณะนั้น


    โดยผลงานศิลปะที่รวบรวมอยู่ในนิทรรศการ ส่วนหนึ่งเป็นการคัดสรรผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ภาพถ่าย และวิดีโออาร์ต ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือหลักฐานของการแสดงผลงานศิลปะที่ได้รับการบันทึกไว้ จากผลงานของศิลปินไทย 13 ท่าน ทั้งที่จบการศึกษาศิลปะในประเทศ และต่างประเทศ อาทิ กมล เผ่าสวัสดิ์, คามิน เลิศชัยประเสริฐ,จุมพล อภิสุข, ชาติชาย ปุยเปีย ฯลฯ ผลงานศิลปะที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาสำคัญนี้เป็นตัวแทนของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แห่งยุคสมัยนั้น ที่เปรียบได้กับการประกาศเข้าสู่ภาวะหลังสมัยใหม่ในทางศิลปะ ทั้งการเลือกใช้วัสดุในการผลิตผลงานที่แปลกออกไป ไม่ว่าจะเป็น สิ่งของเหลือใช้ และวัสดุสำเร็จรูป รวมถึงการใช้ร่างกายของศิลปินเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง และการใช้สื่อศิลปะสมัยใหม่เพื่อสร้างผลงานด้วยเทคนิควิธีและรูปแบบที่ต่างไปจากขนบดั้งเดิม ตลอดจนเนื้อหาของผลงานที่หลากหลาย ทั้งการสะท้อนภาพปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงวิพากษ์วิจารณ์คุณค่าทางวัฒนธรรมและโครงสร้างทางสังคม โดยเฉพาะการตั้งคำถามกับเส้นแบ่งพรมแดนทางความหมาย ช่วงชั้นและลำดับชั้น ตลอดจนประเด็นเรื่องเพศภาวะ เป็นต้น 

ผลงานคามิน เลิศชัยประเสริฐ


    อย่างเช่นผลงานของคามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะเชิงความคิด แฝงด้วยความคิดปรัชญาทางศาสนา และเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนวงการศิลปะเชียงใหม่ ที่นำงาน “เวลาและประสบการณ์” เมื่อปี 2533 มาจัดแสดง ซึ่งเป็น การปฏิเสธการเขียนภาพแบบขนบด้วยการใช้มือระบายสีบนผ้าใบ แล้วใช้สีที่เหลือติดมือ มาทาที่ฝ่าเท้าและพิมพ์ลงบนกระดาษ ศิลปินจัดวางผลงานระบายสีด้วยมือจำนวน 365 ชิ้นติดตั้งบนพื้น ขณะที่ภาพพิมพ์ด้วยเท้าติดตั้งบนผนังจำนวน 365 ชิ้นเท่ากัน สลับที่ทางของความหมายเชิงวัฒนธรรมระหว่างสิ่งที่อยู่สูง และต่ำ การก้าวเดินลงบนพื้น ชักชวนให้เราสำรวจหลักฐานทางเวลาในห้วงปัจจุบันขณะ และคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างพื้น และผลงานศิลปะ 

งานศิลปะแสดงสดช่วงฟองสบู่แตกของมานิต


    หรือจะเป็นงาน Pink Man ของมานิต ศรีวานิชภูมิ ช่างภาพ นักเขียน ศิลปินอิสระแนวมโนทัศนศิลป์ และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ผลงานที่เป็นภาพของชายร่างท้วม สวมสูทสีชมพูและรถเข็นซูเปอร์มาร์เกตเดินไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นแนวเสียดสีการเมืองและสังคมไทย ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า เกิดขึ้น เมื่อสองเดือนก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ ประมาณปี 2540 ช่วงนั้นคนไทยกำลังสนุกสนานกับการใช้จ่ายเงิน โดยไม่รู้ตัวว่าอีกสองเดือนต่อมาจะเกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ตัวละครนี้ก็เลยถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจะสะกิด ตั้งคำถามถึงการใช้จ่าย และวิถีชีวิต ของผู้คน เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องบริโภคนิยม ซึ่งทุกวันนี้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจก็กลับมาอีกครั้ง มันยังคงร่วมสมัย

ชมไทม์ไลน์เหตุการณ์ทางศิลปะร่วมสมัย


    แล้วก็ผลงานของจุมพล อภิสุข กับวิดีโอบันทึกผลการแสดงสด 6 จอภาพ ที่เกิดขึ้นเมื่อเขาจบการศึกษาจากต่างประเทศ ช่วงปลาย 1980 เขาคือผู้ขับเคลื่อนศิลปะการแสดงสดในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็มีส่วนในการสร้างพื้นที่ทางศิลปะใหม่ ตลอดจนร่วมรณรงค์ และเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง นิทรรศการรวบรวมวิดีโอบันทึกผลงานการแสดงสดของผลงานชุด “หัวใจ” ในต่างพื้นที่ ต่างเวลา จำนวน 6 จอภาพ จากญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, สหรัฐอเมริกา, โปแลนด์ และสเปน ในผลงานดังกล่าวจุมพลใช้การเป่าลูกโป่งรูปหัวใจเป็นสัญลักษณ์ของความรัก และความหวังในสภาวะเปราะบาง ลมหายใจที่เปรียบเสมือนกับสัญลักษณ์ของการมีชีวิตถูกเติมเข้าไปในลูกโป่งจนกระทั่งแตกออกเป็นสถานการณ์ที่มุ่งหวังสร้างความตลก เพื่อเปิดให้ผู้ชมได้ทบทวนถึงวิกฤตกาลต่างๆในโลก ตั้งแต่การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไต้หวัน เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในพม่า และปากีสถาน ตลอดจนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในติมอร์และโคโซโว และอีกมากมายหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงปี 2000 ที่ศิลปินสร้างผลงานชุดนี้ขึ้น และก็ยังมีอีกหลากหลายผลงาน

ผลงานโต๊ะเอียงท้าทายการมองเห็น ธวัชชัย พันธุ์สวัสด

 

    อย่างไรก็ตามศิลปินทั้ง 13 ท่าน ยังได้เล่าถึงปฏิบัติการศิลปะร่วมสมัยในมุมมองคนตนเองด้วย โดยที่คามิน เลิศชัยประเสริฐ กล่าวว่า ศิลปะในยุคสมัยของเขานั้นไม่เป็นที่นิยม เพราะมีสถาบันสอนศิลปะอยู่เพียงไม่กี่แห่ง ใครอยากเป็นศิลปินก็ต้องได้รางวัล หรือสอนศิลปะ นอกนั้นไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ เว้นแต่ไปเขียนรูปขาย นี่คือข้อจำกัดในยุคนั้น แต่จุดที่ทำให้วงการศิลปะเปลี่ยนไปคิดว่า เกิดจากคนยุคนั้นที่ไปศึกษาต่างประเทศกลับมา แล้วนำองค์ความรู้มาขยับขยาย จริงๆ แล้วศิลปะมีอยู่ในความเป็นไทย มีอยู่ในวิถีเราอยู่แล้ว แต่ศิลปะร่วมสมัยอื่นๆ ยังไม่ถูกยอมรับ อาจจะด้วยหลายประการ ส่วนหนึ่งคิดว่าเราไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะ รัฐบาลยุคนั้นไม่มีความสนใจศิลปะอยู่แล้ว เพราะว่าการจะให้ประชาชนมีข้าวปลาอาหารกินก็ลำบากมาอยู่แล้ว แต่ตนคิดว่ามันก็เป็นสิ่งจำเป็นที่คนในแวดวงศิลปะต้องไปอธิบายว่าส่วนนี้เป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยที่เราจะสามารถขับเคลื่อนช่วยเรื่องเศรษฐกิจสังคม ให้เกิดคุณค่าบางอย่างได้ ซึ่งเขาไม่มีความเข้าใจแต่ในฐานะที่เราเป็นตัวแทนของศาสตร์ร่วมสมัย คิดว่าถ้าเรามีโอกาสเราต้องอธิบายให้ได้


       เช่นเดียวกับมานิต ศรีวานิชภูมิ กล่าวไปในทางเดียวกันว่า ศิลปะร่วมสมัยในอดีต จนถึงตอนนี้ เราก็ยังไม่สามารถจะฟันฝ่าที่จะเอาชนะมันได้ ซึ่งหมายถึง ศิลปะไทยไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร เพราะไม่มีคนเห็นความสำคัญ เรามีเงินแต่เราไม่มีศักยภาพที่จะพัฒนา ศิลปะของเราให้ใครได้ ในยุคของตนจึงมาจากการดิ้นรนต่อสู้ด้วยตนเอง ที่ต้องการเอาศิลปะแตกตัวเองออกมา จากศิลปะในขนบนิยมที่มีโครงสร้าง ซึ่งรัฐเป็นผู้สนับสนุน แนวคิดแบบพวกเราจะไม่ค่อยสนับสนุน เพราะมันเป็นแนวคิดที่มีท่าทีและลักษณะที่จะไปคนละทิศละทางกับรัฐ แนวคิดแบบนี้ เราพูดกันตลอดว่าอยากให้เด็กสร้างสรรค์ แต่เราไม่เคยสนับสนุนงานด้านสร้างสรรค์เลย
     สำหรับนิทรรศการปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” จัดแสดงที่ห้องหลักชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจนถึงวันที่ 24 พ.ย.นี้

 

ภาพบันทึกนาวินแกลอรี่ เปลี่ยนแท็กซี่เป็นหอศิลป์ปี2538


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"