ดื่มด่ำงานศิลป์ นิทรรศการ "นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต" ฉลอง 50 ปี โตชิบา


เพิ่มเพื่อน    

ดื่มด่ำผลงานยอดเยี่ยมจากเวทีศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” 
 

 

     เดือนตุลาคมนี้มีความเคลื่อนไหวในวงการศิลปะ คนรักงานศิลป์จะได้ตื่นตาตื่นและยลโฉมงานศิลปะและพบปะศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการไปพร้อมกัน ใน นิทรรศการศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีที่สู่ชีวิต” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี กลุ่มบริษัทโตชิบา ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นอีเวนต์ใหญ่ โดยนิทรรศการศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีที่สู่ชีวิต” อวดโฉมงานอาร์ตระดับคุณภาพโดยพร้อมเพรียงเพื่อต้อนรับสู่ปีที่ 30 ของการจัดงานศิลปกรรม
    ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดงานนิทรรศการศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีที่สู่ชีวิต” เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทุกระดับตามที่จัดโครงการประกวดศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” มาตั้งแต่ปี 2532 ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์รูปสัตว์ ประกอบด้วย หมู แมว และหนู ด้วยสีอะครีลิกสีต่างๆ ที่จัดไว้เปิดนิทรรศการศิลปกรรมครั้งสำคัญ และทอดพระเนตรภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่ได้ทรงวาดพระราชทานเป็นสัญลักษณ์การเปิดงานประกวดศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ทุกครั้งตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา จำนวน 12 ภาพ รวมทั้งผลงานจากกรรมการผู้ตัดสินการประกวดตลอด 30 ปี ล้วนเป็นศิลปินแห่งชาติและศิลปินแถวหน้าของประเทศ นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ชนะการประกวดทั้งประเภทยอดเยี่ยมและดีเด่น ร่วมเพื่อแสดงพัฒนาการศิลปะร่วมสมัยและความสามารถของศิลปินรุ่นใหม่ของไทยแต่ละช่วงเวลา

 

จัดแสดงภาพวาดฝีพระหัตถ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 


    นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังจากเรือนจำและทัณฑสถานต่างๆ ทำกิจกรรมด้านศิลปะเพื่อขัดเกลาจิตใจให้อ่อนโยน และส่งผลงานเข้าร่วมแสดงศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ผ่านโครงการ Art For All ประตูสู่จินตนาการโครงการตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
    ผู้มาชมงานไม่เพียงแต่ได้ชื่นชมกองทัพงานศิลปะมากมาย จัดแสดงที่ริเวอร์ มิวเซียม แบงค็อก ชั้น 8 ไอคอนสยามเท่านั้น ยังมีกิจกรรมทางด้านศิลปะหลากหลาย ทั้งปาฐกถาและเวิร์กช็อปพิเศษอีกด้วย อาทิ วันที่ 6 ต.ค. เรียนรู้ Drawing (Still Life) กับอาจารย์ทวี ตั้งมงคลวณิช วันที่ 12 ต.ค. สนุกกับศิลปะ โดยแพรวา วัฒนวรางกูร วันที่ 13 ต.ค. น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9 องค์อัครศิลปิน ผ่านกิจกรรม “รวมใจให้พ่อที่อยู่บนฟ้า” โดยอาจารย์สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ อดีตนายกสมาคมทัศนศิลป์นานาชาติแห่งประเทศไทย ถ้าเป็นคนรักการถ่ายภาพ มาวันที่ 14 ต.ค. จะพบกิจกรรมแนวทางวงการถ่ายภาพในปัจจุบัน โดยอาจารย์ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์

 

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการและที่ปรึกษากลุ่มบริษัทโตชิบา ประเทศไทย 
 


    กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการและที่ปรึกษากลุ่มบริษัทโตชิบา ประเทศไทย กล่าวว่า การประกวดศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” จัดขึ้นครั้งแรก ปี พ.ศ.2532 และดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปี ภายใต้ปรัชญาของการ “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” เป็นรากฐานแนวคิดมุ่งสร้างสรรค์คนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์ศิลปะทุกระดับอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนาศิลปะของไทยให้ก้าวหน้า ที่ผ่านมามีผลงานส่งเข้าประกวดกว่า 54,000 ชิ้น และเป็นที่ยอมรับจากศิลปินถึงมาตรฐานการตัดสินของศิลปินแห่งชาติและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นเวทีระดับแถวหน้า คนสนใจศิลปะมากขึ้น ที่สำคัญ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ทุกครั้ง นับเป็นสิริมงคลอย่างมาก
    “ การทำกิจกรรมพัฒนาสังคมต้องเลือกในสิ่งที่เชื่อและทำอย่างต่อเนื่อง บริษัทของเราทำเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ แต่ส่วนสำคัญที่จะนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิตต้องเป็นเรื่องจิตวิญญาณ สมอง และความรู้สึก ซึ่งศิลปวัฒนธรรมพัฒนาคน ยุคนั้นการประกวดยังมีไม่เยอะ เริ่มต้นจากตรงนั้น เมื่อทำอย่างต่อเนื่องและลงลึก มีการวัดผล พัฒนาศิลปะด้านต่างๆ แต่นิทรรศการจัดที่กรุงเทพฯ คนต่างจังหวัดไม่มีโอกาสจึงปรึกษากับศิลปินเริ่มนิทรรศการสัญจร บางปีไปทุกภาค ไม่หยุดแค่นั้น สนับสนุนด้านการเรียนการสอนศิลปะจัดสัมมนาทัศนศิลป์ศึกษาแห่งชาติ ร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัยในตอนนั้น ที่มหาวิทยาลัยบูรพา นำมาสู่การก่อตั้งคณะวิจิตรศิลป์ของ ม.บูรพา ครั้งที่ 2 สัมมนาที่เชียงใหม่ ครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยศิลปากร ทุกครั้งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการสัมมนา” กอบกาญจน์เล่าถึงการส่งเสริมศิลปะในหลายด้าน

 

สัมผัสความสามารถของศิลปินไทยที่สร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมีย

    สำหรับ โครงการประกวดศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” หนุนสร้างงานศิลป์อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นอิฐอีกก้อนสร้างฐานวงการศิลปะไทยให้มั่นคง ผู้บริหารหญิงกลุ่มโตชิบา บอกว่า ช่วงแรกนำภาพที่ชนะประกวดแสดงที่หอศิลป์ ม.ศิลปากร วังท่าพระ โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานเปิด ก่อนจะเปลี่ยนมาแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิด ปี 2545 เป็นครั้งแรก พร้อมทั้งพระราชทานเกียรติบัตรแก่ผู้ชนะรางวัล
    “ ทรงให้แนวคิดว่า อยากให้เอาศิลปะเข้าไปในคุก จึงเริ่มโครงการ Art For All ตามแนวพระราชดำริ พระราชทานบทความเป็นแนวทาง ศิลปะบำบัดไม่ได้สอนให้เป็นศิลปิน แต่ใช้ศิลปะช่วยด้านจิตวิญญาณ ผู้ต้องขังออกไปไหนไม่ได้ แต่สามารถมีอิสรภาพทางความคิดและค้นพบความสุขได้ เหมือนเรานำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ได้ร่วมไปกับวิทยากร ผลชัดเจนเรียนศิลปะทำให้ผ่อนคลายขึ้น ลดการใช้ยานอนหลับ  ช่วงทำเวิร์กช็อปมองแทบไม่ออกใครเป็นผู้ต้องขัง ผู้คุม ถ้าไม่มองโซ่ตรวนที่ข้อเท้า มีแสดงผลงานที่สยามพารากอน ชื่อ ศิลปะหลังกำแพง” กอบกาญจน์กล่าว
    กอบกาญจน์บอกเล่าเรื่องราวความประทับใจจากครอบครัวหนึ่งว่า พ่อขับรถไปต่างจังหวัดกับลูกชาย ซึ่งเพิ่งเรียนจบ รถมีการซ่อนยาเสพติดเยอะเพื่อขาย ตำรวจตรวจค้น ถูกจับทั้งสองคน ถูกพิพากษาให้เข้าเรือนจำ แรกๆ ลูกชายเสียใจ โกรธ และขอแยกขังจากพ่อ จนได้เข้าโครงการ Art For All ทำงานศิลปะ กลับมาจิตใจอ่อนโยนขึ้น และขอย้ายไปอยู่แดนเดียวกันเพื่ออยู่ดูแลพ่อ ตอนแรกตนไม่เข้าใจ ทำไมต้องช่วยคนทำผิด แต่เราได้เรียนรู้ การให้อภัยยากที่สุด เป็นศิลปะบำบัดที่แท้จริง

 

ชมศิลปกรรมจาก TOSHIBA RUN 2019 ที่ราชบุรีเมืองอาร์ต  


    ถามถึงทิศทางการสนับสนุนศิลปะของกลุ่มบริษัทโตชิบา กอบกาญจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีโอกาสทางด้านศิลปะ เวทีประกวดมากขึ้น และมีช่องทางเผยแพร่ผลงานผ่านโซเชียลมีเดีย ดังนั้นการประกวดอาจไม่จำเป็นในการนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต โตชิบาจะค้นหาแนวทางใหม่ๆ โดยผสานศิลปะและกีฬามาอยู่ร่วมกันผ่านกิจกรรมศิลปกรรมจาก TOSHIBA RUN 2019 จัดที่ จ.จันทบุรี อุบลราชธานี ล่าสุดสนามที่ 3 ราชบุรีเมืองอาร์ต มีวิ่งประเภทกราฟฟิตี้ให้นักวิ่งมีโอกาสเป็นศิลปินเล่นสี สร้างงานบนตู้เย็น ผนัง โดยมีศิลปินช่วยเก็บผลงานให้สมบูรณ์ นิทรรศการศิลปกรรมครั้งนี้นำมาแสดงให้ชมด้วย สนามที่ 4 จะจัดที่ จ.เชียงราย เมืองศิลปะ วันที่ 27 ตุลาคมนี้
    งานศิลปะสำคัญกับการสร้างเศรษฐกิจไทย กอบกาญจน์แสดงทัศนะประเด็นนี้ว่า ไทยเป็นประเทศขนาดกลาง สิ่งสำคัญจะต้องผลิตสินค้าและบริการด้วยความคิดสร้างสรรค์ ศิลปะจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยกล้าคิดและพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยไม่เน้นราคาเป็นตัวหลัก ทักษะความประณีตของไทยคือจุดเด่น ศิลปะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเก๋ เท่ ดึงตัวตนออกมา เชื่อมั่นว่าวงการศิลปะไทยจะได้รับการพัฒนาและส่งเสริมมากขึ้นจากรัฐและเอกชน ทำอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาคนต้องมีศิลปะเพื่อเป็นคนที่สมบูรณ์ ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก มีศิลปะในชีวิต 

 

สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ ศิลปินที่ทำงานกับโครงการศิลปกรรม"นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต" 


    ด้าน อาจารย์สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ เป็นศิลปินที่ทำงานกับโครงการศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” มาตั้งแต่แรกเริ่ม บอกว่าปีนี้ครบ 30 ปี ศิลปกรรม “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” เกิดแรงศรัทธาต่อวงการศิลปะ ทำให้ศิลปินแจ้งเกิดจำนวนมาก บางคนได้ทุนไปดูงานศิลปะต่างประเทศ หรือสนับสนุนให้แสดงงานศิลปะในเวทีโลก ส่วนศิลปินต่างจังหวัดได้เห็นผลงานมาตรฐาน เพราะคณะกรรมการตัดสินล้วนเป็นระดับปรมาจารย์ นอกจากนี้ยังพัฒนาอาจารย์ศิลปะผ่านการสัมมนาทัศนศิลป์ศึกษาแห่งชาติ ช่วยปลุกไฟและให้ความรู้รวมทั้งยังทำให้เกิดสมาคมศิลปินทัศนศิลป์นานาชาติฯ ปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 12 แล้ว วงการศิลปะตื่นตัวมากขึ้น
    สำหรับนิทรรศการ “นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” ฉลอง 50 ปีนี้ สายอาร์ตห้ามพลาด อาจารย์สมศักดิ์กล่าวว่า คนมาชมงานจะได้ดื่มด่ำกับงานศิลปะที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมและดีเด่นรวบรวมงานตลอด 30 ปีมาให้ชม ศิลปินบางคนไปสู่ระดับอินเตอร์แล้ว จะได้เห็นผลงานเก่าที่เป็นรากเหง้า เช่น ชาติชาย ปุยเปีย ปัจจุบันทำศิลปะเสียดสีสังคม แสดงการเปลี่ยนแปลงความรู้และความสามารถของศิลปินสู่สากล อีกทั้งเชิญคณะกรรมการร่วมแสดง ล้วนเป็นศิลปินแห่งชาติและมีชื่อเสียง ไฮไลต์เช่น ผลงานอาจารย์มณเฑียร บุญมา เป็นภาพสเกตช์ที่ศิลปินนำไปแสดงที่เวนิส เบียนนาเล่ หาชมได้ยากมาก ซึ่งโตชิบาเก็บคอลเลคชั่นนี้ไว้ แล้วยังมีงานประติมากรรมของ อ.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ภาพสีน้ำมัน “ชนะมาร” ฝีมือ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

 

งานศิลปะของ ชลูด นิ่มเสมอ และถาวร โกอุดมวิทย์ กรรมการตัดสิน ร่วมแสดงนิทรรศการ 
 


    “ มุมไฮไลต์ยังมีภาพวาดฝีพระหัตถ์ล้ำค่า อยากให้ประชาชนมาชื่นชมพระอัจฉริยภาพ ซึ่งปี 2550 จัดประกวดศิลปกรรมครบปีที่ 17 กรรมการระดับศิลปินแห่งชาติร่วมทำงานศิลปะบนเฟรมรูปสามเหลี่ยม 21 ภาพ ต่อกันเป็นสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ และทูลเชิญทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ติดตั้งบนยอดสามเหลี่ยม เป็นงานที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ขันที่พระราชทานผ่านรูปหัวใจ สัญลักษณ์ความรัก และสื่อถึงศิลปะต้องต่อยอดและบูรณาการต่อไปในอนาคต” ศิลปินชื่อดังเชื้อเชิญมาให้ชมงานศิลป์ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 14 ตุลาคม 2562

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"