สวยได้ไม่ใส่"งาช้าง" กลยุทธ์ต่อต้านลักลอบค้าสัตว์ป่า


เพิ่มเพื่อน    

 

photo credit: Salvatore Amato/USAID Wildlife Asia

 

     งานวิจัยการบริโภคผลิตภัณฑ์จากช้างและเสือในประเทศไทยของ USAID Wildlife Asia ที่จัดทำในปี พ.ศ.2561 พบว่ามีผู้ที่เป็นเจ้าของครอบครองและใช้ผลิตภัณฑ์งาช้างอยู่ประมาณ 500,000 คน สิ่งที่น่าวิตกกังวลคือ ยังมีคนไทยอีกประมาณ 750,000 คน ที่ตั้งใจจะซื้อผลิตภัณฑ์งาช้างในอนาคต และอีกกว่า 2.5 ล้านคน ที่ยังคิดว่าการเป็นเจ้าของและใช้งาช้างนั้นเป็นที่ยอมรับในสังคม

      ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดผู้บริโภคงาช้างกลุ่มหลักในประเทศไทย คือกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการซื้องาช้างเป็นเครื่องประดับ เป็นไอเทมเสริมทำให้การแต่งตัวสะดุดตามากขึ้น เพราะคิดว่าใส่งาช้างแล้วดูแพง ใส่แล้วสวยเป๊ะปัง ทำให้ดูสูงส่ง เสริมสร้างบุคลิกภาพ ยิ่งได้เครื่องประดับงาช้างออกแบบดีๆ มีสไตล์ ก็อยากลงทุนซื้อสักชิ้นเก็บไว้ใส่งานสำคัญ เพราะงาช้างมีมูลค่า เป็นของหายาก ควรค่าแก่การสะสม

 

credit: Freeland

 

      ด้วยความนิยมเครื่องประดับงาช้างของคนไทย โดยเฉพาะผู้หญิง ทำให้ตลาดงาช้างในบ้านเราไม่เคยซบเซา เหตุนี้ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (U.S. Agency for International Development-USAID) ผ่านโครงการ USAID Wildlife Asia และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดตัวแคมเปญ “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา-Beautiful Without Ivory” ที่โรงแรมอนันตรา สยาม เมื่อวันก่อน เป้าหมายใหญ่เพื่อสื่อสารกับผู้ที่ต้องการซื้อและใช้เครื่องประดับที่ทำจากงาช้าง เพราะเห็นว่าสวยงาม

      แคมเปญใหม่นี้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างกระแสความนิยมในเรื่องความสวยงามหรือไลฟ์สไตล์ความสวยแบบใหม่ที่ชักชวนให้สังคมช่วยกันปฏิเสธการใช้งาช้างเป็นเครื่องประดับ พร้อมชี้ให้เห็นว่าเครื่องประดับจากงาช้างไม่สวยงามและไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม มีการรวมพลังยับยั้งผู้หญิงจากการซื้อและสวมใส่เครื่องประดับงาช้าง รวมถึงลดการยอมรับทางสังคมที่มีต่อผลิตภัณฑ์งาช้าง

      ภายในงานได้เน้นถึงความสำคัญของข้อความรณรงค์หลัก “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา” และ “งาช้างไม่ใช่ของสวยงามและไม่เป็นที่ยอมรับ” ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านวิดีโอความยาว 45 วินาที โดยมีผู้มีชื่อเสียงด้านแฟชั่นและความงาม 5 คน ซึ่งมีผู้ติดตามทางโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ซินดี้-สิรินยา บิชอพ นางแบบและนักแสดงชื่อดัง ซึ่งช่วยเหลืองานสังคมในหลายๆ ด้าน, พิชญา สุนทรญาณกิจ หรือ 'เชฟแพม' เชฟรุ่นใหม่ที่ได้รับรางวัลสุดยอดเชฟหลายรายการในระดับสากล, จริยดี สเป็นเซอร์ พิธีกรและนักธุรกิจ, แพรวัชร ชมิด ผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้ายมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2019 และวฤณ จรุงวัฒน์ ช่างภาพและผู้ผลิตคอนเทนต์ ทั้งยังเป็นบล็อกเกอร์ทางด้านไลฟ์สไตล์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงคนอื่นๆ ผ่านตัวตนของเธอ ทั้งเรื่องความสวยงาม การเดินทางหรืองานออกแบบ หญิงเก่งทั้ง 5 คนนี้ถือเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ประกอบอาชีพหลากหลาย แต่มีความเชื่อในเรื่องคุณค่าของความสวยที่แท้จริงในแบบเดียวกันคือ สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา

  ซินดี้ บิชอพ หนึ่งในแฟชั่นอินฟลูเอนเซอร์รณรงค์ “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา"   

 

      นอกจากนี้ยังมีการแนะนำวิดีโอแอนิเมชั่นความยาว 60 วินาที ที่จัดทำขึ้นเพื่อรณรงค์ไม่ให้นักท่องเที่ยวซื้อผลิตภัณฑ์ที่ระลึกและของฝากจากงาช้าง วิดีโอชุดนี้ โครงการ USAID Wildlife Asia ผลิตร่วมกับมูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์ (Golden Triangle Asian Elephant Foundation) ของไมเนอร์ กรุ๊ป โดยวิดีโอนี้จะนำไปเผยแพร่ผ่านทางช่องรายการของเครือโรงแรมอนันตรา บอกกล่าวให้นักท่องเที่ยวรับรู้ว่าการนำงาช้างเข้าและออกจากประเทศไทยนั้นผิดกฎหมายด้วย

      ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา กรุงเทพฯ กล่าวว่า ช้างเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย เป็นที่มาแห่งความภาคภูมิใจ และยังมีบทบาทสำคัญที่เป็นมรดกตกทอดมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย แต่พวกเราต่างรู้ว่าช้างกำลังถูกคุกคาม มูลค่าของงาช้างผิดกฎหมายในประเทศไทยนั้นมีจำนวนหลายสิบล้านดอลลาร์ ซึ่งงาช้างเหล่านี้ถูกแกะสลักเป็นของตกแต่งต่างๆ รวมทั้งนำมาทำเป็นเครื่องประดับ งานในวันนี้จึงเป็นการเปิดตัวแคมเปญ 2 แคมเปญ ที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยหยุดการค้างาช้างในประเทศไทย

      แคมเปญนี้ท้าทาย ถือเป็นการหยุดเทรนด์แฟชั่นเครื่องประดับจากงาช้าง และหวังจะสร้างบรรทัดฐานทางสังคมใหม่ เพราะนอกจากเรื่องสวยๆ งามๆ แล้ว งาช้างยังเกี่ยวข้องกับเรื่องความเชื่อด้วย เอเลนอรา เดอ กุซมาน หัวหน้ากลุ่มรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภคสัตว์ป่า โครงการ USAID Wildlife Asia กล่าวว่า งานวิจัยผู้บริโภคในประเทศไทยของ USAID Wildlife Asia พบว่า ผู้ที่ต้องการงาช้างเพื่อความสวยงาม โดยทั่วไปแล้วเป็นผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเมืองอายุ 30 ปี หรือมากกว่านั้น และเป็นกลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษา สามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียได้ ส่วนใหญ่แต่งงานแล้ว มีลูกและครอบครัวที่สมดุล มีอาชีพการงานที่มั่นคง มักจะเป็นพนักงานออฟฟิศหรือเจ้าของธุรกิจ มักติดตามแนวโน้มแฟชั่นล่าสุด ส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจวางแผนซื้อผลิตภัณฑ์จากงาช้างล่วงหน้า แต่จะซื้อเมื่อเจอสินค้าที่สวยงามสะดุดตา

      " แคมเปญนี้เราต้องการกระตุ้นให้ผู้หญิงปฏิเสธเครื่องประดับที่ทำจากงาช้าง เพราะงาช้างไม่ใช่สิ่งสวยงาม และการนำมาสวมใส่ก็ไม่ได้เป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่ยอมรับได้อีกต่อไป เรามีจุดมุ่งหมายหวังสร้างค่านิยมในไลฟ์สไตล์ใหม่ที่ไม่ต้องใช้งาช้าง"

      แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น หัวหน้ากลุ่มรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภคสัตว์ป่าบอกว่า เป้าหมายคือต้องการช่วยต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 23 พันล้านดอลลาร์ต่อปี โดยอาชญากรรมค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่มีมูลค่าสูงติดอันดับ 4 ของโลก รองจากยาเสพติด การค้ามนุษย์ และการขายอาวุธ หนึ่งในกลยุทธ์หลักของโครงการคือ การลดความต้องการของผู้บริโภคงาช้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมที่มีการซื้อขายกันอย่างผิดกฎหมายทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จแล้ว ก็จะมุ่งไปสู่การรณรงค์ผลิตภัณฑ์จากเสือ เพราะผู้คนมองว่าเสือและงาช้างเป็นเครื่องรางที่นำมาซึ่งความโชคดี เชื่อในพลังทางไสยศาสตร์ เชื่อในพลังทางการแพทย์ คาดหวังว่าจะสามารถออกแคมเปญในอนาคตอันใกล้

 

 credit: Freeland

 

     ด้าน ซินดี้ บิชอพ หนึ่งในแฟชั่นอินฟลูเอนเซอร์รณรงค์ กล่าวว่า ร่วมแคมเปญนี้ เพราะต้องการสื่อสารกับกลุ่มผู้หญิงเป็นหลัก ว่าการสวมใส่งาช้างนั้นไม่เป็นที่นิยมและไม่เป็นที่ยอมรับแล้วในสังคม มีตัวเลือกอื่นๆ อีกมากมายที่ใส่แล้วสวยงาม เป็นที่ยอมรับ และมีความยั่งยืนกว่า ในฐานะผู้หญิง เราต้องหยุดการใช้เครื่องประดับที่ทำจากงาช้าง เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สามารถลดงาช้างได้

 

แพรวัชร ชมิด สาวงามเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ รณรงค์เปลี่ยนทัศนคติผิดๆ ใส่งาช้างแล้วดูแพง

     

     สาวงามเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2019 แพรวัชร ชมิด แฟชั่นอินฟลูเอนเซอร์รณรงค์แคมเปญนี้ กล่าวว่า ผู้หญิงที่คิดว่าใส่งาช้างแล้วดูแพง ใส่แล้วเป็นที่ยอมรับ อยากให้เปลี่ยนความคิด มันไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ เห็นว่าการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่ปฏิเสธการใช้งาช้างหรือเครื่องประดับจากงาช้าง จะช่วยลดความต้องการและลดการยอมรับการนำงาช้างมาใช้ในไทยได้มาก เมื่อไม่มีความต้องการเหล่านี้ การค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายก็จะยุติลง

      สำหรับแคมเปญ “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา-Beautiful Without Ivory” ประชาชนสามารถช่วยกันเผยแพร่ข้อความรณรงค์ “สวยที่ใจ ไม่ใช่ที่งา” และ “งาช้างไม่ใช่ของสวยงามและไม่เป็นที่ยอมรับ” ด้วยการลงชื่อที่ www.beautifulwithoutivory.org

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"