เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนร่วมจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ที่ จ.สระแก้ว ชูประเด็น ‘บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ-สังคมจากฐานราก’


เพิ่มเพื่อน    

จ.สระแก้ว/ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนร่วมจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ปี 2562 ที่ จ.สระแก้ว ชูประเด็น ‘บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานราก’  โดยจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในสระแก้วแล้ว   62 กองทุน  มีเงินรวมกัน 158 ล้านบาท  ช่วยเหลือสมาชิกรอบด้าน  นอกจากนี้ยังแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้เกษตรกรที่ขาดแคลน  โดยใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ตามนโยบายทวงคืนผืนป่ากว่า 3,000 ไร่  จัดสรรให้เกษตรกรได้ 212 ครอบครัวทำให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะที่ตำบลคลองหินปูนนำร่องใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ‘โดรน’ เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และมีกิจกรรมปลูกไม้เศรษฐกิจสร้างทุนภายในตำบล ตั้งเป้าปลูก 500,000 ต้นภายในปี 2563

           

องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โดยในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันที่ 7 ตุลาคม  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศจัดกิจกรรมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ตลอดเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้  เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย และร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยจัดกิจกรรมที่จังหวัดเชียงราย ขอนแก่น เพชรบุรี กระบี่ กรุงเทพฯ ส่วนภาคตะวันออกจัดที่จังหวัดสระแก้ว 

 

โดยวันนี้ (14 พ.ย.) ที่สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอวังน้ำเย็น (คทช.) จำกัด  ต.คลองหินปูน  อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว  มีการจัดมหกรรมการเรียนรู้ ‘บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมจากฐานราก เนื่องในโอกาสวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2562 (World Habitat Day 2019) โดยมีนายวิทยา มากปาน รองผู้ว่าฯ จ.สระแก้ว และนายไมตรี อินทุสุต ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมเป็นประธานในพิธี  มีผู้แทนหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วม ได้แก่ นายอำเภอวังน้ำเย็น พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสระแก้ว ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสระแก้ว ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์วังน้ำเย็น ฯลฯ นายก อบต.คลองหินปูน  เครือข่ายชุมชน  และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดสระแก้ว เข้าร่วมงานประมาณ 400 คน

 

ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ  รูปธรรมการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนงานพัฒนาโดยชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลัก ผ่านกลไกสภาองค์กรชุมชน  ระบบทุนภายใน  เชื่อมโยงนโยบายระดับจังหวัด บ้านเกษตรกรตัวอย่าง  แปลงสาธิตการเกษตรในพื้นที่ 1 ไร่   แปลงเกษตรกรแปลงรวม  ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน  สาธิตการบังคับอากาศยานไร้คนขับเพื่อใช้ในการเกษตร  ฯลฯ  หลังจากนั้นผู้ร่วมงานได้ร่วมกันปลูกไม้เศรษฐกิจ  เช่น  พะยูง  จำนวน  500 ต้นในที่ดินสร้างทุนภายในตำบลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต   หลังจากนั้นขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระแก้วได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน  ดังนี้

 

“ หนึ่ง  เราจะร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดิน  เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  เนื่องในโอกาสปีมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

สอง  เราจะปลูกต้นไม้อย่างน้อยคนละ 5   ต้น  รวมทั้งสิ้น 500,000 ต้นภายในปี 2563 เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้จังหวัดสระแก้วให้มีความอุดมสมบูรณ์  ลดโลกร้อน  เพิ่มอากาศบริสุทธิ์

 

และสาม  เราจะใช้การปลูกต้นไม้เป็นการสร้างทุนชุมชน  เป็นแหล่งอาหาร  สมุนไพร  เพื่อใช้สร้างที่อยู่อาศัย  และใช้ต้นไม้เป็นการออม  เพื่อสร้างบำนาญของชุมชน  และการพึ่งพาตนเองของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป”

 

 ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนร่วมกันประกาศเจตนารมณ์

 

นายปาลิน ธำรงรัตนศิลป์ ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระแก้ว กล่าวถึงภาพรวมประเด็นงานพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดสระแก้วว่า มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในยามเจ็บป่วย  คลอดบุตร เสียชีวิต การศึกษา  ที่อยู่อาศัย สาธารณประโยชน์  ช่วยเหลือคนด้อยโอกาส  พิการ  ฯลฯ แล้ว 62 กองทุน  มีสมาชิกประมาณ 81,000 คน  มีเงินกองทุนรวมกันประมาณ 158 ล้านบาทเศษ

 

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภายใต้โครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบทจำนวน 9 เมือง  รวม 499 ครัวเรือน และซ่อมแซม ปรับปรุงบ้านสำหรับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยที่มีบ้านสภาพชำรุดทรุดโทรม  สร้างด้วยวัสดุที่ไม่มั่นคง  ตามโครงการบ้านพอเพียงชนบทที่ พอช. สนับสนุน  จำนวน 25 ตำบล  รวม 836 ครัวเรือน ,การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน  โดยมีพื้นที่รูปธรรม 10 ตำบล  เช่น  การท่องเที่ยวโดยชุมชน  เกษตรปลอดภัย  เกษตรอินทรีย์  การแปรรูป  และการตลาด  ฯลฯ

 

นายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง ที่ปรึกษาโครงการบ้านมั่นคงในที่ดิน ส.ป.ก. จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า สระแก้วเป็นจังหวัดหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดสรรที่ดินให้แก่ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินตั้งแต่ปี 2559 โดยมีที่ดินที่นำมาจัดสรรทั้งหมด 6 แปลง คือ 1.ที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลโนนหมากเค็ง อ.วัฒนานคร เนื้อที่ 693 ไร่ 2.ที่ดิน ส.ป.ก.บ้านพร้าว อ.วัฒนานคร เนื้อที่ 326 ไร่ 3.ที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลหนองม่วง อ.หนองม่วง เนื้อที่ 655 ไร่เศษ 4.ที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลหนองแวง อ.หนองม่วง  เนื้อที่ 611 ไร่เศษ   5.ที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลป่าไร่   อ.อรัญประเทศ เนื้อที่ 578 ไร่ และ 6.ที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลคลองหินปูน  อ.วังน้ำเย็น  เนื้อที่ 318 ไร่เศษ  รวมเนื้อที่ทั้งหมด 3,181 ไร่เศษ โดยที่ดินที่ ส.ป.ก.นำมาจัดสรรจะให้เกษตรกรเข้าทำกินโดยการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์  เพื่อบริหารจัดการร่วมกัน  แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์  และห้ามซื้อขาย

ที่อยู่อาศัยในแปลงที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลคลองหินปูน  อ.วังน้ำเย็น  จ.สระแก้ว

 

“ที่ดินทั้งหมดนี้  ส.ป.ก. นำมาจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยและทำกินให้ประชาชนได้ทั้งหมด 212 ครอบครัว ได้ครอบครัวละ 6 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ส่วนกลาง สระน้ำเพื่อการเกษตร ถนน  โดย พอช.ได้สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างบ้านและสาธารณูปโภคตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท ครัวเรือนละ 62,000 บาท  ขณะนี้ประชาชนทั้งหมด 212 ครอบครัวได้เข้าอยู่อาศัยและทำกินแล้ว  มีอาชีพหลัก  เช่น  เลี้ยงวัวเนื้อ  ทำไร่ข้าวโพด  มันสำปะหลัง  อ้อย ปลูกผักสวนครัว  พืชระยะสั้น  เช่น  ปลูกบวบเหลี่ยม  มะระจีน  มันเทศ  ถั่วลิสง  ส่งขายมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 400-500 บาท  ทำให้ประชาชนที่เคยไร้ที่ดินทำกินมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”  นายละอองดาวกล่าว

 

นายละอองดาวบอกด้วยว่า  ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรบ้านบ่อลูกรัง  ต.คลองหินปูน  ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการเกษตร  โดยใช้อากาศยานไร้คนขับหรือ ‘โดรน’ มาบินเพื่อฉีดพ่นสารชีวภาพ  เพื่อบำรุงแปลงเกษตร  และขับไล่ศัตรูพืช  โดยเสนอโครงการไปยังสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก depa ในปี 2562  จำนวน 499,412 บาท  ชุมชนสมทบเงินจำนวน 320,312 บาท  จัดซื้อโดรนจำนวน 2 ลำ  สามารถฉีดแปลงเกษตร  เช่น  ข้าวได้พื้นที่วันละ 200 ไร่  ลดแรงงานจาก 10-20 คนต่อวัน  เหลือ   1-2 คน   ลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 20   ฯลฯ  โดยจะคิดค่าบริการแก่สมาชิกไร่ละ 80 บาทเพื่อนำมาเป็นค่าบำรุงและค่าใช้จ่าย

 

นอกจากนี้ชุมชนยังมีแผนงานที่จะส่งเสริมการทำเกษตรกรรมอัจฉริยะ (Smart Farming) โดยการนำระบบการรดน้ำอัตโนมัติผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) มาประยุกต์ใช้อีกด้วย  โดยระบบเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าว จะช่วยประหยัดเวลา ลดการใช้แรงงานคน  ลดต้นทุนการผลิต  ส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย   

 

การขุดบ่อทำธนาคารน้ำใต้ดิน  โดยขุดบ่อให้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร  ขุดลึกลงไปถึงชั้นดินดานประมาณ 2-3 เมตร   แล้วนำวัสดุ  เช่น  หิน  ขวดพลาสติกบรรจุน้ำใส่ลงไปสลับกัน  ทำให้เกิดโพรงอากาศในบ่อ  และน้ำใต้ดินจะไหลมารวมกัน  เหมือนธนาคารน้ำในดิน  ทำให้ผืนดินเกิดความชุ่มชื้น  ช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง  และระบายน้ำขังในช่วงหน้าฝน  เมื่อปลูกพืชผักจะเกิดความเจริญเติบโตได้ดี

นายวิทยา  มากปาน  รอง ผวจ.สระแก้ว (กลาง) ร่วมสร้างธนาคารน้ำใต้ดินในที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลคลองหินปูน

 

นางรจนา  สุริฉาย  เกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลคลองหินปูน  บอกว่า  เดิมตนและสามีไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง  ต้องเช่าที่ดินทำกินไร่ละ 100 บาท  หากมีเวลาว่างก็จะไปรับจ้างทำงานในไร่ของคนอื่น  มีรายได้ไม่พอกิน  เมื่อได้ที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง 5 ไร่จึงรู้สึกดีใจ  และเริ่มเข้าทำกินตั้งแต่ปี 2561  โดยปลูกบวบเหลี่ยมได้ผลผลิตประมาณรอบละ 8 ตัน (รอบละ 3 เดือน)  ราคาขายกิโลกรัมละ 8-10 บาท  ปลูกมันเทศได้รอบละประมาณ 1 ตัน  ขายส่งกิโลกรัมละ 2-3 บาท  และกำลังจะปลูกถั่วลิสง  หมุนเวียนกันตลอดทั้งปี

 

“ดีใจที่ได้ที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง  รู้สึกว่าโชคดียิ่งกว่าถูกหวยรางวัลที่ 1 เสียอีก  เพราะถูกหวยก็อาจจะมีวันหมดเงิน  แต่ได้ที่ดินมันไม่มีวันหมด  จะเอาไปขายก็ไม่ได้   แต่เราสามารถทำกินได้ตลอดชีวิต  ลูกหลานก็สามารถทำกินต่อได้  ถ้าขยันปลูกพืชระยะสั้นก็จะมีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี  ปีนี้ปลูกบวบเหลี่ยมเก็บขายได้ 2 รอบๆ ละ 3 เดือน  วันหนึ่งเก็บขายได้เงินวันละ 1,000-2,000 บาท  ทำให้มีรายได้พอเลี้ยงดูครอบครัว  มีกิน  มีใช้  ความเป็นอยู่ก็ดีกว่าตอนเช่าที่ดินคนอื่นทำกิน”  เกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.บอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในแปลงเกษตรกรที่ตำบลคลองหินปูนแล้ว  บริษัทเอกชน  เช่น  บ.ดีแทคได้ร่วมสนับสนุนชุมชนในการฝึกอบรมการใช้สื่อออนไลน์เพื่อขายสินค้าเกษตรด้วย  โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทดีแทคได้จัดทำโครงการเน็ตอาสาฝึกอบรมเกษตรกรในที่ดินแปลง ส.ป.ก. คลองหินปูนจำนวน 40 คนทำเพจเพื่อค้าขายสินค้าการเกษตรทางสื่อออนไลน์

 

นายวิทยา  มากปาน  รอง ผวจ.สระแก้ว  กล่าวว่า  ตำบลคลองหินปูนถือเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวบ้านในตำบล  โดยใช้ระบบข้อมูลเป็นฐาน  มีการสำรวจข้อมูลปัญหาต่าง ๆ  แล้วนำมาวางแผนแก้ไขปัญหา  ประกอบกับการมีผู้นำชุมชน  ที่เข้มแข็ง  มีองค์กรปกครองท้องถิ่น  หน่วยราชการ  สถาบันการศึกษา  รวมทั้งภาคเอกชน  สนับสนุนทั้งด้านความรู้  วิชาการ  ทำให้ชุมชนสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ  โดยเฉพาะด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  แต่ที่สำคัญ  คือ  พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา  เหมือนนิ้วมือทั้ง 5 นิ้วรวมกัน  ทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อน

นายไมตรี  อินทุสุต  ร่วมปลูกไม้เศรษฐกิจ

 

นายไมตรี  อินทุสุต  ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  การพัฒนาชุมชนให้ประสบผลสำเร็จ  เช่นที่ตำบลคลองหินปูนจะต้องมีองค์ประกอบ 7 อย่าง  หรือกุญแจ 7 ดอก  คือ 1.มีที่ดินเป็นฐานการผลิต  2.มีบ้านเป็นที่พักพิง  3.มีแปลงเกษตรเพื่อทำกินหรือสร้างรายได้  4.มีน้ำในการทำเกษตร  เช่น  การจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน  5.มีข้อมูลเพื่อนำมาใช้เป็นฐานในการวางแผนงานหรือแก้ไขปัญหา   6.มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม  เช่น  นำโดรนหรืออากาศยานไร้คนขับมาใช้ในแปลงเกษตร  ทำให้ลดต้นทุน  ลดค่าใช้จ่าย  ลดแรงงาน  การใช้สื่อออนไลน์มาขายสินค้า  และ 7.การบูรณาการการทำงานร่วมกันตั้งแต่ระดับชุมชน  ผู้นำชุมชน  องค์กรปกครองท้องถิ่น  หน่วยราชการ  สถาบันการศึกษา  รวมทั้งภาคเอกชนมาร่วมกันขับเคลื่อน  โดยยึดชุมชนเป็นแกนกลาง  นำไปสู่ความเร็จในการพัฒนาชุมชน

 เยี่ยมบ้านเกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลคลองหินปูน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"