กองทัพกังวล'ธนาธร'นำเรื่องความมั่นคงไปใช้ประโยชน์การเมือง


เพิ่มเพื่อน    

2 ธ.ค.62-  พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (กห.) กล่าวถึงกรณีการนำเสนอแนวคิดการยกเลิกการเกณฑ์ทหารของบางพรรคการเมือง  และเสนอพัฒนากองทัพให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมประเทศอื่น โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ทดแทนกำลังพลว่า  ในภาพรวมถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีซึ่งกองทัพก็พร้อมเปิดกว้าง รับแนวคิดต่างๆมาปรับปรุงสู่การเปลี่ยนแปลงกองทัพให้มีความทันสมัยขึ้นไปด้วยกัน ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ด้วยกลไกรัฐสภา  เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับและสถานะเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศในภาพรวม

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การเสนอแนวคิดการยกเลิกเกณฑ์ทหาร และสรรหากำลังพลด้วยความสมัครใจ  ไม่ใช่เรื่องใหม่  เป็นแนวทางการปฏิรูประบบงานกำลังพลระยะยาวที่ กห.มีอยู่เดิม โดยมีแผนงานต่อเนื่องในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาระบบกำลังสำรองและการฝึกวิชาทหาร   การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 ได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยต่อเนื่องมา ทำให้กองทัพสามารถบริหารจัดการระบบการเข้าประจำการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านความมั่นคง โดยใช้การผสมผสานระหว่างระบบการเกณฑ์และระบบสมัครใจควบคู่กันไป 

พล.ท.คงชีพ ระบุว่า ที่ผ่านมาจากสถิติผู้สมัครใจเข้าเป็นทหาร ยังคงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของกองทัพในแต่ละปี  เช่นเดียวกับหลายประเทศที่เคยยกเลิกการเกณฑ์ทหาร กำลังเตรียมผลักดันให้กลับมามีการเกณฑ์ทหารเช่นเดิม โดยเฉพาะประเทศในยุโรป เนื่องจากยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจเยาวชนให้เข้าเป็นทหารได้มากเท่าที่จำเป็นและมองว่าเป็นโอกาสที่คนหนุ่มสาวจะได้ทำประโยชน์คืนแก่ประเทศและสังคม และเชื่อว่าเป็นความภาคภูมิใจของทุกคน

" ในภาพรวม จึงเร็วเกินไปที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบดังกล่าว โดยจำเป็นต้องศึกษาถึงผลกระทบด้านความมั่นคงและประเด็นปัญหาต่างๆอย่างรอบด้าน เช่น การขาดแคลนกำลังพลสำรองซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นกำลังทางยุทธศาสตร์ของระบบเตรียมความพร้อมของประเทศยามวิกฤต  การเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการพลทหารซึ่งเป็นเรื่องดี  แต่อาจเป็นปัญหาภาระงบประมาณของประเทศระยะยาว ซึ่งอาจมีผลเชื่อมโยงต่อการปรับขยายฐานเงินเดือนและสวัสดิการของข้าราชการระดับต่างๆทั้งประเทศในอนาคต"

พล.ท.คงชีพ ระบุว่า    อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงเวลารับราชการ ซึ่งจะมีผลให้พลทหารมีอายุมากขึ้นและมีช่วงอายุห่างกันมาก ( 21 - 40 ปี )  อาจเป็นปัญหาต่อขีดความสามารถของกำลังพลโดยรวมและโอกาสทางอาชีพหลังปลดประจำการ   โดยเฉพาะการเรียกเกณฑ์ ในเวลาที่จำกัดยามที่อาจเกิดสงคราม จะมีผลอย่างมากต่อระบบความพร้อมรบของประเทศในภาพรวม อีกทั้ง การกำหนดบทนิรโทษกรรม จะกระทบต่อหลักนิติธรรม ความเท่าเทียมกันและเป็นช่องทางของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย  และที่สำคัญต้องไม่ขัดกันในข้อกฎหมาย เรื่องสิทธิและหน้าที่
 
"ทั้งนี้ กองทัพยังมีความกังวลอยู่บ้าง ต่อการนำเรื่องความมั่นคงไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองผ่านกิจกรรมต่างๆ ด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและครบถ้วน  ซึ่งอาจสร้างความสับสนและความเข้าใจผิดกับสังคมได้  อย่างไรก็ตามก็เชื่อว่า การทำงานการเมืองแบบใหม่ที่ผ่านบทเรียนร่วมกันโดยปราศจากอคติ มองผลประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติเป็นเป้าหมายร่วมกัน ผ่านกลไกในวิถีประชาธิปไตย จะทำให้เราสามารถหาทางออกที่สมประโยชน์ร่วมกันได้ในทุกเรื่อง" พล.ท.คงชีพ ระบุ .
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"