‘บ้านเมืองกลาง’ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำบนดอย ผลสำเร็จเดินตามรอย "พ่อหลวง"


เพิ่มเพื่อน    

    

ลำเหมืองยาว 9.8 กิโลเมตรที่บ้านเมืองกลาง มีจุดแบ่งน้ำเข้าสู่ไร่นาเกษตรกรอย่างเท่าเทียม

 

     พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ของคนไทยมาตลอด ทรงมีพระราชปณิธานให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งพาตัวเองได้ จึงมีพระราชดำริเรื่องการจัดการดิน น้ำ ป่า และเกษตรทฤษฎีใหม่ให้เห็นตลอดรัชกาล

      เพื่อเป็นการสานต่อแนวพระราชดำริ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ องค์การมหาชน (สสน.) จึงได้ตั้งโครงการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาปรับใช้ในพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน รวมทั้งงานอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำและการผลิตที่ไม่ยั่งยืนจากวิถีเกษตรเชิงเดี่ยว ปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนฯ กระจายทุกภูมิภาครวม 22 แห่ง โดยพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ บ้านเมืองกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นลำดับล่าสุด ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่สามารถจัดสรรน้ำจนเกิดความมั่นคงตลอดปี แถมเผื่อแผ่ไปถึงชุมชนใกล้เคียง

 

ฝายแม่หาด แหล่งเก็บกักน้ำชุมชนจัดสรรน้ำใช้ประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ 3.8 พันไร่

 

      พิพิธภัณฑ์ของที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ ซึ่งผู้คนมาเรียนรู้ดูงานจะต้องมาเรียนรู้จากพื้นที่จริง 4 จุด คือจุดที่  1 ฝายแม่หาด ผันน้ำเลี้ยงชีวิต จุดที่ 2 แต ต๊าง แบ่งน้ำเท่าเทียม จุดที่ 3 น้ำลอด น้ำล้น กระจายน้ำ และจุดที่ 4 วิถีเกษตรชุมชน ที่เป็นแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ บนความยั่งยืน ทุกจุดอยู่ท่ามกลางธรรมชาติรายล้อมด้วยขุนเขาเขียวชอุ่มและน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นพิพิธภัณฑ์กลางดอยที่มีชีวิตและแสดงถึงพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 9 ในเรื่องน้ำอย่างแท้จริง 

      ก่อนจะมาเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำ ชุมชนบ้านเมืองกลางเป็นชุมชนที่มีรากฐานจัดการน้ำที่เข้มแข็งพอสมควร โดยมีภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดมายาวนาน 300 ปี เป็นพื้นฐาน แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีปัญหาบางอย่างโดยเฉพาะในเรื่องของคน และเรื่องการจัดสรรน้ำจากเหมืองฝาย ระหว่างคนที่อยู่ต้นน้ำกับปลายน้ำ ทำให้ในปี 2554 สสน.ได้เข้ามาช่วยเหลือ โดยน้อมนำแนวทางบริหารจัดการน้ำตามแนวทางพระราชดำริ ในหลวง ร.9 มาให้แกนนำชุมชนดำเนินการ เริ่มจากการจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนจากแนวพระราชดำริ ต.บ้านหลวงขึ้น เพื่อคลี่คลายปัญหาความไม่ลงตัวการจัดสรรน้ำ พร้อมกับมีการพัฒนาโครงสร้างท่อน้ำลอดน้ำล้น เสริมหลักทางวิศวกรรมท่อส่งน้ำที่มีอยู่เดิม เพื่อให้การจัดการน้ำมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

 

นาขั้นบันไดออกรวงพร้อมเก็บเกี่ยว ผลผลิตดีจากการวางแผนจัดการน้ำ

 

      หลังจากการดำเนินการตามแนวพระราชดำริเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว โดยมีคณะกรรมการเครือข่ายจัดการน้ำในชุมชนขับเคลื่อนแนวทาง แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนต้นน้ำปลายน้ำได้สำเร็จ ในปีต่อมา สสน.จึงได้เข้ามาช่วยเหลือด้านการนำภาพถ่ายดาวเทียม จีพีเอส จีไอเอส จัดทำแผนที่ ผังน้ำ วางแผนพัฒนาร่วมกับภูมิปัญญาบรรพบุรุษของชุมชน ทำให้การจัดการน้ำของที่นี่มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จนในปี 2556  ชุมชนบ้านเมืองกลางได้กลายเป็นชุมชนตัวอย่างของการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริที่ประสบผลสำเร็จ และเป็นแบบอย่างขยายผลไปสู่ชุมชนใกล้เคียง จากผลสำเร็จดังกล่าว ทำให้ในปี 2562 ทางมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน.เลือกชุมชนบ้านกลางให้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดการน้ำตามธรรมชาติลำดับล่าสุด  

      ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า บ้านเมืองกลางมีการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนมากว่า 300 ปี จนเกิดผลสำเร็จพื้นที่ ใช้ภูมิปัญญาขุดเหมืองยาว 9.8 กิโลเมตร ผันน้ำจากน้ำตกแม่กลางเข้าสู่หมู่บ้านซึ่งทำเกษตร โดยมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เข้ามาต่อยอดควบคู่กับการพัฒนาคน จากการสำรวจพื้นที่พบปัญหาดินบาง ปลูกลำไยไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร จึงสนับสนุนนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในพื้นที่ ทั้งดาวเทียม จีพีเอส และจีไอเอส ประยุกต์นำแนวพระราชดำริในหลวง ร.9 มาปรับใช้พัฒนาระบบเหมืองฝาย จุดแบ่งน้ำ ส่งน้ำ รวมถึงออกแบบท่อน้ำลอดน้ำล้น ให้ทันสมัย พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนให้สมดุล เมื่อเกิดความมั่นคงด้านน้ำ มีการวางแผนเพาะปลูกสอดคล้องกับน้ำต้นทุน ได้เสริมการเลี้ยงไก่พื้นเมือง กลายเป็นแนวทฤษฎีใหม่  ช่วยลดรายจ่ายทั้งปี อีกทั้งมีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรไร้สารเคมี กลุ่มเกษตกรผู้เลี้ยงไก่ประดู่หางดำจอมทอง มีกองทุนและออมทรัพย์ ทำให้รายได้อยู่ในระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว

      “ ผลดีจากการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริที่ชัดเจน ปีนี้ฝนภาคเหนือ 670 มิลลิเมตร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 1,100-1,200 มิลลิเมตรต่อปี แต่พื้นที่นี้น้ำอุดมสมบูรณ์ วันนี้เห็นทุ่งรวงทองเป็นนาขั้นบันไดได้ทั้งปี และสามารถแบ่งปันน้ำให้กับชุมชนอื่น ภัยแล้งปี 2558 ฝนแล้ง ปี 2559 บ้านแม่กลองจัดสรรน้ำไปให้พื้นที่ชลประทานด้วย ปีนี้การันตีได้เลยว่า ที่นี่ไม่เจอภัยแล้งแน่นอน ส่วนปัญหาโลกร้อนที่นี่จะกระทบน้อยมาก เพราะป่าไม้ที่เพิ่มขึ้น พืชสวนดี ส่งผลเสถียรภาพอุณหภูมิในพื้นที่ดี ไม่หวือหวา โอกาสเกิดพายุไม่มี หากพื้นที่อื่นๆ มาเรียนรู้และนำแนวทางจัดการน้ำมาปรับใช้ จะไม่มีไฟไหม้ป่า ป่าไม้ดี ชุมชนเข้มแข็ง และคนหนุ่มสาวเรียนจบกลับมาพัฒนาบ้านเกิดไม่อยู่ในเมือง ความรู้สมัยใหม่ได้เชื่อมต่อกับบรรพบุรุษ” ดร.รอยล ตอกย้ำผลสำเร็จชุมชนอยู่อย่างยั่งยืน

 

ดร.รอยล จิตรดอน เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนบ้านเมืองกลาง จ.เชียงใหม่ 

 

 

      เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ  กล่าวด้วยว่า ในหลวง ร.9 ทรงรับสั่งชุมชนที่จัดการน้ำที่ดี ควรยกระดับเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ เป็นตัวอย่างของการทำมาหากิน สร้างงานสร้างรายได้ ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นี้สามารถเดินลงแปลงเกษตร ชมแปลงนา เข้ามาที่เหมือง ได้เห็นของจริง พิพิภัณฑ์ธรรมชาตินี้เปิดเป็นแห่งที่ 22 เพราะมีผลงานโดดเด่น ต่างประเทศสนใจมาศึกษาดูงาน และมีแผนจะขยายในทุกๆ พื้นที่ เพราะมีชุมชนที่โดดเด่น มีความพร้อมที่จะยกระดับเป็นพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ภาคอีสานก็ประสบผลสำเร็จมาก คาดว่าปีหน้าจะเปิดอีก 2-3 แห่ง ตนเห็นว่าการเปลี่ยนจากสังคมที่กำลังพัฒนาสู่สังคมพัฒนาแล้วเป็นการทำงานแบบคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ ภาพการจัดการน้ำปัจจุบัน ไม่หยุดที่น้ำ แต่จัดการป่า ดิน เกษตร และการตลาด ผลิตภัณฑ์ชุมชนได้มาตรฐานสากลส่งขายไปทั่วโลกโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

      ผู้นำท้องถิ่น ประสิทธิ์ พรมยาโน ประธานคณะกรรมการเครือข่ายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ได้พาชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติฯ ขึ้นเขาลงดอยครบทั้ง 4 จุด ฉายภาพก่อนและหลังการจัดการน้ำชัดเจน เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ประสิทธิ บอกว่า 300 ปีก่อนบรรพบุรุษขุดเหมืองเลาะเชิงดอยยาว 9,800 เมตร  ใช้แต คือ จุดแบ่งน้ำจากลำเหมืองแม่หาดเข้าลำเหมืองซอย จากนั้นใช้ต๊าง แบ่งน้ำเข้าที่สวนที่นา โดยมีแก่เหมือง แก่ฝายจัดสรรน้ำ ด้านบนมีเหมืองแม่หาดสร้างไว้ 150 ปี เป็นฝายตามภูมิปัญญา ชำรุดบ่อย ทำให้น้ำไปพื้นที่เกษตรตอนล่างไม่มีประสิทธิภาพ ฤดูแล้งขาดแหล่งเก็บน้ำ น้ำไม่พอปลูกพืช หลังจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ เข้ามาทำแผนที่ ผังน้ำ ปรับปรุงซ่อมลำเหมืองอย่างถูกวิธี ช่วยคุมการผันน้ำและไหลของน้ำเข้าเหมืองได้ดีขึ้น รวมถึงสมาชิกจะช่วยกันลอกเหมือง 2 ครั้งต่อปี ทำให้ไม่ขาดแคลนน้ำ มีการบริหารจัดการร่วมกันทั้งแก่เหมือง แก่ฝาย ผู้นำชุมชน อบต. เทศบาล

 

ศึกษาดูงานน้ำลอด น้ำล้น การกระจาย จุดที่ 3 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนฯ

      “ เดิมเหมืองส่งน้ำเป็นแบบชั่วคราว จะนำกระสอบทรายมากั้น เสียหายต้องซ่อมทุกปี ปี 2556 เกิดรูปแบบจัดการน้ำใช้ท่อลอดสี่เหลี่ยมส่งน้ำและบานระบายน้ำแทน ใช้หลักการนำน้ำลำเหมืองอยู่ใต้ลำห้วย เวลาน้ำห้วยหลากจะล้นข้ามฝายไป ช่วยลดตะกอนไหลสู่ลำเหมือง คุณภาพน้ำจะดี บานระบายน้ำยังช่วยแบ่งน้ำช่วงน้ำมาก ฤดูแล้งจะกระจายน้ำให้ฝายที่ขาดน้ำได้ด้วย ส่วนการจัดการเหมืองฝายจัดสรรน้ำเป็นรอบเวร ใช้ประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ 3,800 ไร่ ฤดูฝนปล่อยน้ำตามลำเหมืองโดยธรรมชาติ ฤดูแล้งประชุม วางแผน กำหนดวันเพื่อแบ่งน้ำให้ต้นน้ำ ปลายน้ำอย่างเท่าเทียม ถ้าลักลอบเปิดแตจะมีค่าปรับ แต่สมาชิกก็เคารพกฎ บ้านเมืองกลางสามารถเป็นต้นแบบให้ชุมชนมาศึกษา " ประสิทธิ์ กล่าววันนี้จัดการน้ำเป็นระบบและทุกคนมีส่วนร่วม

 

เรียนรู้วิถีเกษตรชุมชนบนความยั่งยืนที่ฟาร์มอำเภอใจกับนิติ เที่ยงจันตา เกษตรกรรุ่นใหม่

 

      ในการเรียนรู้วิถีเกษตรชุมชน บนความยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนฯ ครั้งนี้ ได้เยี่ยมชมฟาร์มอำเภอใจ ที่มีนิติ เที่ยงจันตา ทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่วัย 32 ปี เปลี่ยนนาข้าวและสวนลำไยให้กลายเป็นเกษตรผสมสาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน นิติ ในฐานะผู้ประสานงานสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) พาชมฟาร์มจนทั่ว พร้อมกับบอกว่า ครอบครัวทำเกษตร หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยแม่โจ้และเข้าทำงานที่โครงการพระราชดำริ 3 ปี ได้เรียนรู้แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ของพ่อหลวง ร.9 มากขึ้น ก็กลับมาทำเกษตรและปศุสัตว์ เริ่มจากเลี้ยงไก่ประดู่หางดำในระบบธรรมชาติ เป็นไก่พื้นเมือง  ต่อมาเพาะพันธุ์ลูกไก่ขาย และเพาะปลูกพืชผักที่หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยง ส่วนปลาก็เลี้ยงหน้าร้อนกับหน้าฝน ผักส่งขายตลาดชุมชม ทำให้มีรายได้ตลอดปี ฟาร์มอำเภอใจครบ 7 ปีแล้ว ปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่จอมทอง จำนวน 28 ราย เพาะลูกไก่ขายให้สมาชิกในกลุ่มนำไปเลี้ยงขุน 2,500 ตัวต่ออาทิตย์ ตนได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยเลี้ยงไก่อย่างยั่งยืนจาก ม.แม่โจ้ และ สกว. การเลี้ยงได้มาตรฐาน ปัจจุบันจำหน่ายให้เบทาโกรร้อยละ 60 ราคาดี ที่สำคัญตลาดต้องการเพราะไก่มีคุณภาพ เนื้อมีรสสัมผัสที่ดี กรดยูริกน้อย ดีต่อสุขภาพ เพราะไม่ใช่สารเร่ง ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะลดโรค

      “ ในการทำฟาร์มอำเภอใจได้ประโยชน์จากการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำบ้านเมืองกลาง  เพราะทำให้เราสามารถวางแผนการใช้น้ำได้ตลอดปี  มีน้ำเพียงพอปลูกผัก สระในฟาร์มที่ขุดเก็กกับน้ำก็ได้นำใช้จากลำเหมืองด้านบน มีแท็งก์เก็บน้ำ เป็นการเตรียมพร้อมกับฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงด้วย เดี๋ยวนี้แล้งถี่ขึ้น คิดว่า วิถีที่เลือกเดินมาถูกทางแล้ว อยากให้คนรุ่นใหม่จบมาอยากเป็นเกษตรกร ผมมีแผนจะขยายฟาร์ม ตลาดไก่พื้นเมืองเติบโตดี มีอนาคตไกล" นิติ เจ้าของฟาร์มอำเภอใจ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

 

เยี่ยมชมโรงฟักไข่ อีกผลผลิตสร้างรายได้ให้เกษตรกร เมื่อสามารถวางแผนใช้น้ำดำรงชีพได้ 

 

      สนใจเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ บ้านเมืองกลาง ติดต่อมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ แล้วจะค้นพบแนวทางความสำเร็จผ่านการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในท้องถิ่น และหนุนให้ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ดีขึ้น

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"