ชีวิต ความรัก ประสบการณ์ สู่ "ศิลปะงานต่อผ้า"


เพิ่มเพื่อน    

     

ครูจูน-อมรรัตน์ และประทีบ สิรวัฒนากุล หัวเรือใหญ่จัดนิทรรศการศิลปะบนผืนผ้า

 

     ศิลปะงานต่อผ้าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ นำมาซึ่งความสุขใจให้ทั้งผู้ลงมือเย็บผ้าจากเส้นด้ายทีละเส้น และส่งต่อความรื่นรมย์แก่ผู้คนรอบข้าง คนจำนวนไม่น้อยหลงใหลงานต่อผ้า ที่สำคัญได้ค้นพบตัวตนของตนเองผ่านเศษผ้าผืนเล็กๆ จากลวดลายที่บรรจงปัก

      เวลานี้มีนิทรรศการศิลปะที่ห้ามพลาด แม้ไม่ใช้ทีแปรงปาดป้ายแต่ผลงานที่เห็นก็แสนงดงาม ในนิทรรศการ “JuneQuilt Show ครั้งที่ 3” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Strip Art Exhibiton” เส้นสร้างศิลป์นำโดยครูจูน-อมรรัตน์ สิรวัฒนากุล กูรูงานต่อผ้า นิทรรศการเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันก่อน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บริเวณโถงชั้น L โดยมีลักขณา คุณาวิชยานนท์ อดีตผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน

 

งานศิลป์ผสมจินตนาการสร้างลวดลายผ่านเส้นด้ายหลากสีสันตรึงใจ

 

      โครงการนี้รวมพลศิลปินทั้งคุณครูและลูกศิษย์ 33 คน รังสรรค์ชิ้นงานจากผืนผ้า ถ่ายทอดตามจินตนาการ มี 63 ผลงานมาอวดโฉมให้ชมอย่างใกล้ชิด หวังให้ผู้ชมดื่มด่ำกับความงดงามและหลากหลายเนื้อหาสะท้อนให้เห็นอัตลักษณ์ของผู้หญิง อาทิ ผลงาน “แรงบันดาลใจ” โดย อมรรัตน์ สิรวัฒนากุล นำความรักความผูกพันระหว่างศิลปินและสุนัขที่เคยเลี้ยง Bobby & Tommy เป็นแรงบันดาลใจสำคัญทำ ชิ้นงานนี้ใช้เทคนิคจากรูปภาพถ่ายทอดลงบนผ้า เลือกสีออกแบบผ้าให้เสมือนจริง เย็บต่อขึ้นมาให้เป็นโครงร่างทำพื้นผิวด้วย free motion จักรใช้ด้าย 16 สีแทนการผสมสี สะบัดสีแทนปลายพู่กันด้วยเข็มจักร ออกแบบสีด้ายทั้งด้ายบนและด้ายที่กระสวยเพื่อให้ทำงานครั้งเดียวเกิดภาพ

 

มาชมงาน JuneQuilt Show ครั้งที่ 3 เส้นสร้างศิลป์ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

      แล้วยังมีผลงานสวยๆ อย่าง “Moonlight” และ “Red tulip” ได้แรงบันดาลใจจากสีสันสดใสของทุ่งดอกทิวลิปที่อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ศิลปินมือสมัครเล่นถ่ายทอดลงบนผืนผ้าผ่านศิลปะการเย็บอันประณีตอย่างน่าทึ่ง

 

ผลงาน “แรงบันดาลใจ” ถ่ายทอดความผูกพันที่มีต่อสัตว์เลี้ยง ฝีมือครูจูน-อมรรัตน์

 

      ครูจูน-อมรรัตน์ สิรวัฒนากุล ผู้อำนวยการจัดงาน JuneQuilt Show ครั้งที่ 3 เล่าความตั้งใจในการจัดงานว่า นิทรรศการกลุ่มของครูและนักเรียน ได้นำผลงานมาแสดงถึงความงดงามความยิ่งใหญ่ที่สร้างสรรค์จากชิ้นผ้าที่มีสีสันและลวดลายที่หลากหลาย ถ่ายทอดออกมาตามจินตนาการในชื่อนิทรรศการ "เส้นสร้างศิลป์" ด้วยแนวคิดจากองค์ประกอบของผ้าและเส้นด้ายแต่ละชิ้น ถูกนำมาผสมผสานกับแนวคิดทางศิลปะและหลักการเรขาคณิต ร่วมกับจินตนาการและสิ่งที่อยู่รอบตัวของศิลปินแต่ละคน มาเย็บต่อกันจนเกิดงานเป็นผืนผ้า มีลายเส้นที่มีความงดงาม บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของแต่ละคนได้เป็นอย่างดี อีกองค์ประกอบของความสำเร็จของงานนี้เราได้เห็นสถาบันครอบครัวที่ทำให้ศิลปินแต่ละคนสร้างสรรค์งานจนสำเร็จ เพราะเกิดจากความเข้าใจ ความร่วมใจ และเป็นแรงใจในความมุมานะสร้างผลงานน่าเหลือเชื่อเหล่านี้ออกมา ขอให้ความงดงามนี้คงอยู่ในใจของทุกคนตลอดไป

      “ ศิลปินที่นำผลงานมาจัดแสดงครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน หรืออยู่ในช่วงวัยเกษียณ ไม่ได้มีความรู้ด้านงานศิลปะมาก่อนเลย แต่ทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเองผ่านศิลปะบนผืนผ้า ด้วยการออกแบบและเย็บลวดลายต่างๆ อย่างบรรจง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมกิจกรรมยามว่างของผู้หญิงให้เกิดประโยชน์สูงสุด งานศิลป์ยังให้ความผ่อนคลายจากความเครียดได้เป็นอย่างดี” ครูจูน-อมรรัตน์ กล่าว

 

ศิลปะบนผืนผ้า ถ่ายทอดเอกลักษณ์สตรี

 

      เมื่อให้เล่าถึงงานควิลต์หรือ Quilting ครูจูน-อมรรัตน์ บอกว่า เดิมหมายถึงการเย็บผ้านวมที่แพร่หลายในยุโรป เป็นการเย็บผ่านวัสดุ 3 ชั้น คือ ผ้าชิ้นบน ใยที่อยู่ตรงกลาง และผ้าชิ้นล่างเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ทั่วทั้งผืน ส่วนงานศิลปะจากการควิลต์นั้นเกิดจากการอาศัยเทคนิคต่างๆ ในการเย็บ เพื่อสร้างลวดลายบนผืนผ้าทั้งจากการต่อผ้าหลากสีสันและรูปทรง หรือจากการเดินเข็มเป็นลายต่างๆ ทั้งเย็บด้วยมือหรือเย็บด้วยจักรล้วนต้องอาศัยความชำนาญและความอดทน ผสานกับจินตนาการของเจ้าของผลงาน จนออกมาเป็นงานที่ทั้งประณีต สวยงาม และสร้างสรรค์

      หนึ่งในผู้หลงใหลงานต่อผ้าที่ร่วมแสดงผลงานอย่าง ปณิชา สุวรรณโกศัย บอกว่า สามีประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ตนเป็นแม่บ้านต้องดูแลลูกๆ เป็นหลัก หลังจากไปส่งลูกเข้าโรงเรียนเสร็จแล้วอยากหาอะไรทำระหว่างรอรับลูกในตอนเย็น ด้วยความชอบงานเย็บปักถักร้อยเป็นทุนจึงได้ไปร้านผ้าครูจูนเพื่อไปนั่งเรียนการทำผ้าในทันทีเมื่อ 7 ปีก่อน เริ่มจากฝึกหัดเย็บผ้าผืนเล็กๆ อย่างจานรองแก้วน้ำ กระเป๋าใส่เหรียญ ฝึกปรือฝีมือถึงขั้นเย็บผ้าผืนใหญ่อย่างผ้าคลุมเตียงแบบลิมิเต็ดเอดิชั่นไว้ใช้เองอย่างเก๋ไก๋ไม่ซ้ำใคร ทั้งยังทำเป็นของขวัญปีใหม่ให้ลูกค้าด้วย

      “ ผลงานที่นำมาจัดแสดงเป็นการเย็บผ้าคลุมเตียงภายใต้คอนเซ็ปต์ “Moonlight” ชื่นชอบสีอันร้อนแรงของสีแดง ขณะเดียวกันภายในห้องนอนเป็นสีครีมจึงนำสีร้อนอย่างสีแดงมาผสมกับสีโทนนุ่มนวลอย่างสีเหลืองให้ลงตัว ใช้เวลาทำอยู่หนึ่งปี ส่วนใหญ่ปักช่วงเวลาว่างและเวลากลางคืน ครูจูนแนะนำเรื่องของการเลือกใช้สีผ้าเพื่อนำมาเย็บรวมกันให้มีความสวยงาม” ปณิชา กล่าว

 

ปณิชา สุวรรณโกศัย กับผลงาน “Moonlight”

 

      นิทรรศการยังเปิดพื้นที่ให้มือใหม่ไฟแรงร่วมโชว์งาน อรนุช ศิรประภา อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย หันมาศึกษางานควิลต์ได้ไม่ถึงปี บอกว่า การเย็บผ้าควิลต์แต่ละผืนจะต้องมีการวางแผนก่อนเริ่ม จากการลอกแบบลงบนผืนผ้า ตามด้วยการคำนวณช่องการเย็บผ้าที่ต้องพอดีกัน แล้วตามด้วยการเลือกสีที่แมตช์กัน ถ้าเย็บมาแล้วผ้าไม่เสมอกันต้องค่อยๆเลาะผ้าออกทีละชิ้นอย่างเบามือ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เรานำไปประยุกต์ใช้กับงานประจำได้งานทุกอย่าง ต้องวางแผนอย่างเป็นระบบและเมื่อมีปัญหาต้องแก้ทีละอย่าง

      ผลงานจัดแสดงในครั้งนี้เธอบอกถึงคอนเซ็ปต์ว่า “Red tulip” เป็นสีสดใสของทุ่งดอกทิวลิปที่อัมสเตอร์ดัม เป็นคนชอบเดินทาง อยู่มาวันหนึ่งได้ไปชมทุ่งดอกทิวลิปที่อัมสเตอร์ดัม วินาทีที่มองเห็นดอกทิวลิปที่มีทั้งสีแดง สีชมพู รู้สึกสดชื่น จึงออกแบบผลงานศิลปะบนผืนผ้าชิ้นแรกเป็นทุ่งดอกทิวลิป ความยากของงานชิ้นนี้คือ การปักกรอบสีดำต้องใช้ด้ายล่องหน ปักให้ไร้รอยต่อ เป็นการใช้เทคนิคพิเศษที่ยากมาก พอชิ้นงานสำเร็จทำให้เราภูมิใจ มีพลังสร้างสรรค์ผลงานอื่นตามมา

 

อรนุช ศิรประภา ผู้รังสรรค์ลวดลายดอกไม้สดใสบนผ้าในงาน ชื่อ “Red tulip

 

      ไม่เพียงแสดงผลงานศิลปะ ยังจัดล้อมวงพูดคุยเรื่องสตรีทั่วโลกกับการทำงานควิลต์ (Quilt) ผ่านมุมยกระดับคุณภาพชีวิตสตรี การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และการดูแลครอบครัว

      ไอริส โกเวน สตรีอเมริกัน คลุกคลีกับงานควิลต์มากว่า 40 ปี ร่วมเล่าประสบการณ์การทำงานควิลต์ในต่างประเทศว่า งานควิลต์เป็นอีกหนึ่งผลงานศิลปะที่ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วโลกมีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น เพราะด้วยเป็นงานศิลปะที่ถ่ายทอดลงบนผืนผ้าได้อย่างประณีตและมีเอกลักษณ์ สตรีชาวอเมริกันที่เป็นแม่บ้านส่วนใหญ่มักใช้เวลาว่างหลังจากดูแลครอบครัวมาเย็บผ้า ทำงานควิลต์ในรูปแบบต่างๆ ไว้ใช้สอยสำหรับคนในครอบครัว

      “ การทำงานควิลต์ต้องใช้ความพยายามและความอดทนค่อนข้างสูงในการคำนวณการใช้ผ้า รวมถึงศิลปะในการเย็บ จึงเป็นงานของผู้หญิงเสียส่วนใหญ่ จะเป็นชิ้นงานที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย อย่างผ้าคลุมไหล่ ผ้าห่มนวม เป็นต้น เมืองหนาวแม่บ้านทุกคนต้องเย็บเครื่องนุ่งห่มกันหนาวขึ้นมาใช้เอง” ไอริส กล่าว

      ผู้ที่รักงานศิลปะสามารถมาชมงาน JuneQuilt Show ครั้งที่ 3 เส้นสร้างศิลป์ ได้ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันนี้-ถึง 22 ธ.ค.2562 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"