ปีแห่งความหวังและความผิดหวัง


เพิ่มเพื่อน    

 

บทความ "เขียนให้คิด" วันนี้คงเป็นบทความสุดท้ายของปี เพราะปี 2562 กำลังใกล้จะจบลง เป็นปีที่เราเริ่มต้นปีด้วยความหวังทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ และก็จบปีด้วยความผิดหวังทั้งในเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจเช่นกัน แต่ปีนี้ก็มีคุณค่าในตัวของมันเองที่บอกความเป็นจริงหลายอย่างในสังคม ทำให้คนในประเทศเข้าใจบริบทและความยากต่าง ๆ ที่เรามีในสังคมขณะนี้ได้ดีขึ้น เป็นความสว่างที่จะรวมใจคนในสังคมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น ให้ตระหนักถึงพันธกิจที่รออยู่ข้างหน้า

ในทางการเมือง ความหวังที่คนทั้งประเทศมีตอนต้นปีคือ การเมืองของประเทศจะดีขึ้นจากนี้ไป จากที่ประเทศจะมีการเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเลือกคน เลือกนโยบาย เลือกวิธีคิดที่แตกต่างเพื่อบริหารประเทศให้ดีขึ้น ให้ประเทศเดินออกจากวิธีคิดและวิธีทำงานแบบอำนาจเป็นใหญ่ของช่วงห้าปีก่อนหน้า เป็นความหวังของการนำประเทศกลับเข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย ที่อำนาจอธิปไตยมาจากคะแนนเสียงของประชาชน เป็นสิ่งที่ประเทศและประชาชนคนไทยเคยมี แต่ได้ถูกทำลายหรือลดบทบาทไป

ที่สำคัญ เป็นความหวังที่เราจะเห็นคนรุ่นใหม่ เข้ามาใช้สิทธิใช้เสียงทางการเมือง ในฐานะพลเมืองของประเทศ หลังไม่ได้มีการเลือกตั้งมานานกว่าแปดปี และปีนี้เราก็จะมีคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาก่อน มาใช้สิทธิทางการเมืองเป็นครั้งแรกมากถึง ร้อยละ 13.8 ของผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด ความหวังคือบทบาทของคนเหล่านี้จะทำให้การเมืองของประเทศมีความแตกต่าง ทั้งในตัวบุคคล วิธีคิด ความรู้ความสามารถ และความทันโลกทันสมัยกับการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน เพราะโลกขณะนี้กำลังเปลี่ยนเร็ว ทั้งโดยพลังของเทคโนโลยี และโครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนเป็นสังคมคนสูงวัย ที่คนสูงวัยจะต้องลดบทบาทลงโดยปริยายในหน้าที่การงานทั้งในภาครัฐและเอกชน กลายเป็นคนเกษียณอายุที่ไม่ทำงาน แต่ก็ต้องมีรายได้มีค่าใช้จ่ายเพื่อใช้ชีวิต ทำให้ภาระต่าง ๆ จะตกอยู่กับคนรุ่นใหม่ ที่ต้องนำการพัฒนาด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงดูแลคนที่ไม่ทำงานในวัยเกษียณให้สามารถมีชีวิตที่ดีต่อไปในสังคม

 

ด้วยเหตุนี้ บทบาทของคนรุ่นใหม่ในสังคมจากนี้ไปจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นความหวังที่จะเห็นบทบาทคนรุ่นใหม่ในทางการเมืองที่เริ่มเข้มแข็งและแตกต่างจากคนรุ่นก่อน ที่จะใช้ความรู้ความสามารถช่วยรับภาระแก้ไขปัญหาที่ประเทศมีอยู่ พร้อมกับการสร้างชาติสร้างประเทศ ทั้งในฐานะนักการเมืองและประชาชนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

อีกประเด็นที่เป็นความหวังทางการเมืองปีนี้คือ การเมืองหลังเลือกตั้งที่จะเป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้การเมืองของประเทศและการใช้อำนาจการเมืองจะโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เพราะในช่วงก่อนเลือกตั้งที่รัฐบาลมาจากการรัฐประหาร การตรวจสอบการทำงานและความโปร่งใสในการทำหน้าที่ของฝ่ายการเมืองและฝ่ายปกครองทำได้น้อยมาก ขณะที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนเองก็มีข้อจำกัด เอื้อให้ผู้มีอำนาจสามารถทำอะไรก็ได้โดยไม่มีการตรวจสอบ เช่น การใช้อำนาจตามมาตราพิเศษ นำไปสู่ประเด็นการใช้อำนาจที่อาจไม่ถูกต้อง ประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้ง และการปฏิบัติต่อประชาชนและบริษัทธุรกิจอย่างไม่เท่าเทียมกัน

สิ่งเหล่านี้คือปัญหา ความหวัง คือ ความไม่โปร่งใสเหล่านี้จะลดลงหรือหมดไปภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ตรวจสอบ ขณะเดียวกันประชาชนก็จะได้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการแสดงความคิดของประชาชน พร้อมกับภาคราชการก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส รับฟังความคิดเห็นที่ประชาชนที่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ความหวังเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้น แต่ที่เกิดขึ้น คือ ความผิดหวัง ที่สิ่งที่เกิดขึ้นปีนี้ไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง และในบางเรื่องกลับแย่หรือเลวร้ายลง แสดงให้เห็นพลังที่แท้จริงทางการเมืองของอำนาจรัฐในประเทศขณะนี้

หนึ่ง การเลือกตั้งไม่ได้นำมาสู่การเมืองแบบที่ประชาชนหวังและอยากเห็น ที่นักการเมืองทั้งฝ่ายที่เป็นรัฐบาลและฝ่ายค้านทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทำด้วยเหตุและผล ที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของคนในระดับผู้นำที่ประเทศไทยมี ตรงกันข้ามการเมืองตั้งแต่ การหาเสียง การเลือกตั้ง การนับคะแนนเลือกตั้ง การประกาศผลเลือกตั้ง การแถลงนโยบาย และการทำหน้าที่ของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภาในการบริหารประเทศ ล้วนแต่เป็นเวที หรือสนามของการแย่งชิงอำนาจรัฐระหว่างนักการเมืองทั้งสิ้นในขนาดและรูปแบบ ที่คนรุ่นใหม่บางคนไม่เคยเห็นมาก่อน จนประชาชนบางส่วนรู้สึกกว่าการเมืองของประเทศขณะนี้อาจแย่สุดตั้งแต่ประเทศเคยมีการเลือกตั้ง ที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อประเทศและสังคม แม้แต่การผ่านงบประมาณประจำปี ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการบริหารประเทศในระบบรัฐสภา ก็ยังทำกันไม่ได้ มีแต่เล่นเกมทะเลาะและทำลายกัน ไม่ได้ให้ความสนใจหรือให้ความสำคัญกับปัญหาประเทศที่ต้องแก้ไข ขณะที่การให้ความเห็นของคนในระดับผู้นำของรัฐบาลก็ชัดเจนว่า หายใจเข้าออกเป็นการเมืองและการรักษาอำนาจ

ความผิดหวังที่สองคือ การปฏิเสธบทบาทและความคิดของคนรุ่นใหม่โดยอำนาจการเมืองปัจจุบัน เพราะมุ่งมองบทบาทคนรุ่นใหม่ในทางการเมืองไปที่การผุดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ที่ถูกมองว่ามีความคิดก้าวหน้าจนเป็นภัยต่ออำนาจการเมืองที่ประเทศมีขณะนี้ ทั้งที่นักการเมืองรุ่นใหม่มีในทุกพรรคและคนรุ่นใหม่ก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนให้เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากมาย เห็นได้จากคะแนนเสียงที่พรรคอนาคตใหม่และพรรคอื่น ๆ ที่มี ส.ส. เป็นคนรุ่นใหม่ได้รับจากประชาชน รวมแล้วอาจมากกว่าสิบล้านเสียง การปฏิเสธบทบาทของคนรุ่นใหม่พร้อมกับการครอบงำการเมืองของประเทศโดยนักการเมืองรุ่นเก่า ทำให้การเมืองของประเทศไม่เดินหน้า ติดกับความขัดแย้งเดิม ๆ ระหว่างบุคคล ไม่สามารถตอบโจทย์หรือให้ความหวังกับการแก้ไขปัญหาของประเทศได้ 

ความผิดหวังที่สาม คือ แทนที่การเมืองในระบบรัฐสภาจะทำให้การเมืองของประเทศโปร่งใสขึ้น สามารถตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาลและฝ่ายปกครองได้ง่ายขึ้น ตรงกันข้าม การเมืองหลังเลือกตั้งกลับยิ่งตรวจสอบยากขึ้น เพราะ หนึ่ง อำนาจรัฐสามารถเข้าแทรกแซงกลไกการตรวจสอบเพื่อปกป้องผู้ที่ทำผิด หรือผู้ที่ถูกตรวจสอบ จนระบบตรวจสอบที่รัฐธรรมนูญตั้งไว้ไม่สามารถทำงานได้ สอง คุณธรรมของนักการเมืองที่เคารพในความเห็นของนักการเมืองด้วยกันในการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรได้ถูกทำลายลง กลายเป็นการเมืองแบบแพ้ชนะที่ไม่ต้องมีเหตุผล เป็นการเมืองที่เอาแพ้ชนะเป็นใหญ่ โดยไม่ดูถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสถาบันการเมืองของประเทศ สาม นักการเมืองไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประเพณีปฏิบัติทางการเมืองที่ได้ยึดถือกันมา ที่เป็นแนวปฏิบัติ หรือ norm ให้ข้อถกเถียงต่าง ๆ มีทางออก และสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เช่น เมื่อลงคะแนนแพ้ ก็ขอลงใหม่ไม่ยอมรับผล จนการเมืองของประเทศดูเหมือนไม่มีกติกา อยากทำอะไรก็ทำ ใช้จำนวนเสียงเป็นใหญ่แบบกฎหมู่ ไม่มีหลักยึดที่จะเป็นข้อยุติว่าอะไรควรไม่ควรที่นักการเมืองทุกคนยอมรับ

พฤติกรรมเหล่านี้ คือ ความล้มเหลวที่ทำให้การเมืองของประเทศไม่สามารถเป็นกลไกที่จะใช้แก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ จริง ๆ ความบกพร่องเหล่านี้มีมาตลอดในช่วงห้าปีก่อนหน้า แต่หลายคนมองว่าเป็นเพียงสิ่งผิดปกติชั่วคราว หรือ New Normal ที่มากับการเมืองแบบอำนาจนิยม และคงจะจางหายไปเมื่อเป็นการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ปัจจุบันปัญหายิ่งจะดูหนักขึ้น ทำให้วิตกว่าถ้าความไม่ปกติเหล่านี้กลายเป็นสิ่งปกติถาวรของการเมืองไทย การเมืองก็จะยิ่งเสื่อม หวังพึ่งไม่ได้และจะเป็นตัวฉุดรั้งอนาคตของประเทศ

ในแง่เศรษฐกิจ เราเริ่มต้นปีด้วยความหวังว่าเศรษฐกิจของประเทศจะดีขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจดีขึ้น เพราะปัญหาข้อพิพาทระหว่างจีนกับสหรัฐที่นำมาสู่สงครามการค้าจะมีข้อยุติ ความไม่แน่นอนด้านนโยบายต่าง ๆ เช่น ปัญหา Brexit จะมีทางออก ทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว และเศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์จากการขยายตัวของการค้าและการส่งออก นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐ และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่จะสนใจแก้ไขปัญหาที่ประชาชนและประเทศมีเพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนก็จะเป็นปัจจัยบวก สิ่งเหล่านี้คือ ความหวัง ทำให้ตอนต้นปีมีการประเมินว่า เศรษฐกิจอาจขยายตัวต่อเนื่องได้ ร้อยละ 3-4 ในปีนี้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเศรษฐกิจไทยปีนี้คือ ความผิดหวัง อย่างแรก ปัญหาต่าง ๆ ในเศรษฐกิจโลกไม่ได้คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ปัญหายังเป็นปัญหาอยู่ ทั้งในเรื่องสงครามการค้าและ  Brexit เศรษฐกิจโลกจึงชะลอต่อเนื่อง กระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวของประเทศ ที่สำคัญภายในประเทศเอง การผลิตในภาคเกษตรก็ขยายตัวได้น้อย การลงทุนภาคเอกชนติดลบ ขณะที่การลงทุนภาครัฐก็ทำได้ช้า ทั้งหมดทำให้รายได้หรือกำลังซื้อของประชาชนอ่อนแอ การขยายตัวของเศรษฐกิจจึงลดต่ำกว่าเป้าตลอดทั้งปี ล่าสุดนักวิเคราะห์และหน่วยงานทางการได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงเหลือ 2.5-2.7 เปอร์เซ็นต์

ที่สำคัญ การชะลอตัวของเศรษฐกิจปีนี้ได้สร้างปัญหาและความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากที่ต้องปรับตัวและลดการใช้จ่ายต่าง ๆ ขณะที่มาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลก็กระจัดกระจาย ไม่ตรงเป้าในแง่ปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศมี เป็นการทำมาตรการเศรษฐกิจที่ไม่มีนโยบายหรือยุทธศาสตร์กลาง คือ ทำไปตามเป้าหมายทางการเมืองของแต่ละพรรคเพื่อคะแนนเสียง มากกว่าที่จะเป็นมาตรการที่มาจากการกลั่นกรองความคิดที่เป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ผลคือ ความตกต่ำของเศรษฐกิจมีต่อเนื่องและประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็ตกอยู่กับผู้ที่ใกล้ชิดกับมาตรการของรัฐเป็นสำคัญ ทำให้ปีนี้ ประชาชนพูดถึงปัญหาความไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างหนาหูจากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น

นี่คือ ความผิดหวังเรื่องเศรษฐกิจ ที่ปีนี้เราเริ่มต้นปีด้วยความหวังที่ประชาชนมีทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจแต่จบลงด้วยความผิดหวัง ทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ผิดหวังในตัวผู้เล่นทางการเมืองที่เข้ามารับผิดชอบการบริหารประเทศ ผิดหวังในมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาที่ไม่ได้จริงจังต่อการแก้ไขปัญหาที่ประเทศมี แต่เป็นมาตรการที่มีการเมืองนำ ผิดหวังในภาวะผู้นำที่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ กลายเป็นผู้เล่นใหญ่ในเกมการเมืองที่มุ่งรักษาอำนาจ สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่สูงต่อเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชนและอนาคตของประเทศ

สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ชัดเจนจากสิ่งที่เกิดขึ้นปีนี้คือ การเมืองขณะนี้มีอำนาจมากและมีอำนาจเกินไป ทำให้ประเทศขาดความสมดุลจนเป็นข้อจำกัดไม่ให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เพราะการเมืองเข้าไปมีบทบาทแทรกซึมในทุกการตัดสินใจ จนกลไกขับเคลื่อนประเทศปกติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจตามกลไกตลาดและด้านการเมืองตามระบบรัฐสภาไม่ทำงาน

ใครที่อ่านหนังสือชื่อ The Third Pillar โดย Raghuram Rajan อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศอินเดีย คงจำได้ว่า นายราชันทร์ พูดถึงเสาหลักสามเสา ที่ถือเป็นฐานสำคัญของการเติบโตของประเทศ สามเสาหลักนี้คือ การเมือง ธุรกิจ และประชาชน ที่จะต้องเติบโตและมีบทบาทอย่างสมดุลกัน เพื่อให้การเติบโตของประเทศเกิดขึ้นต่อเนื่อง มีเสถียรภาพและให้ประโยชน์คนในประเทศอย่างทั่วถึง

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเราขณะนี้คือ เสาด้านการเมืองมีอำนาจมากเกินไป (Too Powerful) จนทำให้เสาด้านธุรกิจและเสาด้านประชาชนอ่อนแอ ไม่สามารถตรวจสอบ และทัดทานการเติบโตและการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองได้

ในทุกประเทศ การเมืองที่มีอำนาจมากเกินไปเป็นอันตราย เพราะอำนาจการเมืองจะทำลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงกระบวนการตรวจสอบที่ประเทศต้องมี เพื่อรักษากติกาและสร้างความสมดุลของอำนาจให้เกิดขึ้น นี่คือปัญหาที่ประเทศเรามีขณะนี้ ทำให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนจะต้องคิดและถามตัวเองว่า การเมืองแบบนี้เป็นมิตรหรือเป็นภัยต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าเพื่ออนาคตของลูกหลาน รวมถึงต้องคิดต่อว่าภาคธุรกิจและภาคประชาชนควรต้องมีบทบาทอย่างไร ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของประเทศ ที่ต้องช่วยกันแก้ไขความไม่สมดุลที่มีอยู่ให้น้อยลง.
 

เขียนให้คิด
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"