แม่วัยใสลดลงสสส.ขบคิดวัยรุ่นติดโรคเพิ่มขึ้น


เพิ่มเพื่อน    

 

ปัญหาแม่วัยใสได้รับการแก้ไขด้วยการให้ความรู้ป้องกันท้องก่อนวัย จากสถิติเด็กไทยอายุต่ำกว่า 20 ปีคลอดลูกวันละ 355 คน 1 ใน 3 ท้องไม่ตั้งใจ สสส.ต้องขบคิดต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงลิ่ว เพราะไม่ใช้ถุงยางอนามัย สำรวจคำตอบออนไลน์ 1.7 หมื่นข้อความ เพราะแพง ไม่กล้าซื้อถุงยางอนามัยในร้านค้าสะดวกซื้อ ใช้ยาคุม ค่านิยมที่ผิดๆ ใส่ถุงยางแล้วไม่รู้สึกดี

               

ตลอดปีที่ผ่านมา สสส.ให้ความสนใจปัญหาเรื่องแม่วัยใสหรือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นสิ่งที่ภาครัฐให้ความสำคัญถึงขั้นออก กม.จัดการปัญหาโดยเฉพาะ สภาพัฒน์ทำรายงานสรุปสถานการณ์นี้เสนอต่อที่ประชุม ครม.จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง เพราะการตั้งท้องไม่พร้อมมีแนวโน้มที่จะสร้างปัญหาสังคมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข ปัจจุบันวัยรุ่นไทยมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลับพบปัญหาที่ไม่คาดฝัน โดยเฉพาะเรื่องของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ หรือกลัวท้องมากกว่าติดโรค (ติดต่อทางเพศ)

               

ด้วยยุทธศาสตร์ภาครัฐ สสส. กรมควบคุมโรค เห็นร่วมกันว่าในปี พ.ศ.2563 จะพยายามทำให้คนไทย 90% เข้าถึงถุงยางอนามัย โดยการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักของการป้องกันตนเอง และการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเข้าถึงถุงยางอนามัย ด้วยการพัฒนาระบบและเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาครู โดยร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์และกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกำลังพัฒนารูปแบบและเครื่องมือในการเสริมทักษะพ่อแม่ในสถานประกอบการ เพื่อให้มีทักษะการสื่อสารเชิงบวก และพูดคุยเรื่องเพศกับลูกหลานวัยรุ่นได้

 

               

ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารรณรงค์ เพื่อปรับมุมมองเชิงบวกต่อเรื่องเพศ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อย่างยั่งยืน สังคมไทยเคยประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการใช้ถุงยางอนามัยมาแล้ว ถ้าต้องพยายามกันต่อไปให้วัยรุ่นใช้ถุงยางอนามัยให้บ่อยขึ้นและถี่ขึ้น เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย ไม่ใช่แค่ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมเพียงอย่างเดียว จึงไม่น่าจะเป็นโจทย์ที่ยากเกินไปนัก ด้วยการเริ่มต้นทั้งจากภาครัฐ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และจากตัววัยรุ่นเอง

               

ปัญหาแม่วัยใสเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องมีหน้าที่ขบคิด เพราะหลายครั้งได้สร้างปัญหามากมาย จึงได้มีการออก พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 เพื่อจัดการปัญหานี้เฉพาะด้วยการจัดตั้ง “คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ มีการออกแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ.2560-2569 ตั้งเป้าหมายลดจำนวนแม่วัยใสเหลือไม่ถึงครึ่งภายในปี พ.ศ.2569

 

              

ในช่วงเวลาหนึ่ง สถานการณ์แม่วัยใสเป็นปัญหาหนักหนาสาหัสมาก มีเด็กไทยอายุต่ำกว่า 20 ปีคลอดลูกวันละ 355 คน โดย 1 ใน 3 เกิดจากการตั้งท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ การเป็นแม่วัยใสทำให้เจ้าตัวต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการเรียน ปัญหาหน้าที่การงาน ถูกตีตราทางสังคม รวมถึงต้องเผชิญกับปัญหาชีวิตส่วนตัว บางครั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ เพราะถูกกดดันทำให้แท้ง บางครั้งถูกกดดันให้แต่งงานเพื่อรักษาหน้าของผู้เกี่ยวข้อง หรือเพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการทางศาล ขณะที่รุ่นลูกเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทั้งจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ไม่พร้อมและกลายเป็นปัญหาสังคมในเวลาต่อมา

               

สถานการณ์แม่วัยใสถึงจุดสูงสุดในปี พ.ศ.2555 เมื่ออัตราคลอดของเด็กไทยในช่วงอายุ 10-14 ปี พุ่งแตะ 1.8 คน:ประชากรพันคน หลังจากนั้นสถิติทั้งสองช่วงวัยก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราคลอดของเด็กไทยในช่วงอายุ 10-14 ปี เหลือ 1.2 คน:ประชากรพันคน และช่วงอายุ 15-19 ปีลดลงเหลือ 35 คนจากประชากรพันคน ปี พ.ศ.2561 ลดลง33% ทั้งสองช่วงวัย

               

หลายฝ่ายพยายามวิเคราะห์หาสาเหตุของการที่อัตราการคลอดในวัยรุ่นลดลง และให้เหตุผลที่แตกต่างกันออกไป บ้างว่าเป็นเพราะการให้ความรู้ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้วัยรุ่นมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์มากขึ้น บ้างก็ว่าเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายและยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ทำให้หน่วยงานราชการทำงานไปในทางเดียวกันหรือด้วยเหตุปัจจัยอื่นๆ ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์กันต่อไปด้วย

               

ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ อัตราการคลอดในวัยรุ่นลดลง สิ่งที่เพิ่มขึ้นกลับเป็นการติดโรคทางเพศสัมพันธ์จาก 41.6:ประชากรแสนคนในปี พ.ศ.2550 กลายมาเป็น 169.2 คน:ประชากรแสนคนในปี พ.ศ.2561 คือเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัว โดยเฉพาะ 5 โรคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มวัยช่วงอายุ 15-24 ปี ทั้งซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน ฝีมะม่วง โดยเฉพาะซิฟิลิสและหนองใน โรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคยอดนิยมที่วัยรุ่นมีแนวโน้มจะเป็นสูงขึ้น การติดเชื้อ HIV จากสถิติคนไทยในช่วงอายุ 15-24 ปีติดเชื้อเพิ่มจาก 93 คน:ประชากรแสนคน มาเป็น 161 คน:ประชากรแสนคน หรือเพิ่มขึ้นเกินกว่า 70% ในช่วงเวลา 5 ปีเท่านั้น ข้อที่น่าสังเกตและเป็นคำถามก็คือ วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยอย่างเป็นประจำ ทำให้ติดโรค ในขณะที่วัยรุ่นท้องน้อยลง

               

หน่วยงานราชการมีการแจกถุงยางอนามัยให้ฟรีมาหลายปีแล้ว สามารถขอรับได้ที่ศูนย์บริการสุขภาพ ศูนย์บริการสาธารณสุข ที่ทำการอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพภาพตำบล (รพ.สต.) คลินิกนิรนาม โรงพยาบาลของรัฐ ฯลฯ ทั้งนี้ สถิติวัยรุ่นมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยที่สูงขึ้น แต่การใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ

               

เหตุผลหลักๆ ที่วัยรุ่นไม่ใช้ถุงยางอนามัยจากการศึกษาข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ในเดือน ก.ค.2561-เดือน ก.ค.2562 พบข้อความไม่ใช้ถุงยางอนามัยรวมกันกว่า 1.7 หมื่นข้อความดังนี้ 1.แพง มีการเปรียบเทียบว่าแพงกว่าค่าข้าว จะไปตั้งขายถูกๆ ในโรงเรียนก็ถูกคัดค้าน 2.ไม่กล้าซื้อถุงยางอนามัย โดยเฉพาะการซื้อจากร้านสะดวกซื้อ เพราะเขินอายแคชเชียร์ หรือกลัวถูกแซวจากคนอื่นๆ 3.ใช้ยาคุมแทนการซื้อถุงยางอนามัย ทั้งยาคุมปกติหรือยาคุมฉุกเฉิน 4.ใส่แล้วไม่รู้สึก เป็นความเชื่อว่าการใส่ถุงยางอนามัยจะ “ไม่สนุกเหมือนสด” “ไม่มัน” 5.ปกติก็ไม่ได้ใส่ถุงยางอนามัยอยู่แล้ว วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยมองว่าการใช้ถุงยางอนามัยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการท้องมากกว่าจะป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่รักษาได้แม้ใช้เวลานาน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"