ทึ่ง! ม.ขอนแก่นผลิตขาเทียมให้ม้าแคระพิการ อดีตแชมป์ม้าหล่อระดับโลกกลับมาวิ่งได้อีกครั้ง


เพิ่มเพื่อน    

ม.ขอนแก่น ผลิตขาเทียมสำหรับม้าชิ้นแรกของประเทศ เพื่อให้ม้าที่พิการสามารถกลับมาเดินและวิ่งได้ตามปกติอีกครั้ง พร้อมเตรียมต่อยอดทำวิลแชร์และขาเทียมสัตว์ชนิดอื่นๆ

30 ม.ค.63 - ที่คลินิกสัตว์ใหญ่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) พร้อมด้วย ผศ.สพญ.สุพรรณิกา พุทธชาลี อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ผศ.นพ.พลากร สุรกุลประภา หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รศ.นพ.ณัฐเศรษฐ มนิมนากร หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ พร้อมทีมช่างหน่วยกายอุปกรณ์เสริมและเทียม ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ และคณะอาจารย์นักศึกษาแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น พาผู้สื่อข่าวไปพบกับ "ปู่บอนไซ" ม้าแคระ อายุ 23 ปี อดีตแชมป์ม้าหล่อระดับโลก ปัจจุบันใช้ชีวิตเพียง 3 ขา แต่โชคดีที่ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ได้เดินทางไปทัศนศึกษาที่ จ.สุพรรณบุรี และพบกับปู่บอนไซ ม้าแคระตัวนี้ขึ้น และรับมาดูแลพร้อมประสานทางคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ทำขาเทียมม้าชิ้นแรกของประเทศไทยให้กับม้าแคระตัวนี้ได้ใช้แทนขาที่เสียไป จนสามารถเดินและวิ่งได้สะดวกขึ้น โดยมีคณะอาจารย์และนักศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ดูแลอย่างใกล้ชิด

ผศ.สพญ.สุพรรณิกา พุทธชาลี อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มข. กล่าวว่า ปู่บอนไซ เคยอาศัยอยู่ที่ฟาร์มแห่งหนึ่ง ในจ.สุพรรณบุรี แต่เกิดอุบัติเหตุขึ้นเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องทำการรักษาด้วยการตัดขา และใช้ชีวิต 3 ขามาตั้งแต่หลังผ่าตัด และด้วยที่ปู่บอนไซมีแค่ 3 ขา ทำให้ขาหลังซึ่งมีขาเดียวรับน้ำหนักจำนวนมาก จนเกิดการผิดรูปที่ขาหลังด้านขวา

"คณะอาจารย์และนักศึกษาของคณะ สัตวแพทยศาสตร์ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ จ.สุพรรณบุรี และบังเอิญพบกับปู่บอนไซซึ่งมี 3 ขา จึงได้สอบถามเจ้าของจนทราบเรื่องราวว่าเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขึ้นจนต้องตัดขา และใช้ชีวิตด้วยขาทั้ง 3 ข้าง จนนานไปขาขวาด้านหลังต้องรับน้ำหนักจนผิดรูป และอักเสบสร้างความเจ็บปวดจนปู่บอนไซไม่เดินอีกเลย จึงได้ปรึกษากับเจ้าของ เพื่อขอให้พาไปดูแลที่ขอนแก่น เนื่องจากสงสารที่ปู่บอนไซต้องใช้ชีวิตด้วยความเจ็บปวด จากนั้นจึงได้ปรึกษากับทางคุณหมอคณะแพทยศาสตร์ ลองทำขาเทียมให้กับปู่บอนไซ จนสำเร็จโดยฝีมือของทีมช่างหน่วยกายอุปกรณ์เสริมและเทียม ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์"

ผศ.สพญ.สุพรรณิกา กล่าวต่ออีกว่า ครั้งแรกที่สวมใส่ให้กับปู่บอนไซนั้น ปู่บอนไซเตะขาไม่ยอมใส่ และวันที่ 2 ได้ลองสวมใส่ให้กับปู่บอนไซอีกครั้ง ซึ่งปู่บอนไซได้ยอมใส่แต่ยังไม่กล้าเดิน และวันที่ 3 ปู่บอนไซเริ่มเดิน และวิ่งตามลำดับ ปรากฏว่าเป็นขาเทียมม้าชิ้นแรกที่ประสบผลสำเร็จช่วยให้ปู่บอนไซมีขาที่ 4 ใช้ชีวิตตามปกติแล้ว แต่บางครั้งถ้าปู่บอนไซยืนกินหญ้านานๆก็จะเผลอลืมตัวคิดว่าตัวเองมี 3 ขาอยู่ ก็จะปล่อยขาซ้ายที่พิการ ทางผู้ดูแลจึงต้องคอยช่วยในช่วงแรกให้ปู่บอนไซจดจำได้ว่ามีขาเทียมมาใส่ให้ และในส่วนขาขวาด้านหลังที่ผิดรูปนั้น ทางคณะฯก็จะดูแลรักษาตามขั้นตอนจนสามารถกลับมาให้เป็นปกติให้ได้มากที่สุดต่อไป

ขณะที่ รศ.นพ.ณัฐเศรษฐ มนิมนากร หัวหน้าภาควิชา เวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มข. กล่าวว่า ปกติแล้วคณะแพทยศาสตร์ ได้จัดทำขาเทียมให้กับผู้ป่วยอยู่แล้ว จึงได้ให้ทีมช่างลงพื้นที่มาวัดขนาด สัดส่วนต่างๆเพื่อทำขาเทียมม้าชิ้นแรกขึ้น กระทั่งผ่านกระบวนการผลิตและหลอมออกมาให้ม้าได้สวมใส่ปรากฏว่า ม้าปรับตัวได้เร็วจนสามารถเดินได้ด้วยขาเทียม และในอนาคตทางทีมช่างก็จะได้พัฒนาขาเทียมของม้าแคระตัวนี้ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานและไหลลื่นเป็นปกติมากที่สุด นอกจากนี้ทางคณะแพทย์เองก็จะได้มีการต่อยอดด้วยการทำวีลแชร์ให้กับสัตว์ชนิดต่างๆได้ใช้ในการดำรงชีวิต และขาเทียมสำหรับสัตว์ใหญ่ชนิดอื่นๆต่อไปด้วย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"