นักวิจัยเพชรบุรีระดมพลังช่วยเด็กไทย 'พลัดถิ่น' ลงพื้นที่เมืองตะนาวศรีเก็บข้อมูล-บริจาคของ


เพิ่มเพื่อน    

ระดมพลังช่วยเด็กไทยในพม่า นักเรียนนับร้อยต้องการอ่าน-เขียนไทยคงอัตลักษณ์แผ่นดินแม่หลังกลายเป็นคน "พลัดถิ่น" ในดินแดนหม่อง กลุ่มนักวิจัยเพชรบุรีลงพื้นที่ศึกษาเส้นทางการค้าโบราณ

3 ก.พ.63 - ดร.เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล เลขานุการศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์นี้ คณะของศูนย์วิจัยฯจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากคนไทยในเมืองตะนาวศรี ภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า โดยนอกจากเก็บข้อมูลแล้ว ได้เตรียมข้าวของสำหรับบริจาค เช่น รองเท้านักเรียน แบบเรียนและอุปกรณ์เครื่องเขียน เพื่อมอบให้เด็กที่เรียนภาษาไทย ที่วัดสิงของและทุ่งทองหลาง โดยมีเด็กกว่า 150 คน ซึ่งเป็นเด็กไทยพลัดถิ่นซึ่งพูดภาษาไทยได้ชัดเจนเนื่องจากมีพ่อแม่เป็นคนไทย แต่เขียนอ่านภาษาไทยได้น้อยเพราะในโรงเรียนสอนแต่ภาษาพม่า แต่เด็กเหล่านี้คือคนไทยแต่ต้องติดแผ่นดินเพราะการเสียดินแดนสยามในอดีต

“ความต้องการของคนไทยพลัดถิ่นคือ พวกเขาต้องการอ่านและเขียนภาษาไทยให้ได้เหมือนแผ่นดินแม่ ผู้ปกครองต่างต้องการปลูกฝังลูกหลานให้ใช้ภาษาไทยได้คล่องแคล่ว ครูอาสาบางคนยอมเสียสละบ้านตัวเองเพื่อเป็นที่เรียนที่สอนให้กับเด็กๆ ซึ่งนับวันหาที่เรียนยากเต็มที แม้แต่วัดไทยที่เคยสอนเด็กๆเหล่านี้ ช่วงหลังก็แทบหาพระไทยยากและมีพระพม่าเข้ามาแทน

โชคดีที่เรามีอาสาสมัครสอนหนังสือให้ตลอดทั้งๆที่ไม่มีงบประมาณสนับสนุน จริงๆแล้วคนไทยที่อยู่ฝั่งนี้สามารถสนับสนุนได้ทุกด้าน แต่ที่ผ่านมายังมีความเข้าผิดคิดว่าเราไปช่วยเด็กพม่า แต่จริงๆแล้วเด็กกลุ่มนี้เป็นคนไทย เราอยากให้อะไรทดแทนบางอย่างที่เขาสูญเสียไป บรรพบุรุษของเขาอยู่ในแผ่นดินไทยมาตลอด เพียงแต่เป็นแผ่นดินที่เสียไปและมีพรมแดนกั้น”ดร.เอื้อมพร กล่าว

นักวิจัยจากสถาบันราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่ากลุ่มนักวิจัยจะไปเก็บข้อมูลในอดีตเชิงประวัติศาสตร์เพื่อทำให้เป็นระบบมากขึ้น ตามนโยบายของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตประธานสภาสถาบันราชภัฏเพชรบุรีเคยวางไว้ โดยต้องการช่วยเหลือเขาในเรื่องการศึกษาและศูนย์วิจัย-มะริด ซึ่งครั้งนี้รศ.ดร.กาญจนา บุญส่ง ประธานศูนย์วิจัยฯได้เดินทางไปด้วย โดยเรามีโครงการศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์การค้าโบราณเชื่อมต่อระหว่างเมืองท่ามะริดกับจังหวัดเพชรบุรี

ดร.เอื้อมพร กล่าวว่า ในอดีตเส้นทางสิงขรไปเมืองมะริดได้ถูกบันทึกให้เป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกมานานกว่า 2,000 ปี ในการเชื่อมต่อระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย โดยไม่ต้องเดินทางอ้อมแหลมมลายู ปัจจุบันหลังจากการเยือนเมียนมาร์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและมีการลงนามสถาปนาเมืองพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับมณฑลตะนาวศรี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ด่านสิงขรได้รับการปรับสถานะเป็นจุดผ่อนปรนพิเศษและมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ทำให้เมืองมะริด ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลตะนาวศรีมีความโดดเด่นในฐานะแหล่งท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนแห่งใหม่ของนักธุรกิจไทย

นักวิชาการจากศูนย์วิจัยสิงขรฯกล่าวว่า เมืองตะนาวศรีมีความสำคัญเป็นเมืองท่าค้าขาย มีกำแพงเมือง-คูเมืองป้องกันและกำลังทหารคุ้มครองเส้นทางข้ามคาบสมุทร และเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญติดต่อกับประเทศในยุโรป ซึ่งทำความเจริญรุ่งเรืองให้แก่กรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช ขณะที่เมืองมะริดในปัจจุบันเป็นเมืองขนาดใหญ่อยู่ห่างจากด่านสิงขรประมาณ 180 กิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเกาะแก่งกว่า 800 เกาะ มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลโดยเป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบที่สำคัญของไทยกว่าร้อยละ 80 ของสัตว์น้ำทะเลในไทยมาจากเมืองมะริด โดยใช้เส้นทางขนส่งผ่านเกาะสองไปยังจังหวัดระนอง และยังแหล่งแปรรูปอาหารทะเลที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร

"การสูญเสียอำนาจทางการเมืองของคนในท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในดินแดนคาบสมุทรแห่งนี้ ส่งผลให้เส้นทางข้ามคาบสมุทรต้องปิดตัวลง จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเข้ายึดเมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 และเกิดวีรกรรมอ่าวมะนาว อันเป็นเหตุการณ์ที่คนไทยลุกขึ้นต่อสู้เพื่อรักษาผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้ หลังจากนั้นญี่ปุ่นได้สร้างถนนยุทธศาสตร์ข้ามคาบสมุทรช่องสิงขรจากฝั่งอ่าวไทย ที่เมืองประจวบคีรีขันธ์ไปยังฝั่งทะเลอันดามันที่เมืองมะริด ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เส้นทางข้ามคาบสมุทรนี้ก็ปิดตัวลงอีกตลอดมาจนถึงปัจจุบัน”ดร.เอื้อมพร กล่าว
   
อาจารย์จากสถาบันราชภัฏเพชรบุรี กล่าวอีกว่า คนไทยพลัดถิ่นในสิงขร-ตะนาวศรี-มะริด เป็นคนพลัดถิ่นแบบใหม่ซึ่ง “อยู่กับที่” ถึงแม้จะไม่มีการอพยพข้ามพรมแดน แต่ผลของการปักปันเขตแดนระหว่างอาณานิคมอังกฤษในพม่ากับราชอาณาจักรสยามในปี พ.ศ. 2411 ทำให้ชุมชนชาวสยามในสิงขร-ตะนาวศรี-มะริดเปลี่ยนสถานะจากคนท้องถิ่นกลายเป็น “คนพลัดถิ่น” ต้องเจ็บปวดในการปรับตัวกับสถานะใหม่ใน “บ้าน” ที่กลายเป็นดินแดนของคนอื่น และรัฐบาลเจ้าของดินแดนได้เข้ามาควบคุม คุกคาม และกดขี่ชุมชนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้ ทำให้ไทยพลัดถิ่นบางกลุ่ม “เลือกที่จะหนี” บางกลุ่ม “เลือกที่จะอยู่” การเลือกที่จะอยู่เมื่อเจ้าของดินแดนไม่ไว้วางใจ จำเป็นต้องสร้างยุทธศาสตร์การดำรงชีวิตที่หลากหลายเพื่อการอยู่รอด โดยที่ยังธำรงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยเอาไว้ได้มาจนถึงทุกวันนี้

หมายเหตุ-ร่วมสมทบบริจาคได้ที่ศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โทร 080-2650881 หรือเลขบัญชีธนาคารออมสิน  020303746380


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"