เหตุที่ต้องเป็น “ธรรมะวันอาทิตย์”


เพิ่มเพื่อน    

(1)

คอลัมน์ “ทรรศนะ”ช่วงหลังๆนี้...อาจหนักไปทางคอลัมน์ “ธรรมะวันอาทิตย์” หรือ “ธรรมาสน์วันหยุดสุดสัปดาห์”อะไรทำนองนั้นอยู่บ้าง ก็คงเพราะมุ่งที่จะเจริญรอยตาม “พระแท้ๆ”อย่างพระอาจารย์ “อ.อารยวังโส”ซึ่งท่าน “เจริญพร”อยู่ประจำหน้าสอง “ไทยโพสต์”ในคอลัมน์ “ปักธงธรรม”ทุกวันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์นั่นแหละทั่น...

(2)

อย่างที่พระอาจารย์ท่านชี้แจงแถลงไขไว้เมื่อวันศุกร์ที่แล้วประมาณว่า... “หลายๆท่านสงสัยว่า เดี๋ยวนี้ทำไมไม่เขียนวิพากษ์การเมือง สังคมบ้าง แบบเมื่อก่อน” แล้วท่านได้ให้เหตุผลเพื่อให้คลายความสงสัยเอาไว้ว่า “ในสถานการณ์ของสังคมที่เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ คอลัมน์ปักธงธรรมไม่ควรเคลื่อนไหวไปตามกระแสของสังคม ควรนำเสนอเรื่องราวของศาสนา การให้หลักธรรมเพื่อการเจริญสติปัญญา การได้รับทราบการประกอบศาสนกิจ เพื่อบำรุงศรัทธาจะได้มีกำลังใจที่จะก้าวเดินผ่านคลื่นกระแสสังคมที่ร้อนแรงไปด้วย...อสารธรรม...ที่ผุดปรากฏยิ่งกว่าดอกเห็ดในฤดูฝน ด้วยอิทธิฤทธิ์ของเทคโนโลยีระบบไอที...จึงไม่ต้องการซ้ำเติมสังคมให้เหนื่อยหนักย่ำแย่ไปกว่านี้...เลี่ยงมาเขียนเรื่องราวในเส้นทางศาสนาที่อาตมาได้กระทำหรือพบเห็นเชิงประจักษ์จะดีกว่า...”

(3)

นี่...ในเมื่อ “พระแท้ๆ”ท่านว่าเอาไว้ยังงี้ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระแต่ถนัดในการเอา “พระนำหน้า”มาโดยตลอด อย่างอันตัวข้าพเจ้าเอง เลยคงต้องขอ “เจริญรอยตาม” อย่างมิอาจปฏิเสธด้วยประการละฉะนี้ เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว...เรื่องของ “ธรรมะ”หรือ “ศาสนา”นั้น ย่อมต้องถือเป็นเรื่องที่ “ครอบคลุม”ไปในทุกๆเรื่องนั่นแหละทั่น ถ้าหากจะถือเป็น “ศาสตร์”ชนิดหนึ่ง ก็ต้องเรียกว่า...เป็นศาสตร์ที่รวมเอาเรื่องรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ หรือแม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ ฯลฯเอาไว้ครบหมด เผลอๆ...แถม “กระยาสาทร”เอาไว้อีกด้วยต่างหาก คือเป็นอะไรที่ยิ่งเคี้ยว-ยิ่งมันซ์ซ์ซ์ โดยเฉพาะสำหรับ “ใครก็ตาม” ที่ต้องดิ้นรนกระวนกระวายอยู่กับ “ปมปัญหา”ทั้งหลาย...

(4)

เพียงแต่ว่า...ในยุคหลังๆ จะเป็นด้วยอิทธิพลความคิดของพวกฝรั่ง หรืออิทธิพลของโลกวัตถุ หรือไม่ อย่างไรก็มิอาจทราบได้ ที่มันทำให้เกิดความพยายามแยก “ศาสตร์”ต่างๆ ออกมาเป็นเรื่องราวโดยเฉพาะแบบศาสตร์ใครก็ศาสตร์มัน เหมือนอย่างที่พยายาม “แยกศาสนาออกจากรัฐ”อะไรประมาณนั้น ศาสตร์แต่ละศาสตร์มันจึงไม่เพียงแต่โดดเดี่ยว โด่เด่ ตัดขาดออกจากศาสตร์อื่นๆ ทั้งๆที่แต่ละศาสตร์มันต่างมีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง ระหว่างกันและกันไปด้วยกันทั้งนั้น แต่ยังถึงขั้นพยายามตัดขาดศาสตร์นั้นๆ ออกจะ “ธรรมะ”หรือ “ศาสนา” อันเป็นสิ่งที่ “ครอบคลุม”ไปถึงทุกๆสรรพสิ่งในโลก หรือทั่วทั้ง จักรวาลซะด้วยซ้ำ...

(5)

ศาสตร์แต่ละศาสตร์มันเลยไม่สามารถแก้ “ปมปัญหา”ในแต่ละเรื่อง แต่ละราว ได้แบบเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด แบบครบถ้วน สมบูรณ์ไปด้วยกันทั้งหมด หรือกลายเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งๆ เพื่อสร้าง “ปมปัญหาใหม่ๆ”ให้ต้องหาทางตามไปแก้กันอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือกระทั่งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ฯลฯ ก็ตาม ถ้าปราศจากการนำเอา “ศาสนศาสตร์”เข้าผนวกรวมด้วยแล้ว ล้วนแล้วแต่กลายเป็นการแก้ปัญหาเพื่อสร้างปัญหาใหม่ๆไปด้วยกันทั้งสิ้น ชนิดไม่ว่า “ทุนนิยม”หรือ “สังคมนิยม”ก็แล้วแต่ ถ้าหากไม่คิดจะนำเอาเรื่องธรรมะ หรือศาสนา เข้าไปผนวกรวมเป็นจุดหมาย ปลายทางด้วยแล้ว ล้วนแล้วแต่ต้องเจอกับ “ทางตัน”ซะทุกทีไป ส่งผลให้ไม่ว่าจะเป็น “ประชาธิปไตย”หรือ “คอมมิวนิสต์”ต่างออกอาการ “ไปไม่เป็น”อยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้...

                                                                                        (6)

แม้แต่ “เศรษฐศาสตร์”ที่ถือเป็น “เครื่องมือพื้นฐาน”ในการแก้ปัญหาระดับปัจจัย 4 ของผู้คนไปตามแนวคิด ทฤษฏี ของสำนักไหนต่อสำนักไหนก็เถอะ สุดท้าย...ไม่ว่าจะมี “นักเศรษฐศาสตร์โนเบิล ไพรซ์”โผล่ขึ้นมาในโลกนี้ ไม่รู้กี่รายต่อกี่รายก็ตามแต่ “ทุนนิยม”ก็ยังหนีไม่พ้นต้องหายใจผงาบๆ ทำท่าว่ากำลังใกล้ตายในอีกไม่นาน-ไม่ช้า หลังจาก“สังคมนิยม”ได้ถูกฌาปนกิจไปเรียบโร้ยย์ย์ย์แล้วก่อนหน้านี้ ส่งผลให้เริ่มมีความพยายามนำเอา “ธรรมะ”หรือ “ศาสนา”เข้าไปเกี่ยวข้องกับศาสตร์ประเภทนี้กันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเรียกขานกันในนามเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทุนนิยมที่มีจิตวิญญาณ หรือสังคมนิยมตามแนวทาง “เทววิทยาแห่งการปลดปล่อย”ฯลฯ เป็นต้น...

(7)

ไม่ต่างไปจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั่นแหละ...ไม่ว่ามันจะไปไกล ไปเร็ว ไปแรง ขนาดไหน แต่อย่างที่ “ท่านพุทธทาสภิกขุ”ท่านสรุปเอาไว้แบบดื้อๆทื่อๆ และสั้นๆง่ายๆประมาณว่า...ต่อให้ไปเหยียบดวงจันทร์ ดาวอังคารได้หมด แต่สุดท้ายมันแทบไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา “ความทุกข์”ใดๆได้เลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำอาจยิ่งเป็นตัวเพิ่มความทุกข์ให้หนักหนา สาหัส หรือให้ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ยิ่งขึ้นไปใหญ่ มีแต่ต้องเอา “ศาสนา”หรือ “ธรรมะ”เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น มันถึงจะช่วยให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ถือเป็น “องค์ความรู้ด้านวัตถุ” สามารถก้าวเดินไปแบบสอดคล้อง รองรับ กับ “องค์ความรู้ด้านจิตใจ”ได้แบบ “ลงตัว”กันจริงๆ การหยิบเอาเรื่องธรรมะ หรือศาสนามาพูดให้เยอะๆเข้าไว้ จึงอาจถือเป็น “ภาระหน้าที่แห่งยุคสมัย”เอาเลยถึงขั้นนั้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"