"เจาะลึกเศรษฐกิจไทยปีนี้"


เพิ่มเพื่อน    

 

ใครที่ตามข่าวเศรษฐกิจปีนี้ คงรู้สึกทันทีว่า ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ค่อยดี เป็นความเห็นที่ออกมาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจที่มองคล้าย ๆ กันว่าเศรษฐกิจปีนี้จะแย่ เพราะมีปัจจัยลบมากมายเข้ามากระทบ สำหรับคนส่วนใหญ่คำถามที่มีอยู่ในใจคือ เศรษฐกิจทำไมถึงแย่ และจะแย่แค่ไหน และรัฐบาลจะมีมาตรการหรือทางออกอะไรหรือไม่ที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น อย่างน้อยก็ผ่อนหนักให้เป็นเบา

ผมเองมีโอกาสได้แสดงความเห็นเรื่องเศรษฐกิจปีนี้หลายครั้งตั้งแต่ต้นปี วันนี้จึงอยากจะช่วยตอบคำถามนี้ โดยจะเจาะลึกเศรษฐกิจปีนี้ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นและภาคธุรกิจและประชาชนควรรับมืออย่างไร เตรียมตัวอย่างไร เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา

ปีนี้เศรษฐกิจประเทศเรามีปัจจัยลบเข้ามากระทบมาก ทั้งปัจจัยที่มาจากภายนอกคือ เศรษฐกิจโลกและปัจจัยที่มาจากภายในประเทศเอง ซึ่งทั้งหมดจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้ลดลง ต่ำกว่าปีที่แล้ว และที่พูดกันมากขณะนี้คือ ปัจจัยลบสี่ปัจจัยที่จะกระทบเศรษฐกิจปีนี้ ได้แก่ หนึ่ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก  สอง การระบาดของไข้หวัดอู๋ฮั่นที่กำลังเป็นวิกฤติทั่วโลก สาม ภาวะภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงที่จะกระทบการผลิตในภาคเกษตร และ สี่ คือ ความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี สองปัจจัยแรกเป็นปัจจัยต่างประเทศที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา สองปัจจัยหลังเป็นปัจจัยภายในประเทศที่มีทั้งที่ควบคุมได้คือ ความล่าช้าของงบประมาณ และควบคุมไม่ได้คือ ภาวะภัยแล้ง ทั้งสี่ปัจจัยประดังเข้ามาปีนี้พร้อมกัน เหมือนเป็นมรสุมใหญ่ที่เข้ามากระทบเศรษฐกิจ ที่จะสร้างผลกระทบมากทั้งต่อการผลิต รายได้ และการใช้จ่ายของคนในประเทศ

ประเด็นแรกที่ต้องตระหนักคือ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยปัจจุบันเป็นโครงสร้างที่พึ่งพาภาคต่างประเทศมาก หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในต่างประเทศจะกระทบเศรษฐกิจไทยมากและเป็นสิ่งที่เศรษฐกิจไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ผ่านตัวเชื่อมสองตัว ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยขณะนี้คือ การส่งออกและการท่องเที่ยว การส่งออกมีสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 65 ของการผลิตมวลรวมของประเทศ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยคนไทยด้วยกันเอง และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ มีสัดส่วนระหว่าง 9 ถึง 17 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตมวลรวม หมายความว่า ถ้าการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นอะไรไป ผลต่อเศรษฐกิจจะมีมาก

ปีนี้ สำหรับการส่งออกและการท่องเที่ยว แนวโน้มทั้งสองเรื่องดูไม่ดี ปีนี้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราลดลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเป็นขาลง โดยร้อยละ 80 ของเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังชะลอลงอย่างพร้อมเพรียงกัน สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ที่มีผลให้ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจโลกล้วนขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง นอกจากนี้ภาคเอกชนก็มีความไม่แน่นอนมากกับอนาคตของระเบียบการค้าโลกว่าจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร จากผลของสงครามการค้าและมาตรการกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้น เป็นความไม่มั่นใจเกี่ยวกับนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศในอนาคต ทำให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน ไม่ขยายกิจการ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกยิ่งชะลอมากขึ้น เกิดขึ้นทั้งในสหรัฐ จีน เอเชีย และยุโรป จนปัจจุบันกว่าร้อยละ 80 ของเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงอย่างที่กล่าว

ปีนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะมีต่อเนื่อง กระทบความต้องการสินค้าไทยในต่างประเทศ ปีที่แล้วเศรษฐกิจโลกขยายตัวเพียงร้อยละ 2.3 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมากตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 ถ้าปีนี้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าปีที่แล้ว ก็จะมีผลโดยตรงต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกของเราปีนี้จะขยายตัวลดลงจากปีที่แล้ว ปีที่แล้วการส่งออกของไทยขยายตัวติดลบ ทำให้ปีนี้การส่งออกของไทยก็อาจติดลบอีกปี คือ ไม่ขยายตัว ซึ่งหมายถึงการลดลงของรายได้จากการส่งออก กระทบความสามารถในการสร้างรายได้ และการเติบโตของเศรษฐกิจ

สำหรับภาคการท่องเที่ยว แนวโน้มก็คงชะลอตัวเช่นกัน ทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะทำให้ความต้องการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง แต่ที่สำคัญคือ ผลกระทบจากการระบาดของไข้หวัดอู๋ฮั่นที่จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนเข้าเมืองไทยลดลงมาก กระทบรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะกว่าร้อยละ 28 ของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาเที่ยวเมืองไทยเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนคือประมาณ 11.1 ล้านคนปีที่แล้ว สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยกว่า 5.5 แสนล้านบาท การลดลงของนักท่องเที่ยวจีนจะกระทบรายได้จากการท่องเที่ยวมาก และเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเพราะการระบาดของไข้หวัดอู๋ฮั่นและจากนโยบายของทางการจีนที่ห้ามชาวจีนเดินทางต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อไวรัสไปนอกประเทศ

แต่นอกจากผลที่มีต่อการท่องเที่ยว การแพร่ระบาดของไข้หวัดอู๋ฮั่นจะทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงมาก จากผลที่การระบาดของไข้หวัดจะมีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีน การท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และการผลิต มีการประเมินว่า ปีนี้เศรษฐกิจจีนจะถูก

กระทบมากจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดอู๋ฮั่น ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนปีนี้อาจลดต่ำกว่าร้อยละ 5 จากอัตราประมาณร้อยละ 6 ปีที่แล้ว ที่สำคัญเนื่องจากจีนเป็นเศรษฐกิจใหญ่ และเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของทุกประเทศในเอเชีย การขยายตัวที่ลดลงของจีนจะส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจภูมิภาค ผ่านการเชื่อมต่อของเศรษฐกิจ การลงทุน และห่วงโซ่การผลิตที่จีนนำเข้าสินค้าขั้นกลาง และสินค้าวัตถุดิบจากเกือบทุกประเทศในเอเชีย ผลคือ เศรษฐกิจเอเชียจะถูกกระทบมากจากการชะลอตัวของจีน ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียจะชะลอลงตามรวมถึงไทย

นี่คือภาพคร่าว ๆ จากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกขณะนี้ และผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทย

ในทุกครั้งที่เศรษฐกิจถูกกระทบจากปัจจัยภายนอก แรงกระทบจากปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจจะมากหรือน้อย จะขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศที่จะรองรับแรงกระทบดังกล่าวได้แก่ ความเข้มแข็งของปัจจัยภายในประเทศที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเข้มแข็งของนโยบายภายในประเทศที่จะออกมาเสริม สร้างความเข้มแข็งและกระตุ้นให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวท่ามกลางความอ่อนแอของปัจจัยต่างประเทศ นี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อให้การขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศสามารถไปต่อได้ ท่ามกลางปัจจัยลบจากภายนอก

แต่สำหรับเศรษฐกิจไทยปีนี้ สิ่งเหล่านี้อาจไม่เกิดขึ้นเพราะเศรษฐกิจภายในประเทศขณะนี้อ่อนแอมาก และไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจสามารถปรับตัวต่อผลกระทบจากปัจจัยภายนอก กล่าวคือ เศรษฐกิจภายในประเทศปัจจุบันค่อนข้างอ่อนแอ เครื่องยนตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากปัจจัยภายในประเทศทั้งสามตัว คือ การบริโภคของภาคเอกชน การลงทุนของภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐดูอ่อนแรง และไม่มีพลังที่จะขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจ

การใช้จ่ายของภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงภาคครัวเรือน มีแนวโน้มที่จะไม่ขยายตัวหรือขยายตัวในอัตราที่ต่ำปีนี้ จากความอ่อนแอของกำลังซื้อของคนในประเทศที่โยงกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำ และระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง ทำให้สถาบันการเงินจะไม่ขยายสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับภาคครัวเรือนจากความห่วงใยกับปัญหาหนี้เสีย ที่สำคัญปีนี้ภาวะภัยแล้งจะทำให้การผลิตในภาคเกษตรตกต่ำลง กระทบรายได้ของภาคครัวเรือนและอำนาจซื้อของคนในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลคือ การขยายตัวของการใช้จ่ายด้านบริโภคของประชาชนปีนี้จะอ่อนแอ และไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนการส่งออกหรือการท่องเที่ยว

ในส่วนของการลงทุนของภาคเอกชน ปัญหาก็เป็นในลักษณะเดียวกันคือ การลงทุนของภาคเอกชนไม่ขยายตัว อัตราการลงทุนของภาคธุรกิจต่ำมาก เป็นเรื่องที่สะสมมาต่อเนื่องในช่วงห้าปีที่ผ่านมาที่ภาคธุรกิจไม่ลงทุน แม้ระบบเศรษฐกิจจะมีสภาพคล่องมากและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ แต่ภาคธุรกิจเลือกที่จะไม่ลงทุนหรือไปลงทุนในต่างประเทศแทน ขณะที่การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศก็ไม่ขยายตัว สิ่งเหล่านี้ชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจและการเมืองรวมถึงทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจในประเทศที่จะลงทุนเพื่อขยายการผลิต เป็นความอ่อนแอที่มีมาต่อเนื่องช่วงห้าปีที่ผ่านมา และได้สร้างผลกระทบสำคัญต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศตามมาอย่างน้อยสองเรื่อง

หนึ่ง เมื่อภาคธุรกิจไม่ลงทุน ประเทศก็ไม่มีนวัตกรรม ไม่มีการปรับปรุงด้านเทคโนโลยี และไม่มีฐานการผลิต หรือสินค้าใหม่ที่จะเป็นฐานส่งออกเพื่อหารายได้ให้กับประเทศ ทำให้ประเทศไม่มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม และไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ เพราะสินค้าส่งออกเดิมนับวันต้นทุนการผลิตจะแพงขึ้นจากค่าแรงในประเทศที่สูงขึ้น ทำให้ประเทศไม่สามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ ผลคือศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้เสื่อมถอยลงเปรียบเทียบกับประเทศอื่น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย

สอง การไม่ลงทุนทำให้ประเทศมีเงินออมมาก ซึ่งก็คือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องในช่วงห้าปีที่ผ่านมา เฉพาะช่วงปี 2017-19 การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยสูงถึง 179 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 5.4 ล้านล้านบาท นี่คือปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ตรงกันข้ามถ้าเงินจำนวน 5.4 ล้านล้านบาทนี้สามารถนำไปลงทุนเศรษฐกิจก็จะเติบโตมากและประเทศก็จะมีฐานการส่งออกใหม่ ฐานการผลิตใหม่ที่จะนำไปสู่การสร้างรายได้ และการจ้างงานให้กับคนในประเทศ แต่การลงทุนก็ไม่เกิดขึ้นทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในกับดักของการเติบโตในอัตราที่ต่ำต่อเนื่องปีแล้วปีเล่า ไม่สามารถพุ่งทะยานไปสู่เศรษฐกิจที่มีอัตราการขยายตัวที่สูงเหมือนประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคที่ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐลงทุน

สำหรับการใช้จ่ายของภาครัฐที่ควรเป็นทางออกให้กับเศรษฐกิจ ปีนี้ชัดเจนว่าการเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปีล่าช้า เพราะการอนุมัติ พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีปัญหา ทำให้เงินงบประมาณที่ควรเบิกจ่ายได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ปัจจุบันยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ คือ ล่าช้ามาเกือบห้าเดือนแม้ประชาชนและภาคธุรกิจจะเสียภาษีให้กับภาครัฐไปแล้ว ผลคือ รัฐไม่มีเครื่องมือที่จะนำมาใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และในส่วนที่ได้ทำไปแล้วล่วงหน้า เช่น มาตรการชิม ช้อป ใช้ ก็ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเอาเงินจากที่ไหนมากระตุ้นเพราะงบประมาณประจำปียังไม่ผ่าน ขณะที่วิธีการใช้เงินแบบชิม ช้อป ใช้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่า ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนที่หวังผลการเมืองในแง่คะแนนเสียงมากกว่าที่จะใช้เงินภาษีประชาชนแก้ไขปัญหาที่ประเทศมี ณ จุดนี้จึงไม่มีใครบอกได้ว่า เงินงบประมาณประจำปีตาม พรบ.งบประมาณจะสามารถนำมาใช้จ่ายได้เมื่อไร ทำให้แรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากส่วนนี้จะออกมาไม่เต็มไม้เต็มมือ ที่จะเป็นเครื่องมือแก้ไขการชะลอตัวของเศรษฐกิจปีนี้

นี่คือข้อจำกัดทั้งหมดที่เศรษฐกิจไทยมีในปีนี้ ที่ผลกระทบจะมีมากและจะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าผลกระทบจากปัจจัยลบทั้งหมดที่กล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวในอัตราต่ำกว่าที่ได้ประเมินไว้เดิม รวมถึงอัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่ำกว่าขอบล่างของอัตราเงินเฟ้อที่เป็นเป้าหมาย ทำให้คณะกรรมการ กนง. ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเมื่อต้นเดือนนี้อีกร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.0 ต่อปี เพื่อช่วยเศรษฐกิจในการปรับตัวรองรับผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

ประเด็นที่สองที่ต้องตระหนักก็คือ เหตุผลหลักของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดคงไม่ใช่เพื่อใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะอัตราดอกเบี้ยระดับร้อยละ 1.25 ต่อปีก่อนการปรับลดก็ถือว่าต่ำมากอยู่แล้ว และไม่เป็นข้อจำกัดต่อภาคธุรกิจ แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะช่วยในแง่การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ที่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะช่วยให้ต้นทุนชำระหนี้ของผู้ที่มีหนี้ลดลง เป็นการบรรเทาผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่อความสามารถในการชำระหนี้ของทั้งภาคธุรกิจ ครัวเรือน และธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่ลดลงจะเอื้อต่อการชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้

นี่คือเศรษฐกิจไทยปีนี้ ที่แนวโน้มดูแย่จากปัจจัยลบต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบและจากข้อจำกัดที่ประเทศมีในการดำเนินนโยบายที่จะตั้งรับกับปัญหา เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนจะต้องเตรียมตัวรับมือกับความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ให้เราสามารถที่ก้าวข้ามภาวะความตกต่ำของเศรษฐกิจปีนี้ไปให้ได้พร้อมกัน ซึ่งสิ่งที่เราควรจะต้องให้ความสำคัญร่วมกันคงมีสามเรื่อง

หนึ่ง สถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ต้องให้ความสำคัญกับสัญญาณดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. และควรตามสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง. อย่างทันที และพร้อมเพรียงกัน โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อให้เศรษฐกิจได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงอย่างเต็มที่ ขณะที่ทางการต้องดูแลให้ระบบการเงินมีสภาพคล่องเพียงพอเพื่อการกู้ยืมของผู้ที่ต้องการสินเชื่อและทำให้ผู้ที่ต้องการสภาพคล่องสามารถเข้าถึงสภาพคล่องในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงได้อย่างทั่วถึง เพื่อลดปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี และภาคครัวเรือน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น ซึ่งสำคัญมากต่อการรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะการผิดนัดชำระหนี้ ถ้าเกิดขึ้นในวงกว้างจะเป็นสัญญาณแรก ๆ ของความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่ประเทศมี เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงและไม่ควรทำให้เกิดขึ้น

สอง นโยบายการเงินอย่างเดียวคงช่วยเศรษฐกิจไม่ได้ แต่นโยบายการคลังคือ การใช้จ่ายและการเก็บภาษีของภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน เพราะนโยบายการคลังคือ มาตรการอีกด้านของนโยบายเศรษฐกิจ ที่ต้องทำคู่ขนานไปกับนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นและช่วยเศรษฐกิจในการปรับตัว ดำเนินนโยบายให้ไปในทิศทางเดียวกัน ที่ผ่านมา นโยบายการคลังทำน้อยมาก และมีปัญหามากอย่างที่กล่าว ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีออกมาก็ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นที่ยอมรับ และไม่สามารถหวังผลการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ด้วยเหตุนี้วิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนี้ไปจะต้องเปลี่ยนเพื่อสร้างความมั่นใจว่า รัฐบาลเข้าใจในสิ่งที่ต้องทำและยังสามารถคุมเกมส์เศรษฐกิจได้ เพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลายไปสู่การขาดความมั่นใจของภาคธุรกิจและประชาชนในความสามารถของภาครัฐที่จะบริหารประเทศ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นปัญหาใหญ่มากจะตามมา

สาม ธุรกิจขนาดใหญ่จะต้องเป็นผู้นำในการปรับตัว ต้องออกมามีบทบาทช่วยประคับประคองเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถมีโมเมนตัมได้ต่อไป เช่นดูแลห่วงโซ่การผลิต และห่วงโซ่อุปทานให้สามารถทำธุรกิจได้ต่อไป ให้มีสภาพคล่องเพียงพอแม้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะแย่ลง ให้ความสำคัญกับสภาพการมีงานทำของพนักงานและบริษัทคู่ค้า เพื่อรักษาอำนาจซื้อของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ปีนี้บทบาทของบริษัทใหญ่ในระบบเศรษฐกิจจะสำคัญมาก เพราะบริษัทใหญ่ที่สุด 5 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศ มีสัดส่วนรายรับเท่ากับร้อยละ 85 ของรายรับของภาคธุรกิจทั้งหมด ดังนั้นถ้าบริษัทขนาดใหญ่ไม่ยื่นมือ ส่วนที่เหลือของภาคธุรกิจก็จะมีปัญหามาก ด้วยเหตุนี้การตัดสินใจทำอะไรหรือไม่ทำอะไรของบริษัทใหญ่จะสำคัญต่อโอกาสทางธุรกิจและความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศในปีนี้

นี่คือข้อคิดที่อยากฝากไว้ในบทความ "เขียนให้คิด" เดือนนี้.

                                    ดร.บัณฑิต นิจถาวร
                     ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"