อืด!เคาะ225ล้านผลิตหน้ากากอนามัย


เพิ่มเพื่อน    

 "สมเด็จพระสังฆราช" ประทานเงิน 2 ล้านซื้อหน้ากากอนามัยแจกพระสงฆ์ นายกฯ นำ ครม.สละเงินเดือนตั้งกองทุนสู้ "โควิด-19" ครม.อนุมัติ 1,233 ล้านรับมือระบาด ไฟเขียวอีก 225 ล้านให้ อปท.ผลิตหน้ากากผ้า 50 ล้านชิ้น พาณิชย์คุมเข้มโรงงานผลิตตั้งแต่ 3 มี.ค.ทั้ง 38 ล้านชิ้นต้องส่งเข้าศูนย์ ฟันอาญากักตุน-โก่งราคา จับแล้ว 60 คดี

    เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาลยังคงมีมาตรการเข้มข้นในการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีการตั้งจุดคัดกรอง โดยเฉพาะที่ตึกบัญชาการ 1 ที่ใช้เป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร นำเจลล้างมือและเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ สติกเกอร์ มาให้บริการตรวจวัดไข้ รวมถึงตั้งจุดคัดกรองด้านหลังตึกบัญชาการ 1 รวมถึงหน้าห้องประชุม ครม.ชั้น 5 โดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ รวมถึงสื่อมวลชน ที่จะผ่านเข้าภายในตึกจะต้องผ่านการคัดกรองอย่างละเอียด 
    ก่อนการประชุม ครม. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ประทานเงินเบื้องต้น 2 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อหน้ากากอนามัยแจกจ่ายให้กับพระสงฆ์ยังวัดต่างๆ โดยเฉพาะวัดที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และพยายามขอให้ทำความสะอาดทุกวัน หากวัดไหนมีงบประมาณให้ฉีดพ่นยากำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะวัดถือเป็นแหล่งชุมชนเช่นกัน ถึงแม้ว่าขณะนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาน้อยลง แต่ยังคงมีคนไทยเดินทางไปทำบุญจำนวนมาก
    ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ในที่ประชุม ครม.มีการหารือถึงมาตรการในการจัดหาและดูแลสิ่งจำเป็นให้กับประชาชนสำหรับสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เสนอให้มีการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อให้ ครม.ร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุน แต่ยังไม่อยากกำหนดว่าใครจะต้องให้เงินเท่าไร แต่เบื้องต้น ครม.ควรจะสละเงินเดือน 1 เดือนเข้าสมทบในการจัดตั้งกองทุนด้วย หรือมากกว่านั้นก็ได้แล้วแต่ใครจะบริจาค อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทีมโฆษกรัฐบาลจะร่วมสละเงินเดือนเพื่อนำเงินเข้ากองทุนด้วยเช่นกัน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเงินเดือนของนายกรัฐมนตรีได้รับเดือนละ 125,590 บาท, รองนายกรัฐมนตรี เดือนละ 119,920 บาท, รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เดือนละ 115,740 บาท และรัฐมนตรีช่วยว่าการ เดือนละ 113,560 บาท
    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอของบกลางจำนวน 1,233 ล้านบาท เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในระยะที่ 2 ภายในช่วงระยะเวลา 3 เดือน (มี.ค.- พ.ค.63) แบ่งเป็น 1.การเฝ้าระวัง คัดกรอง ตรวจจับ และติดตามผู้สัมผัส ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ช่องทางเข้า-ออกทุกช่องทาง ทั้งสนามบิน ช่องทางธรรมชาติ ทางเรือ พื้นที่โรงพยาบาลในชุมชน 2.การดูแลรักษา ตรวจวินิจฉัย รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ และ 3.การสื่อสารความเสี่ยง ลดผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการประสานงาน ตัดสินใจ และการบูรณาการทำงานร่วมกัน
    น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ “โครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา”  (โควิด-19) วงเงิน 225 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตหน้ากากผ้า ให้เป็นอีกทางเลือกแทนหน้ากากอนามัย ซึ่งมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะเป็นผู้รับผิดชอบ ให้ประชาชนผู้ผ่านการอบรมจากเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นผู้ผลิตตามมาตรฐานกระทรวง มีเป้าหมายการผลิตหน้ากากผ้า 50 ล้านชิ้น ต้นทุนชิ้นละ 4.50 บาท แจกจ่ายกับประชาชนทั่วไปฟรี 
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หน้ากากอนามัยสีเขียว มีโรงงานผลิตทั่วประเทศ 11 แห่ง กำลังผลิตรวมกันก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 30 ล้านชิ้นต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 1 ล้านชิ้น เพียงพอใช้ในประเทศและสามารถส่งออกได้ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์แล้วโรงงานทั้งหมดได้เร่งกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 36 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน ทำให้เกิดอาการตึงตัว เนื่องจากมีความต้องการใช้มาก จึงได้หารือกับผู้ประกอบการให้เพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 38 ล้านชิ้นต่อเดือน จากการเพิ่มวันผลิตในวันอาทิตย์อีก 1 วัน แต่จะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งเหลือแค่ไต้หวันกับอินโดนีเซียเท่านั้น ทำให้มีต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลจะควบคุมให้ราคามาตรฐานไว้อยู่ที่ 2.50 บาทต่อชิ้น 
อย่างไรก็ตาม หน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ ทางกระทรวงพาณิชย์จะต้องส่งให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อไปจัดสรรให้กับโรงพยาบาลทุกแห่งเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดได้ใช้ก่อน เดิมกระทรวงสาธารณสุขจะได้รับการจัดสรรก่อนจำนวนร้อยละ 30 จากจำนวนที่ผลิตได้ทั้งหมด หรือ 10 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือวันละ 3.5 แสนชิ้น แต่ปรากฏว่าขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนระบุว่ายังขาดแคลนอยู่ จึงได้สั่งการไปใหม่ว่า ให้แต่ละฝ่ายไปหารือกัน เพื่อทบทวนตัวเลขใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น ก่อนที่จะกระจายส่วนที่เหลือไปตามผู้จัดจำหน่ายต่างๆ ให้เร็วที่สุด รวมถึงสมาคมร้านขายยา สายการบิน และประชาชนทั่วไป 
โดยในวันที่ 5 มี.ค.นี้ กรมการค้าภายในจะจัดรถโมบายกระจายไปทั่วประเทศ โดยใน กทม.และปริมณฑล จำนวน 20 คัน จังหวัดอื่นๆ ตามความเหมาะสม เพื่อกระจายหน้ากากให้ได้มากที่สุด โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมียี่ปั๊วไปรับซื้อถึงโรงงานเพื่อเก็งกำไร เพราะกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำอยู่ที่โรงงานผลิตหน้ากากอนามัย โรงงานละ 2 คน เพื่อกำกับดูแล รายงานยอดการผลิต รวมถึงตัวเลขของการกระจายที่ต้องรายงานต่อศูนย์กระจายหน้ากากอนามัยที่มีกรมการค้าภายในกับกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบทุกวัน 
ส่วนมาตรการควบคุมหากพบขายหน้ากากอนามัยแพงกว่าราคาควบคุมนั้น รมว.พาณิชย์กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการผู้กระทำผิดกฎหมายไปแล้ว 60 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีขายเกินราคาในลักษณะแพงเกินสมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนในออนไลน์ พบในลักษณะเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค โดยเป็นมิจฉาชีพโอนเงิน แต่ไม่มีการส่งหน้ากากอนามัยไปให้ เช่นเดียวกับหน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐาน ถือว่าเข้าข่ายหลอกลวง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และทางจังหวัดได้เข้าไปช่วยสอดส่องดูแลแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ขายแพงเกินสมควร ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามดำเนินคดีย้อนหลังด้วย ขณะเดียวกันยังได้สั่งเจ้าของแพลตฟอร์มในช่องทางออนไลน์ต่างๆ ถ้ายังปล่อยให้มีการทำผิดหลอกลวงหรือขายเกินต้องแจ้งความด้วยเช่นกัน 
    นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมวอร์รูมหน้ากากอนามัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนว่า นับจากวันที่ 3 มี.ค.นี้เป็นต้นไป หน้ากากอนามัยทุกชิ้นที่โรงงานผลิตได้ จะนำเข้าสู่ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยของกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันจะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มี รมว.พาณิชย์เป็นประธาน พิจารณาออกประกาศกำหนดให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีหน้ากากอนามัยในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ต้องแจ้งปริมาณการครอบครองต่อกรมการค้าภายใน หากไม่แจ้ง จะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในเรือนจำและทัณฑสถานหญิงสามารถผลิตหน้ากากอนามัยออกมาได้จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย ทัณฑสถานหญิงกลาง, เรือนจำบุรีรัมย์, ชัยนาท, กำแพงเพชร และเชียงใหม่ ซึ่งสามารถสั่งซื้อได้ที่ทัณฑสถานหญิงทั้ง 5 แห่ง ในจำนวนมากได้ในราคาย่อมเยา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"