หว่านหัวละ2พัน ประยุทธ์เดือดโต้ ทำได้แค่แจกเงิน


เพิ่มเพื่อน    

  ครม.เศรษฐกิจเคาะแพ็กเกจเยียวยาโควิด-19 ชุดแรก แจกหัวละ 2 พัน "คนจน-เกษตรกร-อาชีพอิสระ" พร้อมเข็นมาตรการการเงิน-ภาษีช่วยผู้ประกอบการ "บิ๊กตู่" แจงแค่ระยะสั้น 2 เดือน อย่าโจมตีรัฐบาลดีแต่แจกเงิน วอนเห็นใจประชาชนเดือดร้อน 

    ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 มีนาคม เวลา 12.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ซึ่งเห็นชอบชุดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 1 ว่า ขณะนี้กำลังพิจารณากันว่าจะแจกเงินช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กันอย่างไร ซึ่งต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบว่ารายได้เป็นอย่างไร มีกลุ่มใดบ้าง และเงินรายได้นั้นมาจากไหน โดยจะให้เงินช่วยเหลือในระยะเวลา 2 เดือน ถือเป็นการช่วยเหลือชั่วคราว 
    แต่ยังมีอีกหลายประเด็น ทั้งในภาคประชาชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มาตรการทางภาษีและการเงินการคลังต่างๆ ซึ่งจะมีอีกหลายมาตรการที่จะตอบรับตรงนี้ ที่ต้องเตรียมความพร้อมไว้ และต้องแยกแยะให้ออกว่าอะไรคือมาตรการเร่งด่วน และอะไรคือมาตรการชั่วคราว 2 เดือน และบางส่วนก็อยู่ในการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการบริหารภายในกรมกองต่างๆ จะเอามาเสริมในตรงนี้ และนี่เป็นเพียงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีมาตรการรองรับอีกอย่างหนึ่งคือ ในเรื่องของภัยแล้ง ว่าอะไรที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ต้องพิจารณาโดยรวมทั้งหมด
    นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนมาตรการให้เงินประชาชนนั้น ถ้าดูต่างประเทศก็ทำเช่นนี้ แต่เราคงไม่ทำมากขนาดนั้น สิ่งที่ทำวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ต้องมีการขึ้นบัญชีและมีการขึ้นทะเบียนใหม่ไปถึงประชาชนกลุ่มอื่นๆ ด้วย ซึ่งมีหลายๆ อย่าง ขอให้เข้าใจตรงนี้ด้วย และต้องทำให้ครบถ้วน มากบ้างน้อยบ้างก็ต้องยอมรับ เพราะในช่วง 2 เดือนนี้คือปัญหา ส่วนเรื่องของการท่องเที่ยววันนี้มีข้อมูลมากพอสมควรที่ลดลงไป เราต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการบ้าง ส่วนหนึ่งต้องช่วยเหลือในเรื่องของการจัดการประชุมตามโรงแรมต่างๆ ที่มีรายได้ลดลง ในเรื่องการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมอยู่แล้ว
     "ขอให้แยกแยะให้ออก ถ้าโจมตีทุกเรื่องมันก็ไปกันไม่ได้ ขอให้เข้าใจมาตรการระยะสั้นแค่ 2 เดือนเอง ไม่ใช่แจกไปเรื่อยเปื่อยและไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ดีแต่แจกเงิน ช่วงนี้เราต้องเห็นใจผู้มีรายได้น้อยด้วย เพราะเขาไม่มีรายได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการข้างล่าง ผู้ค้าขายร้านเล็กๆ ที่ขายอาหารต่างๆ กลุ่มพวกนี้เราต้องดูอีกส่วนนอกเหนือจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่าจำนวนของผู้ที่จะได้รับเงินในส่วนนี้กำลังหาข้อมูลกันอยู่ แต่หลายล้านคน 
อย่าโจมตี รบ.ทำงานไม่เป็น
    เมื่อถามว่า เกิน 10 ล้านคนหรือไม่ นายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว โดยระบุว่า "ทั้งหมดเป็นเงินทั้งนั้น วันนี้ประชุมกันตั้งแต่เช้าไม่รู้กี่ชั่วโมง มันไม่ง่ายนักหรอก ไม่ใช่ว่าจะมากล่าวหารัฐบาลทำอะไรไม่เป็นก็แจกเงินทั้งหมด มันเป็นคนละเรื่องเลย ไปถามประชาชนที่เขาเดือดร้อนบ้าง วานนี้ผมก็ได้พบปะประชาชนเกือบทุกกลุ่ม วันนี้มาตรการรวมจึงจะได้ออกมาในตรงนี้ไปก่อน ถ้า 2 เดือนแล้วยังมีปัญหาอีกก็ค่อยว่ากันต่อไปเป็นระยะๆ ขอให้ไว้ใจกันบ้าง นายกฯ พร้อมที่จะนำพาประเทศไทยของเราให้ผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ เหล่านี้ไปให้ได้ ขอยืนยันอย่างแท้จริงว่า ผมและ ครม.ทุกคนพร้อมที่จะนำพาพวกเราให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ไปให้ได้ จึงขอให้ทุกคนช่วยกันร่วมมือกัน เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ประชาชนได้ขอให้สื่อที่ลงพาดหัวร้ายแรง ในอนาคตข้างหน้าลดๆ ลงหน่อย เพราะพออ่านข่าวก็ห่อเหี่ยวไปเหมือนกัน ทำให้คนไม่ซื้อของ ประชาชนพูดผ่านผมมาแบบนี้ ผมไม่ได้พูดเอง ไม่เคยทะเลาะกับสื่อเลย"
    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจทุกด้าน เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทวีความรุนแรงทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แม้จะยังไม่เลวร้ายถึงขึ้นสูงสุด แต่ผลกระทบในขณะนี้ได้ขยายวงกว้างมากขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวของไทย ไปยังภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งภาคการผลิตและบริการ ดังนั้นกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชน ได้ร่วมมือกันอย่างมุ่งมั่น ที่จะออกมาตรการชุดที่ 1 มาดูแลเศรษฐกิจ ออกแล้วไม่ได้จบเลย แต่จะการประเมิน หากมีความจำเป็นจะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาต่อเนื่อง
     "การใช้เงินจะมีการระวัง ครอบคลุมในทุกภาคส่วน ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป มาตรการที่ออกมานี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่จะดำเนินการในช่วง 2 เดือนนี้เท่านั้น" นายสมคิดระบุ
    นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการชุดแรกที่จะออกมานี้ จะช่วยทั้งผู้ประกอบการและประชาชน โดยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมี 2 ด้านคือ มาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านภาษี โดยมาตรการด้านการเงิน จะมี 4 เรื่อง ประกอบด้วย 
    1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินต่างๆ ไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% 2.การปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้สถาบันการเงินพักชำระเงินต้น ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ 3.การปรับโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) และเป็นเอ็นพีแอล โดยจะให้มีการยืดเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย ขยายเวลาการกู้เงินให้เป็นระยะเวลายาวมากขึ้น รวมถึงลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายใหญ่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต ให้ผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่า 10% และ 4.มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสำนักงานประกันสังคม โดยจะให้นายจ้างและลูกจ้างกู้ได้ เพื่อบรรเทาภาระและเป็นเงินทุนเวียน โดยหลังจากนี้สำนักงานประกันสังคมจะกลับไปพิจารณาหลักการดำเนินงาน
    สำหรับมาตรการด้านภาษี ประกอบด้วย 4 เรื่อง ได้แก่ 1.มาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ 2.ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กู้เงินซอฟต์โลน และผู้ประกอบการที่ทำบัญชีเดียว ให้สามารถนำภาระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวมาคำนวณเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 3.ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จ้างงานลูกจ้างต่อโดยไม่ให้ตกงาน ให้นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ในช่วง 1 เม.ย.-31 ก.ค.2563 และมาตรการที่ และ 4.ให้กระทรวงการคลังเร่งดำเนินภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศให้เร็วขึ้น ไม่เกิน 15 วัน สำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และไม่เกิน 45 วันสำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบปกติ
แจกคนละพัน 2 เดือน
     นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ อีก ประกอบด้วย 1.ให้กระทรวงการคลังพิจารณาลดค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนให้กับภาคเอกชนที่เช่าพื้นที่ราชพัสดุ 2.บรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟ โดยเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด 3.ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง 4.เร่งการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ให้รวดเร็วขึ้น และ 5.มาตรการช่วยเหลือตลาดทุน โดยการขยายวงเงินการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) วงเงินพิเศษ จากเดิมอยู่ที่ 2 แสนบาท โดยวงเงินใหม่จะต้องซื้อภายใน มิ.ย.2563 และต้องซื้อกองทุน SSF ที่ลงทุนในหุ้นไม่ต่ำกว่า 65%
     "จะมีมาตรการดูแลประชาชน โดยจะมีการแจกเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และอาชีพอิสระ จำนวน 2,000 บาทต่อราย โดยจะทยอยจ่ายเดือนละ 1,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. และ พ.ค.นี้ ผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยประชาชนที่ได้รับเงินจะได้สามารถกดเงินสดไปใช้จ่าย" รมว.การคลังระบุ
    นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ประกาศผ่อนคลายกฎเกณฑ์ เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนมากขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการยืดระยะเวลาชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ครอบคลุมผลกระทบจากปลายปี 2562 ทั้งลูกหนี้ NPL และลูกหนี้ที่กำลังมีปัญหา จึงกำหนดให้ย้อนหลังถึง 1 ม.ค.2563-31 ธ.ค.2564 เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ธนาคารเจรจาลดชำระหนี้เงินต้นและขยายเวลาชำระดอกเบี้ยให้นานขึ้น 
    นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล เลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาเติบโตได้ต่ำกว่าปกติในหลายด้าน ทั้งเรื่องการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยว การส่งออก โดยปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดส่งผลทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2563 เติบโตต่ำกว่าคาดการณ์พอสมควร และจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปี 2563 ซึ่งเศรษฐกิจไทยในวันนี้มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยในไตรมาสแรกมีผลกระทบจากการเบิกจ่ายที่ล่าช้า ส่งผลให้การเติบโตออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4/2562 ตรงนี้อยากให้ทุกฝ่ายทำใจ เพราะรัฐบาลก็ทำใจแล้วว่าไตรมาส 1/2563 จะไม่ดี แต่หลังจากนี้หวังว่าไตรมาส 2/2563 จะฟื้นตัวได้ จากการใช้จ่ายของรัฐที่กลับมา 
    "ส่วนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตอนนี้ขยายความรุนแรงมากขึ้น จากเดิมคาดว่าจะจบใน 3 เดือน และจะใช้เวลาฟื้นตัวอีก 3 เดือน จากนี้คงต้องมาประเมินใหม่ โดยเบื้องต้นคาดว่าสถานการณ์จะจบได้ภายใน 6 เดือน และจะเริ่มฟื้นตัวได้ในปลายไตรมาส 3/2563 ถึงต้นไตรมาส 4/2563 ซึ่งปัจจัยเสี่ยงได้นี้ได้ส่งผลกระทบต่อตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติให้หายไปแล้วกว่า 50% โดยหากผ่านสถานการณ์ช่วงนี้ไปได้ ค่อยมาพิจารณาถึงมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในช่วงต่อไป" นายกอบศักดิ์กล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"