80ผีน้อยหนีกักโรค! สาธิตขีดเส้น3วันรายงานตัว/143ชีวิตเข้าศูนย์สัตหีบแล้ว


เพิ่มเพื่อน    

 "สธ." เร่งตามหา 80 ผีน้อยหลุดมาตรการกักกัน 14 วัน "รองอธิบดีกรมควบคุมโรค" อ้างเป็นไฟลต์ก่อนที่จะเริ่มมีการคัดกรอง แถม จนท.ยังไม่สามารถชี้แจงมาตรการกักตัว 14 วันให้เข้าใจจนตื่นตระหนก วอนรีบมารายงานตัว ช้าเสี่ยงติดคนในครอบครัว "ทร." เผย 143 คนจากเกาหลีเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังที่สัตหีบแล้ว "บิ๊กตู่" สั่ง กอ.รมน.ช่วยสาธารณสุขพื้นที่ดูแล "สมาคมร้านขายยา" โวยหน้ากากอนามัยกระจายไม่ถึงมือ "โพล" ชี้ ปชช.กังวลการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส

    ความคืบหน้าภายหลังจากแรงงานไทยผิดกฎหมายเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ หรือผีน้อย เมื่อเวลา 01.15-02.30 น. วันที่ 8 มี.ค.2563 รัฐบาลโดยกองทัพเรือ สาธารณสุข และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ และนำทั้งหมดเดินทางโดยรถของกระทรวงคมนาคมจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเข้าสู่พื้นที่กักกันเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 เป็นเวลา 14 วัน ภายในอาคารรับรอง สวัสดิการอาคารรับรอง กองทัพเรือ อ่าวดงตาล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี  
    โดยเมื่อถึงที่สัตหีบ ทั้งหมดเดินแถวเข้าสู่กระบวนการคัดแยก เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจวัดไข้และตรวจสุขภาพ จากนั้นผ่านกระบวนการทำความสะอาดฆ่าเชื้อสัมภาระที่ติดตัวมาทั้งหมดโดยกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ก่อนจะลงทะเบียน และสามารถแยกย้ายเข้าสู่ห้องพักในอาคารที่จัดเตรียมไว้ตึก 3-5 ที่เคยใช้ดูแลผู้กักกันคนไทยกลับบ้านจากอู่ฮั่น โดยการเข้าพักแบ่งเป็น 3 โซน คือ โซนหญิง โซนชาย และโซนครอบครัว ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในความดูแล เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด
    พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกกองทัพเรือ พร้อมด้วย น.อ.ชาญชัย สมบูรณ์ศักดิกุล รอง ผอ.รพ.อาภากรเกียรติวงศ์, นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณาสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 6 และนางอำไพ ศักดานุกูลจิต สไลวินสกี้ ผช.ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี ร่วมให้การต้อนรับกลุ่มแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้ ที่ลงเครื่องจากสุวรรณภูมิ ชุดที่ 1 ในช่วงเช้ามืด จำนวน 60 คน และชุดที่ 2 ในช่วงบ่าย จำนวน 83 คน รวม 143 คน เข้าสู่พื้นที่กักกัน 
    "พื้นที่กักกันของกองทัพเรือสามารถรองรับคนไทยกลับจากเกาหลีใต้จำนวน 400 คน สูงสุด 750 คน ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ทุกคนได้อยู่กันอย่างมีความสุข ตลอดระยะเวลา 14 วัน ไม่เกิดความตึงเครียด พร้อมมีทีมจิตแพทย์คอยให้คำปรึกษา รวมถึงทีมแพทย์ที่ครบครัน คอยให้การดูแลเรื่องสุขภาพ และตรวจเช็กร่างกายในทุกๆ วัน" โฆษกกองทัพเรือกล่าว
    อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่แรงงานไทยผิดกฎหมายดังกล่าวเดินทางไปที่พื้นที่กักกัน ได้มีกระแสข่าวมีผีน้อยหลบหนีจากการกักกันตัวเพื่อเฝ้าระวังโรค 14 วันออกไปจากสนามบินสุวรรณภูมิ ประมาณ 70-80 คน ทำให้เกิดกระแสตื่นตระหนักจากสังคมตลอดทั้งวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
    กระทั่งในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ชี้แจงข่าวผีน้อยหลบหนีจากการกักกันเฝ้าระวังโรค 14 วันว่า เราเริ่มคัดกรองแรงงานนอกระบบกลับจากเกาหลีใต้ไฟลต์แรก เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2562 คือ ไฟลต์ LJ003 มีจำนวน 104 คน โดยวันที่ 7 มี.ค.2563 มีจำนวน 4 ไฟลต์บิน คัดกรองแรงงานนอกระบบกลับจากเกาหลีใต้ได้ประมาณกว่า 500 คน และได้รับความร่วมมือจากทุกคนในการพาไปยังสถานที่เพื่อเฝ้าสังเกตอาการทุกคน 
    "ที่มีข่าวว่าหนีนั้น เข้าใจว่าเป็นไฟลต์ก่อนหน้าที่จะเริ่มมีการคัดกรอง ที่เรายังไม่สามารถชี้แจงมาตรการอย่างเข้าอกเข้าใจได้ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา ซึ่งเราจะติดตามให้ได้ทุกคน เพื่อให้ลงทะเบียนรายงานสุขภาพทุกวัน โดยจะขอให้กักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน แต่หากไม่ปฏิบัติตามก็จะนำตัวมายังสถานที่เฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้ผมยังไม่ถือว่าหลบหนี เพราะยังไม่ได้มีการชี้แจงมาตรการให้เข้าใจ" นพ.ธนรักษ์กล่าว
เร่งหาผีน้อยหลุดกักตัว
    รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มคัดกรองไฟลต์แรก แรงงานนอกระบบกลับจากเกาหลีใต้ให้ความร่วมมือทุกคนในการไปสถานที่เพื่อเฝ้าระวังโรค เพราะเรามีการชี้แจงทำความเข้าใจว่ามาตรการนี้เป็นมาตรการลดความเสี่ยงประเทศไทย และครอบครัวของแรงงานไทยกลับจากเกาหลี เพราะหากกลับมาพร้อมโรค การกลับไปอยู่บ้านกับครอบครัว แล้วมีอาการขึ้นมา หากอยู่ในสถานที่รับไว้สังเกตอาการที่รัฐจัดให้ โอกาสแพร่เชื้อคนอื่นก็แทบเป็นศูนย์ เพราะดูแลอย่างดี แต่ถ้ากลับไปโดยไม่รู้ปฏิบัติตัวอย่างไร แล้วมีอาการขึ้นมา คนเสี่ยงที่สุดคือคนในบ้านจะเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทันที 
    "ถ้ามองว่าเป็นมาตรการที่ทุกคนชนะน่าจะเป็นเรื่องที่ดี เรารับมาสังเกตอาการ ซึ่งยังไม่ป่วย และถ้าป่วยก็จะรู้โดยเร็วส่งไปรักษาได้ทันที โอกาสโรคแพร่ออกจากสถานที่รับไว้สังเกตอาการแทบไม่มีเลย อยากเรียนให้คนไทยที่ออกมาตั้งแง่ไม่อยากให้สถานที่กักกันอยู่ตรงนั้นตรงนี้ได้เข้าใจ ให้ลดการตั้งแง่รังเกียจซึ่งกันและกัน มาเป็นร่วมมือกันดีกว่า ประเทศไทยต้องการสิ่งนี้มากๆ ถึงผ่านวิกฤตินี้ไปได้" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
    นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 วันนี้ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยสะสมจึงยังเท่าเดิม 50 ราย รักษาหายกลับบ้านเพิ่มอีก 2 ราย รวมเป็น 33 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยังรักษาตัวอยู่ใน รพ. 16 ราย จำนวนนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 1 ราย แต่อาการไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลง ยังคงรับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคทั้งหมด 4,366 คน กลับบ้านแล้ว 2,629 คน ยังรักษาตัวใน รพ. 1,737 คน เฉพาะเมื่อวานมีผู้เข้าเกณฑ์มากกว่า 130 คน 
    ถามถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ไทยมีการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 น้อย ทำให้มีรายงานผู้ป่วยน้อย ต่างจากประเทศอื่นที่มีการตรวจคัดกรองจำนวนมาก นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า เราจะเปรียบเทียบกับประเทศที่มีการระบาดแล้วไม่ได้ ซึ่งเมื่อเขามีผู้ป่วยจำนวนมากก็ต้องมีการตรวจจำนวนมาก ส่วนของประเทศไทยนอกจากผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคที่มีการตรวจคัดกรอง ยังมีการตรวจผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วยอีก การมีเคสจำนวนมากก็ต้องมีการตรวจมาก อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเราไม่ได้มีการตรวจน้อยแต่อย่างใด
    รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ในการชะลอการแพร่ระบาดในไทยมี 2 ส่วน คือ 1.การจัดการกับผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ มาตรการเฝ้าระวังคนไทยด้วยกัน เพราะมีอาชีพความเสี่ยงติดโรคได้ ซึ่งเรามีการขยายวงเฝ้าระวังออกไป และพยายามเตรียมสถานพยาบาลให้พร้อมหากแพร่ระบาดในประเทศ รพ.ทุกจังหวัดกำลังเตรียมความพร้อม และ 2.ประชาชนและสังคมต้องเตรียมพร้อมด้วย เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ภาครัฐฝ่ายเดียวที่จะจัดการปัญหานี้ได้ โดยประชาชนทั้งระดับตัวบุคคล ครอบครัว และชุมชนหรือสังคม เตรียมพร้อม รู้วิธีปฏิบัติตัวหรือยังว่าต้องทำอย่างไรถึงป้องกันการติดเชื้อ บริษัทห้างร้านต่างๆ ออกมาตรการที่เหมาะสมแล้วหรือไม่
    "ถ้าร่วมกันคนละไม้คนละมือออกมาตรการต่างๆ ออกมา ส่งเสริมสนับสนุนลดการแพร่โรค พวกเราจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ในสังคมไทยมากขึ้นด้วย หรือส่งข้อความช่วยให้เรารู้ว่าควรทำตัวอย่างไรถึงจะไม่ติดโรค ไม่ทำให้สถานการณ์แย่ลงด้วยการสร้างความตื่นกลัว ตีตรา รังเกียจผู้ป่วยสัมผัสโรค จะทำให้มาตรการที่คิดไว้ดำเนินการไปได้มีประสิทธิภาพ" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
    ถามกรณีอินเดียพบผู้ป่วยหลังเดินทางกลับจากประเทศไทย นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า จากการรายงานพบว่าเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ยังไม่ได้เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ ไทยก็คงยังไม่ต้องมีการสอบสวนโรค
     นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ให้รับผิดชอบการดำเนินการรองรับกลุ่มแรงงานนอกระบบจากประเทศเกาหลีใต้ กล่าวถึงกรณีผีน้อย 80 รายว่า ขอให้แรงงานนอกระบบจากเกาหลีใต้ที่ยังไม่รับการเฝ้าระวังสังเกตอาการในพื้นที่ควบคุมโรคที่รัฐกำหนด ให้เข้ารายงานตัวที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตามภูมิลำเนา ภายใน 3 วัน ไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558
    ขณะที่นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องแรงงานที่กลับจากเกาหลีใต้หลบหนีการกักกันตัว 14 วันว่า ขณะนี้ทางกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการประสานงานร่วมกันเพื่อเร่งติดตามแรงงานทั้งหมดกลับมา 
    "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้สั่งให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่สังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์กันว่ารัฐบาลเอาไม่อยู่ มองว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น รัฐบาลยังสามารถรับกับสถานการณ์ได้ ข้อเท็จจริงได้แบ่งประเภทแรงงานเป็น 2 กลุ่มจาก 2 เมือง ตั้งแต่ที่สนามบินไปส่งที่ อ.สัตหีบแล้ว" นางนฤมลกล่าว
ส่ง กอ.รมน.ช่วย สธ.พื้นที่
    ถามว่าประชาชนตื่นตระหนกหาก 70- 80 คนมีอาการติดโควิด-19 โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า เขายังไม่ได้ป่วย ต้องรอรายงานอย่างเป็นทางการขึ้นมาก่อน   
    น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ได้สั่งการให้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เร่งตรวจสอบรายชื่อข้อมูลผู้ที่เดินทางมาว่าใครหลบหนีไปบ้าง เพื่อนำตัวกลับมากักกันโรค และดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคต่อไป
    ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม พร้อมปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมหารือร่วมกับทุกเหล่าทัพ ที่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อรับทราบสถานการณ์และการสนับสนุน สธ.รับมือกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19  โดยภาพรวมที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมได้จัดกำลังพลสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกระบวนการคัดกรองแรงงานไทยกลุ่มเสี่ยงที่ทยอยเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และนำพาเข้าพื้นที่ควบคุมโรคในพื้นที่กองทัพเรือ
    "รมช.กลาโหมแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้ย้ำและสั่งการ ขอให้ กอ.รมน.จังหวัดเข้าไปสนับสนุนและร่วมเสริมการทำงานของ สธ.ในพื้นที่  ทั้งการร่วมดูแลคัดกรอง ณ สนามบินนานาชาติในพื้นที่ การเคลื่อนย้ายและการดูแลในพื้นที่ควบคุมโรคที่แต่ละจังหวัดจัดตั้งขึ้น ขณะเดียวกัน ขอให้กระทรวงกลาโหมโดยทุกเหล่าทัพ เร่งจัดกำลังพลเพิ่มเติมเข้าไปสนับสนุนการปฏิบัติงานของ สธ. เพื่อเสริมความเข้มแข็งของระบบและมาตรการคัดกรองในทุกสนามบินนานาชาติภายในประเทศ และประสิทธิภาพในการนำทุกกลุ่มเสี่ยงเข้าระบบควบคุมที่รัฐกำหนด" โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายถนอม อ่อนเกตุพล โฆษกศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำทำเนียบรัฐบาล ชี้แจงเรื่องหน้ากากอนามัยขาดแคลนว่า ไทยมี 11 โรงงาน ผลิตหน้ากากได้วันละ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน 36 ล้านชิ้นต่อเดือน คนไทยมีประมาณ 67 ล้านคน เดิมที่ไม่ขาดแคลน เพราะใช้เฉพาะผู้ป่วย คนกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น และยังมีการนำเข้าอีก 20 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่ปัจจุบันจีนผู้ส่งออกไม่ส่งออกแล้ว เหลือที่นำเข้าได้ตอนนี้เพียง 1 ล้านชิ้นต่อเดือนเท่านั้น ทั้งนี้ ล่าสุดกรมการค้าภายในส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปคุมโรงงานผลิตแล้วนำส่งตัวเลขการผลิตให้ศูนย์หน้ากากอนามัยที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข บริหารจัดสรรปันส่วน โดย 700,000 ชิ้นแรก จัดให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกแห่ง ทั้งรัฐ เอกชน และผู้มีหน้าที่ให้เพียงพอ 
    นอกจากนี้ ส่วนที่ 2 จำนวน 500,000 ชิ้น จัดให้บุคลากร องค์กรที่ต้องใช้ควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคให้พอ เช่น สายการบิน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระจายไปภูมิภาค ผ่านร้านธงฟ้า รถธงฟ้า 111 คัน เป็นต้น และถ้าส่วนแรกไม่พอก็ให้นำส่วนของ 500,000 ชิ้น ไปเติมให้ส่วนแรกให้เพียงพอก่อน ทั้งนี้กรมการค้าภายในยอมรับว่าจัดสรรอย่างไรก็ไม่พอต่อความต้องการใช้ เพราะของมีจำกัด นำเข้าก็ไม่ได้
    "ทางแก้อีกทางหนึ่งสำหรับคนที่ไม่ป่วย คือรัฐให้งบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 225 ล้านบาท ไปทำหน้ากากผ้าใช้เองในแต่ละพื้นที่ ทั้ง 7,774 อปท.ทั่วประเทศ จำนวน 50 ล้านชิ้น ให้ผู้ผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ทำหน้ากากผ้าแจกอีก 30 ล้านชิ้น ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำแจกใช้เองอีก 1.3 ล้านชิ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและปัญหาขาดแคลนไปก่อน" โฆษกศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กล่าว
ร้านยาโวยหน้ากากขาด
    วันเดียวกัน สมาคมร้านขายยา ออกแถลงการณ์ระบุว่า ไม่เคยได้รับหน้ากากอนามัยจากกรมการค้าภายในแต่อย่างใด หลังมีการรายงานข่าวว่ากรมการค้าภายในได้จัดสรรหน้ากากอนามัยให้แก่ สมาคมร้านขายยา จำนวนวันละ 25,000 ชิ้น เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชน
    สมาคมร้านขายยาระบุว่า ตามที่มีข่าวปรากฏทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ ว่า กรมการค้าภายในได้จัดสรรหน้ากากอนามัยให้แก่สมาคมร้านขายยา วันละ 2.5 หมื่นชิ้น เพื่อจำหน่ายกับผู้ที่ต้องการนั้น ขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า จนถึงขณะนี้สมาคมฯ ยังไม่ได้เคยได้รับหน้ากากอนามัยจากกรมการค้าภายในเลยแม้แต่น้อย
    "ฉะนั้นเพื่อความยุติธรรม ตลอดจนลดแรงกดดัน และเพื่อให้สมาคมร้านขายยาที่มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ ช่วยลดช่องว่าง ช่วยแบ่งเบาภาระทางราชการในการป้องกันไวรัส COVID-19 สมาคมร้านขายยา ขอเรียกร้องกรมการค้าภายใน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการตามที่ปรากฏเป็นข่าวด้วยจะเป็นพระคุณยิ่ง" สมาคมร้านขายยาระบุ
    ที่ จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น นำคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมอาคารอเนกประสงค์ ภายในพุทธมณฑลอีสาน ริมถนนเลี่ยงเมืองสายขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ต.ศิลา อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น ซึ่งกำหนดเป็นสถานที่พักพิงและควบคุมโรคสำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 
    นายสมศักดิ์กล่าวว่า เมื่อเช้ามีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้ามาขอรับการควบคุมโรคทั้งหมด 8 คน ซึ่งคณะทำงานได้กำหนดมาตรการการป้องกันอย่างสูงสุดและรัดกุมทันที โดยจากตรวจสอบพบ 6 คนนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด จึงได้ประสานงานส่งต่อไปรับการควบคุมโรคที่จังหวัดภูมิลำเนาของแต่ละคนเรียบร้อยแล้ว และอีก 2 คนอยู่ในการควบคุมโรคที่ รพ.ขอนแก่น ซึ่งทุกคนนั้นเดินทางกลับมาจากต่างประเทศและผ่านขั้นตอนการตรวจร่างกายมาอย่างละเอียดและครบถ้วนตั้งแต่ต้นทางมาจนถึงปลายทาง และไม่มีบุคคลใดที่มีไข้สูงหรืออาการที่แสดงให้เห็นถึงการติดเชื้อ แต่เพื่อความปลอดภัยทั้ง 8 คนจึงขอเข้ารับการควบคุมโรคตามมาตรการดังกล่าวโดยทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยในภาพรวม
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ว่าอยากจะฝากไว้ 3 เรื่อง คือการป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อใหม่เดินทางเข้าประเทศไทย จะต้องมีการดูแลด่านพรมแดนทั้งทางบก เรือ และทางอากาศ ซึ่งมีความสำคัญทุกด้าน ความจำเป็นที่จะต้องแยกให้ชัดเจนจากประเทศที่มีการระบาดหนัก หรือจุดที่มีการระบาด เราจะต้องมีการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางเข้ามา 14 วัน ต้องทำให้มีมาตรฐานและชัดเจน 
    คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ส่วนที่ 2 คือเกิดการระบาดแล้วในประเทศ จะต้องมีมาตรการระบาดวิทยา ในการควบคุมการระบาด  การติดตามผู้ที่สัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้ออย่างมีมาตรการเข้มแข็ง และเป็นมาตรการที่ได้มาตรฐานสากล ส่วนที่ 3 เป็นส่วนสุดท้ายคือควรจะให้ความรู้กับประชาชนในการป้องกันตนเอง จัดหาอุปกรณ์ในการป้องกันให้กับประชาชนได้เพียงพอ ไม่ได้มาแจก แต่อย่างน้อยหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และเจลล้างมือ ต้องกระจายให้มีการจำหน่ายอย่างทั่วถึง 
    “ประเด็นคือการระบาดเป็นเรื่องสำคัญที่สุดคือ โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์เป็นด่านหน้า อุปกรณ์ก็ต้องมีครบหมด  และการสาธารณสุขก็สำคัญมาก อุปกรณ์พวกเขาต้องมีครบหมดทั้งหน้ากาก เสื้อป้องกัน ทุกอย่าง เห็นว่าหลายโรงพยาบาลก็ร้องเรียนกันอยู่ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งแก้ใน 4 จุดนี้” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
ปชช.กังวลแพร่ระบาด
    นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า มาตรการภาครัฐมีความล่าช้ากว่าสถานการณ์อย่างน้อย 1 ก้าวตลอดเวลา อย่างกรณีที่ผู้ใช้แรงงานที่เข้าไปทำงานในประเทศเกาหลีใต้ทั้งถูกและผิดกฎหมายยังขาดมาตรการการกักตัว จำกัดบริเวณอย่างเป็นรูปธรรมที่ดีเพียงพอ เพิ่งจะมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุขบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 มี.ค. เป็นการล่าช้า เพราะมีกลุ่มที่เข้ามาแล้วหลายร้อยคนก็ไม่ได้มีมาตรการอย่างชัดเจน 
    "ยังมีผู้ที่หลุดรอดออกไปถึง 70-80 คน เห็นได้ว่าการทำงานของรัฐมีจุดบกพร่องในเชิงปฏิบัติอยู่ ฝากรัฐบาลในมาตรการต่อไปต้องเตรียมบุคลากร อุปกรณ์และสถานที่ให้รัดกุม การทำงานในตอนนี้ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข แต่มันต้องบูรณาการกระทรวงอื่นๆ ด้วย" นพ.วาโยกล่าว
    นอกจากนี้ ไทยยังไม่มีการปิดกั้นหรือจำกัดเที่ยวบินที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เข้าใจได้ว่ารัฐบาลต้องการชั่งน้ำหนักระหว่างปัจจัยต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ปัญหาวิกฤติของคนในชาติในภายภาคหน้ามันจะหนักขึ้นกว่านี้ รัฐต้องชั่งน้ำหนักทั้ง 3 ปัจจัย ทั้งเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสาธารณสุข อย่างเท่าเทียมกัน จึงเสนอให้รัฐมีโควตาในการขอตรวจลงตราวีซ่าเพื่อเข้าประเทศในกรณีที่ผู้เดินทางได้เดินทางมาถึงประเทศ (VISA on Arrival) หรือจำกัดเที่ยวบินในบางประเทศ อาจต้องใช้มาตรการกักตัวอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่คนไทยที่กลับจากประเทศเกาหลีใต้
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องผีน้อยชุดแรกที่กลับมาเข้าประเทศก็เป็นปัญหาแล้ว เพราะไม่มีการกักตัวแบบกรณีคนไทยกลับจากอู่ฮั่น โดยแรงงานไทยกลับจากเกาหลีใต้เมื่อมาถึงไทยรอบแรกกลับปล่อยตัวแล้วให้ไปกักตัวเอง แต่ไปกักตัวกันเองที่ร้านสุกี้ ห้างสรรพสินค้า จนร้านค้าต้องปิดตัวทำความสะอาดกันไปทั่ว กระทั่งสาธารณสุขบอกว่าจากนี้ผีน้อยกลับมาประเทศไทย ต้องเป็นภารระรัฐบาลต้องกักตัว 14 วัน แต่ผีน้อยก็หลุดด่านที่สนามบินไปได้กว่า 70 คน ถ้าเข้าไปอยู่ในทำเนียบรัฐบาลจะไม่ว่าสักคำ  
    "ตั้งแต่ผีน้อยหนีด่านกักตัวสนามบินนั้น ถึงวันนี้ไม่รู้ว่าคนกว่า 70 คนไปที่ไหนบ้าง และไม่มีใครการันตีว่าโรคจะระบาดกันไปถึงไหน นอกจากนี้ รมต. 3 คนที่เดินทางมาจากประเทศสุ่มเสี่ยงมีเชื้อโควิด-19 ไม่ยอมกักตัวเองเป็นแบบอย่าง ซึ่งสิ่งสำคัญเหล่านี้สะท้อนศักยภาพการบริหารจัดการของรัฐบาล จนทำให้คนจากประเทศสุ่มเสี่ยงหลุดหายไปถึง 70 คน" นายจตุพรกล่าว
    ประธาน นปช.กล่าวว่า การบริหารเรื่องหน้ากากอนามัย สะท้อนประสิทธิภาพอย่างรุนแรง เมื่อประเทศเกิดวิกฤติ รัฐบาลต้องคิดเรื่องการผลิตหน้ากากแก้ปัญหาขาดแคลนกับความต้องการ ถึงขั้นหมอไม่มีปัญญาหามาใช้ได้ แล้วประชาชนจะอยู่อย่างไร วันนี้ยังไม่เห็นศักยภาพในการแก้ปัญหาเรื่องนี้เลย รัฐบาลคงนึกแล้วว่าแก้ปัญหาผีน้อยและหน้ากากไม่ได้ จึงต้องแจกเงินดีกว่า เอาไปคนละพันสองพัน และแวบหนึ่งก็คิดได้ว่า ครม.สิงคโปร์บริจาคเงินเดือนคนละเดือน ก็เอากับเขาบ้าง บริจาคด้วย และแจกด้วย จนถูกคนต่อว่าทั้งบ้านทั้งเมือง เมื่อโควิด-19 ทำลายการท่องเที่ยวพังพินาศย่อยยับหมด พังกันทั้งแผ่นดิน ประชาชนยิ่งเพิ่มความไม่สบายใจ ต้องผวากับแรงงานหลุดรอดการกักตัวถึง 70 คน
    นายมนตรี วิบูลยรัตน์ ที่ปรึกษาด้านข้อมูลธรรมาภิบาล สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ร่วมกับนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยสำรวจเรื่อง รัฐร่วมราษฎร์ข้ามปัญหาโควิด-19 กรณีศึกษาประชาชนจำนวน 1,129 ตัวอย่าง ระหว่าง 5-7 มี.ค. พบส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.2 กังวลผู้ติดเชื้อ ผู้ที่มาจากประเทศเสี่ยงสูงขาดความรับผิดชอบต่อสังคม, ร้อยละ 67.9 กังวลผลกระทบต่อสุขภาพและสาธารณสุข, ร้อยละ 64.3 กังวลผู้ติดเชื้อปกปิดความจริง, ร้อยละ 63.2 กังวลผลกระทบธุรกิจท่องเที่ยว, ร้อยละ 46.4 กังวลธุรกิจขาดทุน คนตกงาน และร้อยละ 44.5 กังวลคนเกิดความกลัวต่อกัน 
    เมื่อถามถึงความเหมาะสมของมาตรการรัฐร่วมราษฎร์ ข้ามปัญหาโควิด-19 พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 96.4 ระบุเหมาะสมที่ บริษัท ซีพีฯ ผลิตหน้ากากอนามัยแจกประชาชน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นมอบโรงงานให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รองลงมาคือ ร้อยละ 95.3 ระบุเหมาะสม ต่อมาตรการเอาผิดทั้งจำคุกและปรับผู้กักตุนหน้ากากอนามัย, ร้อยละ 91.7 ระบุเหมาะสมต่อถ้ามีมาตรการกักตัวผู้มาจากประเทศแพร่ระบาดสูงจาก 14 วัน เป็น 27 วัน, ร้อยละ 90.9 ระบุเหมาะสม ถ้ามีมาตรการหยุดออกวีซ่า ใบอนุญาตเข้าประเทศ กลุ่มคนมาจากประเทศแพร่ระบาดสูง
    ที่ปรึกษาด้านข้อมูลธรรมาภิบาลกล่าวว่า ผลจากการสำรวจครั้งนี้ รัฐบาลน่าจะเน้นมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะความรับผิดชอบต่อสังคมของผีน้อยบางท่านยังไม่มี แต่จะมีคำว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่สังคมคงไม่อยากได้ยินคำนี้ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมอาจทำให้เกิดปัญหาวิกฤติเกินที่จะควบคุมสถานการณ์ได้.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"