ติดเชื้อแบบกลุ่ม11คน เหตุซดเหล้าแก้วเดียวกัน‘บิ๊กตู่ลั่นมาตรการเข้มขึ้น


เพิ่มเพื่อน    

 ไทยติดเชื้อแบบกลุ่มครั้งแรก! ทำตัวเลขพุ่งวันเดียว 11 ราย เหตุปาร์ตี้ที่ทองหล่อดื่มกินไม่ใช้ช้อนกลาง ซดเหล้าแก้วเดียวกันและดูดบุหรี่มวนเดียวกัน ส่งผลยอดรวมอยู่ที่ 70 ราย ย้ำยังไม่ถึงระยะที่ 3 “บิ๊กตู่” เยี่ยมราชวิถี โอ่มาตรการไทยจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ ลงนามในคำสั่งวีโอเอ 18 ประเทศ และฟรีวีซ่า 3 ประเทศกลุ่มเสี่ยงแล้ว ย้ำยังไม่ปิดศูนย์เพราะต้องคงไว้รองรับเหตุในอนาคต “อนุพงษ์” โวกักตัวที่บ้านมีประสิทธิภาพ เพราะมีการติดตามตรวจสอบ “คณบดีคณะแพทย์” หารือใหญ่รับมือเฟส 3 ชมมาตรการรัฐที่ใช้เหมาะสม

    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แถลงข่าวถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่ามีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 11 ราย ซึ่งตรวจได้จากการขยายเกณฑ์การตรวจคัดกรองคือ คนปอดบวมไม่รู้สาเหตุ และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนนี้เกิดขึ้นจากชาวฮ่องกงเดินทางมาเที่ยวไทยเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2563 และเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 25 ก.พ. ด้วยอาการไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ และไอ โดยระหว่างที่ป่วยก็ยังไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนกลุ่มคนไทยจำนวน 15 คน จำนวน 2 ครั้ง คือวันที่ 27 ก.พ. และ 29 ก.พ. หลังจากนั้นวันที่ 4 มี.ค. ผู้ร่วมสังสรรค์คนไทยกลุ่มนี้เริ่มทยอยป่วยด้วยอาการโรคระบบทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อน จึงได้รับรายงาน และจากการเข้าไปตรวจสอบพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 11 คน เป็นชาย 5 ราย หญิง 6 ราย
        "พฤติกรรมการติดต่อคนกลุ่มนี้คือการสังสรรค์อย่างใกล้ชิดอยู่ในพื้นที่แคบๆ เป็นเวลานาน กินข้าวสำรับเดียวกัน ไม่มีการใช้ช้อนกลาง มีการดื่มเหล้าแก้วเดียวกัน สูบบุหรี่มวนเดียวกัน ไม่ได้พักผ่อน สังสรรค์กันดึกดื่น ทั้งนี้ ได้มีการติดตามครอบครัวของผู้ป่วยกลุ่มนี้และเพื่อน รวมถึงผู้เข้าร่วมงานแต่งงาน เพราะมีประวัติว่าผู้ป่วยไปร่วมงาน แต่จากการตรวจสอบก็ยังไม่พบผู้ป่วยและผลตรวจแล็บไม่พบการติดเชื้อ ส่วนคนไทยอีก 4 คนที่สังสรรค์ด้วยไม่มีการป่วยและติดเชื้อ เนื่องจากไม่ได้ดื่มเหล้าแก้วเดียวกันและสูบบุหรี่มวนเดียวกัน แต่จะติดตามจนครบ 14 วัน" นพ.สุขุมกล่าว
        นพ.สุขุมยืนยันว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่การแพร่เชื้อในระยะที่ 3 ยังเป็นระยะที่ 2 เพราะยังเป็นการติดต่อในกลุ่มจำกัดคือเพื่อน และไม่ได้แพร่เชื้อออกไปถึงคนอื่น จึงไม่ใช่ซูเปอร์สเปรดเดอร์ เพราะเป็นการใช้ของใช้ใกล้ชิดร่วมกัน และยังเป็นบทเรียนสำคัญที่ย้ำว่าคนป่วยควรอยู่กับบ้าน ไม่ออกไปพบปะกับผู้คน ยิ่งมาจากพื้นที่เสี่ยงหากป่วยต้องรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และเป็นคำตอบถึงเรื่องการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงอยู่ในพื้นที่แออัด 
“มีข่าวดีคือย่าที่กลับจากฮอกไกโดหายดีกลับบ้านแล้ว ส่วนปู่และหลานอาการดีขึ้น แต่ยังพบเชื้ออยู่ สรุปมีผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันคือ 70 ราย รักษาหายกลับบ้านรวม 35 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยังรักษาตัวใน รพ. 34 ราย ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนทั้งหมด 5,232 ราย กลับบ้านได้แล้ว 3,865 ราย ยังคงรักษาใน รพ. 1,367 ราย”นพ.สุขุมระบุ
        เมื่อถามถึงผู้ป่วยชาวฮ่องกงเข้ารับการรักษาหรือไม่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ได้เดินทางกลับประเทศไปแล้ว ซึ่งขณะนี้กำลังติดตามอยู่ว่ากลับไปเมื่อวันที่เท่าไร เที่ยวบินใด โดยคาดว่าช่วงที่เดินทางออกไปอาการป่วยคงไม่ได้มาก ทำให้สามารถขึ้นเครื่องบินกลับได้ 
         เมื่อถามว่ากรณีดังกล่าวใช่เคสที่มีรายงานข่าวที่ทองหล่อหรือไม่ นพ.โสภณรับว่า เป็นสถานที่มีการสังสรรค์กันใน 2 ครั้ง คือวันที่ 27 และ 29 ก.พ.
ขยายกลุ่มตรวจสอบ
    นพ.สุขุมยังกล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลก (ฮู) ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ ว่า สธ.ได้ติดตามเป็นระยะ และเพิ่มมาตรการการดูแลและการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยมากขึ้น จากเดิมที่เราเคยดูเฉพาะคนต่างชาติ คนสัมผัสใกล้ชิดคนต่างชาติ ก็ขยายมาคัดกรองบุคลากรทางการแพทย์ ปอดบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ และต่อไปกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะขยายการตรวจโควิด-19 ในกลุ่มวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะทำทั้งย้อนหลังและทำระยะต่อไป ทำให้สามารถครอบคลุมได้มากขึ้น 
“ศักยภาพของ สธ.เราเตรียมความพร้อม อย่างจัดหาอุปกรณ์ เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ก็มีการเช็กยอดและทยอยส่ง หน่วยงานไหนจำเป็นก็ประสานมาที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อจัดส่งเร่งด่วน โดยวางแผนสต๊อกไว้อย่างน้อย 1 เดือนในทุก รพ.ของ สธ.”
         นพ.สุขุมกล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังเห็นว่าเรื่องขวัญกำลังใจของบุคลากรที่ทำงานช่วงนี้ ก็ได้จัดค่าเสี่ยงภัยให้แก่บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ระบาดที่ให้ดูแลผู้ป่วย และผู้เฝ้าสังเกตการณ์ก็มีการลงนามมาเรียบร้อยแล้ว และจะทยอยเบิกตั้งแต่ ม.ค.2563 ถือเป็นขวัญกำลังใจ และมีการทำกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่บุคลากรสาธารณสุข          
ด้าน นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการขยายการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ว่าปัจจุบันใช้วิธีตรวจพีซีอาร์ ซึ่ง สธ.ได้ขยายออกไปในทุก รพ. โดยคาดว่าใน 1-2 สัปดาห์ รพ.ประจำจังหวัดจะพร้อมให้บริการตรวจวิธีนี้ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพจากเดิม 2-3 เท่า และไม่เกิน 2 สัปดาห์จะดำเนินการใช้แรพิดเทสต์ เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับคนเสี่ยงน้อยแต่อยากตรวจ
        นพ.สุขุมกล่าวว่า เรามีการพัฒนาชุดทดสอบที่รู้ผลได้ใน 1 ชั่วโมงเพื่อการวินิจฉัยเร่งด่วน เป็นความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คิดว่าจะเพิ่มความไวแปรผลได้ใน 1 ชั่วโมง และในสัปดาห์หน้าจะเริ่มเป็นรูปแบบและเอามาใช้ได้
    เวลา 15.00 น. ที่โรงพยาบาลราชวิถี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมอาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี พร้อมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการรักษาไวรัสโควิด-19 หากสถานการณ์รุนแรงยกระดับขึ้น 
    โดยเมื่อมาถึงนายกฯ ได้ชมการเต้นออกกำลังกายของโรงพยาบาล ซึ่งมีเป็นประจำทุกวันในเวลา 15.00 น. ก่อนจะตรวจเยี่ยมจุดต่างๆ ซึ่งระหว่างตรวจเยี่ยม นายกฯ ได้กล่าวกับบุคลากรของโรงพยาบาลขอให้ช่วยกันแก้ปัญหา เพราะโรคโควิด 19 ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของไทย โดยตลอดการตรวจเยี่ยม เจ้าหน้าที่และผู้ที่มาใช้บริการตะโกนให้กำลังใจในการทำหน้าที่ของนายกฯ ให้สู้ต่อไป ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบว่า “ท้อไม่ได้อยู่แล้ว”
    ต่อมาเวลา 16.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยม ว่าสถานการณ์ในวันนี้เรายังควบคุมได้อยู่ ถึงแม้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลแต่ละวันเป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญหากทุกคนรู้ว่าตัวเองไม่สบายจะต้องมาพบแพทย์ ตรวจสอบตัวเอง และหากพบผลเป็นบวกคือติดโรค ทางแพทย์จะเป็นผู้ติดตามว่าในระยะเวลา 5-7 วัน ผู้ติดเชื้อได้เดินทางไปที่ไหนมาบ้าง ระยะนี้จึงเป็นช่วงที่ต้องระมัดระวัง ขณะนี้เรามีมาตรการตั้งแต่การคัดกรอง คัดแยก การรักษาพยาบาล การส่งตัวไปกักกันในพื้นที่ 14 วัน รวมถึงมีกฎหมายให้เจ้าพนักงานตรวจติดตามผู้ที่ถูกกักกัน ตรวจทุกวันและต้องรายงาน 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีโปรแกรม ติดตามตัวผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งนำไปสาธิตที่สนามบินแล้ว และทุกหน่วยงานได้เห็นชอบร่วมกันว่าทุกหน่วยงานจัดเก็บข้อมูลของทุกคนที่ผ่านการเข้า-ออกจากสนามบินในระยะ 14 วัน เพื่อติดตามตัวได้ผ่านทางโทรศัพท์ แม้จะปิดเครื่องก็ตามเจอ ปิดเมื่อไหร่ก็รู้ ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการที่จำเป็นต้องทำให้รัดกุมมากที่สุด 
ลั่นมาตรการค่อยๆ เข้มขึ้น
“เมื่อเช้าได้ประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลร่วมกับคณะเล็ก ขอให้ทุกคนสบายใจว่าสิ่งที่เราได้ทำคือการยกเลิกการขอตรวจลงตราวีซ่าเพื่อเข้าประเทศที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (วีโอเอ) ส่วนประเทศที่เราประกาศให้เป็นเขตติดโรคอันตรายไปก่อนหน้านี้คือ จีน เกาหลี อิหร่าน และอิตาลี จะต้องเข้มงวดสุขภาพ ตรวจโดยแพทย์ตั้งแต่ต้นทางมาแล้ว และเมื่อถึงสนามบินต้องผ่านการตรวจคัดแยกและดูอาการ ส่วนที่เหลือก็ให้ไปแยกกักตัวที่ภูมิลำเนา ยืนยันว่าตอนนี้เราทำครบทุกระบบ ซึ่งมาตรการไทยค่อยๆ เข้มข้นตามลำดับ”พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    เมื่อถามว่า ตอนนี้ประชาชนสับสนในเรื่องข้อมูล โดยเฉพาะเรื่องการปิดศูนย์ควบคุมโรคเพื่อกักกันและติดตามดูอาการ นายกฯ กล่าวว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยอาจกล่าวเร็วไปนิด คำว่าปิดหรือเปิดศูนย์อย่าไปสนใจ ทุกศูนย์ยังมีชื่อเป็นศูนย์ทุกแห่ง ถ้าไม่มีคนอยู่ก็เท่ากับศูนย์นั้นหยุด แต่ศูนย์เหล่านี้ต้องพร้อมรับสถานการณ์ หากจำเป็นต้องเปิดได้ทันที ไม่ใช่ว่าปิดหายไปเลย
    เมื่อถามว่า มาตรการยกเลิกชั่วคราววีโอเอจะเริ่มได้เมื่อไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ยกเลิกไปแล้ว และไม่ต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเป็นกฎกระทรวง แต่ทั้งหมดต้องขออนุมัติมายังตนเองในฐานะผู้อำนวยการศูนย์การบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ต้องรับทราบ ถ้าอนุมัติเห็นชอบก็ประกาศใช้ได้ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.
    ทั้งนี้ ก่อนเดินทางกลับ นายกฯ ได้ร่วมถ่ายรูปกับทีมแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ โดยกล่าวว่า "ยืนยัน นั่งยัน นอนยัน" พร้อมทั้งชูสองนิ้วและระบุอีกว่า เราจะสู้ไปด้วยกันทุกกระทรวง จะนำขับเคลื่อนเอง การแก้ทุกปัญหาจะแก้ได้ด้วยความรักความสามัคคี ด้วยความช่วยเหลือ การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน วันนี้ขอให้ทุกคนช่วยกัน และขอความร่วมมือจากสื่อช่วยลดความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจ สิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งในเรื่องอื่นๆ ก็ไม่ยุ่งกับสื่อ แต่ก็ต้องระมัดระวังในเรื่องของกฎหมายไว้ด้วย ไม่ได้ขู่ และยังไม่ได้ฟ้องใครสักคนเลย ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องระมัดระวังตัวเอง อย่าไปอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ใครมาจากต่างประเทศก็อย่าปิดบังกัน ต้องรับผิดชอบต่อสังคม
    "ผมขอฝากไปถึงนักท่องเที่ยว ดารา เซเลบ รวมถึงไฮโซ บางทีกลับมาแล้วก็โพสต์ ตัวเองแม้จะผ่านการคัดกรองแล้ว แต่กักตัวเอง 14 วันหรือยัง ไม่ใช่ไปแพร่อย่างนี้อย่างนั้น แล้วมีปัญหาขึ้นมา กลายเป็นว่าคนพวกนี้ถูกกักตัวหรือเปล่า ขอร้อง ผมไม่ได้ตำหนิอะไรท่าน แต่ท่านต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ประชาชน" นายกฯ กล่าว
    เมื่อถามว่าต้องคุมเข้มสถานบันเทิงหรือไม่ หลังพบผู้ติดเชื้อ11 รายล่าสุด นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องควบคุม ทุกสถานบันเทิง ทุกโรงแรมต้องมีมาตรการคัดกรอง มีเครื่องวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือ และหน้ากากอนามัย รวมถึงการดูแลทำความสะอาดภายในสถานที่ เราต้องดูทั้งสองด้าน เพราะถ้าไม่ให้ทำอะไรเลย เขาก็ไม่มีรายได้เลย ส่งผลให้เกิดการลดการจ้างงาน แล้วเขาจะไปหางานทำที่ไหน ต้องเห็นใจเขาด้วย แต่ทุกส่วนต้องมีมาตรการของตัวเอง ดูอย่างมาตรการของห้างสรรพสินค้า เป็นต้น 
    "สำคัญที่สุดคือการป้องกันการแพร่ระบาดไปในระยะที่ 3 ยืนยันอีกครั้งว่ายังไม่ถึงขั้นที่ 3 วันนี้เรามาดูสถิติการเพิ่มขึ้นในต่างประเทศสูงขึ้น และเขายอมรับมาว่าประเทศไทยทำได้ดี ถือว่าดีมากสำหรับเขา ของเราจะเริ่มเข้มข้น” นายกฯ กล่าว
“วีโอเอ” มีผล 13 มี.ค.
    ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ได้เรียกประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยคาดว่าจะเป็นการหารือความชัดเจนถึงวีโอเอใน 17 ประเทศ 1 เขตเศรษฐกิจ และการยกเว้นการตรวจลงตราของประเทศมีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เกาหลีใต้ อิตาลี และฮ่องกง จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ 
    มีรายงานอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรียกย่อว่า ศูนย์บริการสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และขึ้นตรงต่อนายกฯ และแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 แล้ว นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นประกาศการยกเลิกชั่วคราว การตรวจดวงตา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือวีโอเอ 18 ประเทศ และฟรีวีซ่า 3 ประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 มี.ค. ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
ส่วนที่ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกฯ แถลงถึงกรณีฮูยกระดับไวรัสโควิด-19 เป็นโรคแพร่ระบาดทั่วโลก ว่าไม่ใช่เรื่องแปลก รัฐบาลได้คิดและมีมาตรการรองรับเรียบร้อยทุกอย่างแล้ว ไม่ได้น่าตกใจหรือน่าเป็นห่วงมากเกินไป 
    พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวชี้แจงการเปลี่ยนแปลงที่กักกันตัวจากศูนย์ของรัฐไปยังบ้านของตัวเอง โดยยืนยันว่ายังไม่ได้ปิดศูนย์ของรัฐ ยังคงไว้ทุกอย่างเผื่อเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งจะใช้กรณีใดขึ้นอยู่กับทางแพทย์ หากการสื่อสารเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ทำให้สับสนต้องขอโทษด้วย ส่วนเรื่องพื้นที่กักกันตัวของรัฐในพื้นที่จังหวัด เราพยายามจะหาพื้นที่ส่วนต่างๆ แต่มีปัญหาว่าบางพื้นที่ที่เหมาะสมแต่ประชาชนไม่ยินยอม หรือพื้นที่ที่ไม่เหมาะแต่ประชาชนยอมรับ ทำให้ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยืนยันว่าเป็นความพยายามของทุกส่วนในการร่วมมือกันแก้ปัญหา ซึ่งถ้าคนเหล่านั้นไปกักกันตัวที่บ้านจะมีความสะดวกสบายตามอัตภาพ มีเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งมีอำนาจควบคุมและลงโทษ อีกทั้งยังมีภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ช่วยการดูแล เป็นการบูรณาการทุกภาคส่วน อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เราจึงมั่นใจว่าการย้ายไปกักกันตัวที่บ้านจะมีทั้งความสะดวกสบายและประสิทธิภาพแน่นอน
    รมว.มหาดไทยยังกล่าวถึงตัวเลขผู้ที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ.-7 มี.ค. ว่ามีจำนวน 1,882 คน จังหวัดตามตัวพบแล้ว 1,815 คน มีการกักตัวที่พำนักและมีอาการปกติ 1,791 คน มีไข้ 24 คน ซึ่งอยู่ในการดูแลของ สธ. ทั้งนี้ กำลังติดตามตัว 67 คน ส่วนผู้ที่เดินทางกลับประเทศระหว่างวันที่ 8-11 มี.ค. มี 798 คน มีการกักตัวอยู่ที่สถานกักตัวของรัฐ 370 คน และกักตัวที่บ้าน 406 คน และมีไข้ 22 คน
    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอสได้ร่วมกับสตาร์ทอัพ จัดทำแอปพลิเคชันชื่อว่า SydeKick สำหรับใช้ในการติดตามผู้ที่จำเป็นต้องกักกันตัวในบ้าน โดยจะให้ผู้ที่ถูกกักกันตัวดาวน์โหลดไว้ในโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าบุคคลดังกล่าวอยู่พื้นที่ใด ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่นั้นๆ จะมีบัญชีรายชื่อของบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในเขตนั้นๆ เพื่อติดต่อสอบถาม ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมาย และถ้ามีการปิดเครื่องโทรศัพท์หรือไม่มีการเคลื่อนไหวจนผิดสังเกต จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบทันที แอปพลิเคชันนี้ถือเป็นมาตรการเสริมอีกมาตรการหนึ่งให้เคร่งครัดมากขึ้น
คณบดียกนิ้วคุมโควิด-19
    นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า ดีอีเอสยังได้พัฒนาแอปพลิเคชันของการท่าอากาศยาน ใช้สำหรับตามตัวผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยในกรณีมีความจำเป็น โดยทุกคนที่เดินทางเข้ามาเมื่อถึงสนามบินผ่านจุดคัดกรองที่ 1 จะให้ทุกคนดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน พร้อมใส่ข้อมูลบอร์ดดิงพาส ข้อมูลส่วนตัว ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ รูปถ่ายพาสปอร์ต สามารถกรอกเสร็จได้ภายใน 2 นาที เมื่อครบถ้วนถึงจะให้เข้าเมือง แอปพลิเคชันนี้เตรียมการไว้ ถ้าจำเป็นจะต้องติดตามตัวบุคคลนั้นหากบุคคลที่ร่วมในเครื่องบินมีอาการป่วย ข้อมูลทั้งหมดนี้จะใช้เพียง 14 วัน หลังจากนั้นจะถูกลบเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเริ่มใช้แล้วตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 12 มี.ค. โดยผู้ที่เข้ามาในไทยไม่ต้องกังวลกรณียังไม่มีเบอร์โทรศัพท์ไทย เพราะสามารถซื้อซิมการ์ดที่สนามบินได้ในราคา 49 บาท ซึ่งใช้ได้ 14 วัน เพื่อรองรับแอปพลิเคชัน
ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ มีการประชุมหารือรับมือโควิด-19 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข และคณะผู้บริหารของกระทรวง รวมถึงผู้บริหารจากคณะแพทยศาสตร์จากสถาบันต่างๆ โดยเป็นการหารือเตรียมความพร้อม หากการระบาดเข้าสู่เฟส 3 ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันให้ยกระดับขีดความสามารถในการตรวจโรค นอกจากนั้นยังเสนอให้จัดศูนย์ดูแลผู้ป่วยหนักในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การเตรียมการโรงพยาบาลภาคสนามในเขตกรุงเทพฯ โดยเตรียมไว้ 4 มุมเมืองเพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น โรงพยาบาลสีกัน, โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก, โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์, โรงพยาบาลบางขุนเทียน และโรงพยาบาลสิรินธร เป็นต้น นอกจากนี้ยังระบุถึงการจัดสรรและแบ่งปันวัสดุอุปกรณ์การแพทย์สำคัญ เช่น หน้ากากอนามัย N95 เป็นสินค้าควบคุมให้โรงพยาบาลที่ให้การรักษาพยาบาลเท่านั้น โดยจัดสรรให้แต่ละแห่งตามปริมาณการดูแลผู้ป่วยตามจริง โดยบริหาร กำกับโดยตัวแทนจากทุกสังกัด ทั้งนี้ เสนอให้ตั้งงบกลางเพื่อจัดหาวัสดุสำคัญเหล่านี้สำรองไว้
        ทั้งนี้ ระหว่างหารือที่ประชุมได้ถามความเห็นถึงมาตรการปัจจุบันกับ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.ปิยมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ซึ่งทั้งหมดให้ความเห็นตรงกันว่ามาตรการที่ใช้อยู่เหมาะสมกับสถานการณ์ จึงทำให้การแพร่ระบาดยังอยู่ในระยะที่ 2 แต่เพื่อความไม่ประมาท จึงจำเป็นต้องหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกรณีแพร่ระบาดไปถึงระยะที่ 3.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"