หุ้นร่วงหนักหยุดซื้อขาย30นาที


เพิ่มเพื่อน    

 โควิด-19 อาละวาด! หุ้นไทยร่วงหนักกว่า 150 จุด  ตลท.ประกาศเซอร์กิตเบรกเกอร์ 30 นาที ในรอบ 11 ปี 4 เดือน  หลังดัชนีหล่นหนัก 10% "สมคิด" สั่งทันทีออกมาตรการอุ้มผู้ประกอบการตลาดทุน ยอมรับไม่ง่ายเหมือนสมัยตั้งกองทุนวายุภักษ์ 

    รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ระบุว่า การซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ทันทีที่เปิดการซื้อขาย ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงอย่างหนัก 65.73 จุด หรือ 5.26% อยู่ที่ 1,184.16 จุด จากนั้นการซื้อขายในช่วงบ่ายดัชนีปรับลดลงต่อเนื่องถึง 125.05 จุด หรือ 10.00% อยู่ที่ 1,124.84 จุด ส่งผลให้ ตลท.ต้องประกาศหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (เซอร์กิตเบรกเกอร์) ครั้งที่ 1 ระยะเวลา 30 นาที ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี 4 เดือน จากวันที่ 27 ตุลาคม 2551 หลังจากเปิดการซื้อขายอีกครั้ง ดัชนีปรับลดลงต่อต่ำสุดที่ 154.52 จุด หรือ 12.36% อยู่ที่ 1,095.37 จุด และดัชนีของวันปิดที่ 1,114.91 จุด ลดลง 134.98 จุด หรือ 10.80% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 101,652.04 ล้านบาท 
    อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ตลท.เคยใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ทั้งหมด 3 ครั้ง คือ วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2549, วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551 และวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2551 สำหรับเซอร์กิตเบรกเกอร์ จะใช้ในกรณีที่สภาวะการซื้อขายมีความผันผวนรุนแรง เพื่อให้นักลงทุนมีเวลาในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างครบถ้วน ตลท.จะหยุดทำการซื้อขายโดยอัตโนมัติเป็นการชั่วคราว โดยครั้งที่ 1 เมื่อดัชนีลดลงถึง 10% จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งหมดเป็นเวลา 30 นาที และครั้งที่ 2 เมื่อดัชนีลดลงถึง 20% จะพักการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง และหลังจากการทำงานครั้งที่ 2 ของเซอร์กิตเบรกเกอร์แล้ว ตลท.จะเปิดให้ทำการซื้อขายต่อไป จนถึงเวลาปิดทำการตามปกติโดยไม่มีการหยุดพักการซื้อขายอีก 
    นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพตลาดทุน หรือกองทุนพยุงหุ้น ซึ่งได้บอกกับกระทรวงการคลังและ ตลท. ว่าแม้ขณะพื้นฐานตลาดหุ้นไทยจะดี แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ปกติ รุนแรงมาก จากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะกรณีสหรัฐมีคำสั่งห้ามบางประเทศ เช่น กลุ่มอียู เดินทางเข้าสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบมาก และส่งผลต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นทั่วโลก
    ทั้งนี้ จะต้องศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นว่าจะออกมาในรูปแบบใด เพราะไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเหมือนสมัยก่อนที่มีการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ โดยได้ให้นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ไปเร่งศึกษาแนวทางที่เหมาะสม ส่วนขนาดของกองทุนจะเป็นเท่าใด ให้ไปดูให้เหมาะสม ในระยะยาวจะต้องมีกำไร และทำให้ตลาดทุนมั่นใจว่ารัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พร้อมจะดูแล
    นายสมคิดกล่าวว่า ได้หารือกับกระทรวงการคลังอีก 2 ประเด็น คือ 1.การเตรียมมาตรการชุดที่ 2 ดูแลผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะเน้นไปที่กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อาชีพอิสระ รายได้ประจำ ซึ่งได้ให้การบ้านทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไปเตรียมมาตรการครบทุกกลุ่ม เพิ่มเติมจากชุดที่ 1 ที่ได้ดูแลผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจให้ชะลอการเลิกจ้างงานไปแล้ว
    2.ให้กระทรวงการคลังเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ซึ่งมองว่าในช่วงดังกล่าว จำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ให้กระทรวงการคลังเตรียมวงเงินและมาตรการไว้ เมื่อถึงเวลาต้องใช้ ก็เตรียมไว้พร้อมใช้ทันที ซึ่งยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะหนักหนาพอสมควร
    ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เชื่อว่าตลาดหุ้นและพื้่นฐานเศรษฐกิจของไทยมีพื้นฐานเข้มแข็ง ในส่วนของมาตรการดูแลตลาดหุ้นไทยจะมีการพิจารณาต่อเนื่อง หากมีความจำเป็นกระทรวงการคลังจะเสนอนายกรัฐมนตรีและ ครม.ออกมาตรการเพิ่มเพื่อดูแลตลาดหุ้นทันที
    นายอุตตมกล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังไม่มีแนวคิดที่จะลดภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้น ต้องติดตามสถานการณ์ก่อน มาตรการที่ออกมาต้องเหมาะสมกับเหตุการณ์ ที่ผ่านมาหุ้นตก 2-3 วัน ก็กลับมาปรับตัวขึ้นได้
    "เข้าใจว่านักลงทุนกังวลโรคโควิด-19 ซึ่งบางครั้งอาจจะกังวลเกินเหตุ แม้ว่าตลาดหุ้นยังมีพื้นฐานแข็งแกร่ง ที่ผ่านมาการเกิดเหตุการณ์หลายครั้ง ดัชนีหุ้นก็ยังปรับขึ้นมาได้" นายอุตตมกล่าว
    อย่างไรก็ดี ยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่มีแนวคิดลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนประเทศญี่ปุ่นที่พิจารณาลดภาษีแวตเหลือ 0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง
    บริษัท หลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส ระบุว่า สถิติในอดีตพบว่าหลังจากเกิดเซอร์กิตเบรกเกอร์ทั้ง 3 ครั้ง ดัชนีหุ้นไทยจะฟื้นขึ้นต่อเนื่องทุกครั้ง โดยเฉพาะ 1 สัปดาห์หลังจากนั้น จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 10.3% ขณะที่ปัจจุบันตลาดปรับฐานมาแล้วกว่า 29% ลดลงมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งลดลงมากกว่า EPS ปี 2563 ที่ฝ่ายวิจัยปรับประมาณการลดลง 14.6% มาอยู่ที่ 79.62 บาทต่อหุ้น ดังนั้นการปรับฐานแรงของตลาด ณ ปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่ามีแรงขายจากความกังวลผสมเข้าไปพอสมควร ทำให้เชื่อว่า หากปัจจัยกดดันต่างๆ เริ่มคลี่คลาย รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้นมา น่าจะช่วยให้ตลาดยังมีความหวังฟื้นตัวดังสถิติในอดีตตามสมควร  
    ขณะที่นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า ตลท.ได้มีมาตรการช่วยเหลือบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ โดยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทที่มอบหมายให้บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ (TSD) เป็นนายทะเบียน ได้แก่ บริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยลดค่าธรรมเนียมนายทะเบียนรายปี 20% ในปี 2563 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของธุรกิจลดลง นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะลดค่าธรรมเนียมรายปีแก่บริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมกิจกรรม Opportunity Day ในปี 2563-2564 ตามจำนวนครั้งที่เข้าร่วมเสนอข้อมูล และข้อกำหนดตามวิธีปฏิบัติในการจัดประชุม
    นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือบริษัทสมาชิก แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ มาตรการลดต้นทุนการทำธุรกรรมใน TFEX โดยลดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรม ตั้งแต่ค่าธรรมเนียมการใช้บริการระบบ streaming ค่าธรรมเนียมการซื้อขายและการชำระราคาของ SET50 Futures และ SET50 Options รวมทั้งยังมีมาตรการให้ส่วนลดเพิ่มเติมสำหรับปี 2563, ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน DW ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 และจะพิจารณาเพิ่มมาตรการให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียน DW ที่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และให้ความรู้ผู้ลงทุนตามเงื่อนไขที่ตลาดกำหนด และมาตรการสนับสนุนสมาชิกในการให้บริการผู้ลงทุนบุคคล โดยเพิ่มช่องทางการเชื่อมต่อกับระบบซื้อขายสำหรับผู้ลงทุนบุคคลของสมาชิกแต่ละรายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ขณะที่ มาตรการช่วยเหลือสมาชิกผู้ฝากหลักทรัพย์ ของ TSD  ลดค่าธรรมเนียมรักษาหลักทรัพย์ 20% ตั้งแต่ 1 เมษายน-31 ธันวาคม 2563
    นายภากรยังเผยว่า ตลท.มีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น ลักษณะคล้ายกับกองทุนเปิดไทยสร้างโอกาส (TOF) ที่เคยจัดตั้งในอดีตเพื่อช่วยพยุงตลาดหุ้นในช่วงที่ปรับลดลงแรง โดยเป็นการร่วมลงทุนของหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำเงินมาซื้อหุ้น ทั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากมีความชัดเจนจะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"