รับมือภาวะวิกฤติ 'โควิด-19' ลูกเด็ดขาดต้องมี!


เพิ่มเพื่อน    

 

      เสียงเชียร์มีมากกว่าเสียงค้านสำหรับการตัดสินใจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ลงมือปฏิบัติการในช่วงวันหยุดราชการที่ผ่านมา กับการสั่งเด้ง วิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน มาเข้ากรุอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ในช่วงรัฐบาลกำลังรับมือกับวิกฤติโควิด-19

      คำสั่งดังกล่าว นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี​ ที่ 80/2563​เรื่องให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

      ใจความว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการบริหารจัดการของรัฐบาลภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย​ กรณีมีประเด็นทางสังคมเกี่ยวกับการกักตุนและจำหน่ายหน้ากากอนามัยซึ่งสมควรมีการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความชัดเจน ถูกต้องโปร่งใส และเป็นธรรมตลอดจนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่การบริหารราชการของกรมการค้าภายใน

      อาศัยอำนาจตามความของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงมีคำสั่งให้นายวิชัย โภชนกิจ ตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าภายใน (นักบริหารระดับสูง) ข้าราชการพลเรือนสามัญกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีโดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม จนกว่าจะมีการตรวจสอบแล้วหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยระหว่างการปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีให้ข้าราชการดังกล่าวปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการตรวจราชการ โดยในการปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ในความควบคุม กำกับดูแลของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี​

      ในคำสั่งระบุตอนท้ายว่า อนึ่ง เพื่อให้การบริหารราชการของกรมการค้าภายในเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

      ก่อนหน้าคำสั่งเด้งเข้ากรุดังกล่าว ต้องยอมรับว่า กระแสความไม่พอใจของประชาชนทั้งประเทศ  รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ในเรื่องสิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่าง หน้ากากอนามัย ที่ควรเป็นสิ่งซึ่งรัฐบาล -หน่วยงานภาครัฐ จะต้องดำเนินการจัดหา ให้ประชาชนสามารถซื้อหานำมาใช้ในการป้องกันตัวเองได้ตลอดเวลาและไม่มีราคาแพง แต่ปรากฏว่าทุกวันนี้ แม้จะมีการอ้างตัวเลขต่างๆ ถึงการผลิตหน้ากากอนามัยทั่วประเทศว่า เพียงพอสำหรับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว กลับพบว่าทุกวันนี้ หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน กลับกลายเป็นสิ่งของหายาก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการกักตุน ขายเก็งกำไร ทั้งที่เป็นสินค้าควบคุม

      ยิ่งระยะหลัง กระแสข่าวเรื่องปัญหาหน้ากากอนามัย มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ มีข้อวิจารณ์ เรื่องร้องเรียนกันว่า มี กลุ่มเครือข่าย นักการเมือง บางปีกในรัฐบาล เข้าไปเกี่ยวข้องแบบวงใน เลยยิ่งทำให้กระแสความไม่พอใจของประชาชน ที่เคลือบแคลงสงสัยเรื่องนี้ยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี รวมถึง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปดำเนินการตรวจสอบโดยเร่งด่วน เพื่อกระชากหน้ากากเครือข่ายกักตุนหน้ากากอนามัย ว่ามีจริงหรือไม่ และเชื่อมโยงถึงใคร หรือหากไม่มีก็ควรต้องมีการบริหารจัดการ ในการทำให้หน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถเข้าถึงในการจัดซื้อจัดหามาใช้ได้ตลอดเวลา เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง อันจะเป็นผลดีโดยรวมต่อการคลี่คลายวิกฤติครั้งนี้ไปในตัว

      เพราะถึงขณะนี้ ประชาชนจำนวนมากยิ่งทวีความเครียด-ความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ หลังมีการวิเคราะห์กันว่า มีแนวโน้มที่รัฐบาลอาจประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่การรับมือต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19  ระยะสาม จนหลายคนเริ่มมีการกังวลจนต้องกักตุนอาหาร สิ่งของจำเป็นกันบ้างแล้ว โดยพบว่าถึงขณะนี้  ตัวเลขคนไทยที่ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง     

      ตามผลการแถลงข่าวประจำวันของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อ 15 มี.ค ที่ผ่านมา ซึ่ง นพ.สุขุม  กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ แถลงว่าอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข มีมาตรการที่จะนำเสนอศูนย์บริหารจัดการของรัฐบาล อาทิ มาตรการลดผู้เดินทางเข้าประเทศ, ปิดสถานบริการที่มีความแออัดและเสี่ยงสูง, งดกิจกรรม รวมคนหมู่มาก เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

      นพ.สุขุม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันเพิ่ม 32 รายที่มีความสัมพันธ์กับสถานที่ต่างๆ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 เชื่อมโยงกับสนามมวย จำนวน 9 ราย กลุ่มที่ 2 เชื่อมโยงกับสถานบันเทิง จำนวน 8 ราย กลุ่มที่ 3 ทำงานสัมผัสกับกลุ่มนักท่องเที่ยว จำนวน 3 ราย กลุ่มที่ 4 ผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ จำนวน  7 ราย กลุ่มที่ 5 เป็นผู้สัมผัสเจ้าของร้านอาหารที่ติดเชื้อ จำนวน 2 ราย กลุ่มที่ 6 อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนโรค จำนวน 3 ราย และยังอยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 51 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้เพิ่มอีก 2 ราย เป็นชายไทย อายุ 29 ปี และหญิงไทย อายุ 22 ปี จากสถาบันบำราศนราดูร สรุปมีผู้ป่วยยืนยันที่รักษาหายแล้ว 37 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 76 ราย  เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยสะสมในประเทศไทยขณะนี้ 114 ราย

      สุดท้ายแล้ว การรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ของรัฐบาล ทุกฝ่ายต่างเอาใจช่วย โดยยอมรับกันว่า เวลานี้หากไม่มีการใช้ไม้แข็ง-ลูกเด็ดขาดในการป้องกัน สถานการณ์ก็อาจลุกลามบานปลาย อันจะยิ่งทำให้วิกฤติหนักขึ้นไปอีก

      แน่นอนว่า หากมีการใช้มาตรการที่เป็นลูกเฉียบขาดเพื่อควบคุม-ป้องกันการแพร่ระบาด  มันก็อาจมีผู้เสียประโยชน์ ผู้ได้รับผลกระทบแน่นอน เช่น หากมีการปิดสถานบริการ แหล่งบันเทิงในยามกลางคืนชั่วคราว แน่นอนว่าพนักงาน-ลูกจ้างที่เป็นผู้มีรายได้น้อย และมีคนอยู่ในสายงานดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อมจำนวนมาก จะต้องประสบความเดือดร้อนแน่นอน  ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องหามาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"