ยกระดับสกัดโควิด คุมพื้นที่‘กรุงเทพ-ปริมณฑล’ปิด14วันแหล่งรวมคน


เพิ่มเพื่อน    

  สธ.แจงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 30 ราย ทำยอดรวมขึ้นไปอยู่ที่ 177 ราย “หมอสุขุม” ย้ำยังติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนตามนิยามระยะที่ 2 อธิบดีกรมการแพทย์เผยวางแผนรองรับนาน 2 เดือนกรณีเลวร้ายที่สุดแล้ว “ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะ ครม.เคาะมาตรการ 6 ด้าน สั่งสถานบริการที่จดทะเบียนกับ มท.ต้องปิด 14 วัน เริ่มตั้งแต่ 18 มี.ค. ทั้งโรงหนัง-ผับ-สนามม้าโดนหมด ลุงตู่ชูความรักสามัคคีพาชาติผ่านวิกฤติที่สำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนมาตรการเยียวยารอสัปดาห์หน้า “สาธิต” เตรียมหารือเจ้าของโรงแรมเก่าๆ ทำเป็นที่พักคนไข้

เมื่อวันอังคารที่ 17 มีนาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทย ว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น 30 ราย ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นผู้มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 11 ราย สถานบันเทิง 1 ราย และกลุ่มที่สัมผัสกับผู้ป่วย 2 ราย ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ 16 ราย ได้แก่ ผู้กลับมาจากต่างประเทศ 9 ราย และคนขับแท็กซี่ที่ทำงานใกล้ชิดกับคนต่างชาติ 1 ราย โดยยังรอผลสอบสวนโรคเพิ่มเติมอีก 6 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ยังรอยืนยันผลทางห้องปฏิบัติการ 22 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อรวม 177 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 135 ราย หายดีกลับบ้านแล้ว 41 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยมีผู้ป่วยอาการหนักต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 1 ราย  
“ช่วงนี้จะพบว่ามีคนไข้เพิ่มขึ้น แต่ยังมีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน ที่มาที่ไปชัดเจน การระบาดในไทยจึงยังเป็นระยะ 2 สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ผู้ป่วยในแต่ละวันลดน้อยลง จึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชน นั่งกินข้าวคนเดียว ไอจามต้องใช้หน้ากากอนามัย งดเดินทางไปยังสถานที่แออัดที่เสี่ยงต่อการฟุ้งกระจายของน้ำลาย หรือเหงื่อ แนะนำการทำงานที่บ้าน งดสังสรรค์กับเพื่อน ทั้งที่สนามกีฬาและสถานบันเทิง” นพ.สุขุมระบุ
ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้ หากใครไปยังสถานบันเทิงหรือสนามกีฬา แล้วพบว่าตนเองมีอาการป่วย ไอเจ็บคอ ให้มารับการตรวจฟรี ส่วนกรณีที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าโรงพยาบาลไม่มีเตียงเพียงพอนั้น สธ.ได้ปรับมาตรฐานแล้ว นอกจากนี้ สธ.ยังได้ทำหนังสือถึงคณบดีแพทยศาสตร์ทุกแห่ง เจ้ากรมแพทย์ทหาร 3 เหล่าทัพ แพทย์ตำรวจ แพทย์ของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เพื่อทำจัดทำแผนร่วมกันรองรับหากมีผู้ป่วยเพิ่มจำนวน เตรียมระบบส่งต่อผู้ป่วย แม้แต่โรงพยาบาลที่รักษาอาการทางจิต อย่าง รพ.ศรีธัญญา หรือสมเด็จเจ้าพระยา จะปรับให้มีศักยภาพรับโรคโควิด-19 รวมถึงขอความร่วมมือสมาคมโรงแรมไทยให้ช่วยสนับสนุนหอพักและโรงแรมให้ใช้เป็นสถานที่ให้บริการกรณีมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมากแล้ว
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีผู้ติดเชื้อจากสนามมวย 11 ราย การสอบสวนโรคยังไม่เห็นผู้ติดเชื้อในรุ่นถัดไป และหากสอบสวนได้ทั้งหมด จำนวนผู้ป่วยจะไม่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าเพศหญิง-ชายมีความเสี่ยงติดเชื้อเท่าเทียมกัน แต่กรณีสนามมวยและสถานบันเทิงพบผู้ป่วยเพศชายในวัยทำงาน เพราะเข้าไปใช้บริการมากกว่า ในขณะที่เด็กและคนแก่พบติดเชื้อน้อย ดังนั้นผู้รับเชื้อรุ่นแรกต้องระวังไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น 
เผยเตรียมแผนมา 2 เดือน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แผนการรักษาพยาบาลได้เตรียมตัวนาน 2 เดือนแล้ว โดยมีข้อตกลงร่วมกัน 7-8 เรื่อง คือ 1.ลดจำนวนผู้ป่วยไม่เร่งด่วนให้ไปรับยาที่ร้านขายยาหรือบริการใกล้บ้าน 2.จัดทีมคลินิกไข้หวัด 500-600 แห่งใน รพ.ทุกระดับ 3.จัดระบบแยกคนไข้เสี่ยงให้ไปรับการตรวจ 5.สำรวจและสำรองยา เวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์และอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง 6.เตรียมจัดตั้ง รพ.สนามในระยะถัดไป 7.สร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน และ 8.สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนให้ความร่วมมือป้องกันโรค
นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า เวลานี้ทุกคนต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ซึ่ง สธ.เองก็เตรียมความพร้อมทั้งยารักษาที่สำรองถึง 4 หมื่นเม็ด สำหรับรักษาคนไข้ได้ 500-600 คน และยังตั้ง รพ.สนามในบางขุนเทียน ทุ่งสีกัน ให้เป็นหอผู้ป่วยแยกโรค หรือโควิดหวอด แต่ไม่ถึงขั้น รพ.สนาม เป็นการเตรียมหอพักหรือโรงแรม แต่ในหลักการคือคนไข้ทุกคน เมื่อผลตรวจเป็นบวกต้องนอน รพ. 2 วัน หรือ 48 ชม. หากประเมินอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ จะส่งไปนอนหอพักหรือโรงแรม ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นเตรียมการรับสถานการณ์ในเดือน เม.ย. ที่อาจมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้ประชาชนเข้าใจ
“เราชนะโควิดได้ ประชาชน 60 ล้านคนต้องช่วยกัน เพราะหมอเพียงไม่กี่แสนคนทำไม่ได้ ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นการเตรียมการรับมือ หากสถานการณ์ข้างหน้ามีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เป็นการตั้งสมมุติฐานเตรียมการล่วงหน้า ซึ่งเราเตรียมมาตั้งแต่เดือน ก.พ.”นพ.สมศักดิ์กล่าว      
       พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะโฆษก สตช. กล่าวว่า เบื้องต้นมีข้าราชการตำรวจที่มีผลการตรวจเป็นบวก เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 7 นาย อาการไม่น่าเป็นห่วง อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ส่วนตำรวจกลุ่มคนใกล้ชิด 102 นาย ได้กักตัว 14 วัน ตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค ซึ่งทุกส่วนไม่กระทบต่อการบริการประชาชน
    ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้าได้โพสต์ภาพการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งนายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนต่างสวมหน้ากากอนามัย พร้อมข้อความว่า นำร่องใส่หน้ากากอนามัย นั่งเว้นระยะ 1 เมตร ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
และเมื่อเวลา 14.25 น. พล.อ.ประยุทธ์แถลงผลประชุม ครม.ถึงกรณีเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่ยกระดับ ไม่สะท้อนข้อมูลที่แท้จริง ว่าเรื่องนี้เราต้องฟังแพทย์ว่าสถานการณ์จะเข้าเกณฑ์เมื่อไหร่ อย่างไร แต่ยืนยันว่าเรามีมาตรการรองรับอยู่แล้วในทุกมิติ เราต้องเชื่อหมอ เชื่อสาธารณสุขของเรา และทำตามคำแนะนำมาตรการต่างๆ ของรัฐ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เข้าสู่การระบาดในระยะที่ 3 แต่ว่ามีแนวโน้มการแพร่กระจายที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อลดการแพร่ระบาดจาก กทม.ไปสู่จังหวัดอื่นๆ จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและหามาตรการรองรับ โดยทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อบูรณาการความร่วมมือเพื่อหาแนวทางการรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 
เคาะมาตรการ 6 ด้าน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า วันนี้ ครม.ได้นำเรื่องและผลการประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาพิจารณา ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบ 6 ด้าน 1.ด้านสาธารณสุข ยืนยันยังไม่มีการปิดเมืองหรือปิดประเทศ (การห้ามเข้า-ออก) แต่มีการป้องกันและสกัดกั้นการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทยจากชาวต่างชาติ ทั้งการยกเลิกฟรีวีซ่า วีโอเอ การใช้แอปพลิเคชันติดตามตัว รวมทั้งการจัดหาและเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ อุปกรณ์ เครื่องมือที่จำเป็น ในปริมาณที่เพียงพอสำหรับรับมือระยะที่ 3 2.ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน เร่งผลิตในประเทศและจากต่างประเทศให้เพียงพอกับความต้องการ 3.ด้านข้อมูลการสื่อสารข้อมูลต่างๆ ของรัฐบาลมาจากกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นการแถลงเฉพาะด้าน 4.ด้านต่างประเทศ การจัดตั้งทีมงานเพื่อดูแลคนไทยในต่างประเทศ 
5.ด้านมาตรการป้องกัน ลดโอกาสการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่ต่างที่มีความเสี่ยงสูง จะมีการปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสถานที่ซึ่งมีผู้คนมาร่วมเป็นกิจวัตรเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชา และทุกสถาบันให้ปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.นี้ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ และให้สถานศึกษาป้องกันโรคตามมาตรฐานของ สธ.อย่างเคร่งครัด 
“ต้องปิดชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ทั้งสนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ใน กทม.และปริมณฑล ขณะที่ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้ปิดชั่วคราว 14 วัน พร้อมกันนี้ให้งดการจัดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบและแจ้งให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ทราบด้วย” นายกฯ กล่าว และว่า ยังมีมาตรการเพิ่มการป้องกันสำหรับพื้นที่หรือสถานที่ที่ยังต้องเปิด ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ตลาด สถานที่ราชการ และรัฐวิสาหกิจ ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันที่ สธ.กำหนด ส่วนร้านค้าร้านอาหารต้องทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส การคัดกรองอุณหภูมิ การใช้หน้ากากอนามัย รวมทั้งต้องลดความแออัด
นายกฯ กล่าวว่า มาตรการลดความแออัดในการเดินทางนั้น ให้งดวันหยุดสงกรานต์ตั้งแต่ 13-15 เม.ย.นี้ โดยให้เลื่อนออกไปก่อน และจะชดเชยวันหยุดให้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะในประเทศต้องเพิ่มความถี่การเดินรถและมีมาตรการคัดกรองที่รัดกุม และงดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัดของหน่วยงานที่มีคนจำนวนมาก เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ โรงเรียน หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายต้องมีมาตรการป้องกัน รวมถึงการจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวด้วย และให้ทุกหน่วยงานพิจารณาเหลื่อมเวลาทำงาน หรือทำงานที่บ้าน 
“ยังมีมาตรการกำกับดูแลในระดับพื้นที่ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯ กทม. โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อกำกับดูแลการเคลื่อนย้ายที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดหรือกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการกำกับพื้นที่เสี่ยง”
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า 6.มาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มธุรกิจ โรงงาน สถานประกอบการ โรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวกับด้านการท่องเที่ยว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการรองรับ ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะเสนอมาตรการนี้เข้ามา รวมถึงกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ โดยจะพิจารณามาตรการเพื่อนำเสนอเป็นมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะที่ 2 ต่อไป 
“สรุปแล้วขณะนี้ประเทศไทยควบคุมสถานการณ์และจะชะลอระยะ 2 ให้ได้นานที่สุด จะพยายามอย่างเต็มที่ โดยถือว่าการแก้ไขปัญหาโควิด-19 มีความสำคัญเป็นอันดับ 1” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและว่า ความรัก ความสามัคคีเป็นสิ่งหนึ่งที่จะสามารถเอาชนะโควิด-19 ได้ คำว่าเอาชนะคือสถานการณ์คลี่คลายเป็นปกติ ซึ่งทุกคนก็ต้องการตรงนี้ ขอฝากทุกคนให้ช่วยกันด้วย โดยเฉพาะสื่อโซเชียลต่างๆ ขอให้ทุกคนร่วมมือกันทุกอย่าง
เมื่อถามว่าจะปิดกรุงเทพฯ ชั่วคราวหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ไม่ได้พูดว่าปิด เมื่อกี้ผมพูดหรือเปล่า ผมไม่ได้พูดว่าปิด-เปิด ประเทศ ไม่ได้พูดเลย ผมพูดถึงว่าหลายอย่างในกรุงเทพฯ ต้องมีการควบคุม ผู้สื่อข่าวถามย้ำ โฆษกเป็นคนพูดว่าปิด กทม. นายกฯ เดินออกจากโพเดียมพร้อมกล่าวว่า “แล้วใครแถลงล่ะ ผมไม่ได้พูด” (อ่านรายละเอียดหน้า 4) 
หมอหนูชี้ฟิตเนสเข้าข่าย
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวเสริมถึงกรณีที่มีข่าวแพร่ตามสื่อโซเชียลว่ามีการประกาศปิด กทม.และปริมณฑลจนแตกตื่นกันไปทั่วว่า ไม่ได้ใช้คำว่าปิด แต่เป็นการควบคุมระดับที่เข้มข้น มีวิธีการ ซึ่งการปิดสถานที่ต่างๆ ตามที่กำหนดมานั้นบางอย่างก็ 14 วัน บางอย่างก็จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ เป็นการที่เราคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชน ความถูกสุขอนามัยของประเทศเป็นหลัก
นายอนุทินกล่าวว่า หลังจากวันนี้อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจในฐานะเจ้าพนักงานในการออกคำสั่งให้ฝ่ายปกครองพิจารณาแล้วดำเนินการตามเหตุการณ์ที่สมควรของแต่ละจังหวัด หากตนเองหรืออธิบดีกรมควบคุมโรคลงพื้นที่พบเห็นสถานที่ใดไม่ปลอดภัย สามารถสั่งการและสั่งปิดสถานที่นั้นได้เลย และขอยืนยันว่าไม่ได้มีการปิด กทม. แต่ปิดสถานที่ เช่น ผับ บาร์ ใน กทม.และปริมณฑล ส่วนสาเหตุที่ต้องปิดสถานที่ต่างๆ ใน กทม.และปริมณฑล 14 วันนั้น เพื่อให้เจ้าของสถานที่ใช้ช่วงเวลาดังกล่าวทำบิ๊กคลีนนิง 
เมื่อถามว่าฟิตเนสจะปิดด้วยหรือไม่ นายอนุทินย้อนถามว่าแล้วเป็นสถานบริการหรือไม่ ทั้งนี้ในทางปฏิบัติ การออกกำลังกายจะมีละอองฝอยและสารคัดหลั่งทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ จึงบอกว่าต้องทำความสะอาดตลอดเวลาในสถานที่ที่มีการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลออกมาตรการให้สถานบันเทิง สนามมวย อาบอบนวด สนามม้า โรงภาพยนตร์ ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปิดการให้บริการเป็นเวลา 14 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.นี้ ว่าไม่ถึงขั้นชัตดาวน์ ส่วนสถานบริการที่เข้าข่ายมาตรการนี้คือกิจการที่ไปขอจดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยเป็นสถานบริการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาทิ อาบอบนวด ร้านบริการนวดแผนโบราณ ร้านบริการนวดตัวหรือนวดฝ่าเท้า และสถานที่เหล่านี้มีโอกาสเกิดการแพร่เชื้อโรคได้ และมาตรการนี้ยังครอบคลุมไปถึงสถานบันเทิง ผับ บาร์ หรือร้านอาหารที่มีการเล่นดนตรีสด ส่วนโรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร คลินิกเวชกรรม สถานเสริมความงาม ไม่ใช่สถานบริการ จึงไม่ต้องปิด 14 วัน รวมถึงผู้ประกอบอาชีพรับจ้างนวดแผนโบราณตามบ้าน สามารถดำเนินการต่อไปได้ ส่วนโรงแรมที่มีอาบอบนวดหรือแผนกนวดแผนไทย ก็ต้องปิดการให้บริการ ส่วนที่เป็นห้องพักยังทำการตามปกติ สำหรับกรณีของสถานที่ออกกำลังกายและฟิตเนสนั้น ต้องไปดูตามนิยามใน พ.ร.บ.สถานบริการ 
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า สถานที่ที่ถูกปิด 14 วันนี้ต้องหยุดการให้บริการ แล้วไปทำความสะอาดครั้งใหญ่ ภายในสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ในสถานประกอบการ จากนั้นจะพิจารณากันอีกครั้งว่าควรจะขยายมาตรการนี้ไปใช้กับจังหวัดอื่นๆ เมื่อไหร่ อย่างไร ขณะเดียวกันจะพิจารณาว่าควรขยายจำนวนวันปิดการให้บริการไปอีกกี่วัน ซึ่งการพิจารณาเรื่องดังกล่าวต้องมีการพิจารณาตามสถานการณ์แบบวันต่อวัน ส่วนในช่วงนี้ถ้ามีจังหวัดใดที่อยากดำเนินการมาตรการเช่นนี้บ้าง ผู้ว่าฯ มีอำนาจพิจารณาตัดสินใจ ตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 
นัดคุยเจ้าของโรงแรม
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวถึงมาตรการการรักษาในโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ว่าได้หารือและสรุปมาตรการในทุกโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะต้องรักษาให้หาย เพราะในอนาคตจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีมาตรานี้ออกมา จึงต้องเตรียมห้องรองรับผู้ป่วยหนัก และเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ โดยในวันที่ 18 มี.ค. จะมีการประชุมเพื่อหารือเรื่องการบริหารจัดการผู้ป่วยติดเชื้อ แต่ขอย้ำว่าผู้ป่วยติดเชื้อ 80% มีอาการไม่รุนแรง มีเพียง 10% เท่านั้นที่มีอาการหนัก แต่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างร่างกายและโรคประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของเรายังไม่ถึง 1% 
“เรากำลังประสานไปยังเจ้าของโรงแรมเก่าๆ หรือโรงแรมที่บริหารไม่สำเร็จ ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ประมาณ 2,000 ห้อง เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่อาการไม่รุนแรง กรณีมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขึ้น หากโรงแรมใดต้องการเข้าร่วมโครงการโรงแรมช่วยชาติช่วยวิกฤติโควิด-19 สามารถมาสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยภาครัฐจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย” นายสาธิตกล่าว
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์และอุทัยธานี สั่งปิดเมืองสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่า ในเบื้องต้น สธ.ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคระบาด โดยมีผู้ว่าฯ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงส่วนปกครองทั้งประเทศ ยืนยันว่าผู้ว่าฯ มีอำนาจเต็มที่ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดในการออกมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องปรึกษาใคร แต่มาตรการดังกล่าวจะต้องผ่านคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดที่มีแพทย์และส่วนเกี่ยวข้องหลายหน่วยงานช่วยพิจารณา
“ผมได้ดูในเนื้อหาของคำว่า ปิดเมือง คือมีมาตรการคัดกรองคนเข้าเมือง และไม่ให้คนรวมกลุ่มกันจัดกิจกรรม ซึ่งก็ถือว่าตรงตามมาตรการที่ควรจะทำ ซึ่งคำพูดดูเหมือนว่าปิดเมือง แต่หลักการปฏิบัติเป็นการสกรีนคนทั้งเมือง ยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมาย และไม่ต้องมาหารือหรือปรึกษาผม เพราะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดมีอำนาจโดยชอบธรรมอยู่แล้ว”พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หลายประเทศพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ว่าสหรัฐอเมริกาและจีนประสานมาว่าพร้อมให้ความช่วยเหลือ โดยเป็นลักษณะการเสนอตัวช่วยจัดหาหรือช่วยเราติดต่อการซื้อสินค้าในราคาที่เหมาะสม
ต่อมาในช่วงค่ำ พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการที่ได้ผ่าน ครม.แล้ว ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.).
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"