นำน้ำจากโครงการอันเนื่องฯ ช่วยบุรีรัมย์พ้นวิกฤติภัยแล้ง ปี 63


เพิ่มเพื่อน    

 

นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำลำนางรองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเป็นประธานการประชุมติดตามการบริหารจัดการลุ่มน้ำของสำนักงานชลประทานที่ 8 รวมทั้งโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์  เมื่อวันศุกร์ ที่ 13 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

 

ภายหลังการประชุมนายเทิดพงษ์  ชัยอุดม  ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ เผยว่า  จังหวัดบุรีรัมย์ปี 2562 ที่ผ่านมาประสบปัญหาน้ำแล้ง 1 ปีเต็ม   เป็นผลให้ในปี 2563 ยังคงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งทางชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีการเตรียมการมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงปลายฝน ด้วยการสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบพบว่าที่ผ่านมา พื้นที่ด้านเกษตรกรรม ระบบชลประทานช่วยเหลือแทบไม่ได้เลยหรือน้อยมาก และจากปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งเก็บกัก ณ ปัจจุบันยังน้อยอยู่เนื่องจากฝนทิ้งช่วงนาน  จึงเน้นการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนเป็นประการสำคัญ 

 

 

และจะดำเนินการในหลายรูปแบบ เช่น นำน้ำจากโครงการอ่างเก็บน้ำลำนางรองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ น้ำจากลำน้ำปะเทีย และลำจังหัน ผันเข้าสู่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตประปาให้กับเมืองบุรีรัมย์ ในรูปแบบระบบอ่างพวง ระยะทางกว่า 110 กิโลเมตร โดยตลอดเส้นทางน้ำจะส่งให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ตลอดแนวสำหรับการอุปโภคบริโภคและผลิตน้ำประปาให้กับตัวเมืองบุรีรัมย์  จะทำให้มีน้ำเพียงพอไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2563  ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝนพอดี

 

“ประชาชนชาวบุรีรัมย์เมื่อทราบเรื่องนี้ต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานพระราชดำริให้มีการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ไว้หลายโครงการ ที่ตลอดมาได้นำมาใช้แประโยชน์ของราษฎรอย่างต่อเนื่อง จวบจนปัจจุบันก็ยังสามารถนำน้ำจากส่วนนี้มาใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขวิกฤติการขาดแคลนน้ำของประชาชนในเมือง นอกจากราษฎรในพื้นที่นอกเมืองได้ใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอแล้ว” นายเทิดพงษ์  ชัยอุดม  กล่าว

 

 

สำหรับการบริหารจัดการลุ่มน้ำในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 8  นั้นมีพื้นที่รับผิดชอบรวม 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ รวม 94 อำเภอ จำนวน 29.862 ล้านไร่  พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตลุ่มน้ำมูลประกอบด้วยพื้นที่ลุ่มน้ำสาขา 22 ลุ่มน้ำสาขา จาก 31 สาขาของลุ่มน้ำมูล โดยมีโครงการชลประทานขนาดใหญ่ 8 แห่ง ขนาดกลาง 71 แห่ง และโครงการชลประทานขนาดเล็ก โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการหมู่บ้านป้องกันชายแดน 1,495 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 2,295 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทานรวม 1,361,554 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์รวม 619,390 ไร่

 

ในส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ มีขนาดพื้นที่ 10,322  ตารางกิโลเมตร หรือ 6.45 ล้านไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 3.651 ล้านไร่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ลุ่มน้ำในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วย 10 ลุ่มน้ำสาขา ได้แก่ ลุ่มน้ำจักราช  ลุ่มน้ำลำปลายมาศ  ลุ่มน้ำลำน้ำมูลส่วนที่ 2  ลุ่มน้ำลำสะเทด  ลุ่มน้ำลำพังชู   ลุ่มน้ำห้วยแอก ลุ่มน้ำลำนางรอง  ลุ่มน้ำลำปะเทีย  ลุ่มน้ำห้วยตะโคง และลุ่มน้ำลำชี สถานการณ์น้ำในปัจจุบันพบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 16 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพเก็บกักน้ำรวมกันทั้งสิ้น 295.38 ล้านลูกบาศก์เมตร  มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 65.63 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 22.22 % มีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 50.18 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 16.99 % ซึ่งน้อยกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2562 จึงคาดว่าจะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่เศรษฐกิจ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้วางแผนแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำไว้เรียบร้อยแล้วดังที่กล่าวมาข้างต้น 

 

ในการนี้องคมนตรีและคณะ ได้เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำลำจังหันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสำโรงใหม่ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดกลาง ขนาดความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 36 ล้านลูกบาศก์เมตร มีระบบส่งน้ำ ประกอบด้วยคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา เป็นคลองดาดคอนกรีต ความยาวรวม 25.214 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทาน จำนวน 25,255 ไร่ ราษฎรจำนวน 3,305 ครัวเรือน จำนวน 18 หมู่บ้าน มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอตลอดปี  และร่วมปล่อยพันธุ์ปลากระแหและปลาจาด จำนวน 100,000 ตัว  ก่อนเดินทางต่อไปยังประตูระบายน้ำบ้านเทพพยัคฆ์ ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อติดตามความพร้อมในการทำหน้าที่ผันน้ำเข้าสู่ระบบส่งน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำของจังหวัดบุรีรัมย์

 

โอกาสนี้องคมนตรี ได้พบปะเยี่ยมราษฎร และกล่าวถึงความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อราษฎร ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในครั้งนี้


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"