รับมือวิกฤติเศรษฐกิจ ในสงครามโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

 ข้อเสนอรับมือเศรษฐกิจถดถอย ออก พรก.-ตั้งงบกลาง อัดฉีดเงินช่วยประชาชน

                วิกฤตการณ์โควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วโลกในวงกว้าง หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อ-ผู้ป่วย เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศไทยที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อ-ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน 

                อีกหนึ่งบริบทที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ "ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ" เพราะลำพังก่อนหน้านี้ที่ไม่มี โควิด-19 สภาพเศรษฐกิจไทยก็ซึม-ทรง-ทรุดหนักอยู่แล้ว เมื่อมาเจอวิกฤติโควิด-19 ซ้ำเติมเข้าไปอีก  ทำเอาประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส โดยเฉพาะที่น่าห่วงก็คือปัญหาการเลิกจ้าง การว่างงาน ที่ทุกฝ่ายเชื่อว่านับจากนี้จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนการขาดรายได้ของประชาชนจำนวนมาก จากหลายมาตรการที่รัฐบาลใช้เพื่อสกัดวิกฤติโควิด-19

                "กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง-(ว่าที่) หัวหน้าพรรคกล้า" ที่อยู่ระหว่างการรอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลในการรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงนี้ รวมถึงที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกหลายระลอกจากผลพวง โควิด-19 ภายใต้การเน้นย้ำให้รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการรองรับต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ข้อเสนอให้หน่วยราชการปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงทุกหน่วย 10 เปอร์เซ็นต์จากกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะได้เงินประมาณ 3 แสน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาเป็นกองกลางช่วยประชาชนฝ่าวิกฤติรอบนี้

                "อันดับแรกเลยก็คือต้องรื้องบประมาณ ผมจะบอกเลยว่าเงื่อนไขการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ที่บังคับใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มันเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ประชาชนเดือดร้อน ผู้ประกอบการเดือดร้อน เราต้องจัดสรรงบประมาณใหม่ อะไรที่ยังไม่จำเป็นต้องพักไว้ก่อน เอาเงินมาไว้กองกลางแล้วก็ออกนโยบายชัดเจนว่าจะดูแลประชาชนที่ขาดรายได้อย่างไร จะต่อสายป่านให้ผู้ประกอบการอย่างไร โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน" นี้คือข้อเสนอเร่งด่วนของ อดีต รมว.การคลัง ส่วนรายละเอียดและวิธีการจะทำอย่างไร อดีตขุนคลัง-กรณ์บอกไว้ดังนี้

                "กรณ์-อดีต รมว.การคลัง" พูดถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อจากนี้ว่า ไม่ต้องประเมินคนไทยทุกคนก็สัมผัสได้ด้วยตัวเองว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้อยู่ในสภาพอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าการดูแลเรื่องสภาวะเศรษฐกิจของประเทศต้องเลิกคิดด้วยมิติเดิมๆ เช่นเรื่องอัตรา GDP เพราะเวลานี้ต้องคิดเรื่องทำให้ทุกคนอยู่รอดอย่างเดียว เพราะเป็นช่วงที่ต่างประเทศเรียกว่า survival mode ซึ่งความอยู่รอดก็จะวัดด้วยเงินสดในมือ ก็ขอย้ำไปถึงรัฐบาลว่าการออกมาตรการต่างๆ ในช่วงนี้จะต้องมุ่งเป้าไปที่เรื่องของการเติมเงินให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กที่สายป่านไม่ยาว ให้ถึงมือประชาชนที่เดือดร้อนจากการสูญเสียอาชีพ สูญเสียโอกาสในการทำงาน

                เราต้องจัดลำดับความสำคัญแบบนี้ เพราะจากประสบการณ์ที่เราเคยผ่านวิกฤติกันมา 1-2 รอบ อย่างเมื่อสิบปีที่แล้ว (วิกฤติเศรษฐกิจ The Great Recession ช่วงปี 2551-53 หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์) ที่ตอนนั้นเป้าหมายของเราที่ตอนนั้นเป็นรัฐบาล ก็คือจะทำอย่างไรเพื่อต่อท่ออากาศหล่อเลี้ยงเขา ไม่ให้ล้มหายตายจากไปจากระบบเศรษฐกิจ เพราะเราทำธุรกิจกันมา เรารู้ว่าพอธุรกิจเจ๊งแล้วโอกาสจะกลับคืนมามันยากมาก เพราะฉะนั้นอะไรก็ได้ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการวันนี้ ทำอย่างไรก็ได้ ต้องไม่ให้เขาปลดคนงาน ทำให้เขาไม่อยู่ในสภาพล้มละลาย ที่ก็คือการต้องลดค่าใช้จ่าย เพิ่มเงินสดในมือ

                "กรณ์" กล่าวต่อไปว่า สำหรับเศรษฐกิจหลังจากนี้ต่อไปจะฟื้นตัวต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน เราไม่สามารถรู้ได้ เราจึงต้องวางแผนไว้เผื่อว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อ ซึ่งถ้าเราดูสถิติของการแพร่เชื้อก็จะเห็นได้ว่า ในประเทศที่มีมาตรการชัดเจน เขาสามารถระงับการแพร่เชื้อได้ในระยะเวลาที่ไม่นานมากนัก อย่างถ้าเราดูเช่นประเทศญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เราจะเห็นได้ว่าด้วยการใช้มาตรการที่เข้มงวดของประเทศเหล่านี้ มันทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด พอมันเริ่มถึงจุดนั้นเราก็จะเริ่มประมาณการได้แล้วว่า วิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจมันจะกลับมาสู่ความเป็นปกติได้เมื่อใด

                ...หากวิถีชีวิตกลับมาสู่ปกติเมื่อใด ระบบเศรษฐกิจก็จะกลับมาสู่ระบบปกติเมื่อนั้น ซึ่งมันก็มีสัญญาณในทางบวกให้เห็นเช่นกัน เช่นใน 2-3 สัปดาห์หลังจากมีการใช้มาตรการที่เข้มงวด เช่นกรณีที่ อู่ฮั่นหรือที่ประเทศเกาหลีใต้ จำนวนผู้ติดเชื้อมันจะถึงจุดพีกแล้วหลังจากนั้นมันจะลดลง ที่จะไม่ใช้เวลานานมากนัก ก็เลยเป็นเหตุผลให้หลายรัฐบาลเวลานี้เขาใช้มาตรการที่เข้มงวดมาก เพื่อที่จะสกัดวงจรการแพร่เชื้อ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและวินัยในการบังคับใช้นโยบายเหล่านี้ อย่างเช่นที่อิตาลี  ผลของการใช้มาตรการสั่งปิดเมือง ใช้เวลานานในระดับเดียวกับอู่ฮั่นกับเกาหลี หรือฮอกไกโดเขาก็มีการประมาณการว่า หากมีประสิทธิภาพเท่ากันตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุดจะสูงสุดในวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม  แต่นักวิชาการส่วนใหญ่เขาก็ไม่มั่นใจว่าประเทศอิตาลีจะมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับที่ประเทศจีนหรือไม่ในการควบคุม เพราะที่จีนเข้มงวดมากให้ออกจากบ้านได้แค่ทีละหนึ่งคน และหากพบว่ามีใครทำผิดกฎหมายหรือทำผิดกติกาที่เกี่ยวข้องกับมาตรการที่จีนใช้ ก็จะมีตำรวจคอยตรวจสอบและหากพบว่าทำผิดก็จับทันที

                ...ผมก็ไม่เชื่อว่าที่ประเทศอิตาลีจะมีการดำเนินการในระดับแบบนั้น ก็ทำให้ที่อิตาลีอาจใช้เวลานานกว่า แต่มันก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าความหวังยังมี หากว่าเรารักษาวินัยในการรักษาระยะ (social  distance) ตามคำแนะนำของแพทย์ เราก็อาจถึงจุดที่เลวร้ายที่สุดในแง่ของจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้ แต่จากตอนนี้ไปถึงช่วงดังกล่าวก็จะยังมีสถิติที่น่าหวั่นเกรงปรากฏให้ประชาชนได้รับรู้อีกมาก อย่างตอนที่เราสัมภาษณ์กันอยู่ก็เพิ่งจะมีข่าวพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 60 คนภายในวันเดียว ก็ทำให้อัตราการขยายตัวของผู้ป่วยก็จะก้าวกระโดดจากนี้ เราได้เปรียบเทียบสถิติกับประเทศอื่นๆ เราเห็นเลยว่าจากจุดที่มีผู้ป่วย 200 คน ซึ่งมันเป็นจำนวนที่มีนัย เพราะว่ามันมีการแพร่ไปได้ในวงกว้างหลังจากนั้นสิบวัน ที่อิหร่านกับสเปนมีผู้ป่วยจาก 200 ภายใน 10 วัน เพิ่มเป็น 6,500 คน ส่วนประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็จาก 200 คนไปเป็น 5,000/ 4,000/ 3,000/ 2,000 คน แล้วแต่จำนวนของแต่ละประเทศ แต่ก็เพิ่มเป็นหลักหลายพันทุกประเทศในเวลาแค่สิบวัน มีแค่ที่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่เมื่อถึง 200 คนแล้ว หลังจากนั้นอีก 10 วันมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแค่ 500 คน

                เราก็ต้องไปดูว่าแล้วเหตุใดที่ญี่ปุ่นสถิติถึงแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เราก็พอสรุปได้ว่าเพราะเขาใช้มาตรการที่ชัดเจนมาก เพราะบริเวณที่พบผู้ป่วยมากสุดคือบริเวณฮอกไกโด ซึ่งจากนั้นผู้ว่าการเมืองฮอกไกโดมีมาตรการที่ออกมาเข้มงวดมาก มีการสั่งปิดโรงเรียนและสถานที่ต่างๆ ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่มีกระแส แต่สามารถระงับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคงเป็นเรื่องของวินัย ของคนญี่ปุ่นด้วยที่ฟังเจ้าหน้าที่ ตลอดจนวัฒนธรรมเรื่องการรักความสะอาดที่ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ผมเชื่อว่ามันมีผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อในญี่ปุ่น ที่ผลออกมาพบว่าน้อยกว่าประเทศในทวีปยุโรป หรืออิหร่านและประเทศอื่นๆ ได้ อันนี้ต่อไปก็ขึ้นอยู่กับเราแล้ว หลังเราเพิ่งผ่านหลักผู้ป่วย 200 คนมา  ว่าต่อไปเราจะเป็นเหมือนสเปน อิหร่าน หรือญี่ปุ่น ก็ขึ้นอยู่กับคนไทยที่จะทำให้เรามีผลออกมาอย่างไร  หรืออาจจะเป็นอย่างที่เขาพูดกันที่ว่า ประเทศเราร้อนจึงทำให้อาจมีผลน้อยกว่า แต่จุดนี้เวลาจะเป็นตัวพิสูจน์ แต่ผมเองก็ไม่ค่อยเชื่อในทฤษฎีนี้เท่าใด

 

เร่งออกมาตรการต่อท่ออากาศ

ผู้ประกอบการ ก่อนหมดลมหายใจ

                "กรณ์-ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า" บอกอีกว่า อย่างไรก็ตามผลในทางเศรษฐกิจวันนี้เราสัมผัสได้แล้ว  และทำใจได้ว่ายังไงก็ต้องใช้เวลากว่าที่จะฟื้นกลับมาสู่สภาพปกติ ผมถึงเห็นว่าทุกมาตรการที่รัฐบาลจะออกมาต่อจากนี้จะต้อง "ต่อท่ออากาศ" ให้ผู้ประกอบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่สายป่านสั้น ต่อท่ออากาศให้ประชาชนที่เป็นลูกจ้าง ผู้ทำมาหากินรายวัน คนที่หาเช้ากินค่ำ ที่ตอนนี้ไม่มีโอกาสในการทำมาหากิน จะทำอย่างไรให้พวกเขาอยู่ได้ ซึ่งข่าวดีก็คือรัฐบาลมีกำลังพอ พูดง่ายๆ เงินไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องมีมาตรการที่สร้างความอุ่นใจ ความมั่นใจให้ประชาชนเมื่อรัฐบาลประกาศออกมา

                สิ่งที่อยากเห็นรัฐบาลทำในเวลานี้ก็คือ ลำดับแรกหากสมมุติเปรียบเทียบว่าเราเป็นบริษัททั่วไป เรามีแผนการลงทุน แผนการเงินที่เราทำไว้เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ถามว่าวันนี้เรายังจะสามารถใช้แผนเดิมดังกล่าวได้อีกหรือไม่ที่เราคิดไว้เมื่อ 6 เดือนก่อน ก็คือไม่มีทางเพราะวันนี้โลกมันเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เงื่อนไขทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่ประเทศไทย รัฐบาล มีงบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่ได้ออกแบบการใช้งบประมาณจากเมื่อหกเดือนที่แล้ว แต่มีการออกแบบการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีเมื่อปีที่แล้วด้วยซ้ำไป แต่วันนี้ก็ยังเป็นแผนเดิมอยู่ เป็นกรอบแผนงบประมาณรายจ่ายที่เป็นแผนเดิม บนสมมุติฐานเดิม สภาพแวดล้อมแบบเดิม ผมเชื่อว่าถ้าไปเปิดดูก็จะพบว่ากรอบของการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ก็ยังอยู่บนสมมุติฐานว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตที่ 3 เปอร์เซ็นต์

                จึงต้องถามว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่ที่เราจะยังคงใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ที่เป็นกฎหมาย เป็นแผนการเงินของประเทศในวันนี้ มันไม่ใช่

                ผมจึงคิดว่ารัฐบาลวันนี้ต้องมีคำสั่งในวันนี้เลย ให้รัฐมนตรีของทุกกระทรวงเอางบประมาณของแต่ละกระทรวงไปทบทวน และสิ่งที่ผมเชื่อว่านายกรัฐมนตรีควรจะทำก็คือ ต้องมีการกำชับให้ทุกหน่วยงานต้องมีการพิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปีของทุกหน่วยงาน เพื่อนำเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีคืนกลับมาไว้ที่ส่วนกลาง โดยตั้งไว้ที่กระทรวงละอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจริงๆ ผมคิดว่าให้ปรับลดลงมา 20 เปอร์เซ็นต์ก็ยังสามารถทำได้ แต่สมมุติเริ่มที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 กรอบวงเงินอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ดังนั้น 10 เปอร์เซ็นต์ก็คือ 3 แสน 3 หมื่นล้านบาท

                "วงเงินที่ปรับลดดังกล่าวให้นำมาไว้ที่ส่วนกลาง ตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายฉุกเฉิน และเพื่อวินัยการคลังก็ระบุไปให้ชัดเลยว่า วงเงิน 3 แสน 3 หมื่นล้านบาทที่รับโอนกลับคืนมา ให้ใช้เพื่อกรณีเยียวยาและแก้ปัญหาโควิด-19 เท่านั้น" แล้วหลังจากนั้นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินค่อยไปตรวจสอบอีกทีว่า การใช้งบประมาณดังกล่าวตรงกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์หรือไม่

                วิธีการดังกล่าวสามารถทำได้เลย เช่นวันที่เราให้สัมภาษณ์กันอยู่ตอนนี้ พฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม ก็สั่งการไปแล้วให้แต่ละหน่วยงานส่งเรื่องกลับมายังคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุม ครม.วันอังคาร เพื่ออนุมัติการโอนงบประมาณดังกล่าว หลังจากนั้นตามขั้นตอนรัฐบาลก็ไปออกพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ โดยขั้นตอนถ้าเป็นช่วงปกติก็นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ความเห็นชอบ 3 วาระตามขั้นตอนต่อไป แต่เมื่อช่วงนี้ไม่ใช่ช่วงปกติ ที่อาจไม่อยากเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่จะให้ ส.ส.กลับมาประชุมในห้องเดียวกันที่สภา

                "ผมก็คิดว่ารัฐบาลก็มีเหตุผลดีพอที่จะออกเป็น 'พระราชกำหนด' ออกมาได้เลย โดยใช้อำนาจของรัฐในการออกเป็น พ.ร.บ.โอนงบประมาณ แล้วก็ประกาศให้ประชาชนรับทราบ เขาก็จะเห็นว่ารัฐบาลตื่นตัว มีความพร้อมแล้วที่จะยื่นมือเข้ามาดูแลเขา หลังจากนั้นรัฐบาลก็ออกมาตรการต่างๆ ออกมาให้ชัด"

                สำหรับมาตรการที่รัฐบาลควรจะต้องทำออกมาก็เช่น ลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ และต่อสายป่าน คือมีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ที่ให้เข้าถึงได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขมาก ไม่ต้องมีหลักประกัน ให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อยไปจนถึงผู้ประกอบขนาดเล็ก เช่นกิจการที่มียอดขายปีละไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปีในกลุ่ม SME และเป็นงบประมาณสำหรับไว้เป็น "เบี้ยยังชีพ" ผมใช้คำนี้เลยก็ได้ ให้กับประชาชนที่วันนี้ไม่มีโอกาสทำงานหาเงิน

                แนะมาตรการเบี้ยยังชีพเดือนละ 1 หมื่น

                -คือมาตรการแจกเงินแบบที่สหรัฐอเมริกาทำ โดยที่ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสคนไม่เห็นด้วย ด่ารัฐบาลเรื่องแนวคิดจะแจกเงิน แต่สหรัฐฯ กลับใช้วิธีการนี้?

                คือหากเป็นการแจกเงินแบบในอดีต มันคือการยิงแบบหว่าน แต่ตรงนี้ผมกำลังบอกว่ามันเหมือนกับเป็นเบี้ยยังชีพ ซึ่งมีความหมายที่ต่างกัน สำหรับคนที่เข้าหลักเกณฑ์ที่ก็ต้องมานั่งกำหนดหลักเกณฑ์กัน เช่นพิจารณาจากอัตราเงินเดือน โดยหากเขาถูกให้หยุดพักงานหรือถูกปลดออกจากงาน หรือสมมุติ เป็นคนที่หาเช้ากินค่ำ หรือแม้แต่เป็นพ่อค้าแม่ค้าอยู่ตามตลาดสด หรือเป็นกลุ่มผู้ให้บริการนักท่องเที่ยว  ซึ่งตอนนี้ไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ ก็ต้องยิงให้ทุกคนเพื่อให้เขาสามารถเข้าถึงเงินส่วนนี้ โดยกำหนดไปเลยก็ได้ว่าจะให้กี่เดือน เขาจะได้มีความสบายใจ ส่วนจะให้เงินกันคนละจำนวนเท่าใดก็ต้องมาว่ากัน

                "เพียงแต่ต้องการจะบอกว่าด้วยเงินที่ถูกกันออกมาไว้ดังกล่าว จำนวน 3 แสน 3 หมื่นล้านบาท  สมมุติว่าเราให้เงินกันคนละหมื่นบาทต่อเดือน ที่ก็คือค่าแรงขั้นต่ำ 300 กว่าบาท คูณด้วย 30 วัน เราสามารถที่จะดูแลให้คนอย่างน้อยเขามีเงินเพียงพอในการใช้จ่าย เช่นซื้อข้าวให้คนในครอบครัวได้ เป็นระยะเวลาอย่างน้อยเป็นปี ให้คนเป็นล้านคน"

                ก็อาจมีคำถามว่า เงิน 3 แสน 3 หมื่นล้านบาทที่จะโอนมา เดิมทีจะนำไปใช้เพื่อทำอะไร เดิมทีก็คือ ยกตัวอย่างเช่น อาจเป็นงบเดินทางไปต่างประเทศ ที่วันนี้ก็ไม่มีใครเดินทางไปอยู่แล้ว หรืองบสัมมนา หรือแม้แต่งบลงทุนบางประเภท ที่วันนี้ยังไงก็ใช้ไม่ทันในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 อยู่ดี เพราะงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวมีผลใช้ได้ถึงแค่ 30 กันยายนนี้เท่านั้น และตอนนี้ไม่ใช่ว่าที่จะมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ได้ จึงไม่มีเวลาที่จะใช้งบ หรือพูดก็พูดเถอะแม้แต่อาวุธยุทโธปกรณ์  ถามว่าจำเป็นต้องซื้อตอนนี้หรือไม่ เมื่อเทียบกับต้องไปดูแลประชาชนที่กำลังเดือดร้อนเพื่อให้พวกเขามีเงินซื้อข้าวกิน ให้ไปจัดซื้อปีหน้าได้หรือไม่ แล้วนำเงินงบประมาณรายจ่ายในส่วนนั้นมาไว้ในกองนี้ เพื่อให้สถานพยาบาลของเรามีอุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอที่จะมารองรับจำนวนผู้ป่วยที่อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นหลักหลายพันหลักหมื่น และมีงบประมาณไว้เพียงพอในการที่จะไปเยียวยาเป็นเบี้ยยังชีพให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่นต้องตกงาน

                ผมคิดว่าหากมีสัญญาณออกมาแบบนี้ ลำดับแรกในเรื่องเชิงจิตวิทยาของประชาชน ที่ในวันนี้เขายังไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้เขาจะมีข้าวกินหรือไม่ มันจะมีผลสำคัญในการเยียวยาสภาพจิตของสังคมที่วันนี้บอบช้ำมาก

                -ที่เสนอให้เงินช่วยเหลือเดือนละหนึ่งหมื่นบาท จะต้องจ่ายในระยะเวลานานเท่าใด ถ้าต้องให้เป็นปี จะเป็นภาระงบประมาณหรือไม่?

                หากลองคำนวณดู เช่นมีผู้เข้าเกณฑ์ประมาณเบื้องต้น 1 ล้านคน โดยเรามีเบี้ยยังชีพให้เขาเดือนละ 10,000 บาท ก็เท่ากับเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท หนึ่งปีเท่ากับ 1 แสน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าทำตามข้อเสนอที่ให้ตัดลดงบประมาณของทุกกระทรวงจากกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีนี้ลงร้อยละ 10  ก็จะได้เงินกองกลางที่ 3 แสน 3 หมื่นล้านบาท เราไม่ได้ให้ทุกคน แต่เราให้คนที่เดือดร้อนและเข้าเกณฑ์

                ถามย้ำถึงข้อเสนอในการปรับลดงบประมาณ ที่ให้ออกเป็นพระราชกำหนดโอนเงินงบประมาณเพื่อกันเงินมาเป็นงบกลาง นอกจากข้อเสนอดังกล่าวแล้วยังสามารถใช้กลไกทางกฎหมายออกกฎหมายหรือ พ.ร.ก.อะไรได้อีก "กรณ์-อดีต รมว.การคลัง" ขยายประเด็นไว้ว่า มันขึ้นอยู่กับว่าเราต้องเตรียมกระสุนไว้เท่าใด คือจากกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 อะไรที่ภาครัฐรู้อยู่แล้วว่าใช้งบประมาณไม่ทันจริงๆ หรือเรามั่นใจอยู่แล้วว่าไม่จำเป็น ก็ให้ปรับลด ตัดงบมาไว้ตรงกลาง หากไม่ใช่ 10 เปอร์เซ็นต์  แต่เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ งบก็เป็น 6 แสน 6 หมื่นล้านบาท ถ้าคิดว่าจำนวนเงินเท่านี้เพียงพอแล้วสำหรับปีนี้ในการรองรับวิกฤติโควิดปีนี้ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องหาเงินจากแหล่งอื่น ระบบวินัยทางการคลังยังคงเหมือนเดิมทุกอย่าง เพราะว่าใช้เงินเท่าเดิมตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563

                แต่ถ้าสมมุติกรณีหากว่าสถานการณ์มันเลวร้ายลงไปจากนี้อีก เครื่องมือของรัฐบาลก็ยังมีอีก เช่น การออกงบประมาณกลางปี ออกมาได้อีกงบประมาณหนึ่งเลย ซึ่งรัฐบาลสามารถทำได้ เพราะตามเพดานเงินกู้ของ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ จริงๆ รัฐบาลสามารถกู้ได้ประมาณ 7 แสนล้านบาทโดยประมาณ  ซึ่งใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รัฐบาลกู้เงินไว้ที่ 3 แสน 7 หมื่นล้านบาท ก็เหลืออีก 3  แสน 3 หมื่นล้านบาท ก็ออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายกลางปีได้ แต่อาจปรับลดลงมาเพราะรายได้จากการเก็บภาษีมันอาจจะลดลง เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อสถานะทางการคลังมากเกินไป ก็ไม่ต้องกู้เต็มเพดานก็ได้

                "แต่ถ้ามันวิกฤติจริงๆ ยังไม่พอ ก็สามารถออกเป็นพระราชกำหนดได้อีก เหมือนกับสมัยผมเป็นรัฐบาลที่ออกพระราชกำหนดไทยเข้มแข็งในช่วงวิกฤติเวลานั้น เพียงแต่ต้องจัดลำดับความสำคัญให้ได้ในเวลานี้ว่าจะใช้เงินไปทางไหน ที่ผมต้องขอเน้นว่าควรต้องใช้เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ให้เขาอยู่ได้ให้เขามีกิน ช่วยเยียวยาเป็นสายป่านให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME รายย่อยที่ตอนนี้กำลังประสบปัญหาอย่างหนักเพราะกำลังขาดแคลนรายได้" อดีต รมว.การคลังให้ความเห็น 

                -จากวิกฤติเวลานี้ประเมินว่าสภาพการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงปลายปีจะเลวร้ายขนาดไหน?

                ผมว่าวันต่อวันเลยครับตอนนี้ คือภาพรวมเศรษฐกิจก็จะติดลบ เศรษฐกิจของเราน่าจะถดถอยอยู่แล้ว ถ้าเปรียบเทียบอย่างสมัยปี 2551 ตอนนั้นจะพบว่าไม่มีออเดอร์สินค้าจากต่างประเทศเลย กำลังซื้อคนไทยก็หายไป ด้วยเหตุผลเดียวกัน แต่ก็ยังดีกว่าเมื่อเทียบกับตอนนี้ในหลายแง่มุม เพราะตอนนี้หนี้ครัวเรือนเทียบแล้วอยู่ที่ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80 และสถานการณ์วันนั้นกำลังซื้อของคนไทยเองยังพอมีอยู่ แต่ตอนนั้นผู้ประกอบการต้องปลดคนงานออกจากงานโดยเฉลี่ย ประมาณเดือนละ 60,000-70,000 คน ต่อเนื่องกันประมาณ 5-6 เดือน

                ผมจำได้ว่าตอนที่เราเข้าไปเป็นรัฐบาล แล้วหลังจากนั้นอีกประมาณ 3-4 เดือนมีคนว่างงานเพิ่มขึ้นเกือบล้านคน และมีความกังวลกันว่าอาจจะขึ้นไปถึงที่ 2 ล้านคน หากรัฐบาลตอนนั้นไม่ใช้ยาแรงในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตอนนั้น แต่ก็ดีที่เราสกัดไว้ได้และไม่ให้เลวร้ายมากไปกว่านั้น ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกัน ระหว่างตอนนั้นกับสภาวะปัจจุบัน การที่เราจะเห็นคนว่างงานจากสภาวะเศรษฐกิจ ถ้ามันยังคงยืดเยื้อต่อเนื่องก็อาจมีคนว่างงานล้านคน อาจจะเห็นได้ สองล้านคนเห็นได้ เพราะตอนนี้คนไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการมีกี่คน ก็เกือบทั้งหมด สุ่มเสี่ยงต่อการตกงาน แล้วมันก็จะกระทบไปเป็นลูกโซ่เลย

                -เทียบกันระหว่างเศรษฐกิจประเทศไทยมีปัญหา เศรษฐกิจล้มจากสภาวะเศรษฐกิจ กับเศรษฐกิจล้ม จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เช่นอนาคตโควิดหายไปแล้ว เศรษฐกิจประเทศจะฟื้นตัวเร็วกว่าหรือไม่?

                จะเร็วกว่าแน่นอนเพราะมันเป็นคล้ายๆ เงื่อนไขพิเศษ โดยเมื่อเงื่อนไขนี้หมดไปเราก็น่าที่จะหวังได้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็ว แต่ผมคิดว่ามีบทเรียนเยอะจากบทเรียนรอบนี้ ว่าเราต้องปรับตัวเราอย่างไรในแง่ของความยืดหยุ่นในการทำงาน

                ...ยกตัวอย่างเช่นประเด็นเรื่อง "หน้ากากอนามัย" ยังคงปล่อยให้มีการส่งออก โดยอ้างว่าเป็นเงื่อนไขของการส่งเสริมการลงทุน-บีโอไอ ผมคิดว่าให้อภัยยาก เพราะระบบต้องยืดหยุ่นเพียงพอที่จะบอกว่า ในกรณีฉุกเฉินจำเป็นก็ขอให้หน้ากากอนามัยส่วนดังกล่าวมีการขายในประเทศไทยแทน ประเทศอื่นเขาก็มีอย่างเยอรมนี มีคำสั่งไปที่บริษัท 3M ที่เป็นบริษัทของเยอรมนี ให้ระงับการส่งออก  อิตาลียังโกรธจนถึงทุกวันนี้ อันนี้ขนาดยุโรปด้วยกัน อิตาลีบอกว่าขาดแคลน แต่เยอรมนีบอกว่า NO  เพราะต้องใช้ในเยอรมนีและต้องเตรียมเผื่อไว้ด้วย

                ...มันอาจจะเป็นเรื่องของกฎหมาย ทัศคนติ หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ในระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน  คือต้องมีความยืดหยุ่นและทันต่อเหตุการณ์ มันต้องมีมากกว่านี้ ซึ่งถามว่าหนึ่งในความยืดหยุ่นและทันต่อเหตุการณ์คืออะไร ก็คือเรื่องของการใช้เทคโนโลยี เช่นการใช้เทคโนโลยีมาประมาณการว่าอีก 30  วันต่อจากนี้แนวโน้มสถานการณ์เวลานี้ ต่อไปอีก 30 วันน่าจะมีผู้ป่วยประมาณเท่าใด มันก็จะนำมาสู่การเตรียมการ การที่เราจะทำแบบนั้นได้ต้องมี data มีระบบข้อมูล โดยการจะมี data ได้ก็ต้องมีระบบการจัดเก็บ data ระบบการวิเคราะห์ data ซึ่งตอนนี้เราล้าหลังมากในระบบของรัฐ

                บทเรียนสำคัญจากเรื่องโควิด-19 ถ้าถามผม ในส่วนนี้ผมเห็นว่าภาครัฐจะต้อง digitize สำคัญมาก รัฐต้อง digitize แล้วมันจะมีความโปร่งใสตามมา เช่นหากมีการ ในระบบ IOT กระทรวงพาณิชย์ก็จะรู้ว่า หน้ากากอนามัย เมื่อนำออกมาจากโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย วันนี้เท่าไหร่ ผลิตออกมากี่หีบ แล้วแต่ละหีบไปที่ไหนบ้าง แล้วก็จะมีระบบขานรับ คือเมื่อร้านค้ารับหีบหน้ากากอนามัยที่ส่งมาจากโรงงานแล้ว  ก็จะไปรายงานในระบบ ก็ไม่ต้องตามอะไรเลย เพราะข้อมูลจะออกมาว่าร้านได้รับหน้ากากอนามัยแล้ว  และหลังจากนั้นประชาชนที่ต้องการซื้อหน้ากากอนามัย ก็จะเข้าไปเช็กข้อมูลในร้านที่ต้องการจะซื้อหน้ากากอนามัยได้ว่า ที่ร้านวันนี้รับมากี่ชิ้น แล้ววันนี้ขายไปแล้วเหลือในร้านอีกกี่ชิ้น เมื่อมีการซื้อขาย ก็จะมีข้อมูลหลักฐานใบซื้อขาย ใบเสร็จอีกต่างหาก เพราะมีระบบการซื้อขาย ก็จะไปยืนยันกันได้ว่ามีการซื้อขายกันจริง ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นพิเศษแบบนี้ รัฐบาลสามารถกำหนดได้เลยว่า คนไทยสามารถซื้อหน้ากากอนามัยได้คนละกี่อันต่อเดือน จะได้ไม่ต้องมาเข้าคิวที่กระทรวงพาณิชย์หรือร้านค้า แต่จะมีการจัดส่งหน้ากากอนามัยให้ถึงมือได้ทั้งหมด โดยทั้งหมดเทคโนโลยีมันเอื้อให้ทำได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องจินตนาการเพราะก็มีอย่างบางประเทศเขาทำแล้วเช่นไต้หวัน มันเป็นบทเรียน ผมจึงหวังว่าพ้นจากสถานการณ์ตรงนี้ไป นี่คือบทเรียนที่เราต้องนำไปแก้ไข สิ่งที่จะแย่ที่สุดก็คือ เมื่อทุกอย่างผ่านพ้นไปทุกคนก็จะลืมหมด

                ถามความเห็นเรื่องข้อเสนอให้ปิดเมือง อย่างที่จีนได้ทำการปิดอู่ฮั่น หรือที่ญี่ปุ่นก็มีการปิดฮอกไกโด ส่วนเกาหลีใต้ปิดสองเมือง แล้วหากประเทศไทยหรือกรุงเทพมหานครใช้วิธีการอย่างการปิดประเทศ  ผลกระทบจะแตกต่างกันหรือไม่โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ "กรณ์-ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า" มองว่า มันแล้วแต่จังหวะเวลา วันนี้เวลาผ่านไปนานแล้ว ผมว่าลำดับแรก เพราะเชื้อมันกระจายไปน่าจะทั่วประเทศแล้ว การที่เราจะปิดกรุงเทพมหานคร แต่ยังคงปล่อยให้มีการแพร่เชื้ออยู่ในจังหวัดอื่นๆ รวมถึงบริเวณปริมณฑล แล้วสุดท้ายเมื่อเราเปิดกรุงเทพมหานคร มันจะมีอะไรมาเป็นตัวยืนยันว่าเชื้อจะไม่กลับเข้ามา

                ...ส่วนเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ เราก็ต้องถามว่าคำว่า "ปิด" หมายถึงอะไร หาก "ปิด" หมายถึงว่าปิดชายแดนห้ามเข้า ก็ต้องดูตามข้อเท็จจริงว่า ณ วันนี้ผลจากการที่ประเทศอื่นๆ เขาปิดประเทศ และคนส่วนใหญ่เขาหลีกเลี่ยงการเดินทางอยู่แล้ว มันจะส่งผลกระทบอะไรมากกว่าหากเราไม่มีการปิด พูดง่ายๆ คนไม่มาอยู่แล้ว ผมยังมีความรู้สึกว่าถ้าเราดูการแก้ปัญหาโควิด-19 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเวลานี้ จะพบว่ามีความแตกต่างกันมากในเรื่องความเป็นเอกภาพในการหาทางออก อย่างเมื่อสิบปีที่แล้วในช่วงวิกฤติการเงิน ทุกประเทศมีการให้ความร่วมมืออย่างชัดเจนในการใช้นโยบายการคลังในการรักษาสถานภาพการคลังและเศรษฐกิจของประเทศ มันก็เลยฟื้นคืนชีพกลับมาเร็ว แต่รอบนี้การเมืองโลกมันเปลี่ยน การเมืองโลกเมื่อสิบปีที่แล้วที่มีบารัค โอบามา, กอร์ดอน บราวน์ มันเป็นยุคที่ยังมีความปรองดองกันอยู่ และระดับความสัมพันธ์ขององค์กรระหว่างประเทศยังมีอยู่ ซึ่งถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงด้วยวิกฤติเศรษฐกิจตอนนั้น และด้วยการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคของโดนัลด์ ทรัมป์, วลาดิมีร์ ปูติน โดยมีหลายประเทศพยายามลดความสัมพันธ์กับองค์กรระหว่างประเทศ ลดระดับความสำคัญของการเป็นองค์กรสากลโลก และให้ความสำคัญมากขึ้นกับการชูเรื่องของ "ชาตินิยม" พอมาเที่ยวนี้ก็เลยขาดความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งถ้าเราเปรียบเทียบสถานการณ์เช่นมีการตกลงอย่างพร้อมเพรียงกันว่า ให้ทุกประเทศพร้อมใจกันงดเดินทางโดยไม่จำเป็น เราก็จินตนาการได้ว่ามันก็จะมีผลต่อการกำจัดโรคนี้ได้พร้อมกัน และนำไปสู่โอกาสที่จะกลับมาสู่สภาวะปกติพร้อมกันได้เร็วขึ้น

                ผมกำลังจะบอกว่าถ้ามันไม่พร้อมกัน มันก็จะไม่เป็นปกติเสียที คือจะมีแค่ประเทศเดียวที่คนมีเชื้อ แล้วประเทศนั้นซึ่งจีน เกาหลีพิสูจน์มาแล้ว ก็สามารถแพร่เชื้อนี้ไปสู่ประเทศอื่นได้ เพราะฉะนั้นทำอะไรต้องทำพร้อมกัน แต่ว่ามันขาดการทำงานร่วมกันอย่างสิ้นเชิง อย่าง G-20 ยังไม่เคยมีการประชุมเรื่องนี้  แต่ในขณะที่ในอดีตช่วงวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ สมัยที่เรายังเป็นรัฐบาล ทาง G-20 ที่มีการประชุมกันที่กรุงลอนดอน กอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษเป็นเจ้าภาพการประชุม มีความเป็นเอกภาพ มีความชัดเจน เด็ดขาดมากในการร่วมมือกันกำหนดนโยบาย

                ...แต่สำหรับครั้งนี้ในการที่จะประชุมร่วมกันเพื่อหารือแนวทาง ที่ควรต้องทำร่วมกันก็ยังไม่เกิดขึ้นเลย ไม่ต้องดูอะไรอย่างในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ประเทศเดนมาร์กปิด แต่สวีเดนเปิด หรือในประเทศทวีปยุโรป เบลเยียมปิด แต่ฮอลแลนด์เปิด แล้วมันจะจบเมื่อไหร่ ความเป็น EU หายไปเลย นี่คือประเด็นที่ผมกังวล เพราะเมื่อเราเห็นมาตรการของแต่ละประเทศไปคนละทิศคนละทางแบบนี้ มันยิ่งทำให้ยาก แล้วถ้าสมมุติประเทศไหนปิดประเทศ ถามว่าคุณจะปิดได้นานแค่ไหน

                กรณีสำหรับประเทศไทยที่ผมเป็นห่วงและต้องคิดต่อไปก็คือ หากสมมุติเราไม่เด็ดขาด จะใช้คำว่า ปิดประเทศ อะไรก็แล้วแต่ แต่หากเราไม่เด็ดขาดในการกำจัดเชื้อ แล้วประเทศอื่นๆ เขากลับคืนสู่สภาวะปกติ แต่ประเทศไทยยังมีปัญหา คุณคิดว่าเขาจะเปิดให้เราหรือหากเรายังเป็นอันตรายต่อเขา เพราะฉะนั้นผมคิดว่าจังหวะนี้ต้องเข้มงวด อะไรที่จะต้องทำก็ต้องทำในเรื่องนโยบายป้องกันการแพร่เชื้อ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจก็จะต้องเด็ดขาดมาก โดยที่เมื่อกำลังของภาครัฐมีอยู่ ก็ต้องจัดสรรให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

                -การจะให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปิดทำการทำได้ไหม เพราะก็มีบางประเทศอย่าง ฟิลิปปินส์ทำแล้ว?

                ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการปิดทำการตลาดหุ้น เพราะมันก็ต้องมีการซื้อการขาย เพราะหลักของตลาดหุ้น ราคาหุ้นต้องสะท้อนความจริงตลอดเวลาให้มากที่สุด เพราะเราก็มีระบบ Circuit Breaker (การหยุดการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการชั่วคราว ใช้สำหรับกรณีที่สภาวะการซื้อขายมีความผันผวนรุนแรง) ที่ฉุกให้คนคิด ไม่ให้คนตื่นตระหนกจนเกินไป แต่ถ้าด้วยข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนไป  พูดง่ายๆ คือโอกาสในการทำกำไรที่เปลี่ยนไป ราคาหุ้นมันก็ต้องเปลี่ยน ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติ ส่วนหากจะถามต่อไปว่าแล้วควรตั้งกองทุนพยุงหุ้นหรือไม่ ผมไม่เคยเห็นด้วยกับเรื่องนี้เลย จะกี่ยุคกี่สมัย ผมก็ไม่เคยเห็นด้วย เพราะหากจะตั้งต้องตั้งด้วยเงินจำนวนเท่าใด แล้วเงินดังกล่าวคือเงินจากส่วนใด  เป็นเงินภาษีหรือไม่ แล้วนั่นคือการใช้เงินภาษีที่ดีที่สุดหรือยัง มีคนที่เดือดร้อนกว่าหรือไม่ที่รอรับการช่วยเหลืออยู่

                -บุคลากรทางการแพทย์ออกมาให้ข้อมูลว่า จุดพีกที่สุดที่เราจะพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยมากสุดจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. คนก็ห่วงว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์แม้จะไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ แต่คนก็จะมีการเดินทาง มีการเคลื่อนย้าย มีการคมนาคม เลยมีข้อเสนอว่าควรปิดเมืองใหญ่ๆ ก่อนสงกรานต์ มองว่า ถ้าปิดจริงจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างไร?

                ผมว่าในแง่เศรษฐกิจไม่ได้เสียหาย เพราะอย่างเมื่อรัฐบาลยกเลิกวันหยุดไปแล้ว คนที่มีงานทำก็ไม่มีเหตุผลที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่เรื่องการเดินทางกลับของประชาชนต้องยอมรับว่าเรื่องครอบครัวเรื่องใหญ่ การที่จะไปห้ามไม่ให้ครอบครัวอยู่ร่วมกันเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่หนึ่งในปัญหาจะกลับมาที่ เรื่องโอกาสในการเข้าถึงการตรวจ คือถ้าสมมุติเรามั่นใจระดับหนึ่งว่าเราไม่ได้เป็นอะไร ความเสี่ยงในการที่จะกลับบ้านหรือเดินทางไปไหน ความเสี่ยงต่อผู้อื่นก็จะลดลง ซึ่งเรื่องการเข้าถึงการตรวจต้องดูว่ามันเพียงพอหรือยัง แล้วประเด็นค่าใช้จ่ายในการตรวจมันเป็นอุปสรรคต่อการตรวจหรือไม่ อันนี้ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องศักยภาพในการตรวจประชากรของสถานพยาบาล และไม่ได้หมายถึงทุกคนควรต้องตรวจ  แต่หมายถึงคนที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงควรมีโอกาสได้ตรวจ เขาจะได้รู้ตัวจะได้กำหนดพฤติกรรมของตัวเองได้ถูกต้อง เพราะใครที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงไม่ควรเดินทางไปไหนเลย ผมมองแบบนี้ว่าเราต้องยอมรับความเป็นจริง เพราะวัฒนธรรมและสังคมแต่ละประเทศแตกต่างกัน ของไทยเราหากไม่มีมาตรการที่ชัดเจน หรือการส่งสัญญาณที่ชัดเจน คนก็อาจไม่ปฏิบัติตาม

                "กรณ์-ว่าที่หัวหน้าพรรคกล้า" ยังให้ความเห็นเมื่อถามถึงว่า หากสุดท้ายแล้วสถานการณ์หนักมากขึ้น การใช้มาตรการบังคับมีความจำเป็นหรือไม่ โดยเขามองว่ามีความจำเป็น ในกรณีของประเทศเรา อย่างน้อยสัญญาณต้องชัด

                ...ยกตัวอย่างเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง ผมยังต้องคุยกับเพื่อนเพราะผมต้องไปเป็นประธานงานแต่งงานลูกของเขา ผมก็ถามเขาไปหลายวันแล้ว ก็ถามแบบสุภาพว่ายังจะจัดอยู่หรือไม่ เขาก็ยืนยันว่าจะจัดอยู่ แต่จะมีการระมัดระวัง จะมีพยาบาลมาตรวจ ผ่านไปอีกสัก 1-2 วัน ผมรู้ว่าเขาคงไปคิดแล้ว ผมคุยกับเขาว่าไปคุยกับหลาน คือลูกของเพื่อนผมว่าไปจดทะเบียนแต่งงานเรียบร้อย แต่งานฉลองแต่งงานจัดเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะผมก็เชื่อว่าแขกที่มาก็อาจมาด้วยความไม่สบายใจ เขาจะไปก็ไปด้วยความเกรงใจ  แล้วคุณอยากให้เขามาด้วยสภาพแบบนั้นหรือ เขาก็บอกว่าโอเคครับ แต่ผมก็คิดว่าคงมีคนไม่กล้ามาเยอะ ในงานก็จะยิ่งมีพื้นที่หลวมๆ คงไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งผมก็เข้าใจเขาเพราะงานแต่งเตรียมกันมาเป็นปี ค่ามัดจำที่วางไว้ให้กับโรงแรมเป็นจำนวนเงินอีกเท่าใด

                ...สุดท้ายเขาก็คิดได้ แล้วสุดท้ายเขาก็แจ้งมาว่าเพื่อความปลอดภัยของทุกคน คนก็เห็นด้วย ผมก็บอกเขาแล้วว่าทุกคนจะแฮปปี้มาก ความหมายของผมก็คือ ทำให้ผมคิดว่าทำไมรัฐบาลไม่บอกมาเลยว่าขอให้งดงานแต่งงาน กำหนดให้ชัดเป็นสัญญาณให้ชัด เพื่อคนจะได้ไม่ต้องมาคอยหนักใจ แล้วถ้าออกมาเป็นมาตรการของรัฐ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น เงินค่ามัดจำ คนที่จองสถานที่เขาก็ควรมีสิทธิ์ได้คืน  แล้วต่อไปภาครัฐค่อยเข้าไปดำเนินการเยียวยาผู้ประกอบการอีกที คือตอนนี้มีหลากหลายสาเหตุทั้งการเงิน เศรษฐกิจ ความคิดตามธรรมชาติของมนุษย์ที่จะคิดเข้าข้างตัวเอง เช่นไปร่วมงานกันเถอะไม่เป็นอะไรหรอก คนเราจะคิดแบบนั้นอยู่แล้วโดยสัญชาตญาณ เหมือนกับเรามานั่งคุยกันวันนี้เรายังคิดแบบนั้นเลย

                "ผมถึงบอกว่าการส่งสัญญาณโดยรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมาเราต้องยอมรับว่าสัญญาณสับสนมาก อย่างเมื่อไม่นานมานี้ยังบอกว่าแค่ใช้ชีวิตปกติ แค่ล้างมือและให้ระมัดระวัง ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะคำว่าชีวิตปกติของคนบางคนคือการไปดูมวย ไปเที่ยวผับ สิ่งนี้คือการใช้ชีวิตปกติของเขา ในสภาวะวิกฤติแบบปัจจุบัน ความชัดเจนในท่าทีของรัฐเป็นเรื่องสำคัญมาก".

                      โดย อารีรัตน์ แซ่ตั้ง

                     วรพล กิตติรัตวรางกูร

.........................................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"