ไทยเซ่นแล้ว4ศพ-ติดเชื้อ827


เพิ่มเพื่อน    

 สธ.แถลงตัวเลขล่าสุด ไทยติดเชื้อเพิ่มอีก 106 ราย ผงะ! มีบุคลากรทางการแพทย์ 4 รายด้วย ทำยอดสะสมอยู่ที่ 827 ราย ส่วนเสียชีวิตรวม 4 ราย ทั้งหมดเป็นชายสูงวัย มีโรคแทรกซ้อน เปิดพื้นที่ 25 เรดโซนใน 7 จังหวัดต้องระวัง “พญ.วลัยรัตน์” ชี้หลังกลาง มี.ค.เชื้อเริ่มกระจายสู่ต่างจังหวัด 

    เมื่อวันอังคารที่ 24 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประทีป กีรติเลขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. การแถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข จะย้ายมาแถลงข่าวร่วมกันที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาลเพียงแห่งเดียว โดยจะแถลงวันละ 2 รอบ คือในเวลา 10.00 น. และ 14.00 น. ของทุกวัน โดยเริ่มย้ายมาตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. โดยหากมีสถานการณ์เร่งด่วนหรือสถานการณ์ฉุกเฉินใดๆ ก็สามารถเรียกแถลงข่าวได้ตลอดเวลา
    ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 106 ราย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรก 25 ราย เป็นผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยรายเดิม แบ่งเป็น 1.ผู้ป่วย 5 รายที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยในกลุ่มสนามมวย ทั้งสนามมวยลุมพินี สนามมวยราชดำเนิน ทั้งผู้ชมและเซียนมวยในกรุงเทพฯ, นครปฐม, สมุทรสาคร และอุบลราชธานี 2.ผู้ป่วย 6 รายมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยกลุ่มสถานบันเทิง ทั้งย่านทองหล่อ, อาร์ซีเอ, นานา ทั้งนักท่องเที่ยว พนักงานเสิร์ฟ ในจังหวัดสระบุรี, กรุงเทพฯ, บุรีรัมย์ และชลบุรี 3.ผู้ป่วย 12 ราย ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยรายเดิม มีทั้งพนักงานขายเสื้อผ้า, เซียนมวย, พนักงานบริการ, ราชการ ที่มีประวัติร่วมรับประทานอาหาร, ดื่มสุราร่วมกับผู้ป่วยในกลุ่มสถานบันเทิง และมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยในกลุ่มสนามมวย และ 4.ผู้ป่วย 2 รายจากปัตตานีเดินทางไปร่วมพิธีทางศาสนาที่มาเลเซีย
         กลุ่มที่สอง 34 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 20 ราย แบ่งเป็นคนไทย 8 ราย ซึ่งเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน, นักศึกษา, พนักงานร้านค้าที่ปอยเปต และชาวต่างชาติ 12 ราย คือ ฝรั่งเศส, สวีเดน, ปากีสถาน, อังกฤษ และนิวซีแลนด์ 2.กลุ่มที่ทำงานหรืออาศัยในที่แออัด 10 ราย และมีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยชาวต่างชาติ เช่น รปภ., พนักงานรับรถ, พนักงานขับรถรับนักท่องเที่ยว, คนขับแท็กซี่, พนักงานเสิร์ฟ, มักคุเทศก์ และพนักงานที่ทำงานในสถานบันเทิง โดยอยู่กรุงเทพฯ, จันทบุรี, ชลบุรี, บุรีรัมย์, อุบลราชธานี, ภูเก็ต และนครราชสีมา และ 3.บุคลากรทางการแพทย์ 4 ราย เป็นแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในภูเก็ต, ยะลา, บุรีรัมย์ และนครปฐม ส่วนกลุ่มที่สาม 47 ราย ได้รับผลจากห้องแล็บยืนยันพบเชื้อ แต่อยู่ระหว่างการสืบสวนโรค และรอประวัติ
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมในไทยเพิ่มเป็น 827 ราย กลับบ้านได้แล้ว 57 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 766 ราย และยังมีผู้ป่วยที่มีอาการหนัก 4 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มจาก 1 ราย เป็น 4 ราย โดย 3 รายที่เพิ่มเข้ามาเป็นคนไทย รายแรก ชายวัย 70 ปี ที่มีโรควัณโรคร่วมด้วย, รายที่ 2 ชายวัย 79 ปีเกี่ยวข้องการติดเชื้อจากสนามมวย ซึ่งมีอาการหนักตั้งแต่แรกรับเข้ามาในโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. เนื่องจากมีโรคประจำตัวหลายโรค และรายที่ 3 เป็นชายวัย 45 ปี มีภาวะเบาหวานและโรคอ้วน
    “ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำข้อมูลสถานที่ชุมชนที่มีการประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องเฝ้าระวังตนเองใน 25 แห่งใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี, ขอนแก่น, กรุงเทพฯ, สงขลา, นครราชสีมา, นนทบุรี และสุรินทร์ โดยผู้ที่อยู่ในสถานที่และช่วงเวลาตามประกาศ ให้รายงานตัวต่อพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ได้แก่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด, ผู้ว่าราชการจังหวัด, ผอ.โรงพยาบาล, นายอำเภอ, สาธารณสุขอำเภอ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และผู้นำชุมชนทันที โดยให้กักตัวเองและสังเกตอาการ 14 วัน หากมีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ ให้รีบพบแพทย์ทันที ส่วนผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลการประกาศสถานที่พบผู้ป่วยโควิด-19 ได้ที่เพจไทยรู้สู้โควิด และเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค”
    ด้าน พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยว่า จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ 15 มี.ค. จะพบยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน มีจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังกว่า 11,000 ราย และในจำนวนนี้พบว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อแล้ว 827 ราย ซึ่งตั้งแต่กลางเดือน มี.ค.เป็นต้นมา การแพร่ระบาดเริ่มกระจายไปสู่ 47 จังหวัด จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ สำหรับอัตราการแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 ในช่วง 7 วัน จะพบว่าถ้าเป็นผู้ป่วยในกรุงเทพฯ จะมีอัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ 1:3.4 คน หากเป็นผู้ป่วยในต่างจังหวัด (สงขลา, ปัตตานี, ยะลา, ภูเก็ต) จะมีอัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ 1:2.2 คน และหากเป็นจังหวัดอื่นๆ จะมีอัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ 1:1.8 คน
     "การลดความพยายามในการเคลื่อนย้ายคนจากจังหวัดสู่จังหวัด จะเป็นการช่วยลดการแพร่เชื้อลงได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ประชาชนต้องช่วยกันในการปฏิบัติตัวตามประกาศต่างๆ ที่ทางราชการได้ออกมา รวมทั้งการปฏิบัติตัวเองด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing" พญ.วลัยรัตน์ระบุ
    สำหรับกรณีวัดต่างๆ ปฏิเสธจะฌาปนกิจผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 นั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะเป็นคนสูงอายุ มีโรคแทรกซ้อน แต่ขอให้มั่นใจว่าเชื้อโรคในร่างกายผู้เสียชีวิตไม่ได้แพร่ออกมา ยืนยันทางการแพทย์ไม่มีทางปล่อยให้เชื้อแพร่ออกสู่ภายนอก ทั้งนี้ หากผู้เสียชีวิตมีภูมิลำเนาที่ใด ผู้ว่าฯ และสาธารณสุขจังหวัดจะจัดการให้มีการบำเพ็ญกุศลทางศาสนาได้อย่างปลอดภัย พร้อมทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ ขอให้คนไทยเห็นใจญาติผู้เสียชีวิต อย่ามโน ในยามวิกฤติเราควรแสดงน้ำใจซึ่งกันและกัน ส่วนรายละเอียดขอให้ฟังจากการแถลงข่าวของศูนย์โควิดชาติ ซึ่งจะยกระดับเป็นศูนย์ระดับชาติในการให้ข้อมูลจากทุกหน่วยงานให้ข้อมูลจุดเดียว ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ข้อมูลทิศทางเดียวกันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
     “วันนี้ไม่มีใครไม่รู้จักโรคโควิด-19 ไม่มีใครไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.อย่างเคร่งครัด เรามีทีมแพทย์ที่ดีที่สุด เก่งที่สุด สิ่งที่ต้องการคือความร่วมมือจากคนไทยทั้งชาติ เว้นระยะห่างทางสังคม งดกิจกรรมทุกอย่าง อยู่บ้านกักโรค ซึ่งดีกว่าวัคซีนและยารักษา ส่วนอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ 5-10% ของผู้ติดเชื้อ” นายอนุทินกล่าว
     วันเดียวกัน นายอนุทินรับมอบเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ไม่ใช่ยาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โดยอุปกรณ์ที่รับมอบถูกส่งมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แบบ N95 10,000 ชิ้น, หน้ากากอนามัยแบบธรรมดา จำนวน 100,000 ชิ้น, ชุดตรวจไวรัส Novel Coronavirus (2019-nCoV) Nucleic Acid Diagnostic Kit (PCR-Fluorescence Probing) จำนวน 834 ชุด, ชุดป้องกันโรค หรือ PPE 2,000 ชุด
     นายหยาง ซิน กล่าวว่า อุปกรณ์ล็อตแรกเป็นการรับบริจาคมาจากรัฐบาลจีน หลังจากนี้ยังจะมีการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ และจะประสานบริษัทที่มาลงทุนในไทย ให้ร่วมกันบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมย้ำว่าที่ผ่านมารัฐบาลและคนจีนซาบซึ้งในน้ำใจของคนไทยที่ช่วยเหลือ และดูแลนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวไทยและเจ็บป่วย และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี มีพระราชสาส์นแสดงความห่วงใยและพระราชทานเวชภัณฑ์ให้กับจีน ขอให้ไทยเอาชนะกับสงครามโควิดโดยเร็ว ขอให้ไทยผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบาก ประเทศไทยสู้ๆ คนไทยสู้ๆ
    นายอนุทินกล่าวว่า เวชภัณฑ์เหมือนเป็นตัวแทนมิตรภาพของ 2 ประเทศ เพราะเวชภัณฑ์ยา จะเป็นอาวุธที่ใช้ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ทุกครั้งที่ประสานจีนขอความช่วยเหลือ ไม่เคยได้รับการปฏิเสธ หรือรับปากแบบส่งๆ นอกจากนี้ ในวันที่ 25 มี.ค. นายแจ็ก หม่า ประธานมูลนิธิอาลีบาบา จะบริจาคหน้ากากอนามัยให้กับไทย มั่นใจว่าจากนี้จะสามารถกระจายเวชภัณฑ์ต่างๆ ได้ครบถ้วน โดยมอบให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และกรมการแพทย์ กรมควมคุมโรค เป็นผู้กระจายเวชภัณฑ์ไปยัง รพ.ของรัฐและเอกชน.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"