พรก.ฉุกเฉินฯ-ศอฉ.โควิด-19 อาวุธหนัก"บิ๊กตู่"สู้สงครามไวรัส


เพิ่มเพื่อน    

                 เป็นไปตามคาดกับการตัดสินใจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่พฤหัสบดีที่ 26 มี.ค. โดยมีกำหนดระยะเวลาหนึ่งเดือน

 

                เหตุผลหลักที่พลเอกประยุทธ์ใช้มาตรการดังกล่าว ประมวลสรุปได้ว่า เพื่อเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นในการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ จะได้ป้องกัน-ควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยจะจัดทัพกระบวนการทำงานของรัฐบาลและทุกหน่วยงาน เพื่อบูรณาการการทำงานให้มีความเป็นเอกภาพ คล่องตัว และสามารถตัดสินใจออกมาตรการหรือนโยบายต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น ภายใต้โครงสร้างที่เรียกว่า “ศูนย์ฉุกเฉินในการแก้ปัญหาโควิด-19 หรือ ศอฉ. โควิด-19" ของรัฐบาล ที่จะมีผู้นำสูงสุดในการตัดสินใจทุกเรื่องก็คือ พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ในการทำสงครามสู้ศึกไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ที่จะใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่นำอำนาจตามกฎหมายต่างๆ  38 ฉบับมาไว้ที่ ศอฉ. โควิด-19 เพื่อให้พลเอกประยุทธ์บูรณาการอำนาจทั้งหมดในการรับมือกับสงครามไวรัสโควิด-19

                หลังตัวเลขล่าสุดจากการแถลงของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันอังคารที่ 24 มี.ค. พบว่า สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง คือผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 106 ราย ทำให้ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 827 ราย ซึ่งมีทั้งแพทย์และพยาบาลติดเชื้อด้วย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 4 ราย

                รายงานข่าวระบุถึงการตัดสินใจครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีว่า ระหว่างการประชุม ครม.ซึ่งเป็นการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พลเอกประยุทธ์บอกว่า แม้รัฐมนตรีจะไม่ได้มาเข้าร่วมประชุมพร้อมหน้ากันทั้งหมด แต่ใจถึงใจ และระบุว่า “วันนี้ผมก็ขออำนาจที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะขณะนี้สถานการณ์มีความจำเป็น"

                จากนั้นมือกฎหมายรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า เมื่อประกาศใช้ฉุกเฉินแล้ว นายกฯ จะมีอำนาจมากขึ้นในการประกาศหรือทำอะไร หรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ อำนาจอยู่ที่นายกฯ ไม่จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อขอมติ และไม่ใช่เป็นการปิดเมือง ปิดจังหวัด ปิดประเทศ เพราะคนไทยยังต้องเดินทางกลับมา โดยรัฐมนตรีเกือบทั้งหมด เมื่อได้รับทราบแนวปฏิบัติแล้วต่างก็เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้

                ทั้งนี้ มีข่าวว่าในช่วงการหารือเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน มีการแจ้งให้ทราบถึงแนวทางมาตรการเบื้องต้นในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าจะเน้นการหยุดการเคลื่อนย้ายของประชาชน โดยมุ่งให้ประชาชนอยู่กับบ้านให้มากที่สุด ทั้งข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และประชาชน ควบคู่มาตรการทำงานเหลื่อมเวลา ขณะที่การเดินทางของประชาชนจะมีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจ โดยเฉพาะรอยต่อของแต่ละจังหวัดอย่างเข้มข้น

                สำหรับรูปแบบของ "ศอฉ. โควิด-19" หรือศูนย์ฉุกเฉินในการแก้ปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จะลงมาคุมหน้างาน การสั่งการ การบัญชาการทั้งหมด ในฐานะประธานศูนย์ โดยโครงสร้างหลักจะมีศูนย์หลักๆ 8 ศูนย์ คอยบูรณาการกันทำงาน ประกอบด้วย 1.ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ 2.ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน โดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม พลเรือน ตำรวจ ทหาร รับผิดชอบ 3.ศูนย์ปฏิบัติการด้านสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรับผิดชอบ 4.ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อโควิด-19 มีสำนักนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบ

                5.ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ มีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และ สตม. รับผิดชอบ 6.ศูนย์กระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุขดูแล 7.ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า มีกระทรวงพาณิชย์ดูแล และ 8.ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนการปฏิบัติของทหาร-ตำรวจ มีกองบัญชาการกองทัพไทย-ทบ.-ทร.-ทอ. และ ตร.รับผิดชอบ

                ขณะที่เมื่อไปดู พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ก็พบว่าเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่ 26 มี.ค. อำนาจหลักๆ ของนายกฯ ประยุทธ์ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สาระสำคัญจะอยู่ที่อำนาจตามมาตรา 9 ที่พลเอกประยุทธ์จะมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เช่น ห้ามมิให้บุคคลออกนอกเคหสถาน หรือการประกาศเคอร์ฟิวภายในระยะเวลาที่กําหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น-อำนาจในการห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ เป็นต้น

                โดยหากมีการฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

                ทั้งนี้ หลัง ครม.มีมติดังกล่าว "พลเอกประยุทธ์" แถลงข่าวต่อสื่ออย่างเป็นทางการถึงการบังคับใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าเพื่อจัดระเบียบเรื่องการทำงาน ยกระดับเป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 ภายใต้รูปแบบ ศอฉ. โควิด-19 เป็นการบูรณาการอย่างแท้จริงในการบริหารงาน

                "ในส่วนที่ว่าจะปิดจะเปิดอะไรต่างๆ จะเป็นมาตรการในระยะต่อไปอาจจะเข้มข้นขึ้น อยู่ที่ความร่วมมือของประชาชน ไม่อยากให้ใครเดือดร้อน แต่สถานการณ์มีความจำเป็นเพื่อสุขภาพประชาชนโดยรวม จะมีการปรับมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ก็จำเป็นต้องปิดล็อกต่างๆ ทั้งหมด ขอให้เป็นไปตามขั้นตอน”

                นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาเรื่องการออก "พระราชกำหนด” เพื่อกู้เงิน จะได้นำมาแก้ปัญหา-ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะการแก้ปัญหาให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ-พนักงาน ลูกจ้าง-ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ที่ต้องประสบปัญหาการหยุดกิจการชั่วคราว การว่างงานฉับพลันจากมาตรการต่างๆ โดยพลเอกประยุทธ์ย้ำว่า การออกพระราชกำหนดกู้เงินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบ จะได้มีการดูแลช่วยเหลือสถานประกอบการ เพื่อลดการเลิกจ้างพนักงาน

                ซึ่งประเมินแล้ว แนวทางที่รัฐบาลจะเลือกใช้เพื่อออกพระราชกำหนดดังกล่าว มีความเป็นไปได้ว่าคงออกมาในรูปแบบของการออก “พ.ร.ก.โอนงบประมาณประจำปีฯ และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ" ที่จะเป็นการกู้เงินตามเพดานของ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ที่ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงินได้ปีละไม่เกิน 7 แสนล้านบาท แต่ในงบปี 2563 กู้ไปแล้ว 3 แสน 5 หมื่นล้านบาท ทำให้รัฐบาลยังเหลือวงเงินกู้เงินได้อีก 3 แสน 5 หมื่นล้านบาท

                สารพัดมาตรการที่พลเอกประยุทธ์และรัฐบาลกำลังทยอยนำมาใช้ เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ทั้งมาตรการทางการเมือง-กฎหมาย-ทางเศรษฐกิจ-สาธารณสุข คาดว่าจะยังไม่หมดแค่นี้แน่นอน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"