'หม่อมเต่า'ขนราชการแจงแนวทางดูแลแรงงานช่วงโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

25 มี.ค.2563 -  ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงแนวทางดูแลผู้ใช้แรงงานในสถานการณ์ไวรัสโควิด 19 ระบาด โดยคณะรัฐมนตรีมีมติแก้กฎกระทรวง ว่าด้วยผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ให้ครอบคลุมกรณีโรคระบาด เพื่อป้องกันความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม - 31 สิงหาคมปีนี้ โดยขยายเวลาส่งแบบเงินสมทบผู้ประกันตนงวดเดือนมีนาคมให้ส่งภายในวันที่ 15 กรกฎาคม , งวดเดือนเมษายนให้ส่งใน 15 สิงหาคม , และงวดเดือนพฤษภาคมให้ส่งในวันที่ 15 กันยายน

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่ามีแนวทางช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนและนายจ้างโดยลดหย่อนเงินสมทบในส่วนของนายจ้างลดหย่อนลงเหลือ 4% ส่วนลูกจ้างลดหย่อนลงเหลือ 1% โดยการนำส่งตั้งแต่เดือน มี.ค.ถึงเดือน พ.ค.ให้ยืดออกไปอีก 3 เดือน และกรณีผู้ประกันตนที่นายจ้างไม่ให้ทำงานจากเหตุสุดวิสัย ให้รับเงินว่างงาน 50% ของค่าจ้างไม่เกิน 180 วัน และกรณีหน่วยงานภาครัฐให้หยุดกิจการชั่วคราว ให้รับเงินกรณีว่างงาน 50% ของค่าจ้างไม่เกิน 60 วัน ส่วนผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระก็สามารถได้สิทธิ์เดือนละ 5,000 บาท ตามที่กระทรวงการคลังให้ไว้

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ทางกรมมีแนวทางการฝึกอาชีพ ให้แก่แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงาน กลุ่มเป้าหมาย 390 รุ่นทั่วประเทศ ประมาณ 8,000 คน ใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท ระยะเวลาฝึก 50 วัน และการฝึกแรงงานในระบบการจ้าง โดยพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้สูงขึ้น เพื่อให้มีทักษะการทำงานดีขึ้น เป็นระยะเวลา 1 เดือน เช่น หลักสูตรการใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงาน การเขียนแบบคอมพิวเตอร์ มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 7,000 คน 350 รุ่น ใช้งบประมาณ 35 ล้านบาท

นายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล ผู้ตรวจราชการกรม กรมการจัดหางาน กล่าวถึงการจัดการแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 หากประสงค์ที่จะทำงานต่อให้มารับใบขออนุญาตทำงานภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่สำนักงานกรม และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ one stop service ในกรุงเทพมหานคร 4 แห่ง และภูมิภาค 38 แห่ง และนายจ้างสามารถยื่นบัญชีรายชื่ออนุมัติทางออนไลน์ได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามสามารถอยู่ชั่วคราวต่อไปได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยยกเว้นค่าปรับอยู่เกินกำหนด

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงกรณีสถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราวว่า ในข้อกฎหมาย หากมีเหตุจำเป็นก็สามารถหยุดกิจการชั่วคราวได้ แต่การจ่ายเงินให้กับลูกจ้างอาจจะไม่สามารถจ่ายได้เต็มตามที่ลูกจ้างได้รับ แต่ก็ต้องจ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของลูกจ้างได้รับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 

ส่วนกรณีที่ลูกจ้างถูกบังคับให้เซ็นลาออก ถือเป็นเจตนามิชอบ จึงเป็นการลาออกด้วยความมิชอบ ส่วนลูกจ้าง ที่กังวลใจ  ปัญหาสุขภาพ และขอ กักตัว 14 วัน จะได้รับสิทธิหรือไม่นั้น อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  ยืนยันว่า คงต้องใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์  พูดคุยกัน แต่แนะนำให้ใช้สิทธิ์  ลาป่วยตามกฎหมาย ได้ 30 วัน ลาพักร้อน ตามสิทธิ์ที่มีไปก่อน 

นายดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานจัดตั้งศูนย์สถานการณ์รองรับการว่างงาน โดยเป็นศูนย์ทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยจะดูว่าบริษัทใดต้องการความช่วยเหลือ ช่วยประสานกันระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ประกอบการ เป็นศูนย์รวมข้อมูล เช่นผู้ประกอบการที่ต้องการตำแหน่ง ต้องการจ้างเพิ่มก็ยังมีหลายตำแหน่ง และได้จัดตั้งศูนย์ Part Time ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนอีกส่วนหนึ่ง
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"