หัวหน้าคณะ WHO กับ ประสบการณ์สู้ Covid-19 ที่จีน


เพิ่มเพื่อน    

 

                คุณหมอ Bruce Aylward หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ไปปักหลักอยู่ที่เมืองจีน 2 สัปดาห์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อสังเกตวิธีการสู้ Covid-19 ของจีน

                หลายประเด็นถาม-ตอบกับสื่อทั้งของอเมริกันและจีนน่าสนใจ ผมขอนำมาสรุปให้ได้อ่านกันเพื่อประกอบการติดตามข่าวเรื่องโรคระบาดลามโลกครั้งนี้

                ถาม: คุณหมอไปเมืองจีนสองสัปดาห์ช่วงต้นกุมภา. ประสบการณ์เป็นอย่างไรบ้าง

                ตอบ: ตอนที่เครื่องบินผมร่อนลงปักกิ่ง สนามบินเกือบจะร้าง ทั้งๆ ที่เมืองหลวงแห่งนี้มีประชากรกว่า 20 ล้านคน ทำให้ผมตระหนักถึงผลกระทบของโรคระบาดครั้งนี้ต่อคนจีนและเศรษฐกิจจีนอย่างชัดเจน ผมรถวิ่งเข้าเมืองผมก็เห็นภาพแบบเดียวกัน ไม่กี่นาทีก็เข้าเมือง ปกติต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่านั้นมาก...นั่นแหละทำให้ผมตระหนักถึงปัญหาว่าหนักหน่วงเพียงใด

                ถาม: คุณไม่กลัวติดเชื้อระหว่างอยู่เมืองจีนหรือ

                ตอบ: ไม่กลัว เพราะมีวิธีป้องกันตัวเองหลายอย่าง ผมล้างมือตลอดเวลา และผมก็ใส่หน้ากากอนามัยตามที่รัฐบาล, เจ้าหน้าที่การแพทย์และประชาชนคนจีนแนะนำและร้องขอ

                และเราก็มีนโยบาย “รักษาระหว่างห่าง” social distancing ในห้องประชุมเรานั่งห่างกันหนึ่งเมตรถึงสองเมตร เวลากินข้าวเที่ยง เรากินในห้องโรงแรมของเราเอง หรือไม่ก็นั่งกินกันคนละโต๊ะ แม้กระทั่งที่ทำงานของฝ่ายป้องกันและรักษาโรค เราก็ทำอย่างนั้น

                และเราก็รู้ว่าต้องระวังเรื่องมีไข้ขึ้นและอาการไอมากกว่าอาการหวัดหรือมีน้ำมูก

                นั่นแปลว่าเรารู้ว่าเราควรจะทำตัวอย่างไร และระหว่างเดินทางไปที่ต่างๆ เราต้องระวังไม่เข้าสัมผัสกับคนไข้โดยตรง และเราระวังไม่ใกล้ชิดกับคนที่มีการติดต่อกับคนไข้อีกด้วย คุณต้องรู้ว่าผมเดินทางไปในที่ต่างๆ มากมายหลายแห่งระหว่างการทำภารกิจครั้งนี้ พูดง่ายๆ คือเราทำตามแนวทางที่ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีนวางเอาไว้อย่างเคร่งครัด

                ถาม: ท่านพูดถึงสวมหน้ากากอนามัย ตกลงมันช่วยป้องกันการแพร่ของไวรัสได้หรือไม่

                ตอบ: หน้ากากมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการแพร่ Covid-19 คนไข้ต้องสวมหน้ากากเมื่อเข้ามาใกล้กับคนที่ยังไม่ติดเชื้อ และบุคลากรทางการแพทย์ก็จำเป็นต้องใส่หน้ากาก และคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องใส่เช่นกัน             

                ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าคนทั่วไปต้องใส่หน้ากากหรือไม่ คำตอบคือ เราต้องรักษาดุลระหว่างค่าใช้จ่ายกับประสิทธิภาพของการใส่หน้ากาก เพราะมันอาจจะเกิดภาวะขาดแคลนหน้ากาก ซึ่งทำให้หน้ากากไม่พอสำหรับบุคลากรที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ

                มีคนถามผมว่าการที่จีนให้ทุกคนใส่หน้ากากนั้นเป็นความผิดพลาดหรือไม่ คำตอบของผมก็คือในประวัติศาสตร์แต่ไหนแต่ไรมา ยังไม่เคยให้คน 1.4 พันล้านคนใส่หน้ากาก เสร็จแล้วเราก็ต้องประเมินว่าผลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร มันได้ผลชะลอการแพร่ระบาดหรือไม่

                ดังนั้น นี่เป็นเรื่องที่เราต้องศึกษาและเรียนรู้ วิธีนี้ (การให้ทุกคนใส่หน้ากาก) ไม่ใช่ข้อเสนอของเรา (WHO) และต้องยอมรับว่าเมืองจีนทำอะไรที่แตกต่างออกไป และจีนก็สามารถทำให้สถานการณ์กระเตื้องขึ้นจริง ผมจึงไม่บอกปัดสิ่งต่างๆ ที่รัฐบาลจีนทำในเรื่องนี้

                ผมคิดว่าเราต้องศึกษาเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความเร็วในการหาคนที่ติดเชื้อ และคนที่มีส่วนสัมผัสและเกี่ยวข้อง และจัดการให้ทันการ

                ถาม: คุณประเมินมาตรการควบคุมของทางการจีนอย่างไร? มีอะไรที่โลกเรียนรู้จากจีนได้ในกรณีนี้?

                ตอบ: เจ้าหน้าที่การแพทย์จีนพร่ำบอกผมว่าจะต้องมีวิธีการเฉพาะเจาะจงสำหรับการแพร่ระบาด และจะต้องสร้างเสริมความสามารถในการตั้งรับกับไวรัสตัวนี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมได้จากการเรียนรู้คือความเร็วในการจัดการกับการแพร่เชื้อ

                นั่นแปลว่าต้องหาเคสการติดเชื้อให้เร็วที่สุด และต้องแยกออกมารักษาอย่างรีบด่วน และเจ้าตัวกับผู้ที่เกี่ยวข้องต้องถูกกักบริเวณโดยด่วน ดังนั้นหัวใจของการแก้ปัญหาคือ speed, speed, speed (ความเร็ว, ความเร็ว, ความเร็ว)

                (พรุ่งนี้: นอกจากความเร็ว ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน).

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"