แรลลี่สื่อจิตอาสา “รักษ์เจ้าพระยา พาชมไพร อุทัยฯ-ชัยนาท”


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     สมาคมวารสารศาสตร์ธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภายใต้ชื่อแรลลี่คนสื่อ “รักษ์เจ้าพระยา พาชมไพร อุทัยฯ-ชัยนาท” ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน ชักชวนคนวงการสื่อได้พบปะสร้างเสริมความสามัคคี พร้อมกับเผยแพร่นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้กว่า 50 คน โดยนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นประธานปล่อยขบวนรถบริเวณหน้าตึกโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต แรลลี่แบบท่องเที่ยวครั้งนี้ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด สนับสนุนรถยนต์อีซูซุ มิว-เอ็กซ์ จำนวน 2 คัน และอีซูซุ ดีแมคซ์ จำนวน 1 คัน ใช้ในกิจกรรมเพื่อขับทะยานพาคนสื่อจิตอาสาส่วนหนึ่งสู่จังหวัดชัยนาท และจังหวัดอุทัยธานี

 

ปล่อยขบวนแรลลี่ท่องเที่ยวบริเวณหน้าตึกโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

 

      หมุดหมายแรกของกิจกรรมแรลลี่จิตอาสาในครั้งนี้ได้พาสื่อมวลชนขึ้นเรือเพื่อเก็บขยะ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริสืบสาน รักษา และต่อยอด ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับชาวเมืองชัยนาท และเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่บริเวณหน้าเขื่อนเรียงหิน ใกล้ศาลากลางจังหวัดชัยนาท รวมทั้งมีเรือตักเก็บผักตบชวา ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 12 อนุเคราะห์เรือร่วมภารกิจรักษ์เจ้าพระยาด้วย ระหว่างทางได้เรียนรู้วิถีชีวิตสองฝั่งแม่น้ำ เห็นการเลี้ยงปลาในกระชัง ตลอดจนชุมชนที่อาศัยริมน้ำ ขณะเดียวกันก็ร่วมแรงร่วมใจเก็บขยะที่ลอยเหนือผิวน้ำ มีการคัดแยกประเภทของขยะ ส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก, แก้วน้ำพลาสติก, บรรจุภัณฑ์โฟมใส่อาหาร, ถุงขนมกรุบกรอบ, ถุงพลาสติก ฯลฯ ขยะเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากบนบก และส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำไปจนถึงสิ่งมีชีวิต โดยเหล่าจิตอาสานำขยะกองโตกลับขึ้นฝั่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะนำไปจัดการด้วยวิธีการกำจัดขยะอย่างถูกวิธีต่อไป ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่กองบังคับการตำรวจภูธรชัยนาท อำนวยความสะดวกเรื่องการจราจร จุดจอดรถบริเวณจัดกิจกรรม ก่อนออกเดินทางต่อชาวคณะส่วนหนึ่งได้กราบสักการะศาลหลักเมืองชัยนาทในบริเวณนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต

 

คนสื่อจิตอาสาขึ้นเรือเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

      จากนั้น ขบวนแรลลี่ได้พาสื่อมวลชนไปยังศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตั้งอยู่ ต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.ชัยนาท เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาชนบทและสังคม เผยแพร่ปรัชญา แนวคิดและวิธีปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ภายในศูนย์มีพื้นที่กว่า 33 ไร่ โอบล้อมด้วยบรรยากาศอันเป็นธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีลานนิทรรศการอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ด้านหน้ามีรูปปั้นอาจารย์ป๋วยในท่ายืนไม่สวมรองเท้าเท่าขนาดจริง ใกล้ๆ กันเป็นโซนห้องนิทรรศการทันสมัย รวบรวมเรื่องราวคุณความดีและแนวคิดของปูชนียบุคคลผู้นี้ที่ยูเนสโกยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ชาวแรลลี่เดินชมแต่ละโซนด้วยความสนใจ

 

รูปปั้นอาจารย์ป๋วย ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จ.ชัยนาท

 

      จุดเด่นของศูนย์ฯ ยังเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านในชุมชนมาเรียนปลูกไผ่กิมซุ่ง พืชเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ มีการแนะนำการทำปุ๋ยและน้ำหมักอินทรีย์ รวมถึงปุ๋ยมูลไส้เดือน เพราะอาชีพหลักคนชัยนาท คือ เกษตรกรรม ไฮไลต์ห้ามพลาด ที่พลาดแล้วถือว่ามาไม่ถึงศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คือ เรียนรู้การทำนาแบบประณีต ปลูกข้าว 1 ไร่ ให้ได้ผลผลิต 2 ตัน ตามหลักสูตรศูนย์ฯ คือ นำข้าว 1 เมล็ดเพาะลงในแปลงห่างกัน 60 เซนติเมตร บำรุงด้วยปุ๋ยอินทรีย์ สามารถจะแตกกอ 70-100 ต้น เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุนในการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ลดการใช้สารเคมี งานนี้คนสื่อจิตอาสาได้ร่วมกิจกรรมสุดพิเศษเปลี่ยนจากดำนาในแปลงมาดำนาข้าวในถังแทน แต่ละคนปักต้นกล้าข้าวลงไปด้วยใจรัก และถ่ายรูปเป็นที่ระลึกท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนจัดแตะ 40 องศา ทุกถังมีเขียนชื่อผู้ปลูกเพื่อติดตามการเจริญเติบโตได้ด้วย ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยเปิดมุมมองเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ในชัยนาท ได้ซึมซับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และทำให้ได้รู้ว่าชัยนาทไม่ได้มีแค่สวนนกชัยนาทหรือพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อ

 

รับต้นกล้าข้าวไปปลูกเพื่อร่วมกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 

ลงมือดำนาในถังข้าวตามหลักสูตรของศูนย์ฯ ที่เดินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง ร.9

 

      จากนั้นเดินทางมุ่งสู่จังหวัดอุทัยธานี เมืองรองต้องห้ามพลาด เช็กอินที่วัดจันทาราม หรือนักท่องเที่ยวรู้จักดีในชื่อ “วัดท่าซุง” เป็นวัดที่มีความสวยงาม ทุกคนตั้งใจมามหาวิหารแก้วเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และกราบสักการะองค์หลวงพ่อฤาษีลิงดำที่อยู่ภายในโลงแก้ว ก่อนจะไปเยี่ยมชมปราสาททองคำยิ่งใหญ่ตระการตา บรรจงสร้างด้วยฝีมือสุดประณีต

      ช่วงเย็นร่วมรับฟังบรรยายสรุป “อุทัยธานี แหล่งท่องเที่ยวเมืองรองที่น่าประทับใจ” โดย สุชารัตน์ แสงอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุทัยธานี ซึ่งดูแลพื้นที่รับผิดชอบอุทัยธานีโดยตรง ผอ.ททท.อุทัยธานี บอกว่า วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำสะแกกรังยังมีเสน่ห์เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว หากมีหน้าน้ำจะเห็นสายน้ำแห่งชีวิต เพราะยังมีชาวแพที่อยู่อาศัย กินนอน ใช้ชีวิตประจำวันบนแพจำนวน 150 หลังคาเรือน จากที่จดทะเบียนทั้งหมด 300 หลังคาเรือน เหตุที่ลดลงเพราะต้นทุนในการบำรุงรักษาบ้านแพสูงกว่าบ้านบนบก รวมถึงปลาในแม่น้ำลดลง กระทบต่ออาชีพคนหาปลา จังหวัดอุทัยธานีพยายามอนุรักษ์วิถีชีวิตแพชุมชนเล็กๆ ริมแม่น้ำสะแกกรัง อุทัยฯ ถือเป็นจังหวัดที่มีชาวแพมากที่สุดในไทยเวลานี้ สามารถมาเที่ยวล่องลำน้ำสะแกกรังได้ หน้าหนาวก็แนะนำไปอ.บ้านไร่ สัมผัสอากาศเย็นที่ห้วยขาแข้ง 8 อำเภอ มีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ

 

วัดอุโบสถาราม หรือวัดโบสถ์ โบราณสถานล้ำค่างดงามริมแม่น้ำสะแกกรัง

 

      ต่อด้วยการไปเที่ยวซึมซับวิถีชีวิตของเมืองเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ของเมืองอุทัยธานี ที่ถนนคนเดินตรอกโรงยา เพลิดเพลินเดินชมบ้านเรือนไม้เก่า ร้านขายของที่ระลึก ร้านกาแฟตกแต่งสไตล์โบราณ ซึ่งเป็นสถานที่เที่ยวห้ามพลาดของเมืองนี้ เช้าวันรุ่งขึ้นคนสื่อจิตอาสาพร้อมใจกันไปทำบุญตักบาตรพระทางน้ำรับอรุณ สัมผัสวิถีชีวิตริมแม่น้ำสะแกกรัง ถ้าหน้าน้ำสามารถล่องเรือชมวิถีชาวแพ การเลี้ยงเตย และปลากระชังได้ด้วย เช้าวันนั้นได้ชมตลาดลานสะแกกรัง อำเภอเมือง ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำสะแกกรัง ทอดยาวไปตามลำน้ำ เต็มไปด้วยอาหารพื้นถิ่น พืชผัก ของขึ้นชื่อเป็นปลาแม่น้ำสดๆ และปลาแดดเดียวสารพัดชนิด อย่างปลาแรดรสดี สมคำขวัญจังหวัดอุทัยธานี

 

ตักบาตรพระรับอรุณริมแม่น้ำสะแกกรัง อุทัยธานี  ซึมซับวิถีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับสายน้ำ

 

     จากนั้นชาวแรลลี่แยกย้ายกันไปท่องเที่ยวตามคำแนะนำ มีทั้งไปขึ้นเขาสะแกกรัง เช็กอินวัดสังกัสรัตนคีรี วัดเก่าแก่คู่จังหวัด, วัดอุโบสถาราม หรือวัดโบสถ์ โบราณสถานล้ำค่างดงามริมแม่น้ำสะแกกรัง ส่วนหนึ่งมุ่งไป อ.ลานสัก ท่องเที่ยวหุบป่าตาด ผจญภัยในป่าดึกดำบรรพ์ แหล่งท่องเที่ยวมากมายให้เลือกสรร

 

เที่ยวชมความยิ่งใหญ่ของต้นไม้ยักษ์บ้านสะนำ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี

 

      สำหรับแรลลี่ท่องเที่ยวครั้งนี้จัดขึ้นในวันที่ 14-15 มีนาคมนี้ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ผู้ร่วมกิจกรรมคำนึงถึงความปลอดภัยและร่วมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคด้วยการสวมหน้ากากอนามัย และใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือเพื่อสุขอนามัยตนเองและชุมชนรอบข้างตลอดกิจกรรม

 

 

 

     

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"