หลังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสู้รบไวรัสร้าย ทางสองแพร่ง กู้หรือซ้ำ รบ.ประยุทธ์


เพิ่มเพื่อน    

 

ไม่มีใครคาดคิดว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 จะแพร่พิษเข้าใส่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองดูแลประชาชนไม่ให้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะมีจำนวนมากขึ้นเพียงนี้

                มองในมุมกลับ การที่โรคร้ายโควิด-19 มาเยือนไทยจริงๆ จังๆ ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้รัฐบาลประยุทธ์ได้ต่อลมหายใจไปอีกหลายเฮือกใหญ่

ทั้งๆ ที่รัฐบาลออกอาการป้อแป้ โซซัดโซมาตามลำดับ ด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องชาวบ้าน โศกนาฏกรรมจ่าคลั่งกราดยิง 30 ศพที่โคราช กระทบบิ๊กตู่และกองทัพอย่างรุนแรง และปัญหาการเมือง และมาจุดปะทุเริ่มที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ วันที่ 21 กุมภาพันธ์  

ซ้ำเข้าไปอีกจากศึกซักฟอกวันที่ 24-27 ก.พ. หลายข้อกล่าวหาเป็นชนักปักหลังจนถึงวันนี้ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่รัฐบาลฮั้วกับพรรคเพื่อไทยจนบิ๊ก ครม.บางคนไม่ถูกแตะต้อง

                ไฟร้อนการเมืองแห่งการขับไล่และกดดันให้แก้รัฐธรรมนูญจากนักเรียน และนิสิต นักศึกษา ปรากฏการณ์แฟลซม็อบจุดติดลามทุ่งไปทั่วประเทศ

                หลายปมร้อนหายไปทันที เมื่อพิษไวรัสโควิด-19 ออกฤทธิ์อาละวาด เพราะต่างก็กลัวตาย ไม่อยากตายแบบจีน และหลายประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี สเปน สหรัฐ อิหร่าน อังกฤษ

                จุดพลิกผันของสถานการณ์ปราบโควิด-19 เปิดฉากขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมวันที่ 24 มีนาคม ให้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม – 30 เมษายน

                เป็น “ยาแรง” ตามเสียงเรียกร้องของสังคมอยากให้ปิดประเทศ ปิดเมือง ล็อกกรุงเทพฯ จังหวัดปริมณฑล และในต่างจังหวัด 

                ยาแรงที่ฉีดเข้าเส้นด้วยข้อกำหนด 16 รายการ ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลตั้งแต่ 26 มีนาคม ในข้อห้าม 16 รายการ มี 2 รายการ คือ หนึ่ง การห้ามชุมนุม ห้ามทำกิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน......

                สอง ห้ามเสนอข่าว หรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่างๆ ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอันไม่เป็นความจริง....

                ภายใต้มาตรการกรอบใหญ่ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ซึ่งอาจกระทบสิทธิเสรีภาพของชาวบ้านอยู่บ้าง หากเทียบกับผลประโยชน์ส่วนรวมถือว่าสำคัญอย่างยิ่งยวดกว่า

                ในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านขอรัฐบาลให้ยึดหลักการสำคัญของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควรมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเป็นสำคัญ พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาล เช่น การออกมาตรการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ การแก้ปัญหาทางด้านงบประมาณ ฯลฯ ให้ตอบโจทย์ประชาชนและเข้าถึงทุกกลุ่ม

                อย่างไรก็ตาม ในรอบ 15 ปี พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ถูกรัฐบาลหลายชุดนำเอาไปใช้เป็นเครื่องมือ ผู้มีอำนาจก็ใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์เพื่อให้ตนเองและหมู่คณะอยู่ในอำนาจและมีตำแหน่งต่อไป

                แต่วิกฤติครั้งนี้เป็นเรื่องโรคระบาดที่รัฐบาลต้องการให้คนเก็บตัวอยู่บ้าน ไม่ให้สัญจรเดินทางไปไหน หรือจำเป็นต้องไปก็ต้องพร้อมถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เกรงจะแพร่เชื้อให้ระบาดหนักจนเกินกำลังควบคุม อีกทั้งไม่ต้องการให้ห้างสรรพสินค้า สถานบริการ สถานบันเทิงต่างๆ เป็นแหล่งรวมคนจำนวนมาก ฯลฯ    

                ความสำเร็จของการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตัวชี้วัดสำคัญคือผู้ติดเชื้อที่มีสถิติสูงขึ้นทุกวันจะต้องไม่เพิ่มทวีขึ้นเป็นหลักหมื่นหลักแสน ผู้เสียชีวิตไม่เพิ่มเป็นหลักร้อยหลักพัน

ไม่นับความเดือดร้อนของผู้ประกอบธุรกิจ พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง โรงงานปิดกิจการ พ่อค้าแม่ขายขาดทุน ประชาชนมีหนี้สิน ฯลฯ ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือแบบฝนทั่วฟ้าหรือไม่อย่างไร แล้วจะตกไปที่นายทุนเจ้าสัวอีกหรือไม่

                ดังนั้นเพื่อการรับมือกับความสับสนอลหม่านถึงขั้นรวมกลุ่มรวมตัวกันประท้วงไม่พอใจมาตรการรัฐบาล จึงต้องตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรียกโดยย่อว่า “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” นายกฯ เป็นประธาน ยึดอำนาจการบริหารงานสั่งการให้มารวมศูนย์อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์

แม้จะมีอำนาจเต็ม แต่ก็ดีทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่จะให้สำเร็จ สิ่งสำคัญต้องผสมผสาน 3 ส่วนสำคัญ

ประการแรก ความร่วมมือของประชาชนปฏิบัติตามข้อกำหนด ประการที่สอง การบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด และประการที่สาม บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขรับมือไหว มีอุปกรณ์ต่างๆ เพียงพอ

ขณะเดียวกัน ผลของการรวมศูนย์สั่งการ จึงเกิดคำถาม 2 แพร่ง ที่จะตามมาเป็นบทสรุป แพร่งแรก หากจัดการไวรัสร้ายสำเร็จ จะส่งเสริมเพิ่มความชอบธรรม ยืดอายุรัฐบาลให้อยู่ยืนยาว เพราะ “เอาอยู่” สู้ไหว  

แต่หากล้มเหลวก็จะพบแพร่งที่สองซ้ำเติมให้เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน อาจถึงขั้นล้มครืน เพราะ “เอาไม่อยู่” ถูกเชื้อร้ายไวรัสคุกคามจนสุดจะรักษา ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกแพร่งไหน ซ้ายหรือขวาก็อยู่ที่ศักยภาพของรัฐบาล

นอกจากประด็นข้างต้นแล้วก็ยังมีข้อห่วงใย และกระแสเรียกร้องและท้าทาย พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะจัดการกับคนใกล้ตัวอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการกักตุนหน้ากากของคนในรัฐบาล

หรือแม้กระทั่งกระแสการวิพากษ์อย่างหนักหน่วง ถึงการจัดแข่งขันชกมวยที่เวทีลุมพินี เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ซึ่งถือว่าขัดต่อข้อสั่งการของนายกฯ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 มี.ค. จนเป็นแหล่งใหญ่ของการแพร่เชื้อ ผู้ที่ไปงานวันนั้น หลายคนต่างติดเชื้อโควิด-19 นัดนี้หลายร้อยคน ไม่เว้นแม้แต่เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ซึ่งเป็นนายสนามมวย พิธีกรบนเวที และบรรดาเซียน ฯลฯ

โดยสำนักข่าวอิศรารายงานว่า ผู้เกี่ยวข้องกับสนามมวยดังกล่าวประกอบด้วย หนึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ประธานอำนวยการสนามมวยลุมพินี

สอง พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก เป็นนายสนามมวยลุมพินี พ.อ.วสันต์ พึ่งสำเภา รองเจ้ากรมสวัสดิการทหารบก คนที่ 1 เป็นรองนายสนามมวยลุมพินี คนที่ 1 พ.อ.กฤษดา จินดาลัทธ เป็นรองเจ้ากรมสวัสดิการทหารบก คนที่ 2 เป็นรองนายสนามมวยลุมพินี คนที่ 2

พ.อ.สมสกุล วิจิตรภาพ เป็นเลขาธิการนายสนามมวย พ.อ.ธวัชชัย ศิริปรุ เป็นผู้ช่วยนายสนามมวยคนที่ 1 พ.อ.สุภร สัมมา เป็นผู้ช่วยนายสนามมวยคนที่ 2 สาม พล.ต.ดาบศักดิ์ กองสมุทร เป็นหัวหน้าฝ่ายแพทย์สนามมวย พ.อ.มงคล บุตรดาวงษ์ เป็นหัวหน้าธุรการสนามมวย พ.อ.สุดเขตต์ ชื่นภิรมย์ เป็นหัวหน้าฝ่ายพิจารณาโทษและปราบมวยล้มฯ พ.อ.ชำนาญ ใจทัน เป็นหัวหน้าฝ่ายจัดรายการสนามมวย พ.อ.พสิษฐ์ รัชพลพงศ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายสิทธิประโยชน์และต่างประเทศ พ.อ.สมเกียรติ ถนอมคุ้ม เป็นหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์สนามมวย พ.อ.เอกฉันท์ ชาญเฉลิม เป็นหัวหน้าฝ่ายเทคนิคสนามมวย พ.อ.จตุพร ดิสราพร เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินสนามมวย (อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.lumpineemuaythai.com/about-2/executive-director/)

กระทั่ง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน และสั่งเด้งเจ้ากรมสวัสดิการทหารบกไปช่วยราชการสังเวยไปรายแรกในวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา

แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อกระแสเรียกร้อง หากการตรวจสอบดำเนินไปอย่างไม่โปร่งใส สามคนผิดมาลงโทษ ไม่มีกำหนดแล้วเสร็จ เหมือนกับกรณีจ่าคลั่งกราดยิง 30 ศพ และบาดเจ็บอีกจำนวนมากกลางเมืองโคราช

“พล.อ.อภิรัชต์” ให้คำมั่นกับสังคมหลายประการ แต่จนบัดนี้ก็เงียบ ไม่มีอะไรคืบหน้า อาทิ การเปิดให้กำลังพลร้องเรียนความไม่เป็นธรรมหน่วยงานถูกผู้บังคับบัญชาเอาเปรียบ การใช้ค่ายทหารทำธุรกิจ การให้ทหารที่เกษียณออกจากบ้านหลวง ฯลฯ

จึงเป็นเรื่องที่ “พล.อ.อภิรัชต์” จะต้องเรียกความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาอย่างรวดเร็วและทันใจประชาชน ปิดช่องไม่ให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีหยิบโยงมาผสมผเสเตะตัดขารัฐบาลบิ๊กตู่ให้สภาพร่างกายทรุดไปกว่านี้

หรือสุดท้ายแล้วจำเป็นต้องมีใครพลีชีพแสดงความรับผิดชอบเพื่อรักษารัฐบาล และกองทัพหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องติดตามกันต่อไป.  

                            ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"