ธีรยุทธหนุนยาแรง เมษา.ชี้ชะตาปท. สู้อีกระยะชนะแน่


เพิ่มเพื่อน    

 "ธีรยุทธ" ระบุเมษาชี้ชะตาประเทศ ต้องเข้มข้นขึ้น หนุนเจ้าหน้าที่บังคับใช้มาตรการจริงจัง 100% หากคนในสังคมไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา จำเป็นต้องใช้มาตรการบังคับทางสังคม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.สงครามบางด้าน ยันสู้อีกระยะ เราชนะได้แน่ "ชวน" แนะเร่งใช้งบกลาง ไม่ควรต้องปล่อยให้แพทย์และโรงพยาบาลต้องไปคอยขอบริจาค 

    นายธีรยุทธ บุญมี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เผยแพร่บทความเรื่อง "เมษาชี้ชะตาประเทศ" ผ่าน w ww.thaipost.net โดยมีเนื้อหาระบุว่า เมษาชี้ชะตาประเทศ ต้องเข้มข้นขึ้น เจ้าหน้าที่บังคับใช้มาตรการจริงจัง 100% การต่อสู้กับโรคระบาดมี 3 มาตรการตามลำดับความร้ายแรง ความรุนแรงน้อยสุดใช้วิธีติดตาม ตรวจสอบ รักษา (contact tracing, testing และ treat) ซึ่งไทย สิงคโปร์ เกาหลี จีน เก่งมาก และได้ผลสูง 
    แต่เมื่อการติดต่อขยายตัวเกินกำลังการติดตาม ก็ต้องเพิ่มและยกระดับมาตรการรวมพลังทางสังคมกำหนดระยะห่าง social distancing แต่ถ้าคนในสังคมยังไม่ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา ไม่ร่วมมือกันพอ ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการที่ 3 คือการบังคับทางสังคม (social sanction) ซึ่งก็คือการบังคับใช้กฎหมาย ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้ พ.ร.บ.สงครามบางด้าน เช่น การบังคับภาคเอกชนให้ทำกิจกรรมช่วยเหลือการสู้โรค
    ในปัจจุบันนี้เราใช้มาตรการที่ 3 มาได้ครึ่งทาง ตัวเลขผู้ป่วยที่รายงานกันมาก็สะท้อนว่ากำลังเกิดผล แต่เมษายนเป็นเดือนที่ทุกฝ่ายต้องทุ่มเททำงานอย่างหนักที่สุด
    1.ต้องเลี่ยงการระบาดแบบ super cluster หรือ super spreader ที่เกิดกรณีสนามมวย การชุมนุมศาสนา เพราะมันเสริมการระบาดแบบข้ามชนชั้น (cross sectorial) ลงสู่ชนชั้นล่าง และข้ามภูมิศาสตร์ ที่ต้องแก้ปัญหาจริงจังคือเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งคนหลายแสนอาจฝ่าฝืนกลับบ้านและจะมีส่วนกระจายเชื้อไปทุกชนชั้นและทุกภูมิภาคอย่างแท้จริง ต้องหาวิธีแก้อย่างเด็ดขาด ที่ต้องระวังเพิ่มเติมคือตลาดขนาดใหญ่ ชุมชนแออัดในทุกจังหวัด
    2.จังหวัดส่วนใหญ่มีผู้ติดเชื้อจังหวัดละไม่กี่ราย ขณะนี้มีมาตรการทั้ง 3 ขั้นให้ใช้แล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ละเลยควรจะควบคุมได้ แต่มีบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ 4 จังหวัดภาคใต้ อยู่ในสภาพคล้ายกรุงเทพฯ ก่อนตัวเลขจะข้ามหลักร้อยมาเป็นหลักพัน ต้องใช้มาตรการเข้มข้นและบังคับใช้จริงจังจึงจะสำเร็จ
    3.คำสั่งต้องเข้าใจสภาพรูปธรรม มี logistics และผู้ปฏิบัติรองรับให้สำเร็จ เช่น จะจัดระยะห่างบนรถสาธารณะในเมืองและต่างจังหวัด แต่รถไม่พอก็จะปฏิบัติไม่ได้
    นายธีรยุทธระบุว่า ต้องสู้อีกระยะ เราชนะได้แน่ ที่ผ่านมาแพทย์ พยาบาล สาธารณสุขของเราทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ทันกาล รัฐบาลก็ปรับตัวอย่างถูกต้องที่ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์เป็นผู้นำทางความคิด ตัวเองหันไปพิจารณาภาพรวมและดำเนินมาตรการต่างๆ รองรับ ถือว่าทำได้ถูกทางไม่สายเกินไป มีโอกาสควบคุมไม่ให้คนติดโรคกันเกือบทั้งเมืองเหมือนอิตาลี อังกฤษ สเปน อเมริกา ซึ่งถือว่าปัจจุบันประสบความล้มเหลวในการควบคุมโรค ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยผู้นำ มีปัญหาเรื่องวัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งประชาชนมีความเป็นปัจเจก มั่นใจตัวเอง ไม่คล้อยตามผู้อื่นง่ายๆ กลุ่มยุโรปใต้รักความสนุกสนาน ส่งผลให้การติดเชื้อยังเพิ่มทะยานตลอดเวลา แม้หลายประเทศจะสั่งปิดเมืองแล้วก็ยังล้มเหลว
วัยรุ่นหนุ่มสาวพวกนอกขอบ 
    สำหรับคนไทยมีพวกวัยรุ่นหนุ่มสาว หรือพวกนอกขอบ พวกปฏิเสธขัดขืนลองดีสุดโต่งจำนวนหนึ่ง ซึ่งนับรวมก็คงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ คนไทยในช่วงที่ 1 คือ ม.ค.-ก.พ. ได้ปรับพฤติกรรมส่วนตัวด้วยการตื่นตัว “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” พอสมควร ตามมาการใช้หน้ากากอนามัยมากขึ้น กระจายไปสู่ชาวบ้านและต่างจังหวัดชัดเจนตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มี.ค. ในช่วงปัจจุบันจนถึงการประกาศภาวะฉุกเฉิน (26 มี.ค.) คนไทยร่วมมือกับการรณรงค์การสร้างระยะห่างทางสังคมได้ดีพอสมควร ซึ่งโดยการสังเกต (ไม่ใช่การสำรวจหรือวิจัย) ก็น่าจะถือได้ว่าคนไทยได้ร่วมแรงร่วมใจในเรื่องนี้ในระดับราว 70% ขึ้นไป แต่ยังจำเป็นที่จะต้องติดตามดูพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ถ้าดูจากกรณีของประเทศต่างๆ ทั่วโลกการเลือกเส้นทางที่เข้มข้นและบังคับจริงจังดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
    1.จากงานวิจัยของนักวิชาการชาวจีน (D. He และ Dushoff 2013 - งานสร้างโมเดลการศึกษาการระบาดของไข้หวัดใหญ่ปี 1913 และ Q. Lin และคณะอีก 10 คน 1 เม.ย.2020) ได้ชี้ว่าการร่วมมือทั้งของภาคประชาชนและรัฐบาลทั้งสองปัจจัยช่วยให้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนสงบลงได้
     2.ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มของไทยในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ 122, 106, 107, 111, 91, 109, 143, 136 สะท้อนว่าความตื่นตัวและมาตรการ “ควบคุมการเคลื่อนย้ายระหว่างเมือง” ของรัฐบาลเริ่มได้ผล เพราะกราฟเหวี่ยงตัวไปด้านข้างคล้ายใกล้จุดสันเขา จะแกว่งตัวเช่นนี้ไปอีกระยะหนึ่ง ในมณฑลหูเป่ย์หลังจากการ “ปิดเมือง” อย่างเต็มที่ จำนวนผู้ป่วยทางการยังเพิ่มขึ้นต่อไปอีกประมาณไม่ถึง 2 สัปดาห์เศษ จากนั้นก็ลดลงอย่างฮวบฮาบชัดเจน
    3.งานวิจัยของนักวิชาการมหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน คือ Y. Zhang และผู้ร่วมวิจัยอีก 5 ท่าน ได้สรุปว่า มาตรการที่เข้มข้นของจีนได้ผลในการหยุดและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทุกเมือง ได้มีการค้นพบสำคัญ เช่น มาตรการสอบสวน ติดตามผู้ป่วยทุกราย มีความสำคัญมาก ซึ่งจีน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ รวมทั้งไทย ทำได้ผลดีมาก และผู้ป่วยซึ่งไม่สำแดงอาการมีอยู่เป็นจำนวนพอสมควร (แต่ศักยภาพการแพร่กระจายเชื้อเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของพวกที่สำแดงอาการ) แต่สะท้อนว่าเรายังมีความจำเป็นต้องมีการสุ่มตรวจหรือติดตามเคสต่างๆ อย่างเต็มที่ต่อไป แม้ในอนาคตที่การระบาดดูสงบลง
    ข้อสรุปสุดท้ายที่สำคัญมากคือ ผลจากการควบคุมเข้มข้นของจีนทำให้ตัวเลขการแพร่กระจายตัว R0 ของโควิด-19 จาก 1 คนไปได้กี่คนลดลงอย่างรวดเร็ว จากค่าเฉลี่ยประมาณ 2-3 (คนป่วย 1 คนแพร่เชื้อออกไปได้อีก 2-3 คน ถ้าตัวเลขน้อยกว่า 1 แสดงว่าโรคกำลังสงบลง) ลดลงเหลือเพียงประมาณ 0.2 ภายในเวลาเพียง 10 วัน ซึ่งถือว่าดีมาก ถ้าคนไทยทำได้เพียงใกล้เคียงกับ 1.0 ซึ่งเป็นค่าที่การระบาดจะคงตัวหรือใกล้กับ 1 ก็ถือว่าโชคดี เป็นกำลังใจให้เราตื่นตัวป้องกันต่อไปจนกว่าการระบาดในโลกจะสงบลง และต้องป้องกันอย่างที่สุดไม่ให้เกิดเหตุการณ์ super spreader ขึ้นอีก
ไม่ควรต้องให้หมอขอบริจาค
    นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 และ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ได้เยี่ยมชมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่มีขนาด 308 เตียง และมอบเงินสนับสนุนช่วยเหลือเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์
     ทั้งนี้ นายชวนได้รวบรวมเงินจากทีมงานมาบริจาค 100,000 บาท ขณะที่นายศุภชัยและ พล.อ.เลิศรัตน์ได้รวบรวมเงินจาก ส.ว.มาบริจาคจำนวน 850,000 บาท พร้อมทั้งเขียนข้อความให้กำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
    นายชวนกล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลต่างๆ พบว่าบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังขาดอุปกรณ์ในการป้องกัน การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จึงเห็นว่ารัฐบาลควรให้การสนับสนุน โดยสามารถจัดสรรงบกลางที่มีอยู่ และไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่าใช้เพื่ออะไร ก็สามารถนำมาสนับสนุนใช้ได้ทันที ไม่ควรต้องปล่อยให้แพทย์และโรงพยาบาลต้องไปคอยขอบริจาค อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเสนอให้ออกเป็นพระราชกำหนดกู้เงินนั้น เห็นว่าเป็นคนละส่วน และคิดว่าควรใช้งบกลางดีกว่า
    ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ว่า ในช่วงนี้ก็ขอให้ติดตามข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ตระหนักรู้กับข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างมีสติ จะทำให้ทุกท่านรู้ทันกับโรคโควิด-19 ค่ะ แล้วเราจะผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน ด้วยรักและห่วงใยพี่น้องคนไทยทุกคนค่ะ
    น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sirikanya Tansakun-ศิกัญญา ตันสกุล ว่า ตอนนี้งบประมาณปี 63 ดำเนินมาได้ครึ่งทางแล้ว งบบางส่วนถูกเบิกจ่ายไปแล้ว รายจ่ายประจำเบิกจ่ายไปแล้วราว 40% ของงบประมาณ ประมาณการคร่าวๆ งบที่ยังไม่ได้ใช้คือ 330,000 ล้านบาทจากทุกกระทรวง แน่นอนว่าบางกระทรวงอาจโยกงบได้มากน้อยแตกต่างกัน และเรายังภารกิจอื่นๆ ที่ต้องจัดการนอกเหนือจากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ปัญหา PM2.5 ในภาคเหนือ และไฟป่า จึงคาดว่าส่วนที่จะโยกได้จริงๆ คือ 80,000-100,000 ล้านบาท
    ดังนั้นก่อนจะออก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน ควรจัดสรรงบปี 63 ใหม่เสียก่อน จัดลำดับความสำคัญใหม่ ให้สาธารณสุข และการเยียวยาผู้คนได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว การกู้เงินเพิ่มอีก 200,000 ล้านบาทก็อาจจะไม่เพียงพอ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"