ธรรมะกับความเป็นประชาธิปไตยที่แท้


เพิ่มเพื่อน    

(1)

            อาทิตย์นี้...ก็ได้เวลา เทศน์ กันอีกรอบ เพราะอย่างที่ว่าเอาไว้เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนั่นแหละว่า บ้านเมืองช่วงนี้ หรือแม้แต่โลกช่วงนี้ คงไม่มีอะไรเหมาะไปกว่า การหันไปเอา พระนำหน้า หรือนำเอา ธรรมะ และ ศาสนา มาว่ากันอย่างเป็นระบบและกิจการ เพราะน่าจะมีแต่สิ่งที่ว่านี้ เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ที่พอช่วยให้เกิด ทางออก-ทางรอด กับสารพัด สารพัน ปัญหา ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโน่นเลย...

(2)

            อย่างเมื่อสองวันก่อน...ไปอ่านคอลัมน์อาจารย์ วรากรณ์ สามโกเศศ ที่ได้ไปนำเอาบทสัมภาษณ์ ท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Optimise มาเผยแพร่ไว้ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ว่าด้วยเรื่องความเสื่อม-ไม่เสื่อม ของ ระบอบประชาธิปไตย ที่ดูจะก่อให้เกิด คำถาม ต่อผู้คนในระดับโลกไปแล้ว ไม่ใช่แต่เฉพาะสังคมไทยที่พยายามดิ้นรนหาการ เลือกตั้งที่รัก ชนิดหวิดจะเกิดการไล่ทุบ ไล่ตี หน้ากองบัญชาการกองทัพบกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แม้ว่าท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ท่านจะให้ค่ากับระบอบปกครองชนิดมิใช่น้อย หรือมองว่าอาจเป็นระบอบปกครองที่ เลวน้อยที่สุด แต่ภายใต้ ความเสื่อมของประชาธิปไตย ที่ดูจะแผ่ซ่านไปทั่วทั้งโลก ผู้ที่ได้ชื่อว่ามีแนวคิดค่อนข้างก้าวหน้า ทันสมัย มีวิสัยทัศน์ยาวไกล แถมกระเดียดไปทางคล้ายๆ ฝรั่งอีกต่างหาก อย่างท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ท่านกลับมองอะไรออกไปทางพระ ทางเจ้า หรือมองถึงเหตุปัจจัยแห่ง ความเสื่อม ของระบอบประชาธิปไตย เกี่ยวโยงไปถึงสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ อย่างมิอาจปฏิเสธได้...

(3)

            หรืออย่างที่ท่านสรุปเอาไว้คร่าวๆ ว่า...ความเป็นประชาธิปไตยนั้น มันคงต้องตั้งอยู่บนเสาหลักถึง 7 เสาด้วยกัน ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น คงต้องไปหาอ่านกันเอาเอง แต่สิ่งที่เรียกว่า การเลือกตั้ง นั้น เป็นเพียงแค่ 1 ใน 7 เสาเท่านั้น ขณะที่เสาอื่นๆ ไม่ว่าสิ่งที่เรียกว่า ขันติธรรมทางการเมือง หรือ นิติธรรม หรือแม้แต่ เสรีภาพ ก็ยังต้องเป็นเสรีภาพแบบชนิดที่ต้องมี ปัญญาและคุณธรรม เป็นพื้นฐานอีกต่างหาก จะเป็นเสรีภาพแบบ Hate Speech หรือแบบ อเมริกันชน ก็แล้วแต่ ย่อมมีแต่ตายกับตายลูกเดียวเท่านั้นเอง พูดง่ายๆ ว่า...มีแต่ต้องอาศัย ธรรมะ ในแต่ละรูป แต่ละแบบ ไม่ว่าจะเรียกขานในนามธรรมประเภทไหนก็แล้วแต่ มาใช้เป็นเสาหรือเป็นตัวช่วยค้ำยันสิ่งต่างๆ เอาไว้ มันถึงจะพอไปได้ หรือพอจะ เลวน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับระบอบปกครองอื่นๆ...

(4)

            อันนี้นี่แหละ...ที่เรียกว่าออกไปทางพระ ทางเจ้า กันเห็นๆ หรือแทบไม่ต่างอะไรไปจากที่ อภิมหาพระ อย่าง ท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านพูดแล้ว พูดอีก เทศน์แล้ว เทศน์อีก เอาไว้นานแล้วว่า...“ประชาธิปไตยที่ว่าของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชนนั้น ใช้ได้เฉพาะประชาชนที่มี...ธรรม...เท่านั้น ถ้าประชาชนไม่มีธรรม มันก็จะกลายเป็น...ประชาธิปตาย...เท่านั้นเอง” หรือ “ประชาธิปไตยต้องเป็นไปเพื่อลดความเห็นแก่ตัว ถ้าเห็นแก่ตัว ก็มีแต่ประชาธิปตายโดยไม่รู้สึกตัว ความไม่เห็นแก่ตัวจึงเป็นรากฐาน (เสา) ของประชาธิปไตย” เพียงแต่ว่า...ท่านพุทธทาสฯ ท่านอาจจะเน้นหนักในเรื่อง ธรรมะในหมู่ประชาชน อย่างเป็นพิเศษ ไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งที่พึงมีอยู่แต่เฉพาะในหมู่ ผู้ปกครอง หรือผู้ที่ประดิษฐ์ คิดค้น ระบบและระบอบ ผู้ที่บริหารจัดการบ้านเมืองในแต่ละช่วง แต่ละระยะเท่านั้น...

(5)

            โดยแนวๆ ของ ท่านพุทธทาสฯ ท่านจึงมุ่งไปสู่ความพยายาม ปรับเปลี่ยน อะไรก็ตามที่เป็นอุปสรรค กีดขวาง ต่อการ หว่านพืชธรรมก่อนพืชประชาธิปไตย ในหมู่มวลชน หรืออะไรก็ตามที่พอจะช่วยให้เกิดการ ลด-ละ-เลิกความเห็นแก่ตัว อันเป็นสิ่งที่ เป็นไปได้ยากสำหรับปุถุชนสมัยนี้ที่บูชาวัตถุ ระดับเคยชี้แนะเอาไว้ถึงขั้นว่า... “การเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นสิ่งจำเป็น และต้องเปลี่ยนแปลงกันในระดับอุดมคติของสังคม ให้ลงลึกไปถึงสามัญชน มิฉะนั้น เขาจะไม่ทำแม้ในสิ่งที่เขาทำได้ และไม่สนใจที่จะรู้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ทำได้ มีแต่การเป็นทาสอายตนะต่อไปเรื่อยๆ” พูดง่ายๆ ว่า...ไม่ใช่แค่การนิมนต์ พระ ไปเทศน์ให้นักการเมือง หรือให้ผู้ปกครองฟังเท่านั้น แต่ต้องนำเอา ธรรมะ ไปสอดแทรกอยู่ในวิถีทางต่างๆ ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประเพณี หรือแม้แต่ความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้นั่นเอง...

(6)

            แม้ว่าบางครั้ง บางครา การนำเอาสิ่งเหล่านี้ไปหว่าน ไปเผยแพร่ อาจต้องอาศัย กรรมวิธี ที่ไม่ถึงกับเป็น ประชาธิปไตย มากมายซักเท่าไหร่ แต่ ท่านพุทธทาสฯ ท่านยังพร้อมที่จะเปิดช่อง เปิดโอกาส ให้กับ เผด็จการโดยธรรม ว่าเป็นสิ่งที่ พอรับได้ เอาไว้ซะอีกต่างหาก แต่ก็นั่นแหละ...ถ้าหากเผด็จการนั้นๆ ไม่ใช่ เผด็จการโดยธรรม ออกไปทาง เผด็จการโดยทำ หรือ โดยไม่คิดจะทำ หรือไม่ อย่างไร ก็แล้วแต่ ภารกิจในการ เปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งหลาย มันเลยคงต้องขึ้นอยู่กับบรรดา ผู้ใฝ่ธรรม หรือผู้ที่เห็นคุณค่าของธรรมะ ที่จะต้องช่วยแบกรับกันต่อไป ไม่ว่าเขาเหล่านั้น...จะมีฐานะเป็นผู้ปกครอง ผู้ถูกปกครองเป็นชนชั้น วรรณะใดๆ ก็ตาม ไม่ว่า พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร แต่ถ้าลองว่ายึดมั่นในธรรมะซะอย่าง!!! ย่อมถือเป็นผู้ที่ เสมอกัน ไปด้วยกันทั้งสิ้นนั่นแล...                

 

 

 

 

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"