หนุนรัฐบาลงดขายน้ำเมา ปล่อยตัวผู้ต้องขังลดแออัด


เพิ่มเพื่อน    

 "หมอวรงค์" หนุนรัฐบาลใช้ยาแรงสกัดไวรัสโควิด-19  เสนอห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วงนี้ "ครป." ชงปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังบางส่วนลดแออัดเสี่ยงเชื้อแพร่ระบาด "เพื่อไทย-ก้าวไกล" ประสานเสียงตัดงบซื้ออาวุธ เพิ่มงบให้ สธ. พร้อมเยียวยาพระสงฆ์ไร้กิจนิมนต์

    เมื่อวันที่ 2 เม.ย.63 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องให้กล้าใช้ยาแรงในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ระบุว่า โดยปกติมีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในช่วงเวลา 11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น. และพบว่าตัวเลขนักดื่มตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปมีไม่น้อยกว่า 17 ล้านคน ในเมื่อจะใช้ยาแรง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลกล้าไหมที่จะเพิ่มยาแรงอีกหนึ่งขนาน และน่าจะได้ผลสูงมาก คือห้ามขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในช่วงแพร่ระบาดนี้
    "สาเหตุของการรวมตัวกัน และมีความเสี่ยงต่อการระบาดในช่วงนี้ เหลือเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่เป็นเหตุให้รวมตัวกันคือแอลกอฮอล์ เพราะช่วงเวลาเย็นหลังเลิกงาน ตามซอกซอย ใกล้ร้านสะดวกซื้อ จะเห็นการรวมกลุ่มนั่งดื่มแอลกอฮอล์ และมีความเสี่ยงสูงมากของการแพร่ระบาด ที่สำคัญจะช่วยลดปัญหาช่วงสงกรานต์ด้วย อยู่ที่รัฐบาลจะกล้าใช้ยาแรงตัวนี้หรือไม่" นพ.วรงค์กล่าว
    ขณะที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรื่อง ความยุติธรรมในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านฉุกเฉิน ตอนหนึ่งระบุว่า ปัจจุบันบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต้องมาร่วมปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรมเพื่อต่อต้านภัยพิบัติจากโรคโคโรนาร่วมกับบุคลากรด้านสาธารณสุขด้วย ดังนั้นควรมีการบูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ขณะที่ภายในเรือนจำภายใต้กรมราชทัณฑ์มีนักโทษล้นคุกจำนวนมาก และต้องอยู่กันอย่างแออัด จึงมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาได้ในหมู่ผู้ต้องขังซึ่งมีหลายระดับ
    ครป.เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทยต้องรองรับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างเป็นระบบ แม้ว่ากรมราชทัณฑ์จะมีมาตรการคัดกรองผู้ป่วยและแยกกักกันสำหรับผู้ขังรายใหม่ สั่งใช้กฎเหล็กคนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า รวมทั้งเร่งสร้างห้องกักโรคและห้องน้ำ การงดการเยี่ยมญาติและงดการทำงานฝึกอาชีพในสถานประกอบการนอกเรือนจำก็ตาม แต่สภาพแออัดของสถานที่คุมขังและจำนวนนักโทษที่ล้นเกินยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทย ขึงขอสนับสนุนข้อเสนอของ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ที่เสนอมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ Covid-19 โดยถือเป็นวิกฤติของเรือนจำที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ซึ่งเป็นปัญหาความไม่สมดุลของระบบ เมื่อเจอกับสถานการณ์โรคระบาด จึงทำให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่รอไม่ได้อีกต่อไป ความแออัดของผู้ต้องขังที่ล้นเกินตามสถิตินับแสนคนไม่สามารถใช้มาตรการระยะห่างทางสังคมได้ และมาตรการตั้งรับอื่นๆ มักจะนำมาซึ่งการก่อจลาจลดังเช่นในหลายประเทศที่ผ่านมา  
    ดังนั้น มาตรการเชิงรุกที่สำคัญ รัฐบาลควรพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว โดยการให้ประกันตัวหรือปล่อยตัวผู้ต้องขังบางส่วนที่อยู่ในข่ายสมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษตามข้อเสนอของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นนักโทษเด็ดขาด (หมายถึงคดีถึงที่สุดแล้ว) ที่เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี กลุ่มนี้มีจำนวนกว่า 72,000 คน, ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา ซึ่งหมายถึงผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีต้องถูกคุมขังทั้งๆ ที่คดียังไม่ถึงที่สุด เพราะไม่ได้รับประกันตัว รวมทั้งมีบางรายถูกกักขังแทนค่าปรับเนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ กลุ่มนี้มีประมาณ 67,000 คน นับเป็นสถิติที่สูงมากแห่งหนึ่งของโลก ผู้ต้องขังสูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงได้รับอันตรายถึงชีวิต หากโควิดระบาดทุกเรือนจำมีผู้ต้องขังอายุเกิน 60 ปีที่คดีถึงที่สุดแล้วรวมกันราว 5,800 คน, กลุ่มผู้ต้องขังคดีลหุโทษ หรือความผิดเล็กน้อย เช่น กระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ กระทำผิด พ.ร.บ.การพนัน หรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลุ่มนี้มีอีกกว่า 9,000 คน
    "สำหรับระยะยาว ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องหารือระดมสมองสู่การปฏิบัติเชิงนโยบายอย่างจริงจังถึงการใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขังเพียงอย่างเดียว เนื่องจากสภาพที่เป็นอยู่ประเทศไทยมีบทกำหนดลงโทษจำคุกที่มากจนเกินไป และบางส่วนไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดจนมีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำติดอันดับสูงสุดของโลก" แถลงการณ์ระบุ
    ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท. กล่าวถึงการเสนอแนวทางให้รัฐบาลออกพระราชกำหนดโอนงบประมาณจากงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยพิจารณาจากรายการที่ไม่ใช่รายจ่ายประจำ เพื่อตัดงบประมาณจากโครงการที่ไม่สอดรับกับสถานการณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาทิ งบโฆษณาประชาสัมพันธ์ งบไอโอ งบอบรมสัมมนา งบดูงานทั้งในและต่างประเทศ งบอีเวนต์ต่างๆ ตลอดจนงบจัดซื้อเรือดำน้ำ รวมถึงงบจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ แล้วโอนย้ายมาใช้ในกิจการสาธารณสุขและการเยียวยาประชาชนก่อนว่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม เพราะระยะที่เหลืออาจใช้งบปี 63 ไม่ทัน อีกทั้งไม่กระทบกรอบวงเงินหนี้สาธารณะอีกด้วย 
    "การเสนอตัดงบประมาณ 10% จากทุกกระทรวงเท่ากันหมด  อาจไม่สอดรับกับสถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มจะต้องต่อสู้กันอีกยาว ควรพิจารณางบ'63 ให้ละเอียดถี่ถ้วนว่าขาดเหลืออย่างไร กระทรวงสาธารณสุขไม่ควรจะถูกตัดงบประมาณเท่ากระทรวงอื่น เพราะข้าศึกที่มาประชิดรั้วบ้านวันนี้ไม่ใช่ข้าศึกทางการทหาร แต่คือโควิด-19" โฆษก พท.กล่าว
    เช่นเดียวกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความระบุว่า ขณะนี้นิยามความมั่นคงของชาติไม่ใช่การทหาร แต่เป็นความมั่นคงด้านสาธารณสุข เมื่อไรก็ตามที่มีประเทศไหนเริ่มผลิตวีคซีนขึ้นมาใช้ได้ผล กำลังการผลิตเพื่อใช้ในประเทศเขาเองนั้นจะไม่พอสำหรับการส่งออกมาขายนอกประเทศ เป็นไปไม่ได้ที่หนึ่งประเทศจะผลิตวัคซีนเพื่อมาขายทั้งโลก ดังนั้นประเทศไทยต้องติดตาม พัฒนาการวิจัยควบคู่กันไปกับระดับนานาชาติ ผมอยากเน้นย้ำให้รัฐบาลไทยคำนึงถึงงบประมาณในด้านนี้ด้วย เพราะนี่คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับวิกฤติโควิด ประเทศไทยต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้
    "เรื่องนี้ช้าไม่ได้ ในฐานะผู้แทนราษฎร เมื่อเปิดประชุมสภาในปลายเดือน พ.ค.นี้ สัปดาห์แรกจะเป็นวาระงบประมาณปี 2564 พรรคก้าวไกลจะเสนอจัดงบประมาณใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันมากขึ้น เราต้องเปลี่ยนงบกระสุนมาเป็นงบวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ โลก ณ ปัจจุบันนี้ อธิปไตยของชาติอาจไม่ใช่ว่าใครมีอาวุธ มีแสนยานุภาพกองทัพขนาดไหน แต่เป็นใครสามารถผลิตวัคซีนเพื่อช่วยชีวิตประชาชนของตนได้มากกว่ากัน" นายพิธานกล่าว
    ส่วนนายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรค พท. เสนอว่า ปัญหาไวรัสโควิดไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะประชาชนและภาคธุรกิจเท่านั้น แต่วัดและพระสงฆ์ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดอย่างหนักเช่นกัน ประชาชนไม่มีเงินไปทำบุญ ไม่มีกิจนิมนต์ เพราะไม่มีใครจัดงานบุญ แม้กระทั่งคนออกมาใส่บาตรในแต่ละวันก็แทบไม่มี ทั้งกลัวโรคไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจวิกฤติกระทบหนักต่อรายได้ ในขณะที่แทบทุกวัดมีรายจ่ายจำนวนมาก ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ หรือแม้แต่ค่าอาหารสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่านอกจากการเยียวยาประชาชน และภาคธุรกิจแล้ว รัฐบาลต้องเยียวยาวัดและพระสงฆ์ที่ประสบปัญหาด้วย. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"