12 หน่วยงานร่วม ‘ปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19’ โดยมี สช.และ พอช.เป็นศูนย์ประสานงานกลาง ขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบ


เพิ่มเพื่อน    

 

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ /  12 หน่วยงานร่วม ‘ปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้  ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19’  เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคพลเมืองในการสร้างและขับเคลื่อนมาตรการชุมชน  เพื่อลดการระบาดของโรคโควิด 19  โดยหน่วยงานภาคีส่วนกลางจะปรับแผนงานและกําหนดแนวทางดําเนินการร่วมกันเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายและหน่วยงานในพื้นที่  โดยจัดตั้งศูนย์ประสานงานมี สช. และ พอช. เป็นหน่วยประสานงานกลาง  เพื่อขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบและเป็นเอกภาพ

 

จากสถานการณ์เชื้อไวรัส COVID-19 เริ่มแพร่กระจายไปทั่วประเทศไทย  ทำให้หน่วยงานด้านสุขภาพและสถาบันทางสังคม  รวม 12 หน่วยงาน  คือ   กระทรวงสาธารณสุข   กรมการปกครอง  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น   สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)   สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  สภาองค์กรชุมชน  และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส   ร่วมกันหารือเพื่อวางแนวทางและมาตรการในการใช้พลังชุมชนสู้กับไวรัสโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

ล่าสุดวันนี้ (3 เมษายน) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จังหวัดนนทบุรี  มีการประชุมหารือเรื่อง ปฏิบัติการรวมพลังพลเมืองตื่นรู้  ช่วยชาติสู้ภัย COVID-19’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคพลเมืองในการสร้างและขับเคลื่อนมาตรการชุมชน  เพื่อลดการระบาดของโรคโควิด 19   โดยผู้มีแทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็น

 

นพ.สำเริง แหยงกระโทก  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า  สถานการณ์วิกฤตจากไวรัสโควิดที่ระบาดไปทั่วโลก  และประเทศไทยระบาดไปเกือบทุกจังหวัด  จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมโรคระบาดระดับจังหวัดและอำเภอขึ้นมา  ขณะเดียวกันจะต้องมีการสานพลังในระดับแนวราบของทุกภาคส่วน  เพื่อให้เกิดพลเมืองตื่นรู้  ตั้งแต่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  และหน่วยงานด้านสาธารณสุข  เช่น  สปสช.  สช.  สสส.  โดยมี อสม. 1 ล้านคนทั่วประเทศออกไปเคาะประตู  ให้ความรู้แก่ประชาชน  และมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธานร่วมขับเคลื่อนกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น

 

 นพ.สำเริง แหยงกระโทก 

 

“เมื่อก่อน พชอ.ไม่มีงบประมาณ  แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด  จึงให้ พชอ.มาช่วย  โดย  สสส.สนับสนุนงบประมาณอำเภอละ 100,000 บาท  เพื่อให้เกิดพลัง   เกิดความร่วมมือ  จัดประชุม  เกิดการวางแผนงาน  นำไปสู่ข้อตกลงความร่วมมือ  ซึ่งไม่ใช่เกิดจากการสั่งงานเพียงอย่างเดียว  เพื่อให้เกิดเป็นข้อตกลงร่วมกันในระดับตำบล  หรือเป็นธรรมนูญตำบล ซึ่งจะเป็นบทบาทที่สำคัญ  เพื่อสร้างความเข้าใจ  สร้างความรู้  มีมาตรการลงโทษสำหรับคนที่ไม่ปฏิบัติตาม  หรือทำให้คนอื่นติดเชื้อ   เพื่อทำให้เกิดพลังพลเมืองตื่นรู้  ช่วยชาติสู้กับภัยโควิด และก้าวไปด้วยกัน  และน่าจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” นพ.สำเริงกล่าว

 

นพ.ประทีป  ธนกิจเจริญ  เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)  กล่าวว่า  ขณะนี้ไวรัสโควิดกำลังเดินทางจากกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ไปสู่ชุมชน  หมู่บ้าน  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มคนเปราะบาง  คือ  ผู้สูงอายุ  ผู้ป่วยเรื้อรัง   และเด็ก  ซึ่งหากคนกลุ่มนี้ติดเชื้อจะเป็นภาระหนักด้านการรักษาพยาบาล  และมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก  จึงต้องมีมาตรการป้องกันของประชาชนในพื้นที่  และต้องตื่นตัวอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ  เพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วมกัน  โดยใช้ธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด-19  หรือธรรมนูญตำบล  ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  และจะต้องประกอบด้วย 

 

 นพ.ประทีป  ธนกิจเจริญ 

 

1.การจัดระบบข้อมูล  ความรับรู้ที่ถูกต้อง   2.การจัดกลุ่มเสี่ยง  คนติดเชื้อ  ดูแล  ช่วยเหลือในพื้นที่กักตัวให้ครบ 14 วันตามกำหนด   3.การดูแลกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะติดเชื้อ  เช่น  เด็ก  ผู้ป่วยเรื้อรัง  ผู้สูงอายุ   4.การดูแลอนามัยส่วนบุคคล  และครอบครัว  และ 5.ต้องร่วมมือช่วยเหลือกัน  เพราะนอกจากจะเป็นหาเรื่องสุขภาพแล้ว  ยังจะมีปัญหาอื่นๆ ติดตาม  เช่น  สังคม  เศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือน

 

“จากมาตรการเหล่านี้  จึงต้องแบ่งบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน  ทั้งหน่วยงานปกครองท้องถิ่น  หน่วยงานต่างๆ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน   ครอบครัว  และประชาชน ซึ่งจะต้องมีการระบุให้ชัดเจน  เป็นระบบ  มีข้อตกลงร่วม  โดยมีหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน  เราจะสามารถชนะไวรัสโควิด  และผ่านพ้นวิกฤตครั้นี้ไปได้”  เลขาธิการ สช.กล่าว 

 

นายทวี  เสริมภักดีกุล  รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  กล่าวว่า  บทบาทของกรมฯ  ในเบื้องต้น  คือ  ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดทำหน้ากากอนามัยให้ประชาชนกว่า 60 ล้านคน  โดยตอนนี้ทำหน้ากากผ้าได้แล้ว 47 ล้านชิ้น  นอกจากนี้องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) จะมีบทบาทในการเป็นเจ้าพนักงานดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง  การสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ ทางการแพทย์  การเตรียมสถานที่ในกรณีโรงพยาบาลไม่เพียงพอ  เพื่อจัดหาโรงพยาบาลสนามโดยใช้งบประมาณของ อปท.

 

นายทวี  เสริมภักดีกุล 

 

นพ.จักรกริช  โง้วศิริ  รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  กล่าวว่า  กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น  หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลจัดตั้งมา 13 ปีแล้ว   โดยให้บริการด้านสุขภาพ  เน้นการส่งเสริมและป้องกันโรค  การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน  ซึ่งในสถานการณ์โควิดนี้   กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นสามารถทำโครงการเพื่อนำงบประมาณไปใช้ได้ใน 5 เรื่อง  คือ  1.รณรงค์ให้ความรู้  2.จัดหาอุปกรณ์ป้องกัน  เช่น  หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ  โทโมสแกน  3.คัดกรองกลุ่มเสี่ยง  4.ตรวจเยี่ยม  ติดตามกลุ่มเสี่ยงในชุมชน  5.เฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น  โดยขณะนี้  กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นประมาณ 2,000 แห่งได้จัดทำโครงการเพื่อป้องกันไวรัสโควิดแล้ว  ใช้เงินกองทุนไปแล้วประมาณ 300  ล้านบาท  จากกองทุนที่มีทั่วประเทศประมาณ 7,000  กว่าแห่ง 

 

นพ.จักรกริช  โง้วศิริ 

 

นายปฏิภาณ  จุมผา  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ พอช.กล่าวว่า  พอช.เป็นกลไกของรัฐ  แต่เป็นเครื่องมือของประชาชน  ซึ่งในสถานการณ์โควิดนี้  พอช.ได้ร่วมกับเครือข่าย  ขบวนองค์กรชุมชน  เช่น  กองทุนสวัสดิการชุมชน  สภาองค์กรชุมชนตำบล  เครือข่ายบ้านมั่นคง  ฯลฯ  ร่วมกับหน่วยงานภาคีในท้องถิ่น  เช่น  รพ.สต.  อสม. ขับเคลื่อนและปฏิบัติการได้เลย  โดยใช้ตำบลท้องถิ่นเป็นฐานในการสู้รบ  มีเป้าหมายเพื่อชัยชนะเพียงอย่างเดียว  โดยมีพื้นที่ที่ พอช.จะดำเนินการในปีนี้จำนวน 3,137 ตำบล 

 

นายปฏิภาณ  จุมผา 

 

“ปีนี้ พอช.ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 1,121 ล้านบาท  เราจะใช้เป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาโควิดได้อย่างไร  และทำเต็มพื้นที่ได้อย่างไร  ซึ่งประเด็นเหล่านี้ พอช.กำลังออกแบบการทำงานและปรับงบประมาณร่วมกับพี่น้องประชาชน  โดยจะใช้พื้นที่ที่ พอช.ทำงานอยู่   ผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบล  ธุรกิจและทุนชุมชน  กองทุนสวัสดิการชุมชน  ฯลฯ  มีพื้นที่ทั้งหมด  3,137 ตำบล  โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง  ซึ่งเราสามารถทำได้เต็มพื้นที่โดยไม่ซ้ำภารกิจกับหน่วยงานภาคีอื่น  เช่น  ใช้เรื่องบ้านและเรื่องที่อยู่อาศัยของ พอช.  ทำให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดใช้เป็นศูนย์พักพิง”  นายปฏิภาณยกตัวอย่างการขับเคลื่อนงานของ พอช.ในสถานการณ์โควิด  และว่า  พอช.พร้อมที่จะร่วมมือเชิงนโยบายขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการจัดการประชุมระดมความคิดเห็นดังกล่าวแล้ว  เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา  นพ.ประทีป  ธนกิจเจริญ  เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)  ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2  ถึงเพื่อนภาคีเครือข่ายทุกองค์กร  มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า

 

“จากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด19 ที่กําลังคืบคลานเข้าสู่ชุมชนหมู่บ้านทั่ว ประเทศ  และตัวอย่างความเข้มแข็งของประชาชนในหลายพื้นที่   พวกเราภาคีจากหลายภาคส่วนได้ตกลงกันเมื่อวันที่ 24 มีนาคมว่า  พวกเราจะเร่งขับเคลื่อนแผน  “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ช่วยชาติสู้ภัยโควิด 19”   โดยมีวิธีการขับเคลื่อนอย่างเป็นเอกภาพ  และเป็นระบบทั่วประเทศดังนี้

 

1. หน่วยงานภาคีส่วนกลางจะปรับแผนงานและกําหนดแนวทางดําเนินการร่วมกันเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายและหน่วยงานในพื้นที่  และได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานสนับสนุนการสู้ภัยโควิด19 ขึ้น  โดยมี สช. และ พอช. เป็นหน่วยประสานงานกลาง   

 

2. กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุนให้คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอําเภอ (พชอ.) ของทุกอําเภอ   ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจาก สสส. จะหารือร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่  กําหนดแผนสู้ภัยโควิด19 ของอําเภอ   และให้มีทีมวิทยากรอําเภอที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน  และแกนนําภาคประชาสังคมในพื้นที่      ทําหน้าที่สนับสนุนการดําเนินการให้เกิดกระบวนการประชาคมในทุกตําบล  และชุมชนหมู่บ้าน

 

3. ทีมวิทยากรอําเภอ  ภายใต้การสนับสนุนวิชาการและงบประมาณเพิ่มเติมจาก สช. และ สสส. ดําเนินการและสนับสนุนให้ รพ.สต. ร่วมกับ อบต./เทศบาล   สภาองค์กรชุมชน  ภาคประชาสังคม  อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และอาสาสมัครอื่นๆ   รวมทั้งกํานันผู้ใหญ่บ้าน  ร่วมกันจัดกระบวนการประชาคม   เพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด19  ของแต่ละตําบลและทุกชุมชนหมู่บ้าน   โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต./เทศบาล

 

4. ข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด19 ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและประชาชนของแต่ละตําบลและชุมชนหมู่บ้าน   จะประกอบด้วยมาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่   โดยแต่ละมาตรการจะกําหนดบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงาน  กลุ่มประชาชน  ครอบครัว   และประชาชนเป้าหมาย  ไว้อย่างชัดเจน  เป็นสัญญาประชาคมที่ง่ายในการปฏิบัติ

 

5. หน่วยงานต่างๆ  แกนนําองค์กรชุมชน  กํานัน  ผู้ใหญ่บ้าน  และกลุ่มประชาชนในพื้นที่  ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมตามมาตรการต่างๆ  ภายใต้ข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด19 ในพื้นที่ของตน   โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต./เทศบาล   หรือกองทุนอื่นๆ ในพื้นที่”   

 

“เพื่อนภาคีเครือข่ายครับ   ผมมั่นใจว่าเราจะชนะไวรัสนี้ได้ด้วยข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญประชาชน  ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19   เพราะบทบาทของประชาชนในพื้นที่เป็นปัจจัยสําคัญที่จะช่วยไทยให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้”  เลขาธิการ คสช.กล่าวย้ำในจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"