‘เคอร์ฟิว’ สกัด 'โควิด-19' ‘รัฐ-ประชาชน’ ชี้ชะตา 'เอาอยู่' หรือไม่


เพิ่มเพื่อน    

 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อกว่า 1 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 5 หมื่นราย ส่วนประเทศไทยติดเชื้อสะสม 2,067 ราย  เสียชีวิต 20 ราย เป็นวิกฤตการณ์ของมวลมนุษยชาติครั้งใหญ่ที่สุด ส่งผลกระทบทุกด้านรุนแรงกว่าสงครามโลกเสียอีก

แต่ละประเทศกำลังระดมสรรพกำลัง อุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกอย่างเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเจ้าไวรัสร้ายตัวนี้ แต่น่าสังเกตว่าหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งประเทศมหาอำนาจ ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังไม่สามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดได้ และยังมียอดผู้ป่วยและเสียชีวิตพุ่งขึ้นทุกวัน

สำหรับประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่พบผู้ติดเชื้อจากประเทศจีนตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เลือกใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ซึ่งสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดไว้ได้ระยะหนึ่ง แต่มาเกิดจุดเปลี่ยนเมื่อพบมีผู้ติดเชื้อจากกรณีการจัดชกมวยที่สนามมวยเวทีลุมพินีและสถานบันเทิงย่านทองหล่อจำนวนหนึ่งแล้วแพร่ระบาดไปตามต่างจังหวัดทั่วประเทศจำนวนมาก ทำให้ยอดผู้ป่วยพุ่งขึ้นทุกวัน

ท่ามกลางปัญหารายทางมากมาย ตั้งแต่เรื่องหน้ากากอนามัยไม่เพียงพอ การกักตุนสินค้าควบคุม บุคลากรทางการแพทย์ก็ขาดแคลนอุปกรณ์ทางแพทย์ที่สำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ การสื่อสารของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน สับสน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นรัฐบาลไม่น้อย

กระทั่งนายกฯ เชิญคณะแพทย์อาวุโสมาปรึกษาหารือที่ทำเนียบรัฐบาล สร้างความเชื่อมั่นให้รัฐบาลเพิ่มขึ้น และได้ปรับโครงการองค์กรในการแก้ไขสถานการณ์ โดยจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีนายกฯ เป็นผู้อำนวยการ และตั้ง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน เป็นโฆษก ศบค.

หลังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับออกข้อกำหนด 16 ข้อ ปิดพื้นที่เสี่ยงและห้ามทำกิจกรรมมั่วสุม และขอความร่วมมือประชาชน พร้อมรณรงค์ให้ “อยู่บ้าน หยุดเชื่อ เพื่อชาติ” และ Social distance หรือการเพิ่มระยะห่างในการเข้าสังคม

แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถดึงกราฟผู้ป่วยลงได้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้ลงนามออกข้อกำหนด ฉบับที่ 2 เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินยุติลงโดยเร็วดังนี้ ข้อ 1 ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานเวลา 22.00-04.00 น. เว้นแต่มีความจำเป็นหรือเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้า อุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การขนส่งพัสดุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อนำเข้าหรือส่งออก การขนย้ายประชาชนไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ การเข้า-ออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติ หรือเดินทางไปยังท่าอากาศยาน โดยมีเอกสารรับรองความจำเป็นและมีมาตรการป้องกันโรค หรือเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นอื่นๆ โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                ข้อ 2 ในกรณีที่มีการประกาศหรือสั่ง ห้าม เตือน หรือแนะนำ ในลักษณะเดียวกับข้อ 1 สำหรับจังหวัด พื้นที่ หรือสถานที่ใด โดยกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่เข้มงวดเคร่งครัดกว่ากำหนดนี้ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นด้วย

ข้อ 3 ในกรณีไม่อาจเคลื่อนย้ายบุคคลใด ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเพื่อออกไปนอกราชอาณาจักรได้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร จัดที่เอกเทศเพื่อควบคุมหรือกักกันบุคคลดังกล่าว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

                นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงเหตุผลในการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศว่า ก่อนหน้านี้แล้วให้ปิดสถานที่ต่างๆ แต่ยังพบว่าประชาชนยังทำกิจกรรมรวมตัวกัน ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้ ซึ่งบางจังหวัดผู้ว่าฯ ได้ใช้อำนาจออกคำสั่งห้ามประชาชนออกจากเคหสถานไปบ้างแล้ว จึงนำมาสู่ในที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งนายกฯ เห็นว่าควรจะประกาศสำหรับทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมโรคให้ได้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นที่หลักร้อยทุกวัน

“ซึ่งรัฐบาลไม่อยากใช้ยาแรง แต่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเช่นนี้ เพื่อลดการรวมกลุ่มของประชาชน ทั้งนี้ จะมีการประเมินข้อกำหนดที่ประกาศล่าสุดนี้ทุกวัน ตลอด 1 สัปดาห์ หากตัวเลขผู้ป่วยยังเพิ่ม มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการพิจารณาประกาศเคอร์ฟิวตลอด 24 ชั่วโมง แต่หากตัวเลขลดลง อาจจะคงหรือผ่อนคลายมาตรการนางนฤมล กล่าว

รัฐบาลเน้นย้ำว่ามาตรการต่างๆ จะเกิดผลสำเร็จอยู่ที่ความร่วมมือของประชาชน แต่ทั้งหมดนอกจากขึ้นกับจิตสำนึกและความรับผิดชอบของประชาชนต่อสังคมแล้ว ก็อยู่กับความพร้อมและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

ตั้งแต่ปัญหาหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชน และหน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ N95 ชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หรือ PPE และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ยังไม่เพียงพอ เป็นต้น

เมื่อวันอังคาร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการนำเข้าชุดตรวจโควิด-19 Rapid Test ของบริษัทแห่งหนึ่ง ภายหลังประเทศสเปน และสหภาพยุโรปได้ตรวจพบว่าการแปรผลมีปัญหาและได้ยกเลิกการนำเข้าชุดตรวจดังกล่าว โดยมี นายศุภกิจ ศิริรักษณ์ รองปลัด สธ. เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า Rapid test ได้มาตรฐาน การอนุมัตินำเข้าถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายหรือไม่

ก่อนหน้านั้นวันเดียว ที่ทำเนียบรัฐบาล ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนวัตกรรมระบบตรวจคัดกรองเชื้อ COVID-19 เบื้องต้นแบบรวดเร็ว Chula COVID-19 StripTest Service” ใช้เวลาเพียง 10-15 นาที จำนวน 1 แสนชุด

สำหรับ Rapid Test เป็นเครื่องมือสำคัญ หากการตรวจพบเชื้อคนไข้ได้ในปริมาณมากขึ้น รู้ผลได้เร็วขึ้น ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้บุคคลเหล่านั้นไปแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อไป ซึ่งจะยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันถัดมา นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการประเมินชุดตรวจอย่างง่าย (Rapid Test) สำหรับโควิด-19 ที่มีข้อกล่าวหาเรื่องมาตรฐานการประเมินจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยถ้ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็ขอให้ตรวจให้ชัดว่าเป็นการดำเนินการด้วยตัวเองเพื่อหาผลประโยชน์ หรือมีผู้ที่สั่งการซึ่งใหญ่กว่าข้าราชการเป็นผู้สั่ง จนทำให้ข้าราชการไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จนต้องปฏิบัติตามผู้มีอำนาจ!

นายศุภชัย เป็นลูกพรรคภูมิใจไทย ที่ นายอนุทิน รมว.สธ. เป็นหัวหน้า นั้นแสดงว่าภายในกระทรวงสาธารณสุขเกิดความไม่โปร่งใส่ในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการต่อสู้กับไวรัสหรืออย่างไร ?

ล่าสุดได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น หลังจากมีเที่ยวบินผู้โดยสารจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และผู้โดยสารรวมแล้วกว่า 100 คน จะต้องเข้าสู่มาตรการกักตัว ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศของสำนักงานการบินพลเรือน หรือ กพท. โดยจะต้องนำผู้โดยสารเหล่านี้ไปกักตัวในสถานที่ที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานด้านความมั่นคงเตรียมไว้ แต่ผู้โดยสารกลุ่มนี้ได้ปฏิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนการกักตัว

ทั้งนี้ การดำเนินการตามมาตรการให้กักผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกประเทศ เป็นไปตามแนวทางที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศชะลอการเดินทางเข้าประเทศของคนไทยและคนต่างชาติ ตั้งแต่ 2 เม.ย.จนถึง 15 เม.ย.นี้

ต่อมาเจ้าหน้าที่ทหารระดับพลตรีได้เข้ามาคุมสถานการณ์ ก่อนจะอนุญาตให้ทุกคนเดินทางกลับบ้านได้ โดยกำชับให้ทุกคนต้องกักตัวเอง 14 วัน แม้ว่าเจ้าหน้าที่ สธ.จะคัดค้าน แต่ไม่สามารถควบคุมตัวผู้เดินทางทั้งหมดได้ โดยมีรายงานผู้โดยสารที่ออกไป มีบางคนเป็นไข้ ที่ถูกกักไว้ 3 คน อาศัยจังหวะชุลมุนหลบหนีการกักตัวออกจากสนามบินไปด้วย

กระทั่งมีการติดตามตัวผู้ที่ไม่ยอมเข้ากักตัว จำนวน 152 ราย และจะดำเนินคดีด้วยทั้งที่นายทหารอนุญาตให้กลับบ้าน?

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เปรียบเสมือนการทำสงครามกับศัตรูที่มองไม่เห็น ซึ่งท้าทายความสามารถของรัฐบาลและผู้นำของประเทศจะมีวิธีการเอาชนะได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับทุกหน่วยงานต้องมีเอกภาพ มียุทธศาสตร์ มาตรการต่างๆ ที่ชัดเจน การบังคับใช้ต้องมีประสิทธิภาพ และประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือ ถึงจะเกิดผลสำเร็จเอาชนะไวรัสโควิด-19 ได้. 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"