นักการเมืองพาเหรด ชงแผนเยียวยาโควิด


เพิ่มเพื่อน    

 

"เทพไท" ชงรัฐบาลจัดงบฯ เป็นเงินเดือนให้ ปชช.ทั้งประเทศที่ลงทะเบียนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกกลุ่มที่ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ยกเว้น ขรก.-เจ้าหน้าที่รัฐ-คนมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ด้านหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ปชป.แนะมาตรการ ครอบครัวใดอยู่บ้าน-กักตัวโดยไม่ติดเชื้อ รัฐให้เลย 9,999 บาทต่อครัวเรือนตามหลักฐานทะเบียนบ้าน 

    เมื่อวันที่ 5 เมษายน นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้ความเห็นถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า จะยืดเยื้อต่อไปอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งจะตรงกับเดือนกันยายน สิ้นปีงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2563 และในระยะเวลา 6 เดือนนี้ ผู้ที่จะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ก็มีเพียงคนที่มีอาชีพเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น เพราะมีรายได้ประจำจากเงินเดือนของรัฐบาล ส่วนประชาชนทั่วไปหยุดทำงาน ไม่มีรายได้ประจำ มีเพียงเงินเก็บเพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีพได้คนละไม่เกิน 2 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นก็ไม่มีรายได้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีปัญหาในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างแน่นอน รัฐบาลจึงต้องคิดเอาชีวิตคนไทยให้รอดก่อนแล้วค่อยพัฒนาประเทศ     
    "ดังนั้นเพื่อเป็นการนำพาประเทศก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ รัฐบาลต้องปรับยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด-19 และต้องทำแผนการใช้งบประมาณแผ่นดินปี 2563 ของประเทศเสียใหม่ โดยขอเสนอการปรับแนวทางการบริหารงบประมาณของประเทศดังนี้คือ หยุดใช้งบประมาณด้านการลงทุนและการพัฒนาด้านวัตถุทั้งหมด มาเป็นลงทุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงออก พ.ร.บ.โอนงบประมาณด้านการลงทุนและการพัฒนาของทุกกระทรวง ทบวง กรม มาเป็นงบกลางหรืองบฉุกเฉิน ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจใช้งบประมาณนี้แต่เพียงผู้เดียว และให้จัดเพิ่มงบประมาณด้านการสาธารณสุขเพื่อสู้กับไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะ จัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอ สร้างโรงพยาบาลเฉพาะโรคไวรัสโควิด-19" นายเทพไทให้ความเห็น 
    นอกจากนี้ เขายังเสนอให้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเป็นเงินเดือนให้ประชาชนทั้งประเทศ ที่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทุกกลุ่มที่ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ ยกเว้นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีเงินเดือนประจำ และคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีแล้ว 
    "ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงงบประมาณแผ่นดินในหลายแนวทาง เช่น ตัดงบซื้ออาวุธของกองทัพ, ตัดงบกระทรวงกลาโหมทั้งหมด, ตัดงบประมาณ 10% ของทุกกระทรวง หรือออก  พ.ร.ก.กู้เงิน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตอบโจทย์ของประเทศ จึงขอเสนอให้รัฐบาลออกเป็นพระราชบัญญัติโอนงบประมาณจากทุกกระทรวงมาเป็นงบกลางโดยเร็วที่สุด และเชื่อว่าทุกฝ่ายก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือสนับสนุนแนวทางนี้อย่างแน่นอน" นายเทพไทกล่าว
    ด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การออกมาตรการเพื่อเยียวยาช่วยเหลือประชาชนและแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจควรต้องทำแพ็กเกจใหญ่ๆ ต้องไม่มองแค่ระยะสั้น แต่ต้องมองระยะกลางและระยะยาว ว่าเมื่อประเทศไทยเราฟื้นตัวจากวิกฤติรอบนี้ ผู้ประกอบการของไทย แรงงานไทยต้องมีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น ต้องมีงบประมาณไปสนับสนุน ว่าเมื่อคนทำงานหรืออยู่บ้านก็ควรส่งเสริมให้คนเรียนรู้ออนไลน์ได้ เพราะตอนนี้ก็มีหลักสูตรต่างๆ ทำออกมาเยอะมากของหน่วยงานรัฐ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงศึกษาธิการ แต่ภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาเรียนรู้ เช่นเมื่ออยู่บ้านก็ให้เขาเรียนรู้โดยดาวน์โหลดหลักสูตร แล้วพอเรียนจบหลักสูตรก็ให้มีการทดสอบ ซึ่งหากผ่านก็ให้เงินเพิ่มเป็นกำลังใจ เช่น 1,000-2,000 บาทต่อเดือนในการเรียนรู้แต่ละหลักสูตร เราต้องพลิกวิกฤติเป็นโอกาส โดยใช้วิกฤตินี้ในการสร้างทักษะให้แรงงานไทย คนไทย ให้มีทักษะมากขึ้น ทำให้เขามีความพร้อมกับ digital transformation ที่ทำให้คนเริ่มเห็นแล้วว่าระบบต่างๆ  สามารถทำให้คนทำงานจากบ้านได้
    "ก็มีบางคนที่เสนอให้พิจารณาว่าเรื่องการกักตัวสำคัญ มีการบอกว่าหากใครอยู่บ้านแล้วกักตัวโดยไม่ติดเชื้อโควิด-19 รัฐควรจ่ายให้ 10,000 บาทต่อครัวเรือน ผ่านการลงทะเบียนตามทะเบียนบ้าน โดยพิจารณาไปเลยว่าทะเบียนบ้านหลังหนึ่ง หากสมาชิกในบ้านไม่มีใครติดโควิดเลย ก็ให้ไปเลยเช่น 9,999  บาท หรือ 1 หมื่นบาทไปเลย ที่จะเป็นมาตรการจูงใจให้คนกักตัวอยู่กับบ้าน กักตัวหยุดเชื้อเพื่อชาติ ดีกว่าไปแจกเงินฟรีๆ ดีกว่าเอาเงิน 5,000 บาทไปแจกฟรีให้ทุกคน แต่ไม่มีอะไรเป็นแรงจูงใจ" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว    
    ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคและประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความสับสนที่เกิดขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากเหตุการณ์คนไทยกลุ่มหนึ่งไม่ยอมกักตัวตามมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ว่า นายกรัฐมนตรีควรนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิมาถอดบทเรียน  เพื่อปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก และนอกเหนือจากการเข้าออกประเทศที่สนามบินแล้ว ยังมีการเข้าออกประเทศตามด่านชายแดนต่างๆ ที่ควรบริหารจัดการไม่ให้เกิดความสับสนวุ่นวายเหมือนกับที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพราะเมื่อเกิดความสับสนวุ่นวายต่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 ของรัฐบาลในที่ใดก็ตาม ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานเพื่อป้องกันเชื้อโควิด-19 ไม่ให้ลุกลามตามมาด้วย นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่ประชาชนโดยทั่วไป และอาจส่งผลต่อความไม่เชื่อมั่นในมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้กระทบต่อการทำงานแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยรวมตามมาอีกด้วย และขอเรียกร้องให้รัฐบาลถอดบทเรียนปัญหาความสับสนวุ่นวายต่างๆ จากมาตรการของภาครัฐให้เป็นระบบมากขึ้น และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างราบรื่นโดยไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ ซึ่งจะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาโควิด-19 ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีในที่สุด
    นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรองประธานกรรมาธิการงบประมาณฯ พรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ลดงบประมาณเท่ากัน แต่อาจไม่เท่ากัน" ระบุว่า การปรับงบประมาณเพื่อนำมาใช้เร่งด่วนในเรื่องของโควิด-19 เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่ในฐานะกรรมาธิการงบประมาณปี 2563 มีความเห็นในส่วนของการปรับลดว่า งบประมาณบางกระทรวงมีจำนวนมาก ตั้งไว้อย่างหลวมๆ สามารถปรับลดลงได้มาก แต่บางกระทรวงบางหน่วยงานได้รับงบประมาณค่อนข้างน้อย แต่น่าจะมีความจำเป็นต่อการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ การปรับลดงบประมาณลงร้อยละ 20 เท่ากันทุกหน่วยงานน่าจะมีผลกระทบที่ไม่เท่ากัน เช่น กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงพาณิชย์, กองทุนหลักประกันสุขภาพ และอีกหลายหน่วยงาน อยากให้พิจารณาตามความจำเป็น สำนักงบประมาณควรจะมีความเห็นเพิ่มเติมในส่วนนี้
    นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวเช่นกันว่า เรื่องมาตรการที่จะออกมารัฐบาลสามารถทำได้หลายทาง เช่น ใช้งบประมาณ หรือรัฐกู้เงิน, ใช้เงินขององค์กรต่างๆ ที่ไม่ใช่งบของรัฐโดยตรง เช่น คืนเงินค่าประกันน้ำประปา-ไฟฟ้า และผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ  ช่วยเหลือเยียวยาพนักงานของตัวเอง แต่มีอีกแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลจะช่วยเยียวยาทางเศรษฐกิจได้มากพอสมควร โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐ คือใช้กลไกสหกรณ์ 8,000 แห่งทั่วประเทศที่มีสมาชิกนับล้านครัวเรือน ที่แต่ละสหกรณ์ได้ปล่อยกู้ให้สมาชิก และสมาชิกต้องผ่อนชำระทุกเดือนพร้อมดอกเบี้ย 
    "ผมขอเสนอให้รัฐบาลเร่งสั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ ที่กำกับดูแลสหกรณ์ทั่วประเทศ ขอความร่วมมือสหกรณ์ทั่วประเทศดำเนินการชะลอการผ่อนชำระหนี้ 3 เดือน ตามความพร้อมของแต่ละบุคคล ลดอัตราดอกเบี้ย 3 เดือน โดยแต่ละสหกรณ์จะชะลอการผ่อนและลดดอกเบี้ยเท่าใด ก็ แล้วแต่ความพร้อมและความเหมาะสมของแต่ละสหกรณ์" นพ.ระวีกล่าว
    นพ.ระวีกล่าวต่อว่า มาตรการนี้ไม่น่าจะทำให้เกิด NPL เพิ่มแต่อย่างใด เพียงแต่สหกรณ์จะได้เงินคืนกลับเข้ามาช้าลง และมีเงินที่จะให้สมาชิกรายใหม่กู้น้อยลง แต่ส่งผลทำให้กำไรของสหกรณ์ในปีนี้จะลดลง จากการลดอัตราดอกเบี้ยให้สมาชิกเท่านั้น
      นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า รัฐบาลต้องประเมินหลังการประกาศใช้เคอร์ฟิวว่าได้ผลอย่างไรอย่างตรงไปตรงมา และมีข้อมูลผลกระทบอย่างครบถ้วนรอบด้าน  เชื่อว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่แล้ว แต่อยากขอให้รัฐบาลสื่อสารในลักษณะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่ใช่แถลงข่มขู่ประชาชนในลักษณะถ้าเคอร์ฟิว 4 ทุ่มถึงตี 4 ไม่ประสบผลสำเร็จ จะประกาศเพิ่มเป็นเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง สถานการณ์ในขณะนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจกันฝ่ามหาวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด เพราะขณะนี้มหาวิกฤติโควิด-19 ได้ขยายวงส่งผลกระทบกว้างออกไปเรื่อยๆ จนประชาชนทุกกลุ่มได้รับผลกระทบหนักทั่วประเทศ นอกเหนือจากการบังคับใช้เคอร์ฟิว รัฐบาลต้องดูแลควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ให้มีการกักตุนหรือปรับเพิ่มราคาสูงขึ้นจนเป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน งานในส่วนนี้ไม่แน่ใจว่าอยู่ในการกำกับดูแลของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือเป็นงานของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ ร่วมกับปลัดกระทรวงต่างๆ เป็นคนควบคุมบริหารจัดการ รู้แต่ว่าตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนหนัก
         ด้านนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Watana Muangsook  ว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 13 (2) บัญญัติว่า Everyone has the right to leave  any country, including his own, and to return to his country. เพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญาฯ รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 จึงบัญญัติว่า "การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้"
    นายวัฒนาให้ความเห็นอีกว่า เมื่อเกิดวิกฤติทุกประเทศจะอำนวยความสะดวกให้คนของตนกลับบ้าน เพราะการปล่อยให้ชาติอื่นดูแลนอกจากจะไม่รับผิดชอบแล้ว ยังสู้รัฐชาติดูแลคนของตัวเองไม่ได้  ดังนั้นเมื่อมีข่าวการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย หลายประเทศจึงส่งเครื่องบินมารับคนของตนกลับบ้าน ล่าสุดคือเยอรมนีและฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้เมียนมาที่ยากจนกว่าไทยก็ยังส่งเครื่องบินไปรับคนของเขากลับจากเมืองอู่ฮั่น อันเป็นหลักความรับผิดชอบของรัฐที่มีต่อคนของตน การออกคำสั่งชะลอไม่ให้คนไทยกลับประเทศ นอกจากขัดรัฐธรรมนูญและสามัญสำนึกของความเป็นคนแล้ว ยังแสดงถึงความไม่รับผิดชอบ เพราะเป็นการทิ้งคนของตนให้ชาติอื่นต้องดูแลแทน อันเป็นนิสัยถาวรของพลเอกประยุทธ์ ดูได้จากค่านิยม 12 ประการที่คิดขึ้นหลังยึดอำนาจ จนกระทรวงศึกษาฯ เอาไปให้เด็กท่อง ปรากฏว่าไม่มีแม้แต่ตอนใดตอนหนึ่งที่สอนให้เด็กมีความรับผิดชอบ
    "สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าโควิด-19 คือเศรษฐกิจไทยที่จะพินาศจนกู่ไม่กลับ เพราะจนบัดนี้ยังไม่เห็นมาตรการที่จะฟื้นฟูนอกจากการกู้เงินอย่างไร้จุดหมาย นับแต่ยึดอำนาจจนบัดนี้รัฐบาลประยุทธ์กู้เงินชดเชยขาดดุลงบประมาณแล้ว 2.662 ล้านล้านบาท ยังไม่รวมขาดดุลปี 2564 และกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาโควิดอีกราว 1.6 ล้านล้านบาท เท่ากับตั้งแต่ยึดอำนาจพลเอกประยุทธ์สร้างหนี้ให้ประเทศเกือบ 5 ล้านล้านบาท อันเป็นการก่อหนี้สูงที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทยมา แต่ทำให้คนไทยลำบากยากจนที่สุด เจอผู้นำไร้สมองไม่มีความรับผิดชอบ ยังต้องมาเจอบริวารสอพลอสมองกลวงอีก คนไทยเลยซวยไม่รู้จบ".
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"