การทูตไทย-ฝรั่งเศสยุค 'พี่หมื่น'


เพิ่มเพื่อน    

ประวัติศาสตร์ตามท้องเรื่องละคร"บุพเพสันนิวาส" นั้น "พี่หมื่น" ของแม่การะเกดกำลังนั่งเรือไปฝรั่งเศส หลายคนคงจินตนาการไม่ออกว่าจะกินอยู่กันอย่างไร เมาเรือหรือเปล่า ใช้เวลานานแค่ไหน

โหดหรือไม่นึกภาพตามดู "พี่หมื่น" นั่งกำปั่นใหญ่ออกจากอยุธยา ล่องมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ออกอ่าวไทย เลาะชายฝั่งลงไปยังภาคใต้ มาเลเซีย อ้อมเข้าอันดามันที่สิงคโปร์ เลาะไปเรื่อยๆ จนสุดเกาะสุมาตรา จากนั้นลอยกลางมหาสมุทร จนไปถึงชายฝั่งทวีปแอฟริกา

จะได้ไปต่อหรือไม่ก็ตรงปลายแหลมกู๊ดโฮป เพราะบริเวณนั้นคือทะเลคลั่ง เรือลำไหนได้ไปต่อก็เลาะชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาไปเรื่อยๆ จนถึงปากทางเข้าทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ถ้าจะไปอังกฤษ ฝรั่งเศสก็ดิ่งขึ้นไปอีก รอนแรมประมาณ 5 เดือน ถ้าโชคร้ายเจอพายุตลอดทางก็ครึ่งปี หรือไม่ก็ไปไม่ถึงเรือล่มกลางทางเสียก่อน

ก่อนคณะ "พี่หมื่น" เดินทางไปฝรั่งเศส มีคณะของออกขุนชำนาญออกเดินทางไปโปรตุเกสก่อน

เดือนมีนาคม พ.ศ.2227 สมเด็จพระนารายณ์ฯ  ได้ทรงส่งออกขุนชำนาญ (Occun Chamnan) กับคนสยามรวมสิบคนไปเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ผ่านเมืองกัว โดยเรือรบของโปรตุเกสซึ่งมีลูกเรือ  ร้อยห้าสิบคน และบาทหลวงโปรตุเกสนิกายแซงต์โอกึสแตง

วันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2229 เรือโปรตุเกสที่ทูตไทยโดยสารไปอับปางที่แหลมแดส์เอกีส์ (des  Aiguilles) ซึ่งเป็นสันทรายทางขวางกับแผ่นดินที่ตรงปลายแหลม (จะงอย) ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา  ห่างจากแหลมเดอบอนน์แอสเปรัวซ์ (แหลมกู๊ดโฮป) เป็นระยะทางประมาณ 20 ลิเออ คนจมน้ำตายไปแปดคน ขุนชำนาญและคณะว่ายน้ำขึ้นฝั่งได้ต้องกินใบไม้ งูย่างหมวกและรองเท้าเป็นอาหาร แล้วเดินด้วยเท้าในแอฟริกาอยู่สามสิบเอ็ดวันจึงพบคนป่าโอตังโดผิวดำ จึงได้นำพาไปหาชาวฮอลันดาที่แหลมกู๊ดโฮป แล้วอาศัยเรือฮอลันดากลับมาปัตตาเวีย ลงเรือใบกลับมาประเทศสยามเมื่อเดือนกันยายน จึงได้พบบาทหลวงตาชาร์ดและออกญาวิชาเยนทร์

วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2227 สมเด็จพระ  นารายณ์ฯ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาแห่งอาณาจักรสยามได้ทรงส่งออกขุนพิไชยวาทิตและออกขุนพิชิตไมตรีโดยสารเรือของอังกฤษ เดินทางไปเป็นคณะราชทูตเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสที่กรุงปารีส โดยมีบาทหลวงวาเชต์ (Monsieur Vachet) อดีตศาสนทูตแห่งประเทศญวนใต้เป็นล่าม เพื่อสืบหาคณะทูตชุดแรกที่นำโดย  ออกญาพิทักษ์ราชไมตรีซึ่งสูญหายไปเมื่อ พ.ศ.2223

คณะราชทูตไทยชุดนี้ได้เดินทางกลับมาประเทศสยามพร้อมกับราชทูตฝรั่งเศสชื่อ เชอร์วาเลียร์  เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) นายทหารชื่อ เชอวาลิเยอร์ ฟอร์แบง นายทหารชื่อ เดอ โบเรอการ์ด และบาทหลวงคณะเยซูอิตชื่อ อับเบ เดอ ชัวซีย์ (เดอชัวสี) บาทหลวงตาชาร์ด บาทหลวงฟอนเต อเนย์ บาทหลวงเลอคองต์ บาทหลวงเกอบิยองต์ บาทหลวงวิสเดอลู และนิโคลัส แซร์แวส โดยทั้งหมดออกเดินทางจากท่าเรือเมืองแบรสต์ของฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2228 ถึงปากอ่าวสยามเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2228 ด้วยเรือรบหลวงชื่อ ลัวโซ (L'Oyseau) ซึ่งเป็นเรือใบขนาดเล็กต่อด้วยไม้บุทองแดง มีลูกเรือ 132 คน และเรือฟริเกตชื่อ ลามาลีญ

สิ่งของที่คณะทูตของฝรั่งเศสนำมาถวายพระเจ้ากรุงสยามคือ กระจกเงาหนึ่งพันบาน อำพันเม็ดสิบสองปอนด์ กระจกแก้วสีสามร้อยแผ่น ปืนคาบศิลาหนึ่งร้อยกระบอก นาฬิกาแขวนสองเรือน อานม้าหนังตะทองคำสิบอาน ในครั้งนี้มีช่างทำแผนที่ชื่อ เดอ ลามาร์ ร่วมคณะมาด้วยเพื่อทำแผนผังตัวเมืองชายฝั่งที่ผ่านไปและแผนที่ประเทศสยาม เพื่อส่งกลับไปถวายพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส

สำหรับบาทหลวงเดอชัวสีที่ร่วมคณะมาครั้งนี้ ต่อมาภายหลังได้เดินทางกลับมายังอาณาจักรสยามอีกหลายครั้ง บาทหลวงเดอชัวสีผู้นี้เป็นคนครึ่งหญิงครึ่งชาย กระตุ้งกระติ้ง ได้เขียนบันทึกไว้ในหนังสือ  "การเดินทางไปสู่ประเทศสยาม" มีความว่า "ข้าราชการสยามหลายคนพูดภาษาโปรตุเกสได้ เพราะเป็นภาษากลางที่ใช้กันทั่วไปในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงอินเดีย"

วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2228 คณะราชทูตสยาม (ชุดที่ 3) จำนวน 40 คนได้ออกเดินทางไปฝรั่งเศสกับคณะราชทูตของเชอร์  วาเลียร์ เดอ โชมองต์ ครั้งนี้ได้ส่งนักเรียนไทย 12 คน (แต่หาชื่อได้เพียง 10 คนเท่านั้น) เพื่อเตรียมเข้าเรียนในโรงเรียนหลุยส์เลอกรังที่มีชื่อเสียง แล้วเตรียมให้เรียนวิชาทำน้ำพุ วิชาก่อสร้าง และวิชาช่างเงินช่างทอง คือ พี Pierre Emmanuel, เพ็ชร Jean Baptiste Olite,  อ่วม Paul Artus, ชื่น Louis, ไก่ ช่างทอง Francois Xavier, มี Henri Oliver, ด่วน ช่างก่อสร้าง Philippe, สัก Francosis, เทียน Thomas และวุ้ม Nicolas (จากจดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส, ประชุมพงศาวดารเล่ม 20) เรือลัวโซกับเรือลามาลีญของคณะราชทูตเดินทางถึงท่าเมืองแบรสต์ในฝรั่งเศสเมื่อ 18 มิถุนายน พ.ศ.2229 ที่เมืองแบรสต์นี้ภายหลังได้มีการตั้งชื่อถนนสยาม Rue de Siam เพื่อเป็นที่ระลึกในการที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปานหรือโกษาปาน) ได้เป็นราชทูตของประเทศสยามไปเยือนฝรั่งเศส และคณะราชทูตได้ถึงกรุงปารีสเมื่อ 12 สิงหาคม พ.ศ.2229

คณะราชทูตชุดนี้มีออกพระวิสูตรสุนทร   (โกษาปาน) เป็นราชทูต หลวงกัลยาณราชไมตรี และขุนศรีวิสารวาจา พี่หมื่นของเราเป็นทูต มีเจ้าอาวาสวัดเดอลีอองเป็นล่าม

คณะราชทูตทั้งหมดเดินทางจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านไปยังเกาะสีชัง จากนั้นเดินเรือตรงไปต่อถึงช่องแคบปังกา ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะบังกาและเกาะสุมาตรา

11 มกราคม 2229 เรือของคณะราชทูตจอดทอดสมอที่เมืองบันตัม เมืองท่าบนเกาะชวาเพื่อซื้อเสบียงสำหรับการเดินทาง กวีบรรยายความไว้ว่ามีชาวชวามาขายผลไม้ต่างๆ มากมาย เช่น ทุเรียน  มังคุด ส้ม จากนั้นมุ่งเดินทางต่อไปทางทิศตะวันตก ซึ่งจากบันทึกพบว่าคณะเดินทางชุดนี้ต้องพบเจอกับคลื่นลมในมหาสมุทรมากมาย

13 มีนาคม 2229 เดินทางถึงเมืองกาบ เมืองท่าบริเวณแหลมกู๊ดโฮป สภาพของเมืองเป็นตึกใหญ่สีขาวมีกำแพงล้อมรอบ ทั้งยังมีคูน้ำและป้อมปราการ เมืองนี้มีอ่าวลึกใช้จอดท่าเรือสำเภามากมายเพื่อขนถ่ายสินค้า ภายในมีสัตว์เลี้ยงมากมาย เช่น ม้าป่า หมูน้ำ นกหลายชนิดเช่นนกกระจอกเทศ ทั้งยังบรรยายถึงชาวเมืองว่าเป็น "พวกหัวพริก" เนื่องจากมีเส้นผมหยิกหยอย ตัวเปล่าเล่าเปลือย

หลังทอดสมออยู่ 15 วัน เรือออกเดินทางต่อผ่านมหาสมุทรที่คลาคล่ำไปด้วยปลามากมาย ทั้งปลาฉลาม ปลาโอ โลมา ปลากระเบน

จากนั้นราว 2 เดือนจึงเดินทางถึงเกาะตาปลา เกาะใหญ่ที่ใช้พักเรือขนส่งสินค้า ในบันทึกได้บรรยายถึงความว้าเหว่เอาไว้

เมื่อผ่านจากเกาะตาปลาแล้ว เรือคณะทูตได้ผ่านไปยังหมู่เกาะอีกหลายเกาะ เช่น เกาะดอกไม้ที่มีน้ำตกหลายชั้นลดหลั่นลงสู่ทะเล

และเมื่อเดินทางอีก 15 วันจึงถึงเมืองแบรสต์ หมุดหมายของคณะทูต รวมระยะเวลาการเดินทาง ทั้งสิ้นกว่า 5 เดือน เป็นระยะทางรวม 68,800 กิโลเมตร

จากบันทึกเล่าว่า เมื่อเดินทางถึงเมืองแบรสต์ในวันที่ 16 มิถุนายน 2229 เจ้าเมืองพากันออกมาต้อนรับ มีการยิงสลุตคำนับและแต่งเรือที่ประดับประดาอย่างงดงาม

คณะราชทูตไทยได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2229 และเดินทางกลับเมื่อ 27 กันยายน 2230 รวมเดินทางไปกลับอยุธยาฝรั่งเศสทั้งหมด 1 ปี 9 เดือน

ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2230 พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ส่งราชทูตซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de  La Lubere) เจ้าหน้าที่กระทรวงทหารเรือ บาทหลวงตาชาร์ด (Pere Tachard) บาทหลวงเดอเบส (de  Betz) และบาทหลวงเยซูอิตรวม   12 รูป และพร้อมด้วยทหารฝรั่งเศส 636 คน ภายใต้การนำของนายพลเดส์ฟาร์ช (Desfarges) ออกจากท่าเรือเมืองแบรสต์เพื่อมายึดบางกอกและป้อมมะริด โดยอ้างว่าจะมาอารักขาพระเจ้าแผ่นดินสยามจากการรุกรานของอังกฤษและฮอลันดา โดยมีการปิดความลับอย่างสุดยอด

กองเรือ 6 ลำของฝรั่งเศส ซึ่งมีเรือรบเลอกัยยาร์ (le Gaillard) ติดปืนใหญ่ 54 กระบอก ลูกเรือ  150 คน เรือรบลัวโซ (l'Oyseau) ติดปืนใหญ่ 46 กระบอก (เรือลำนี้เคยเดินทางมาสยามก่อนแล้ว) เรือลานอร์มังด์ (la Normande) เรือเลอโดรมังแดร์ (le Dromandaire) และเรือลำเลียงยุทโธปกรณ์ลาลัวร์  (la Loire) ส่วนเรืออีกลำชื่อลามาลีญ ขนเสบียงมาส่งแค่แหลมกู๊ดโฮปแล้วก็กลับฝรั่งเศส

กองเรือฝรั่งเศสได้พากันออกจากท่าเมือง  แบรสต์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2230 ผ่านแหลมกู๊ดโฮป  ช่องแคบซุนดา เมืองบันตัม ปัตตาเวีย ช่องแคบบังกา ถึงอ่าวสยามสันดอน แม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่  27 กันยายน พ.ศ.2230 และถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2230

ในการเดินทางครั้งนี้ปรากฏว่าอาหารในเรือนั้นมีคุณภาพไม่ดี จึงทำให้เกิดการเจ็บป่วยในเรือมาก   ทหารฝรั่งเศสบางคนมาตายในเมืองสยาม เพราะกินน้ำตาลเมาที่ทำจากน้ำตาลมะพร้าวมากเกินไป  รวมทหารฝรั่งเศสมาสยามครั้งนี้มีจำนวน 636 คน ระหว่างเดินทางนั้นได้ตายไป 143 คน ขณะที่พำนักอยู่เมืองสยามนั้นปรากฏว่าตายไปอีกราวร้อยคน จึงอยู่รักษาเมืองมะริด 150 คน ลงเรือตระเวนตามชายทะเล 50 คน และเหลือรักษาป้อมบางกอกราว 200-250 คน ราชทูตลาลูแบร์อยู่ในสยามเป็นเวลา 3 เดือน 6 วัน จึงเดินทางออกจากสยามในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2230 กลับถึงท่าเมืองแบรสต์ในวันที่ 25  พฤษภาคม พ.ศ.2231 การเดินทางของลาลูแบร์นั้นไม่ได้รับการต้อนรับจากประเทศสยามดีนัก เพราะขุนนางสยามยังสงสัยในพฤติกรรมของฝรั่งเศสที่นำทหารมาด้วยถึง 5 ลำเรือรบ

โดยเฉพาะพระเพทราชานั้นไม่พอใจและคัดค้านอย่างเปิดเผย จนลาลูแบร์และทหารถูกฟอลคอนสั่งห้ามลงจากเรือ จนกว่าจะได้สาบานว่าจะจงรักภักดีต่อองค์สมเด็จพระนารายณ์และฟอลคอนเสียก่อน  ทหารฝรั่งเศสได้ขึ้นพักที่ป้อมวิชาเยนทร์ (ป้อมวิไชยประสิทธิ์) ด้านตะวันตกของบางกอกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2230 ทหารฝรั่งเศสจึงไม่มีโอกาสยึดบางกอกตามที่วางแผนไว้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"