วิกฤติโควิด-19 จุดเปลี่ยน ปฏิรูประบบสาธารณสุข    


เพิ่มเพื่อน    

ถอดบทเรียน วิกฤติโควิด-19

สู่การปฏิรูประบบสาธารณสุข

       วิกฤติสงครามไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มคงที่ในระดับหลักสิบมาได้ร่วมสองสัปดาห์แล้ว แต่หลายฝ่ายก็เห็นตรงกันว่ายังวางใจไม่ได้ ต้องคุมเข้มกันต่อไป ท่ามกลางเสียงสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลผ่อนคลายให้มีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บ้าง บนหลักการคือ เป็นการผ่อนปรน ที่ต้องควบคุมการแพร่เชื้อ-การระบาดของโรคโควิดได้

นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์-อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปัจจุบันมีบทบาทการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขภาคประชาสังคม ในฐานะประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มองวิกฤติโควิด-19 ไว้หลายแง่มุมเช่นเห็นว่าในวิกฤติรอบนี้ มองอีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสให้ระบบสาธารณสุขไทย-ประชาชนคนไทย ได้ถอดบทเรียนหลายอย่าง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น ภายใต้ทัศนะที่ว่า วิกฤติไวรัสโควิดรอบนี้ไม่น่าจะจบในเวลาอันสั้น แม้ต่อให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มคงที่แล้วก็ตาม

นพ.สมศักดิ์ มองว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการออกมาตรการต่างๆ ที่เข้มข้นเรื่อยๆ ตามสภาพ โดยรวมถือว่ามาถูกทาง แต่ที่ยากคือการทำให้มาตรการที่ออกมามีประสิทธิภาพแต่ได้สมดุล เท่าที่ได้ติดตามฝ่ายต่างๆ ในกลไกรัฐ ก็พยายามมากที่ให้ทุกมาตรการมีสมดุล ด้วยการทำให้มาตรการที่ออกมาเข้มข้น แต่ไม่เป็นการไปฝืนใจ พยายามหาตัวช่วย เพื่อให้มาตรการมันเวิร์ก ที่ต้องยอมรับว่าดีขึ้นเรื่อยๆ มาตรการที่ออกมาเช่น การให้กลุ่มเสี่ยงมาอยู่ใน State Quarantine (การกักกันโรคที่ศูนย์ควบคุมโรคซึ่งหน่วยงานของรัฐจัดตั้งขึ้น) จนถึงการปิดสนามบิน ไม่ให้มีคนเข้า ถือเป็นมาตรการที่ลดความเสี่ยงไปได้ไม่น้อย

“อย่างไรก็ตาม เรื่องโควิด-19 คิดว่าอยู่อีกนาน อย่าไปนึกว่าจะหายไปจากเราง่ายๆ มาตรการต่างๆ ที่ใช้ คงอยู่ต่อไปอีกสักพักใหญ่ และทำให้โจทย์พลิกไปอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจ คือคนอาจไม่ได้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เราคุมสถานการณ์พอได้ แต่คนก็บอก เศรษฐกิจมันแย่แล้ว ทำให้คำถามสำคัญตอนนี้คือ จะผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศใช้ในช่วงนี้เมื่อใด ที่เริ่มมีการถกเถียงกันเยอะขึ้น อย่างเคสที่อู่ฮั่น ประเทศจีน เขาปิดเมืองเป็นเดือน จนคนไข้หายหมดแล้วถึงค่อยเปิดเมือง แต่ก็ยังคงใช้มาตรการต่างๆ อยู่ในการควบคุมดูแล ดังนั้น ช่วงเวลาต่อจากนี้ว่าจะผ่อนคลายหรือลดมาตรการต่างๆ จึงเป็นช่วงที่ยากที่สุดในการตัดสินใจ ว่าจะทำเมื่อไหร่และจะทำแบบไหน” อดีตรมช.สาธารณสุขรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ให้มุมมอง 

      นพ.สมศักดิ์-ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวอีกว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลผลักดันออกมา ตัวพิสูจน์ก็คือ จำนวนผู้ติดเชื้อ ซึ่งตัวเลขมันอยู่ที่มาตรการการตรวจ ที่ต้องดูปริมาณคนไข้ คือคนที่ป่วยแล้วมีอาการและป่วยจนเสียชีวิต ตัวเลขของประเทศไทยเวลานี้พบว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัวเหมือนหลายประเทศ ที่หมายถึงไทยเราคุมได้พอสมควร การระบาดยังไม่ได้แพร่ไปมาก ที่ถือเป็นข่าวดี แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ยังต้องตามดูอย่างใกล้ชิด

      ...เวลาเราเห็นคนไข้ขึ้นไม่เยอะ ก็จะมีการตีความว่าหมายถึงคนติดเชื้อไม่เยอะ ซึ่งคนติดเชื้อไม่เยอะ ด้านหนึ่งก็เป็นข่าวดี แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นข่าวไม่ค่อยดี มีประเด็นที่ผมว่าทุกคนเห็นตรงกันคือ โรคโควิดยังไงก็ไม่มีทางอยู่ดีๆ หายไป คือพูดง่ายๆ ยังไงก็ต้องมีคนติดเชื้อเยอะ จนกระทั่งภูมิต้านทานในประชากรมันมากพอที่จะช่วยตัดวงจรการส่งต่อ ที่เป็นเรื่องที่คนจะเข้าใจยากพอสมควร อธิบายได้ว่า เช่นยกตัวอย่าง เชื้อโควิดแพร่ได้สองคน คือ คนติดเชื้อหนึ่งคน แพร่ไปได้สองคน โดยในช่วงแรกที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยติดเชื้อเลย มันจะแพร่ด้วยอัตรานี้ แต่เมื่อไปถึงจุดหนึ่งที่มีคนติดเชื้อเยอะพอ อัตราการแพร่เชื้อมันจะลดลง เพราะคนจะมีภูมิต้านทานแล้ว เช่น ผมไปเจอคนที่ไม่เคยติดเชื้อเลยสิบคน สักพักผมไปเจอคนสิบคนเหมือนกัน แต่ว่าในสิบคนนั้นติดเชื้อไปแล้วห้าคน ทำให้โอกาสการส่งต่อเชื้อก็จะลดลง ซึ่งนี่คือเหตุผลที่โรคมันจะบรรเทาลงไปในที่สุด ถ้ามีคนติดเชื้อมากพอ อันนี้คือธรรมชาติของโรคระบาด

      - ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่า ประเทศอังกฤษก็เคยมีแนวคิดลักษณะข้างต้น?

      จริงๆ ประเทศในยุโรป อย่างน้อยสองประเทศ อีกประเทศก็เนเธอร์แลนด์ที่ก็โดนต่อว่าเหมือนกันที่พูดเรื่องนี้ แต่จริงๆ ก็ต้อง to be fair กับเขา เพราะเขาก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ ไม่ได้ปล่อยให้คนติดเชื้อ แต่ธรรมชาติของการติดเชื้อก็จะเป็นแบบที่บอก ประเด็นก็คือ ประเทศที่พยายามจะไม่ให้การระบาดตัวเลขมันขึ้นเร็ว เพื่อให้ระบบสาธารณสุขรับมือได้ทัน ก็ต้องยอมรับว่าการแพร่เชื้อจะอยู่ยาว ที่ก็จะเป็นข่าวร้ายคือ คนไข้ในโรงพยาบาลไม่ล้น แต่การติดเชื้อก็จะยาว เพราะเราสกัดกั้นไม่ให้คนเจอกัน ส่งต่อเชื้อกัน จึงเกิดคำถามว่า ที่บอกว่าต้องยาว แล้วจะยาวขนาดไหน ในทางปฏิบัติก็อาจต้องมีการทำบางอย่าง เช่น การ test อะไรต่างๆ เช่น เรื่องภูมิต้านทาน ขึ้นมากี่เปอร์เซ็นต์

..ขณะนี้ทุกคนกำลังพยายามหาคำตอบที่ว่า จะผ่อนปรนได้สักแค่ไหน ที่แปลว่าเราอาจไม่ต้องอยู่แบบนี้ไปอีกนาน มาตรการที่ใช้เข้มข้นก็อาจจะค่อยๆ ลดลง ผมอาจยกตัวอย่างเช่น การห้ามคนออกจากบ้านหลัง 22.00 น. ถึง 04.00 น. เมื่อใช้มาแล้ว ช่วยลดการสัมผัสโรคได้แค่ไหน หากพบว่าไม่เยอะ ก็อาจต้องเลิก แต่อาจไม่จำเป็นต้องเลิก  เพราะช่วงสี่ทุ่มถึงตีสี่ก็อาจไม่ได้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอะไรมาก คนที่มีธุรกิจในช่วงดังกล่าวที่ประสบความลำบาก ซึ่งถ้ารัฐบาลเห็นว่าเศรษฐกิจ ธุรกิจช่วงสี่ทุ่มถึงตีสี่ พูดง่ายๆ เป็นธุรกิจฟุ่มเฟือย ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประชาชน และสร้างโอกาสติดเชื้อเยอะ Spreader ชัดเจน  ก็อาจต้องให้ปิดต่อไปอีกยาว หรือสนามมวย และพวกพื้นที่เสี่ยง เช่นที่ทำให้คนไปรวมกลุ่มกันเล่นการพนัน ก็อาจต้องถูกปิด เพราะไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร แม้จะเป็นการทำกิจกรรมช่วงกลางวัน ก็อาจต้องปิดต่อไปเรื่อยๆ

ส่วนศูนย์การค้า หากจะเปิดก็ต้องมีมาตรการที่ทำแล้วได้ผลในการลดการแพร่เชื้อ แต่ให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บ้าง ผมเดาว่ารัฐบาลกำลังคิดหามาตรการในการค่อยๆ เพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยใช้หลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาว่าอะไรคือหลักเกณฑ์ที่สำคัญหรือไม่สำคัญ และมีผลต่อการแพร่เชื้อหรือไม่ ซึ่งข้อมูลโดยละเอียดก็ยังบอกไม่ได้ เช่น ปิดโรงเรียน ปิดศูนย์การค้า ปิดตลาด ลดการแพร่เชื้อได้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจำเป็นต้องมีวิธีการตามสถานการณ์ให้ปรับตัวได้ทัน คือหากลองหย่อนมาตรการลงแล้วผลออกมาไม่ดี ก็ต้องกลับมาเข้มงวดใหม่ บางทีต้องลองผิดลองถูกเหมือนกัน 

- มีการเปรียบเทียบเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างกับเรื่องสาธารณสุข ความเป็นความตายของคน?

      คนเราไม่ค่อยให้ค่ากับเรื่องสุขภาพ แต่ให้ค่ากับเงินมากกว่า เช่น บางคนทำงานหนัก ไม่ยอมพักผ่อน เพราะจะได้มีเงิน แต่สถานการณ์โควิดในครั้งนี้บอกอะไรเรา ก็บอกเราว่า สุขภาพสำคัญกว่าเงิน เพราะหากไม่มีชีวิต จะเอาไปทำอะไร ถือเป็นจุดเตือนสำคัญ เพราะทุกคนกลัวว่าตัวเองต้องเป็นคนตาย เลยไม่มีใครยอมเสี่ยง เวลาที่คนทำงานหนัก ไม่พักผ่อน ยังไม่เห็นเรื่องการตาย เพราะเป็นเรื่องของผลการสะสม แต่ครั้งนี้เห็นกันชัดๆ ว่าตายทุกวัน ตายกันเยอะ คนรวยก็ยังตายกัน ทำให้คนกลัว ส่วนหากจะถามว่า หลังจากนี้มนุษย์จะกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากกว่าเงินหรือไม่ ก็เป็นคำถามที่ไม่มีใครกล้าให้คำตอบ

ทุกคนก็หวังว่าวิกฤติครั้งนี้จะทำให้ประเทศและปัจเจก หวนกลับมาคิดเรื่องนี้ใหม่ และอาจไปถึงเรื่องการหาเงินแบบใหม่ เศรษฐกิจแบบใหม่ เช่นเรื่องหลัก เศรษฐกิจพอเพียง เราก็ต้องมาพิจารณากันแล้วว่า ต่อไปนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอะไรที่ไม่จำเป็น รัฐบาลก็ไม่ต้องให้ลำดับความสำคัญในการให้กลับมาแบบเดิมเร็ว แต่ก็จะมีคำถามตามมาว่า พื้นที่ตรงนั้นก็มีคนทำมาหากินจำนวนไม่น้อย แล้วจะให้พวกเขาเข้าไปอยู่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลุ่มอื่นได้อย่างไร ที่ก็คือ นอกจากดูเรื่องลำดับความสำคัญแล้ว ยังต้องดูด้วยว่าจะเข้าไปช่วยคนที่เดือดร้อนอย่างไร ให้เขามีรายได้ มีชีวิตไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีก sector ผมเชื่อและหวังว่า ต่อไปนี้นโยบายประเทศต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพของประชาชนให้มากขึ้น รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพที่เป็นปัญหาเรื้อรังด้วย เช่น เรื่องโรคไม่ติดต่อ เพราะการที่คนเป็นโรคไม่ติดต่อ เป็นการลดกำลังการผลิตของประเทศ

เมื่อถาม นพ.สมศักดิ์ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีในกระทรวงสาธารณสุขและอดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ถึงความพร้อมของระบบสาธารณสุขประเทศไทยในการรับมือกับโรคระบาด อย่างเช่น หากอนาคตเกิดมีคนติดเชื้อพุ่งขึ้นจำนวนมาก ระบบบริการสาธารณสุขของไทยรับมือได้เต็มที่แค่ไหน คำถามดังกล่าว นพ.สมศักดิ์ ให้ข้อมูลและความเห็นว่า ถ้าให้ประเมินเร็วๆ หากไปถึงจุดที่มันแย่ลงจริงๆ แม้ตอนนี้เราอาจสบายใจที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเริ่มมีตัวเลขขึ้นช้าๆ แต่หากต่อไปคุมกันไม่ดี แล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อเกิดกลับพุ่งขึ้นมาเร็ว เราก็อาจเจอปัญหาเหมือนกับอีกหลายประเทศก็คือ คนไข้ล้นโรงพยาบาล ถามว่าประเทศไทยมีโอกาสจะเจอกับสถานการณ์แบบนั้นหรือไม่ ยังเป็นคำถามใหญ่ที่เรายังไม่วางใจ เพราะก็ยังมีโอกาสที่คนจำนวนมากจะติดเชื้อพร้อมๆ กันก็ยังเกิดขึ้นได้ ถ้าหากย่อหย่อน

..ส่วนการเตรียมรับมือหากคนไข้มีจำนวนมาก ก็คิดว่าไม่มีประเทศไหนออกแบบไว้ให้มีบุคลากรเผื่อเอาไว้ อย่าง ตอนนี้ที่มีคนคุยกัน หากมีคนติดเชื้อ 100 คน จะเสียชีวิต 1 คน ซึ่งคนติดเชื้อก็อาจไม่มีอาการ ตัวเลขอาจอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ หรือบางคนบอกว่าอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่พอมีอาการแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการเบา ส่วนอีก 15 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการไม่ค่อยเบา ส่วนอีก 5 เปอร์เซ็นต์ พวกมีอาการหนักและเสี่ยงเสียชีวิต ซึ่งจะมี 1 เปอร์เซ็นต์ที่ตาย ซึ่งถ้าคนไทยติดเชื้อ 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรประมาณ 67 ล้านคน หากคิดง่ายๆ ค่าเฉลี่ยสักประมาณ 12 ล้านคน ซึ่งถ้า 1 เปอร์เซ็นต์ของ 12 ล้าน ก็ 1 แสน 2 หมื่นคน โดยหากคนไทย 20 เปอร์เซ็นต์ ติดเชื้อทั้งหมดภายใน 1 ปี แล้วต้องเสียชีวิตหนึ่งเปอร์เซ็นต์ 1 เปอร์เซ็นต์ก็ประมาณ 1 แสน 2 หมื่นคน โดยพบว่าปัจจุบัน คนไทย เสียชีวิต ปีละประมาณ 5 แสนคน โดยเสียชีวิตด้วยความรุนแรงแตกต่างกัน บางคนก็นอน รพ.นาน แต่บางคนก็ไม่ได้นอน รพ. แต่ 1 แสน 2 หมื่นคนคือผู้อาจเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏว่า กว่าจะเสียชีวิตสู้กันเกิน 10 วันทั้งนั้น ที่ก็คือ คนไทยก็จะเสียชีวิต เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1 ใน 4 จากที่เสียชีวิตกันปีละประมาณ 480,000-500,000 คน และจะมีคนเสียชีวิตเพิ่มอีกปีละเกือบ 1 แสน 2 หมื่นคนจากโรคเดียว ซึ่งในทางปฏิบัติก็อาจไม่ได้เป็นแบบนี้ แต่อันนี้คิดแบบง่ายๆ เพราะบางคนที่อาจจะเสียชีวิตจากโรคอื่นก็อาจมาเสียชีวิตจากโรคนี้แทน แต่ที่แน่ๆ 1 แสน 2 หมื่น กินเตียงนานมาก เพราะต้องการเตียงดูแล ที่เขาก็มีวิธีคำนวณจำนวนวันที่ต้องใช้เตียง

..ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าภาระมันคงเยอะ ก็ต้องมีการปรับตัว ซึ่งการจะปรับตัวได้ "คน" จะเป็นข้อจำกัด การเพิ่มเตียงคนไข้-เพิ่มห้องปลอดเชื้อคงไม่ยาก แต่คน (บุคลากรทางการแพทย์) จะเป็นจุดอ่อนที่สุด เพราะเพิ่มคนทำได้ยาก เพราะอย่างหลายประเทศก็เริ่มเห็นมีการเกณฑ์หมอที่ไม่ได้เป็นหมอโรคปอดไปรักษาโรคปอด

- มองว่า หากถึงขั้นวิกฤติหนักสุดจริงๆ สำหรับประเทศไทยจะเจอกับอะไร?

      วิกฤติหนักสุดก็คือ จะอยู่ในสภาพคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากถามว่าเราสบายใจได้หรือยังว่าเราพ้นจุดนั้นมาแล้ว ซึ่งหากดูจากตัวเลขเราก็ยังมั่นใจไม่ได้ เพราะตัวเลขปัจจุบันยังบอกว่าเรายังติดเชื้อไม่เยอะ ก็แปลว่าเรายังมีเหลือคนติดเชื้อเยอะ ก็เป็นมุมมองของผมในเรื่องโอกาสจะเกิดการติดเชื้อสูงจนภาระมันจะรับไม่ไหว ซึ่งผมก็คิดว่ายังมีโอกาสอยู่ แต่หากว่ามาตรการที่เราทำแล้วออกมาดีโดยไม่ได้ย่อหย่อนเร็ว ไม่ประมาท ค่อยเป็นค่อยไป ถ้าจะเปิดอะไรต่างๆ ก็ค่อยๆ เปิด เราก็อาจไม่เจอกับสถานการณ์แบบนั้น

      นพ.สมศักดิ์-ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มองประเด็นเรื่องวิกฤติโควิด-19 กับระบบสาธารณสุขประเทศไทยว่า เหตุการณ์โควิด-19 ครั้งนี้มันตั้งโจทย์สำคัญทางสาธารณสุขให้กับเรา คือ ทำอย่างไรต้องไม่ให้ระบบบริการสาธารณสุขมันล่ม ซึ่งการแก้ปัญหาไม่ให้ระบบบริการมันล่ม นอกจากการไปเพิ่มความสามารถแล้วยังนำไปสู่การหาวิธีให้บริการแบบใหม่ พูดง่ายๆ คนไข้เดิมก็หาวิธีการแบบใหม่ ส่วนคนไข้ใหม่ก็หาวิธีการสู้กับโรคให้ได้ ซึ่งในส่วนของคนไข้เดิมที่ต้องหาวิธีการแบบใหม่

มันนำไปสู่สิ่งที่ผมเรียกว่า การตั้งคำถามที่สำคัญ คืออะไรที่เรียกว่าสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านดูแลตัวเองได้ อะไรที่ทำให้เขาต้องมาสถานบริการทางสาธารณสุข

สถานการณ์เวลานี้มันทำให้เราต้องมาเริ่มคิดเรื่องพวกนี้ จากเดิมที่ไม่ค่อยคิดกันมากในเรื่องเหล่านี้ คือ คนไข้ก็บอก จะให้มาดูแลตัวเองทำไม หากไปพบหมอได้ก็จะเดินทางไป กับประเด็นที่สองคือเรื่อง หน่วยบริการ ในระดับโครงสร้างที่มีหลายระดับต้องช่วยกัน จากที่เคยใช้วิธีการแบบ "ส่งต่อคนไข้" ที่ระบบส่งต่อดูแลคนไข้พบว่าไม่ค่อยสมูธเท่าไหร่ เพราะมันสะท้อนวิธีการจัดการกับคนไข้ในและคนไข้นอก ที่กำลังเป็นโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรไม่ให้คนไข้นอกก็ไม่มาก คนไข้ในก็ไม่เยอะ จะได้มีเตียงเผื่อไว้รับคนไข้อาการหนัก

“หลังจากสถานการณ์เวลานี้ ต่อไปนี้คงทำให้หน่วยบริการสาธารณสุขของเราจะต้องออกมาคิดเรื่องพวกนี้ เช่น คนไข้ที่เคยต้องเดินทางไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมืองใหญ่ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งประเทศไทยมีแค่ประมาณ 14-15 แห่ง ไม่ได้มีทุกจังหวัด คนจำนวนหนึ่งก็จะวิ่งไปโรงพยาบาลศูนย์ โดยที่ก็ยังมีโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน แต่รอบนี้โรคมันระบาดทำให้คนไข้หนักจะไปอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ ก็ทำให้คนไข้จำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ป่วยโควิดฯ ก็ไม่อยากไปที่โรงพยาบาลศูนย์แล้ว แพทย์ก็บอกว่าก็ดี เพราะไม่อยากให้มาตั้งนานแล้ว รอบนี้ก็เลยเป็นโอกาสที่จะได้จัดความสัมพันธ์ใหม่ แต่โอกาสแบบนี้ มันต้องไม่เกิดจากความกลัว แต่ต้องอยู่บนความเชื่อมั่น”

      ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ-อดีต รมช.สาธารณสุข ย้ำว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะได้ออกแบบระบบให้ประชาชนไปรับบริการสาธารณสุขที่ใกล้บ้านที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วยความเชื่อมั่น หากเราแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า เช่น คนไข้กลัว ไม่อยากมาโรงพยาบาลศูนย์ ก็เลยบอกไม่ต้องมา จะส่งยาไปให้ แล้วก็รอๆ ไป อาการดีขึ้นค่อยมาเจอกัน คนไข้ก็จะอยู่ในสภาพที่กังวลมากว่าจะได้การบริการทางสาธารณสุขที่ดีหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ยังได้ไปเจอหมอที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่ตอนนี้ไม่ได้ไปเจอแล้ว ก็เป็นโอกาสที่จะได้บอกกับคนไข้ว่า ทุกอย่างยังดีอยู่เพราะการตรวจต่างๆ เช่น ตรวจเลือด ความดันก็ยังตรวจได้ คนไข้จะได้ไม่ต้องเดินทางไกล และหลายโรคก็สามารถปรับพฤติกรรมได้ เช่น โรคเบาหวาน ก็ปรับพฤติกรรมการกิน คนไข้จะได้ไม่ต้องเดินทางมาทั้งที่ รพ.เล็กหรือ รพ.ใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ จึงทำให้ได้มีโอกาสคิดทบทวนหลายเรื่อง

      โดยเรื่องของสาธารณสุข จากสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็จะทำให้มีการคิดใหม่ในเรื่องพฤติกรรมการดูแลตัวเอง ที่น่าจะทำให้มีโอกาสทำให้เข้มข้นขึ้นและมีคุณภาพ และเรื่องความร่วมมือในหน่วยบริการสาธารณสุขในระดับต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นได้ว่าเป็นระบบที่มีคุณภาพดี ทำให้ประชาชนไม่ต้องมีภาระมาก ไม่ต้องเดินทางไกล มันคือโอกาส

- สามารถใช้วิกฤติโควิด-19 นำมาสู่การปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้?

      ใช่ ต้องใช้อีกคำว่า "มาปรับความสัมพันธ์ใหม่" ระหว่างชาวบ้านกับหน่วยบริการ และปรับความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง หน่วยบริการสาธารณสุขด้วยกันเอง ตั้งแต่ระดับตำบล-อำเภอ ขึ้นไปจนถึงระดับจังหวัด พวกโรงพยาบาลศูนย์เวลานี้จึงถือเป็นโอกาสที่จะมาออกแบบความสัมพันธ์ใหม่เพื่อทำให้เกิดคุณภาพ ประชาชนเกิดความมั่นใจในการรับบริการสาธารณสุข

"เหตุการณ์ครั้งนี้ ต้องถือเป็นโอกาสสำคัญในการที่จะปรับเรื่องต่างๆ อย่างน้อย 3 เรื่อง 1.วิธีการให้การบริการทางสาธารณสุข เพื่อจะได้ไม่ต้องลำบากกับทุกฝ่ายที่ใช้ทรัพยากรมาก ชาวบ้านก็ลำบาก 2.เรื่องกลไกนโยบายสาธารณะ ก็จะเป็นโอกาสในการสร้างและกำหนดกลไกนโยบายในการสร้างความรู้ และบริหารนโยบายอย่างมีส่วนร่วม 3.คือ เป็นโอกาสที่เราน่าจะมาทบทวนเรื่องระบบเศรษฐกิจและรูปแบบเศรษฐกิจ”

...เพราะอย่างในบทความของ World Economic Forum เขาตั้งคำถามเลยว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้เราต้องมาตั้งคำถามว่า ระบบเศรษฐกิจแปลว่าอะไร โดยเขาบอกว่าเราไปให้ความสำคัญกับมูลค่าเงิน-ทองมากเกิน ทั้งที่เงินทองที่ได้มา อาจไม่ได้ส่งผลต่อความเป็นอยู่โดยรวมเลย อย่างคนที่มีหน้าที่ อยู่ตรงกลาง มีรายได้มาก แต่ชาวนาที่ผลิตอาหาร กลับมีรายได้ต่ำ ทั้งที่อาหารมีความสำคัญ และคนที่ทำงานด้านสาธารณสุขก็ไม่มีใครอยากทำ เพราะยากลำบาก เงินเดือนก็ไม่สูง ทุกคนก็อยากไปทำงานเงินเดือนสูงกันหมด

มันจึงเห็นชัดว่าต่อไปรัฐต้องเข้ามาดูแลให้ระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่ มีความหมายอย่างแท้จริง ซึ่งประเทศไทยตอนนี้ต้องกลับมาคิดว่าเป็นโอกาสที่จะกลับมาคิดเรื่องรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศผลิตอาหาร ซึ่งอาหารสำคัญที่สุด แต่ที่ผ่านมาเราได้ส่งเสริมดีพอหรือยัง จนไม่ใช่ว่าอนาคตจะเป็น sector ที่หายไปเลย ทั้งที่มูลค่ามันสูงมาก.

                                    โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

“””””””””””””””””””””””””””””””””””””””

ดึงโปรย

1หน้า 3

..เรื่องโควิด-19 คิดว่าอยู่อีกนาน อย่าไปนึกว่าจะหายไปจากเราง่ายๆ มาตรการต่างๆ ที่ใช้ คงอยู่ต่อไปอีกสักพักใหญ่...ต่อไปนี้นโยบายประเทศต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพของประชาชนให้มากขึ้น..เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นโอกาสในการสำคัญที่จะปรับเรื่องต่างๆ อย่างน้อย สามเรื่อง 1.วิธีการให้การบริการทางสาธารณสุข 2.เรื่องกลไกนโยบายสาธารณะ 3.ทบทวนเรื่องระบบเศรษฐกิจและรูปแบบเศรษฐกิจ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"