บังคับใช้แล้ว'พรก.กู้เงิน'หนึ่งล้านล้านบาท


เพิ่มเพื่อน    

19 เม.ย.63-ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 137 ตอนที่ 30 ก เผยแพร่พระราชกำหนด
ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563”
มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 
มาตรา 3 เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย มีมูลค่ารวมกันไม่เกินหนึ่งล้านล้านบาทโดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2564
มาตรา 4 ให้การกู้เ งินตามพระราชกำหนดนี้เป็นการกู้เงินตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

มาตรา 5 เงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจากการดังต่อไปนี้มิได้ 
(1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019แผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดนี้

มาตรา 6 การกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงขีดความสามารถของรัฐในการชาระหนี้คืนประกอบด้วย ทั้งนี้ การกู้เงินเพื่อการตามมาตรา 5 (1) และ (2) ให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกินหกแสนล้านบาท และเพื่อการตามมาตรา 5 (3) ให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกินสี่แสนล้านบาท
ในกรณีจำเป็นคณะรัฐมนตรีจะมีมติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา 5 (2) มาใช้ เพื่อการตามมาตรา 5 (1) ก็ได้
ในกรณีจำเป็นอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้นาวงเงินกู้เพื่อการ ตามมาตรา 5 (3) มาใช้เพื่อการตามมาตรา 5 (1) และ (2) เพิ่มเติมก็ได้ แต่เมื่อรวมวงเงินกู้ทั้งหมด ต้องไม่เกินหนึ่งล้านล้านบาท

มาตรา 7 เพื่อประโยชน์ในการพิจารณากลั่นกรองและอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ ให้เป็นไป ตามมาตรา 5 และมาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ประกอบด้วย เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ ให้รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคนหนึ่งซึ่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย เป็นเลขานุการ และผู้แทนสำนักงบประมาณ และผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นผู้ช่วยเลขานุการร่วม โดยให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรับผิดชอบงานวิชาการและธุรการของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้

วาระการดำรงตาแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีกำหนด การดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการตามพระราชกำหนดนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบ ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้

มาตรา 8 ให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) พิจารณากลั่นกรองแผนงานหรือโครงการให้เป็นไปตามแผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้ ตามพระราชกำหนดนี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ
(2) กำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการที่ใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยทุกสามเดือน
(3) กำหนดวงเงินสำหรับรายการเงินสำรองจ่ายตามแผนงานหรือโครงการที่กำหนดไว้ในบัญชี ท้ายพระราชกำหนดนี้ เพื่อจัดเตรียมไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบริหารโครงการ ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี
(4) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามีมติตามมาตรา 6 วรรคสอง และวรรคสาม
(5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย
(6) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อวางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนงานหรือ โครงการที่ใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดนี้ ระเบียบดังกล่าวเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วให้ใช้บังคับได้
(7) ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย การพิจารณากลั่นกรองตาม (1) คณะกรรมการต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่ายี่สิบวัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง

มาตรา 9 ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการกู้เงิน การเบิกจ่ายเงินกู้ การชำระหนี้ และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ และให้นำกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่คำว่าหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ทั้งนี้ นอกจากพระราชกำหนดนี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 10 ภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้กระทรวงการคลังรายงานการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบ โดยรายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดของการกู้เงิน วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ
มาตรา 11 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ระบาดอย่างรุนแรงขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย และองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นภาวการณ์แพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกประกอบกับโรคติดเชื้อดังกล่าวเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกและภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า การระบาดของโรคดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อใด นอกจากนั้น การระบาดของโรคร้ายแรงนี้ยังทำให้ระบบเศรษฐกิจ ทั้งของโลกและของประเทศไทยหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง ถือเป็นภัยพิบัติสาธารณะที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนและต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่งยวด ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้งบประมาณแผ่นดินที่มีอยู่ในการดำเนินมาตรการและวิธีการต่าง ๆ เพื่อหยุดยั้งและควบคุมการระบาดของโรคและช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังไม่เพียงพอในอันที่จะยุติการระบาดของโรคและช่วยเหลือเยียวยาประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วน แม้จะได้มีการปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณมาเพื่อใช้จ่ายในการนี้แล้วก็ตาม

โดยในเบื้องต้นรัฐบาลประมาณการว่ามีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา
และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมประมาณหนึ่งล้านล้านบาท ซึ่งไม่อาจดำเนินการให้ได้มาโดยวิธีการงบประมาณ
ตามปกติ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษา
ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะจึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"