บันทึกหน้า 4


เพิ่มเพื่อน    

 

ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด มีข่าวดีเรื่อยๆสำหรับการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ 19 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,811 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 109 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 655 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เสียชีวิตสะสม 48 ราย ถือเป็นการทุบสถิติที่ผู้ป่วยใหม่ต่ำกว่า 20 เป็นครั้งแรก เห็นอย่างนี้แล้วใครที่ปรามาสว่าคนไทยไร้วินัยคงต้องคิดใหม่ ตรงกันข้ามประเทศที่เคยได้รับการชื่นชมว่ามีวินัยและความรับผิดชอบกลับมีผลตรงกันข้าม ซึ่งก็เป็นผลจากการกำหนดมาตรการต่างๆ การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะความร่วมมือของประชาชน หากการ์ดไม่ตกเช่นนี้ คนไทยจะชนะศึกสงครามไวรัสโควิดในไม่ช้าอย่างแน่นอน ...0

ส่วนการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 นั้น กระทรวงสาธารณสุขระดมผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ คณบดีจากคณะแพทย์ จัดทำร่างข้อเสนอแนวทางผ่อนปรนเพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติและมีความปลอดภัยในการใช้ชีวิต 5 แนวทาง ทั้ง หน่วยงานด้านสาธารณสุข คนไทยทุกคนและภาคธุรกิจ ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ส่วนกิจการที่มีความเสี่ยงสูงสถานบันเทิงยังต้องปิดอีกยาว ทั้งนี้ การเริ่มจากกลุ่มจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (ประมาณ 32 จังหวัด) สามารถเริ่มได้ในต้นเดือน พ.ค. หรืออาจนำร่องทดลองปลายเดือน เม.ย. ซึ่งก็จะทำให้แต่ละจังหวัดแข่งขันกันสร้างผลงานได้เช่นกัน ...o

            ทางด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม บอกว่า “อย่าเพิ่งผลีผลาม หลายท่านก็เรียกร้องให้มีการปลดโน่นปลดนี่กันในเวลานี้ ผมคิดว่าเราต้องระมัดระวังอย่างที่สุด ต้องฟังข้อมูลจากด้านสาธารณสุข ด้านการแพทย์ต่างๆ และบริการอื่นๆ เรามีบริการรองรับเพียงพอแล้วหรือไม่ ผมไม่ต้องการให้มีการตัดสินใจด้วยแรงกดดันหลายๆ อย่าง อยากให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่” แต่คำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินและประกาศห้ามของผู้ว่าราชการจังหวัด บางทีใช้อำนาจเกินขอบเขต  เช่น กรณี ผู้ว่าฯ ตรัง ไม่ให้ จ่าจำปา ผ่านด่านไปเยี่ยมมารดาที่ป่วยติดเตียงทั้งที่มีหนังสือจากผู้บังคับบัญชายืนยัน แต่ผู้ว่าฯ ก็ไม่ยอมดู รวมทั้งกรณีรถขนสินค้าการเกษตรจากพัทลุงไป จ.ตรัง ก็ไม่ให้ผ่าน อ้างไม่มีหนังสือรับรอง เกษตรกรรายย่อยไม่ใช่บริษัทนายทุนใหญ่จะเอาหนังสือรับรองจากไหน? ปัญหาเหล่านี้นายกฯ ต้องสั่งการให้ชัดเจนก่อนที่ประชาชนจะเดือดร้อนไปทั่ว ...0

กรณีนายกฯ จะทำจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีของเมืองไทยกลายเป็นดรามา ฝ่ายค้านได้ทีก็ปั่นกระแส รัฐบาลขอทาน นายกฯ ชี้แจงว่าอยากรับทราบการดำเนินการในการช่วยเหลือบุคลากรในองค์กรเหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้าง ซัพพลายเออร์ ไม่ได้กู้เงินหรือยืมเงินอะไร และไม่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใดๆ จะทำไงได้ รัฐบาลนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ดังนั้น การจะพูดคุยตกลงอะไรกับมหาเศรษฐีจึงต้องเปิดเผยและโปร่งใส ซึ่งในโลกทุนนิยมไม่มีอะไรฟรี รัฐบาลจะขอความร่วมมือกับมหาเศรษฐีใช้ช่วยชาติฟรีๆ โดยที่รัฐไม่ตอบแทนอะไรบ้าง คงไม่มีใครเชื่อ อยู่ที่ว่าแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ...0

เดือน เม.ย.อากาศร้อนๆ ประชาชนพร้อมใจกันอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่เมื่อเจอบิลค่าไฟฟ้าก็หนาวไปตามๆ กัน อย่าว่าแต่ชาวบ้านตาดำๆ เลย หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ยังโอดครวญว่า "โควิดไม่กลัวแล้ว กลัวไม่มีเงินจ่ายค่าไฟฟ้า” แม้ที่ประชุม ครม.จะเห็นชอบมาตรการเยียวยาการลดภาระค่าไฟฟ้าระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. วงเงิน 23,688 ล้านบาทแล้ว แต่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยแฉว่า การจัดซื้อจัดหาพัสดุครุภัณฑ์สำหรับการซ่อมบำรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าย่อยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศราคาสูงผิดปกติ เป็นต้นทุนที่ทำให้ค่าไฟแพง ดร.รยุศด์ บุญทัน ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัคคีไทยชี้ว่า การคิดค่าไฟแบบ “อัตราก้าวหน้า” ยิ่งใช้เยอะ ยิ่งจ่ายเยอะ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรค 3 ที่ว่า "การที่รัฐดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รัฐต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร" ก็เป็นหน้าที่ของ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ต้องไปทบทวนปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อความเป็นธรรมกับประชาชนในระยะยาวด้วย ...0

แซมซาย

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"